ชักแม่น้ำทั้งห้า ปัญจมหานที


ชักแม่น้ำทั้งห้า ปัญจมหานที

แม่น้ำยมุนา ถ่ายจากทัชมาฮาล

 

ชักแม่น้ำทั้งห้า มีความหมายว่า พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอสิ่งที่ประสงค์


สำนวน"ชักแม่น้ำทั้งห้า นิยมใช้กับคนที่พยายามที่จะพูดจาหว่านล้อมอีกฝ่ายให้เห็นด้วยกับตน เห็นใจตนเอง เพื่อให้การร้องขอของตนสัมฤทธิ์ผล เป็นการพูดโน้มน้าวใจซึ่งผู้พูดมีความสามารถเชิงจิตวิทยา ทำให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้มคล้อยตาม

สำนวนนี้มีที่มาจากมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร เมื่อชูชกจะทูลขอสองกุมารจากพระเวสสันดร ชูชกได้ยกแม่น้ำทั้งห้าในชมพูทวีป หรือ ปัญจมหานทีมาอ้างในการเจรจาหว่านล้อมพระเวสสันดร ดังนี้
"...พระคุณเจ้าเอ่ย อันว่าแม่น้ำทั้งห้าห้วงกระแสสายชลชลา ไหลมาจากห้วงคงคาเป็นห้าแถว นองไปด้วยน้ำแนวเต็มติรติรานามชื่อว่า คงคา ยมุนา อจีรวดี สรภูนที มหิมหาสาคเรศ จึ่งแตกเป็นนิเทศกุนทีน้อยๆ ประมาณห้าร้อยโดยสังขยา...ย่อมเป็นที่อาศัยทั่วไปแก่ฝูงปลานานาสรรพสัตว์ในภูมิพื้นจังหวัดมงคลทวีป  ฝูงชนได้เลี้ยงชีพก็ชุ่มชื่น...  เสมือนหนึ่งน้ำพระทัยทูลกระหม่อมแก้ว อันยาจกมาถึงแล้ว ไม่เลือกหน้า..."

พระเวสสันดรจำใจยกสองกุมารให้แก่ชูชก เนื่องจากความแยบคายของเหตุผลที่ชูชก “ชักแม่น้ำทั้งห้า”

ปัญจมหานที คือแม่น้ำทั้งห้าสายของชมพูทวีป ประกอบด้วย
1.คงคา (Ganga) เป็นแม่น้ำที่ชาวอินเดียถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนานของฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำคงคานั้นมีส่วนหนึ่งอยู่ในสวรรค์ ซึ่งก็คือทางช้างเผือกที่เห็นบนท้องฟ้า กำเนิดจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยในรัฐอุตตรขัณฑ์ ประเทศอินเดีย ตามตำนานกล่าวว่าเป็นน้ำที่มีความรุนแรงมาก หากไหลลงสู่โลกมนุษย์โดยตรงจะทำให้น้ำท่วมได้ พระศิวะจึงใช้เศียรรองรับน้ำเอาไว้เพื่อลดความรุนแรง  น้ำจึงไหลมาจากมวยผมของพระศิวะ ไหลลงสู่ที่ราบบริเวณเมืองฤๅษีเกศ ศูนย์กลางสำคัญของปรัชญาโยคะและเมืองหริทวาร จากนั้นได้ไหลหล่อเลี้ยงที่ราบ ผ่านเมืองสำคัญคือเมืองพาราณสี และไหลลงสู่อ่าวเบงกอลในประเทศบังคลาเทศ

ชาวฮินดูนิยมมาอาบน้ำในแม่น้ำคงคาบริเวณเมืองพาราณสี ถือว่าจะช่วยชำระบาปได้ หากมีผู้เสียชีวิตก็จะเผาศพริมแม่น้ำคงคาแล้วกวาดเถ้ากระดูกลงในแม่น้ำ โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ตายได้ขึ้นสวรรค์

2. ยมุนา (Yamuna) กำเนิดจากธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยในรัฐอุตตรขัณฑ์ ประเทศอินเดียเช่นเดียวกับแม่น้ำคงคา ไหลขนานกับแม่น้ำคงคาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไหลผ่านทุ่งปานิปัต อินทปัตถ์ อัคระ และบรรจบกับแม่น้ำคงคาที่เมืองอัลลาฮาบัค ในจุดที่เรียกว่า จุฬาตรีคูณ

3. อจิรวดี (Aciravati) ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำรัปตีตะวันตก (West Rapti) กำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล ไหลผ่านแคว้นโกศล นครสาวัตถี และไปบรรจบกับแม่น้ำฆาฆรา และไหลลงสู่แม่น้ำคงคาก่อนถึงเมืองปัฏนะ

4. แม่น้ำสรภู (Sarayu) กำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยไหลลงสู่รัฐอุตตรประเทศ ลงสู่แม่น้ำฆาฆรา ซึ่งไหลผ่านเมืองอโยธยา เมืองของพระราม

5. มหิ (Mahi) เป็นแม่น้ำในภาคตะวันตกของอินเดีย กำเนิดจากเทือกเขาวินธัยในรัฐมัธยมประเทศ ประเทศอินเดีย ไหลผ่านรัฐคุชราตก่อนไหลลงทะเลอาหรับ

ในบทพระราชนิพนธ์   "รามเกียรติ์" ของรัชกาลที่ 1 ตอน ศึกกุมกรรณ พระลักษมณ์ออกรบกับกุมกรรณ อนุชาของทศกัณฐ์ ผู้ซึ่งมีอาวุธสำคัญคือหอกโมกขศักดิ์ พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ของกุมกรรณและจะต้องตายเมื่อบาดแผลสัมผัสแสงอาทิตย์ หนุมานจึงต้องเหาะไปหยุดพระอาทิตย์ไว้ก่อน แล้วไปเก็บว่านยาสังกรณีตรีชวาจากยอดเขาสรรพยา มาบดด้วยน้ำจากปัญจมหานที แล้วราดลงที่บาดแผล หอกโมกขศักดิ์จึงจะเขยื้อนหลุดออกไปเอง

…แล้วให้ไปเก็บตรีชวา
ทั้งยาชื่อสังกรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพต
ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที
สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลง
องค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวัน
หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา…

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 691587เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2021 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท