ชีวิตที่พอเพียง 4000b. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (98b) เก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา  ตอนที่ ๒


สังเกตหา "สินทรัพย์" ทางปัญญา เพื่อนำมา "เจียระไน" ให้เกิดคุณค่าสูงในการยกระดับคุณภาพ และความเสมออภาค ทางการศึกษาในภาพรวม

ชีวิตที่พอเพียง 4000a. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (98a) เก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษา   ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๑ 

ใคร่ครวญสะท้อนคิดเพื่อเก็บเกี่ยวสินทรัพย์ทางปัญญา (intellectual capital) ที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่ดำเนินการโดย กสศ.    จากกิจกรรมประชุมปฏิบัติการ DE  ปลายน้ำ เมื่อวันที่ ๑๐ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ต่อจากตอนที่ ๑ นะครับ   แต่ข้อมูลในตอนที่ ๒ และตอนต่อจากนี้จะมีเพิ่มขึ้น จากกิจกรรม DE ปลายน้ำ ของทีมพี่เลี้ยงรุ่นที่ ๒ อีก ๖ ทีม   ที่จัดระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔   

ขอทบทวนว่า ใน ตอนที่ ๑ ได้ระบุสินทรัพย์ ๖ ประการ สำหรับนำไปเจียระไน ให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา คือ (๑) ผู้อำนวยการโรงเรียน  (๒) ครู  (๓) ระบบข้อมูล  (๔) PLC  (๕) Growth Mindset  (๖) Effect Size   

 

สินทรัพย์ที่เจ็ด คือ “หน่ออ่อน” ของ “โรงเรียนสาธิต” ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ โรงเรียน    โดยผมประมาณจากตัวเลขในการสัมมนาว่าราวๆ ร้อยละ ๔๐ ของโรงเรียนในโครงการ TSQP เกิดการพัฒนาอยู่ในเกรด เอ   คูณด้วยจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในโครงการ ๗๒๗ แห่ง    ก็จะได้โรงเรียนที่พร้อมพัฒนาเป็น “โรงเรียนสาธิต” ได้

พัฒนาอย่างไร  นี่คือโจทย์ของปีที่ ๓ ของโครงการ    และน่าจะถือได้ว่า เป็นกระบวนการเจียระไนเพชรอีกมิติหนึ่ง   โดยวัตถุดิบคือโรงเรียนเกรด เอ   

ใช้  “โรงเรียนสาธิต” ในชนบทเหล่านี้ให้เกิดคุณค่าต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยอย่างไร    นี่คือโจทย์ของการทำให้ “เพชรในตม” เปล่งประกาย     โดยผมมองว่า คุณค่าสำคัญที่สุดมี ๒ ประการคือ  (๑) ต่อการฝึกหัดครู  สร้างครูใหม่ที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับบริบทไทย   และ (๒) ต่อการวิวัฒน์โรงเรียน รูปแบบการเรียนรู้ รูปแบบการพัฒนาครูประจำการต่อเนื่อง    และกลายเป็นรูปแบบกระแสหลักของระบบการศึกษา   

กสศ. คงต้องจัดเวทีปรึกษาหารือกระบวนการเจียระไน และใช้สินทรัพย์ชิ้นนี้ อย่างมีพลัง     ไม่ปล่อยให้ “หน่ออ่อน” เหล่านี้ค่อยเฉาตายไป กลายเป็นโรงเรียนบ้านนอกล้าหลังอย่างเดิม     เราต้องทำให้โรงเรียนเหล่านี้ เป็น “โรงเรียนบ้านนอกก้าวหน้า” ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง     เหนี่ยวนำให้โรงเรียนทั้งประเทศกลายเป็น โรงเรียนก้าวหน้า ให้จงได้      

ข้อความข้างบนเขียนก่อน DE ปลายน้ำรุ่นที่ ๒   ในกิจกรรม DE ปลายน้ำรุ่นที่ ๒ โชคดีที่ผมถูกจัดเข้าสังเกตการณ์ในห้องย่อยของทีม ม. นเรศวร    จึงได้รับรู้ว่าทีม มน. ซึ่งมาจากคณะศึกษาศาสตร์ นำโดย ผศ. ดร. อนุชา กอนพ่วง รองคณบดี   (มีท่านคณบดี รศ. ดร. ปกรณ์ ประจัญบาน อยู่ในทีมด้วย)  เห็นโอกาสพัฒนาการผลิตครูของคณะ    ให้มีโรงเรียนแกนนำในโครงการเป็น “โรงเรียนร่วมผลิตครูคุณภาพ”    หรือ “โรงเรียนร่วมผลิตบัณฑิตครู”   ตรงใจผมพอดี     

ทีม มน. ถึงกับกำหนดเป็น KRA (Key Result Area) ของตนในปี ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕ ให้มีการพัฒนา “โรงเรียนร่วมผลิตบัณฑิตครู” จำนวนหนึ่งในจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๔๕ โรงเรียนในโครงการ   เสียดายที่ผมไม่มีโอกาสถามว่า ท่านคาดหวังว่าจะได้สักกี่โรงเรียน     

ผมจึงได้โอกาสเสนอต่อที่ประชุมว่า กสศ. ควรจัดวงคุยในกลุ่มทีมพี่เลี้ยงที่เป็นสถาบันผลิตครู ได้แก่ มข., มรภ. ภูเก็ต,  มรภ. กาญจนบุรี,  และ มน.  เรื่องการพัฒนาระบบการผลิตครู ให้มีการฝึก “ปฏิบัติการวิชาชีพ” ที่โรงเรียน   โดยเป้าหมายการฝึกมีมากกว่าแค่ฝึกสอนอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่    แต่ได้ฝึกชีวิตครูที่ครบด้าน ทั้ง ASK และ C (Attitude, Skills, Knowledge, Competencies)    โดยโรงเรียนร่วมผลิตครูคุณภาพมีความพร้อม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมด้านผู้อำนวยการโรงเรียน และครูแกนนำทำหน้าที่เป็น mentor 

ผมฝันเห็นวง DE (ต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ) ของเป้าหมายพัฒนาการผลิตครู โดยใช้โรงเรียนร่วมผลิตครู (โรงเรียนสาธิต) ที่อยู่ในชนบท เป็นภาคีหลัก    โรงเรียนร่วมผลิตครูคุณภาพในชนบทเหล่านี้ จะทำหน้าที่จัดสถานฝึกปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาครูใหม่อย่างบูรณาการครบด้าน   สำหรับไปทำงานอย่างมีความสุขและความสำเร็จในโรงเรียนบ้านนอก    ผลลัพธ์จากวง DE จะช่วยบอกว่าการฝึกประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษาครู ควรมีเป้าหมายการเรียนรู้และพัฒนาอะไรบ้าง (อย่างบูรณาการ)    และมีมิติวิธีการพัฒนาอย่างไร   

 

สินทรัพย์ที่แปด เขตพื้นที่การศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของเขตพื้นที่การศึกษา คือเปลี่ยนจากมุ่งรับใช้ส่วนกลางเป็นหลัก แล้วเอาคำสั่งจากส่วนกลางไปสั่งโรงเรียนอีกต่อหนึ่ง (ทำงานแบบควบคุมและสั่งการ)    เปลี่ยนเป็นมุ่งทำงานสนับสนุน หรือเกื้อหนุน โรงเรียนให้จัดการเรียนรู้แก่นักเรียน ให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูง (ทำงานแบบเอื้ออำนาจ) 

ทีมพี่เลี้ยงจาก มน. มีเป้าหมายในปี ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕ ที่จะสร้าง “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ทั้งจังหวัดพิษณุโลก    เป็นจินตนาการที่ผมยกย่องมาก    แต่กรรมการที่เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบอกว่า การเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องเสนอให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา     ในขณะที่ “วิญญาณกบฏ” ของผมบอกว่า กลไกทางการศึกษาของจังหวัดพิษณุโลกตั้ง  “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”  ของตนเองได้    โดยไม่ต้องใช้กลไกทางกฎหมายของ พรบ. พื้นที่นวัตกรรมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒    โดยนิยาม พื้นที่นวัตกรรม ว่าหมายถึงเปลี่ยนวิธีทำงานตามที่กล่าวแล้ว   

อีกทีมพี่เลี้ยงหนึ่งที่น่าจะพร้อมมากในการดำเนินการความร่วมมือกับเขตพื้นที่การศึกษา ในการเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานคือจังหวัดภูเก็ต   เพราะทีม มรภ. ภูเก็ตเข้มแข็งมาก และทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาอยู่แล้ว    ที่น่าเสียดายคือ สพป. สุรินทร์ เขต ๒ ที่เป็นทีมพี่เลี้ยงแก่โรงเรียนของคน ๑๒ โรงเรียน    แต่ไม่เห็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมในการทำหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา   แม้ผู้ทรงคุณวุฒิจะแนะนำก็มองไม่เห็นโอกาส 

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายทีมพี่เลี้ยง ที่ทำงานใกล้ชิดกับเขตพื้นที่การศึกษา     แต่อีก ๑๐ ทีมพี่เลี้ยงไม่มีใครระบุการเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษาเป็น KRA เลย 

ผมจึงเสนอโอกาส เจียระไนเพชร ของ กสศ. โดยมีวัตถุดิบคือ เขตพื้นที่การศึกษา    จากการเสนอของทีมโค้ช   และความสมัครใจของเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ    มาเข้าวงเรียนรู้โดย DE (ต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ)    ในเวลา ๑ ปี ประเทศไทยน่าจะได้เขตพื้นที่การศึกษาที่เป็น “เขตพื้นที่การศึกษาเชิงนวัตกรรม”    โดย กสศ. ต้องไม่ลืมเชื้อเชิญให้ สพฐ. ร่วมเป็นเจ้าของโครงการ “นวัตกรรมเขตพื้นที่การศึกษา” นี้      

 

สินทรัพย์ที่เก้า   ภาคีเครือข่ายของโรงเรียน  ซึ่งได้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง  กรรมการโรงเรียน  ผู้นำชุมชน ธุรกิจเอกชนในพื้นที่   และบางทีมพี่เลี้ยงนับรวมเขตพื้นที่การศึกษาเข้าไปด้วย   

ที่ชัดเจนและทรงคุณค่าที่สุดคือ การสร้างบทบาทผู้ปกครองให้ร่วมเป็น learning facilitator ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน   รวมทั้งทำหน้าที่ประเมินการเรียนรู้ได้ด้วย    

ทีมพี่เลี้ยง ม. ศรีปทุม ระบุ ชุมชน เป็น KRA หนึ่ง    และระบุบทบาท (๑) ร่วมกำหนด School Goal ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา  (๒) สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการบริหาร   (๓) เปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้   (๔) เป็นผู้เชี่ยวชาญมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้   (๕) ร่วมชื่นชมผลงานนักเรียน  (Open House)

ทีมพี่เลี้ยงมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา  ระบุ เครือข่าย เป็น KRA หนึ่ง    โดยระบุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งใน KRA นี้ คือผู้ปกครอง     ที่จะต้องเข้าใจวิธีจัดการเรียนรู้แบบใหม่   และต้องเข้าร่วมจัดการเรียนรู้กับโรงเรียน   

ทีมพี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ระบุสินทรัพย์ที่เก้านี้ในสาม KRA  คือ ผู้ปกครอง ชุมชน  และกรรมการโรงเรียน

ทีมพี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุ ชุมชน/แหล่งเรียนรู้ เป็น KRA หนึ่ง    และระบุความคาดหวังว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ และสนับสนุนการใช้นวัตกรรมของโรงเรียน    ชุมชนเห็นคุณค่า ร่วมกันสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน

ทีมพี่เลี้ยงมูลนิธิสตาร์ฟิชฯ ระบุ ชุมชน เป็น KRA หนึ่ง และระบุบทบาทของชุมชนว่า  (๑) ชุมชนเข้ามาเป็นคณะทำงาน มี ส่วนร่วมในการบริหารงาน กำหนดเป้าหมาย วางแผนและ การติดตามประเมินผล   (๒) ชุมชนสนับสนุนภายในโรงเรียน  ปราชญ์ชุมชนเข้ามาถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนทรัพยากรและกำลังคน  สนับสนุนด้านสถานที่ การเรียนรู้ เช่น สวนกล้วย โบราณสถาน  เป็นแหล่งเรียนรู้ ของโรงเรียน

สินทรัพย์นี้ ต้อง “เจียระไน” สู่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของคนในสังคม    ว่าการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนนั้น  ต้องไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเท่านั้น    ต้องไม่ปล่อยให้โรงเรียนทำงานอย่างโดดเดี่ยว    พ่อแม่และฝ่ายต่างๆ ในชุมชนต้องเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ หรือเป็นฝ่ายหนุนการเรียนรู้ของเยาวชนของตนด้วย   และหากโรงเรียนของตนทำหน้าที่ไม่ดี   คนในชุมชนต้องออกมาเรียกร้องให้หน่วยเหนือเข้ามาจัดการ    และชุมชนเข้าไปร่วมหาทางแก้ไขด้วย   

การจัดวง DE (ต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ) เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของตัวแทนภาคีเครือข่ายของโรงเรียนตัวแทนจากแต่ละทีมพี่เลี้ยง     และนำข้อเรียนรู้ออกสื่อสารสังคม เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นกลไกสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาในพื้นที่หรือชุมชน    ที่ผู้ปกครองและกลไกในชุมชนต้องเข้าร่วมรับผิดชอบด้วย       

  สินทรัพย์ที่สิบ  โรงเรียนนอกโครงการที่สนใจเข้าร่วมโดยไม่หวังเงินสนับสนุน    

ผมได้เล่า การผุดบังเกิดของโรงเรียนพัฒนาตนเองที่จังหวัดนครราชสีมา ไว้แล้ว     ในวง DE ปลายน้ำห้องย่อย มน. ผศ. ดร. อนุชา กอนพ่วง เล่าว่า     เมื่อมีกิจกรรม “เปิดบ้าน” ของโรงเรียนในโครงการ    ให้โรงเรียนอื่น, ผู้ปกครอง,  ศน., ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา, และผู้นำชุมชน ได้มารับรู้ผลงานของนักเรียน   ก็มีผู้บริหารและครูของโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง เข้ามาไต่ถามว่าทำอย่างไรโรงเรียนของเขาจะได้เข้าร่วมโครงการบ้าง     โดยไม่สนใจเรื่องเงินสนับสนุน   

นี่คือหลักฐานยืนยันความสำเร็จของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (ที่จัดการเรียนรู้เชิงรุก – active learning)      ว่าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนอย่างเห็นได้ชัด   เข้าใจว่าทีมพี่เลี้ยงภายนอกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ก็ได้แสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์     จนได้รับการสนับสนุนจากแหล่งอื่น ให้ขยายการดำเนินการไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในภาคใต้ตอนล่างอีกจำนวนหนึ่ง   

กสศ. จึงควรเจรจาความร่วมมือกับ สพฐ.   เพื่อสร้าง platform สนับสนุน school transformation ให้แก่โรงเรียนที่สนใจเปลี่ยนแปลงตัวเองเหล่านี้     ตามแนวทางของโรงเรียนพัฒนาตนเอง   ที่ปรับให้เข้ากับการบริหารของ สพฐ.    โดยมีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปสนับสนุน ภายใต้การส่งเสริมของ สพฐ.    โดย กสศ. สนับสนุนกลไกการเรียนรู้และปรับตัวด้วย DE   

สินทรัพย์ที่สิบเอ็ด    หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับโรงเรียน   

ทีมพี่เลี้ยงที่ทำงานก้าวหน้าไปมากในการพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ เท่าที่ผมทราบ คือทีมมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และทีมมูลนิธิสยามกัมมาจล    และอาจมีทีมอื่นอีก แต่ผมหาข้อมูลไม่ได้   

นี่คือ “สินทรัพย์” ที่มีค่ายิ่งต่อนโยบายภาพใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ    ที่ต้องการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นนโยบายระดับประเทศ     ผมมีส่วนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มี ดร. สิริกร มณีรินทร์เป็นประธาน    และผมได้เสนอว่า ในการดำเนินการต้องมีทั้งกระบวนการ bottom-up (ดำเนินการในระดับโรงเรียน)   และ top-down (ดำเนินการที่ สพฐ.) มาบรรจบกัน   การดำเนินการในบางเครือข่ายของโรงเรียนพัฒนาตนเองจึงมีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาภาพใหญ่ของประเทศในเรื่องการเปลี่ยนหลักสูตรมาเป็นฐานสมรรถนะ ให้บรรลุผลที่ตัวนักเรียนอย่างแท้จริง   

กสศ. จึงควรดำเนินการ “เจียระไนเพชร”  โดยร่วมกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.  จัดวง DE ของโรงเรียนที่มีการประยุกต์ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะไปแล้ว    เป็น DE ต้นน้ำ (ต้นปีการศึกษา ๒๕๖๔)  กลางน้ำ  และปลายน้ำ (ปลายปีการศึกษา ๒๕๖๔)   เพื่อเรียนรู้ร่วมกันจากการดำเนินการหลักสูตรดังกล่าว     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรียนรู้วิธีที่ครูประเมินระดับสมรรถนะแต่ละสมรรถนะ ของนักเรียนแต่ละระดับ     

ผลลัพธ์ของการ “เจียระไน” คือทักษะการประยุกต์ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับโรงเรียนและห้องเรียน ให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สมรรถนะของนักเรียนได้อย่างแท้จริง   

ผลลัพธ์จาก DE ควรนำไปสื่อสารสังคม ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนได้เข้าใจว่าลูกหลานของเขาจะได้รับประโยชน์จากหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างไรบ้าง     และตัวเขา ในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง และพลเมืองดี ในชุมชน ต้องมีส่วนสนับสนุนอย่างไรบ้าง          

สินทรัพย์ที่สิบสอง    วิธีประเมินนักเรียน    

 ข้ออ่อนแอของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันคือ    ยกการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนไปไว้นอกโรงเรียน นอกชั้นเรียน นอกตัวครู  นอกตัวนักเรียน    การประเมินจึงแผกส่วนจากกระบวนการเรียนรู้ที่ครูช่วยเอื้ออำนวยแก่ศิษย์    และแยกออกจากความตระหนักรู้ของตัวนักเรียนเอง ว่าตนได้เรียนรู้เต็มตามเป้าหมายหรือไม่    วงการศึกษาไทยจึงไม่ให้คุณค่าของ “การประเมินเพื่อเรียนรู้” (assessment for learning)   และ “การประเมินในฐานะการเรียนรู้” (assessment as learning)    ที่ผมเขียนไว้ใน บล็อก ชุด การประเมินเพื่อมอบอำนาจ    และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้    ซึ่งการประเมินในที่นี้หมายถึง formative assessment ที่ทำโดยครู  ทำในห้องเรียน    ที่จะต้องตามด้วยการให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงบวก (constructive feedback)       

ในวง DE ปลายน้ำ มีทีมพี่เลี้ยงที่เน้นเรื่องทักษะการประเมินของครู เช่น ทีม มข. เน้นให้ครูมีสมรรถนะในการประเมินสมรรถนะของนักเรียน     ทีมมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาระบุใน KRA 3 เรื่องครู   ว่าครูต้องมีทักษะการประเมินเพื่อพัฒนานักเรียน    ทีม มอ. ระบุใน KRA 2 สมรรถนะครู ว่าต้องมีทักษะในการพัฒนาผู้เรียน    ทีม ม. ศรีปทุม ระบุใน KRA 2 ครู ว่าครูต้องมีทักษะในการประเมินนักเรียน   เป็นต้น    แสดงว่าทีมพี่เลี้ยงมีความเห็นตรงกันว่า ทักษะของครูในการประเมินเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนมีความสำคัญยิ่ง   

จึงเป็นโอกาสที่ กสศ. จะจัดกระบวนการ “เจียระไน” ทักษะการประเมินนักเรียน ให้แก่ครูในโรงเรียนในโครงการ    โดยทำผ่านทีมพี่เลี้ยง   ให้ทีมพี่เลี้ยงนำไปจัดกระบวนการฝึกครูสังกัดโรงเรียนในเครือข่ายของตนอีกชั้นหนึ่ง   

เครื่องมือก็ไม่หนี DE  เพราะเป็นเครื่องมือเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ   และเป็นเครื่องมือเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง     หากบางวง DE มีความชัดเจนเรื่องวิธีการที่พ่อแม่ผู้ปกครองประเมินบุตรหลานของตน   และวิธีการที่นักเรียนประเมินตนเองและประเมินเพื่อน  ก็จะเกิดการเรียนรู้สูงยิ่ง มีคุณค่ายิ่ง       

มีต่อ               

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ค. ๖๔         

 

หมายเลขบันทึก: 691567เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2021 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2021 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท