นักมานุษยวิทยามองโลกหลังโควิด


 

บทความ Author Talk : Gillian Tett on looking at the world like an anthropologist. (1)    บอกเราว่านักมานุษยวิทยามองเรื่องธุรกิจในมุมมองที่แตกต่าง    และที่สำคัญสำหรับสังคมไทยคือ    มานุษยวิทยาในยุคใหม่ไม่ใช่วิชาศึกษามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์   แต่เป็นศาสตร์ว่าด้วยความเข้าใจมนุษย์ในยุคปัจจุบัน     เป็นศาสตร์ที่น่าจะเชื่อมโยงกับจิตวิทยา    ที่ก็เป็นศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา     

ไม่ทราบว่า มานุษยวิทยาไทยปรับตัวไปแค่ไหนแล้ว

ตามในบทความ นักมานุษยวิทยาผู้นี้ (Gillian Tett) ทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมขนานใหญ่    เช่นวิกฤติเศรษฐกิจ  การระบาดของโควิด ๑๙    

ข้อเสนอหลักเพื่อ “ฟื้นตัวดีกว่าเดิม” (BBB – Build Back Better) คือ    มนุษย์ต้องเปลี่ยน วิสัยทัศน์ จาก tunnel vision เป็น lateral vision      ที่เขาเสนอชื่อว่า anthro-vision  - มองอย่างนักมานุษยวิทยา    หรือ มองอย่างมนุษย์          

ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำด้านใด ต้องเปลี่ยนมุมมอง จากมองแคบ (แบบ ปธน, ทรัมป์)  เป็น มองกว้าง    คือต้องใจกว้าง   

ผมชอบมากที่เขาบอกว่า มองกว้างหมายถึงมองให้เห็นบริบท (context) ของเรื่องนั้นๆ   นี่คือประเด็นที่ผมฝึกตัวเองมาเป็นเวลานานหลายสิบปี    เพราะรู้สึกว่าตนเองแคบ (การเรียนหมอทำให้แคบ แต่ลึก)       จนวันหนึ่งเพื่อนฝูงและภรรยาบอกว่า ผมเป็นคนที่สนใจกว้าง    โดยที่ผมยังบอกตัวเองว่า เป็นคนแคบและรู้ไม่จริง     ท่านที่อ่าน บล็อก ของผม และเชื่อตามนั้นโปรดระวังนะครับ    ว่าอาจโดนผมชักจูงให้หลงผิด   

คำแนะนำของเขา ที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ การแก้ปัญหาโควิด ๑๙ นอกจากใช้ศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว  ต้องใช้ศาสตร์ด้านมนุษย์ (anthropology)  และด้านสังคม (social science) ด้วย จึงจะบรรลุผล   

เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อมนุษยชาติโดนโควิด ๑๙ โจมตี   วงการวิทยาศาสตร์ตั้งรับได้แข็งแรงมาก   พัฒนาวัคซีนออกมาได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ    แต่ปัจจัยด้านสังคมเป็นตัวปัญหา    ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์    และในจำนวนนั้นบางคนเป็นถึงผู้นำประเทศอันดับหนึ่งของโลก    ที่นำประเทศสู่หายนะอย่างที่เห็นๆ กันอยู่   และเวลานี้แม้จะออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ยังออกมาสร้างปัญหาต่อ      

นักมานุษยวิทยาสังคม (social anthropologist) ทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านพิธีกรรม สัญลักษณ์ และวัฒนธรรม           

ผู้เขียน (Gillian Tett) มองพฤติกรรมของนายแบ๊งค์ในประเทศตะวันตก    ว่ามี tribal behavior  คล้ายพฤติกรรม ของสังคมแถบเทือกเขาฮินดูกูชที่ผู้เขียนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก    กล่าวคือ มีผลทำให้การเคลื่อนที่ของเงินเป็นไปในทิศทางที่แคบและผิดพลาด คือเพื่อเป้าหมายแบบเดิมๆ     ไม่ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงสำหรับอนาคต     

ข้อคิดเห็นจากมุมมานุษยวิทยาต่อการทำงานอย่างหนึ่งคือ incidental information exchange    ซึ่งหมายความว่า การทำงาน ไม่ใช่แค่กระบวนการสู่ผลงานตามเป้าหมายเท่านั้น   แต่ยังเป็นกระบวนการที่เอื้อให้ผู้ทำงานได้และเปลี่ยนสารสนเทศระหว่างกัน    ซึ่งหมายความว่า พื้นที่ทำงานเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้นั่นเอง       

อีกคำหนึ่งที่เขาเอ่ย คือ sense making    หมายถึง การมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง สำหรับใช้หาความหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อการตัดสินใจ     

หัวใจของเรื่องอยู่ที่ย่อหน้าสุดท้าย ๖ บรรทัด ว่าด้วยมุมมองเชิงมานุษยวิทยา ๓ ประการ คือ (๑) การทำความเข้าใจมุมมองของคนที่อยู่ภายนอกองค์กร ซึ่งก็คือ ลูกค้า   (๒) การทำความเข้าใจมุมมองของคนที่อยู่ภายในองค์กรเอง     ลดปัญหา “ปลาอยู่ในน้ำแต่ไม่รู้จักน้ำ”  และ (๓) ทำความเข้าใจระบบนิเวศน์ และรู้ว่าองค์กรมีตำแหน่งแห่งหน ณ จุดใดในระบบนิเวศน์นั้น   

บทความนี้เป็นการแนะนำหนังสือที่ผู้เขียนแต่ง Anthro-Vision : A New Way to See in Business and Life (๒)  

วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 691591เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2021 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2021 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

“ปลาอยู่ในน้ำ แต่ไม่รู้จักน้ำ” … จริงครับ ;)…

เราอยู่ในโลก แสดงว่ายังไม่รู้จักโลกดี ใช่ไหมคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท