สงบปาก...สงบคำ


การเลี้ยงลูกเชิงบวกวันนี้ ขอเสนอวิธี

“สงบปาก...สงบคำ”

.

ในแต่ละวัน เราก็อาจเจอเรื่องราวที่ขัดตา ขัดใจกับลูกอยู่บ้าง(หรือมากนะ)

ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ แก่นำลูกมาก่อนหลายปีมากๆ เราอาจคิดว่ามีประสบการณ์ชีวิตที่ดีและไม่ดี

มีความรู้มากที่อยากจะบอก

อยากจะสอนลูก

.

เผื่อพรุ่งนี้อาจไม่มีโอกาสจะสอนอีก ใดๆ ไม่เที่ยง อาจเดินออกไปถูกรถชนเปรี้ยงแล้วหายไปจากโลกนี้ก็ได (มรณสติ)

ต้องรีบสอน ต้องรีบใส่ชุดความคิด ความรู้ที่คิดว่าดีลงไป

.

ด้วยปรารถนาดี มีความรักความห่วงใยลูกสูงงงงงงงง

.

หรือไม่ก็ไม่ทันคิดอะไรสั่งสอนเร็วไปแบบอัตโนมัติมนุษย์แม่

.

เรามักทำเช่นนี้ รีบสั่งสอน ตักเตือน ลามไปถึงพร่ำบ่นๆๆๆ

.

ลูกทนได้ก็ดีไป ทนไม่ได้ก็อาจเถียงกลับ หรือไม่ก็นิ่งเฉย ทำหน้ามึนใส่ ต่อต้านภายใน

.

หลากหลายอาการการแสดงออกทางภาษากาย

.

แล้วเคยเห็นใจลูกมั้ย ข้างในใจลูกของเราเขาจะรู้สึกอย่างไร ?

.

เกิดแผลใจ แผลกดทับสะสมมั้ย หรือเป็นแผลฉีก กลัดหนอง หรือปกติดีข้างใน

.

"สงบปาก สงบคำ เป็นอีก 1 วิธี

ที่ส่วนตัวคิดว่่าเป็นวิธีที่ปลอดภัย

ดีต่อใจตัวเองและลูก

.

อ่านตัวอย่างประกอบการเรียนรู้ในการนำไปใช้ เผื่อช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น

.

สถานการณ์ ลูกร้อนรน บ่น เรื่องการอัดคลิปท่องกลอนวิชาภาษาไทย

ซึ่งบทกลอนก็ยาวพอสมควร (จำไม่ได้ว่ากี่บท 1 หน้าA4 ที่จำได้)

.

ลูก “เครียดอะ ต้องอัดคลิปส่งกลอนครูแล้วยังท่องไม่ได้เลย มันยาว ใครจะไปจำได้ เหลือเวลาอีก 3 วันต้องส่งแล้วอะ”

.

ผ่านไปอีก 1 วันก็ยัง เดินบ่นลอยลม และเริ่มบ่นถี่ขึ้น เริ่มหงุดหงิดขึ้น รับฟัง สะท้อนความรู้สึก สังเกตต่อไป ก็ยังไม่เห็นการลงมือท่องกลอน

(ซึ่งเราไม่เห็น ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกไม่เคยท่องเลยเนาะ)

.

แม่ “แม่ได้ยินลูกพูดว่าลูกรู้สึกเครียด ที่ต้องท่องกลอนแล้วยังจำไม่ได้ ตั้งแต่วันก่อน วันนี้ก็เหมือนจะรู้สึกเครียด กังวลใจมากขึ้นหรือเปล่าลูก” (รับฟังและสะท้อนความรู้สึก)

.

ลูก “ใช่ซิแม่ แม่ดูซิ(เอากลอนในมือถือให้ดู) คำก็ย๊ากยาก อ่านจะไม่ออกอยู่แล้ว ยังต้องมาท่องจำให้ได้ทั้งหมด ย๊ากเกิ้น เยอะมากด้วย ใครจะไปจำได้แบบนี้”

.

แม่รับมาดู อ่านคำ เออ คำยากจริง อ่านเอง บางคำยังไม่แน่ใจว่าจะอ่านออกเสียงว่าอย่างไร ยาวมากด้วย(สำหรับตัวเองก็คิดเช่นลูก)

.

แม่ “เออ...แม่อ่านเองก็ยังรู้สึกยาก จำได้ลางๆ สมัยเรียนภาษาไทยก็มีคำยากๆ แบบนี้เยอะเลย แม่ก็เคยท่องสอบนะ จำได้ว่า ครูจะสอนอ่านก่อน แม่ก็จะจดคำอ่านเอาไว้ แล้วค่อยๆ ท่อง ใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะจำได้”

“ครูเขาสั่งงานเมื่อไหร่ลูก?”

.

ลูก “ก็สั่งตอนต้นเดือน ครูก็สอนอ่าน แต่ไม่ได้จด”

.

แม่ฟังแล้วอารมณ์ขึ้น

หงุดหงิด คันปากอยากจะตำหนิ คำในใจ

“ครูสั่งตั้งแต่ต้นเดือน แล้วตอนนี้จะสิ้นเดือน วันๆ เอาเวลาไปทำอะไร เห็นเล่นแต่เกม” คิดในใจ

.

สติมา ปัญญาเกิด เรากำลังรู้สึกหงุดหงิด ตีความว่าลูกไม่รับผิดชอบ แล้วยังมาพ่นมลพิษในบ้านอีก คาถามา “สงบปาก...สงบคำ” เก็บกลืนคำที่จุกคอแน่นๆ อกลงไป งับปากแน่นๆ ไว้ กลับมาดูแลความรู้สึกแวบหนึ่ง

.

เห็นว่าใจปกติดีแล้ว ยิ้มน้อยๆ(มิใช่แยกเขี้ยว)ใช้ภาษาภายช่วยดึงใจขึ้นอีกนิด (การใช้ภาษากายดูแลใจก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งนะคะ)

.

ใจร้อนๆ ไม่พร้อม ไม่พูด เราจะพูด เมื่อใจเราพร้อม เป้าหมายในการจะพูดของเรา คืออะไร? ประชุมภายใน และได้คำตอบว่า “เพื่อต้องการให้ลูกมีกำลังใจในการลงมือทำ” และ”ให้ลูกได้เรียนรู้รับผิดชอบตัวเอง”

.

ใจพร้อม เป้าหมายชัด ก่อนสื่อสารสังเกตลูกด้วย ลูกพร้อมฟังเราไหม?

.

แม่ “ลูกต้องการให้แม่ช่วยอะไรมั้ย”

ลูก “อยากให้แม่ช่วยอ่านให้ฟังก่อน แล้วช่วยฟังตอนท่องด้วย มันเครียดอะ จะส่งแล้วยังท่องไม่ได้เลย”

.

แม่ “ได้ๆ ไหนดูซิ แม่ขอสั่งพิมพ์ออกมาก่อน แม่ไม่ถนัดอ่านในจอ จดอะไรก็ไม่ได้ จ้องนานแสบตาอีก”

.

ระหว่างอ่าน เจอคำยาก ไม่แน่ใจ ก็บอกลูกว่า คำนี้แม่ไม่แน่ใจ สมัยก่อนเจอแบบนี้แม่จะต้องมีพจนานุกรมคำภาษาไทยค่อยๆ ไล่เปิดหาคำ ปัจจุบันง่ายขึ้นเนาะ ความรู้อยู่ที่ปลายนิ้ว กดถามก็รู้คำตอบแล้ว แต่ก็ต้องดูดีๆ แหละว่าแหล่งไหนน่าเชื่อถือได้ จดคำอ่านที่เจอ แล้วหาชวนหาความหมายด้วย และอ่านให้ลูกฟังได้จนจบ สังเกตลูกฟัง แต่ไม่จด เขาอ่านได้คล่องแล้ว ก็เหลือท่อง และท่อง

.

ลูก “โอ๊ยยากอะ จำไม่ได้ ใครจะไปจำได้ ยาวขนาดนี้”

.

แม่ “ลูกรู้สึกจำได้ยาก มันยาวมาก(ไม่ใส่คำว่าใช่ไหม เพราะเป็นการนำคำจากลูกมา) แล้วมีเพื่อนที่ท่องได้ ส่งครูแล้วหรือยัง

.

ลูก “มีแล้ว ส่งไม่กี่คนเอง ส่วนใหญ่ก็พวกผู้หญิง”

.

แม่ “ออ มีคนส่งไม่กี่คน และคนที่ท่องส่งส่วนใหญ่ก็ผู้หญิง ลูกคิดว่าเพราะอะไรเพื่อนผู้หญิงที่ท่องได้เพราะอะไร”

.

ลูก “พวกนี้เขาตั้งใจเรียน ใส่ใจ มีความรับผิดชอบสูง”

.

แม่ “ออ ไม่เกี่ยวกับเขามีสมองที่ดีกว่าใช่เปล่า”

.

ลูก “ก็น่าจะใช่แหละ”

.

แม่ “ลูกจำได้ไหม เมื่อปีไหนนะ ที่ลูกก็มีท่องกลอนส่งยาวๆ แบบนี้เลย แม่จำได้ลูกแค่ท่องในรถระหว่างเราไปไหนสักที่แหละ แล้วลูกก็ท่องได้ จำได้เร็วมากด้วย”

.

ลูกนึก “ออ...จำได้แล้ว”

.

แม่ “นั่นซิ ครั้งนั้น ทำไมถึงจำได้เร็วนะ จำได้ไหม”

.

ลูก “ท่องสบาย ๆ ไม่เครียด สนุกๆ ขำๆแหละ”

.

แม่ “ใช่ๆ แม่ก็จำได้ว่า เราท่องกันไป ขำกันกลิ้ง พูดผิด พูดถูก สนุกมากตอนนั้น

ที่แม่เรียนรู้มา สมองส่วนความจำ จะทำงานได้ดี ถ้าเรารู้สึกดีๆ โล่งๆ สบายๆ หากมีความเครียดกังวลมาก นั้นคือสมองส่วนอารมณ์กำลังทำงานหนักเบียดบังการทำงานสมองส่วนความจำแหละ นี่ความรู้เรื่องสมองเลยนะ แม่ก็นำมาใช้บ่อยๆ”

.

ลูกรับฟัง สีหน้า แววตา ท่าทางเริ่มผ่อนคลาย

.

แม่ “ลูกอยากท่องต่อ หรือพักก่อนดี ยังมีเวลาอีกตั้ง 2 วัน”

.

ลูก “ท่องต่อเลย” จากนั้นแม่ก็ฟัง ลูกก็ท่อง มีความตลกขำ บางท่อน ที่อ่านผิด แม่ก็ขำ ลูกก็ขำ

.

บรรยากาศผ่อนคลาย แถมฮากระจายไปอีก พอลูกเริ่มมั่นใจว่าท่องได้แล้ว ขอบันทึกวีดีโอส่งครูต่อเลย

.

แม่ “โฮ...จำได้เร็วอะ นี่แม่ฟังตั้งหลายรอบ แม่ยังท่องได้ไม่ถึง 2 บทเล้ยยย” (เรื่องจริงของแม่ ไม่ได้อวยลูก)

.

ตอนท่องแบบไม่อัด ก็ท่องได้คล่องอยู่ พอเริ่มอัด ความเครียดเริ่มกลับมา ท่องไป 4-5 รอบ ก็ยังท่องไม่ได้

.

เริ่มหงุดหงิด บ่นระบาย จะไม่ท่องต่อ

.

แม่ “เมื่อก่อนอัดวีดีโอ ยังท่องได้คล่องเนาะ ตอนท่องอัดวีดีโอเกิดความรู้สึกต่างไปไหมหรือเกิดอะไรที่ต่างไป”

.

ลูก “มันเกร็งอะ รู้สึกกดดัน เครียด”

.

แม่ “อ๋อ เกร็ง กดดัน เครียด สมองส่วนอารมณ์กำลังทำงานอยู่ สมองส่วนความจำเลยทำงานไม่ได้เต็มที่”

“เอาไงดี พักก่อนไหม หรืออย่างไร”

.

ลูก “อยากท่องให้เสร็จๆ อะ”

.

แม่ “ลูกอยากท่องต่อใช่ไหม?”

.

ลูก “ใช่ ก็จะได้จบๆ ไป จะเล่นเกมได้สบายใจ”

.

แม่ “ได้ งั้นตามนั้น เมื่อกี้แม่ต้องสะกดอารมณ์ขำมากเลยนะ ตอนลูกท่องว่า.............”

.

ลูกท่องเพี้ยนเสียงแล้วความหมายคำเปลี่ยน (ตั้งใจช่วยปรับอารมณ์ แต่ใช้ความจริง ความรู้สึกจริงที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น อันนี้ก็เป็นอีกเทคนิค “เปลี่ยนอารมณ์”)

.

ลูกได้ฟังขำกลิ้ง คนนี้เขาขำง่าย ชอบความตลกตั้งแต่เล็กจนโตใหญ่ เราขำกันน้ำตาไหล น้ำตาไหลจริงๆ กว่าจะเรียกความปกติกลับมาได้ก็ใช้เวลาพอสมควร

.

ตั้งสติและStart ใหม่ จนท่องได้ ส่งได้ภายในวันนั้นแหละ เราก็แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตที่ชอบที่ชอบของตัวเอง (พื้นที่ส่วนตัว)

.

เรากลับมาตั้งวงสนทนากันอีกครั้งก่อนนอน ดูอาการลูกก่อน และโยนคำถามนำไป

.

แม่ “ลูกช่วยแม่บ้างได้มั้ยอะ?”

.

ลูก “ช่วยอะไร?”

.

แม่ “ช่วยถอดบทเรียนชีวิตตัวเองเรื่องการบ้านอ่านกลอนส่งครู”

.

ลูก “อืม...ก็ได้”

.

แม่ “ขอบคุณครับ ลูกได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง?”

.

เราคุยกันอีกสักพัก

บอกคำชื่นชมที่เรารู้สึกจากใจ เช่นขอบคุณลูกเรื่องอะไรบ้าง ชื่นชมลูกเรื่องอะไรบ้างในวันนี้(หมายถึงวันนั้น)

เรารู้สึกมีความสุขอย่างไรที่ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน กอดหอม และนอนหลับไปด้วยกัน จบไปอีกวันเนาะ

.

ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นเวลาทองสำหรับแม่ดาว หากย้อนไปสมัยลูกเล็กเราจะนอนอ่านนิทานด้วยกัน มีนิทานจากหนังสือที่อ่าน ต่อจากนั้นก็ต้องมีนิทานปากเปล่่า เป็นเรื่องที่แม่ฟังมา อ่านเจอมา หรือไม่ก็แต่งเอง(แต่เรื่องเก่ง)

.

ปัจจุบันเวลาทองเช่นนี้มีไม่บ่อย แต่ก็ยังมีเรื่อยๆ ตามจังหวะชีวิตที่ลูกเปิดพื้นที่ให้

.

มาได้อ่านเจอตอนหลังว่า ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จิตใต้สำนึกจะเปิดกว้างกว่าปกติ ไม่รู้เท็จจริงประการใด แต่ทำมาด้วยใจ ทำมาเป็นปกติ

จากผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็น่าจะจริงนะคะ

.

และไม่ใช่ทุกคืนที่แม่ดาวจะทำเรื่องดีๆ ประทับไว้ ยิ่งก่อนวัย 3 ขวบนี่ลูกแทบจะหลับทั้งน้ำตา แม้พัฒนามาแล้วบางครั้งก็ยังเผลอเก่ง เผาลูกเก่ง

.

ก็ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียวนี่นะ บวกก็มี ลบก็มีแหละ ปกติของมนุษย์ที่ยังเรียนรู้และฝึกฝนตน

.

ขอบคุณภาพประกอบที่ดีต่อใจจาก

ศิลปินตามสั่งแม่อ้อสาวนนคนเดิม

.

หากเราสงบใน

เราจะไม่ต้องฝืนใจงับปากกลืนคำ

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงอิงนิยายเช่นเคย ไม่จริงทั้งหมด เพราะจำความจริงไม่ได้ทั้งหมด

หมายเลขบันทึก: 691530เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท