กลัว (ภยาคติ) หรือ รักและปรารถนาดี (เมตตา)


น้ำหนักระหว่างการสร้างข้อความเพื่อแสดงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม และการสร้างข้อความลวงเพื่อเป้าหมายตามข้อความแต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งสองส่วนมีความเป็นไปได้เสมอกันของข้อความที่ส่งต่อกันในสังคมออนไลน์เวลานี้

ข้อความคือ “ห้ามบุคคลที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข้ามาในพื้นที่นี้” “ผู้ที่จะเข้าในพื้นที่นี้จะต้องแสดงหลักฐานการผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว” เป็นต้น 

ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้สิ่งที่มองเห็นกับตาอาจไม่ใช่ความเป็นจริง และต้องยอมรับเช่นกันว่า จำนวนหนึ่งของผู้คนเชื่อในสิ่งที่เห็นกับตา และจำนวนหนึ่งได้แสดงท่าทีต่อสิ่งที่เห็นกับตานั้นโดยไม่ได้ศึกษาบริบทที่เกิดขึ้นจริงอย่างครบถ้วน ข้อสังเกตหลังนี้ คงไม่มีใครผิดคงไม่มีใครถูก เพราะเมื่อเรารับรู้มาเท่านี้ จะให้แสดงท่าทีต่อสิ่งที่รับรับมากกกว่านี้ได้อย่างไร

หลายหน่วยงานในเวลานี้ทั้งภาครัฐและเอกชน มีความพยายามให้คนในหน่วยงานของตนได้ฉีดวัคซีน เบื้องหลังของความพยายามดังกล่าวคือสิ่งใด เราคงเข้าไม่ถึง แต่ที่รับรู้ได้คือ ความพยายามดังกล่าวที่แม้จะไม่ใช่การทำหนังสือเป็นคำสั่งให้ทุกคนต้องฉีดวัคซีน แต่ความพยายามจำนวนหนึ่งแสดงถึงอำนาจเหนือสิทธิ์ หากเชื่อตามข้อมูลที่ได้รับการส่งต่อโดยเฉพาะผู้สื่อข่าวที่สถานะเป็นครูของสังคมในเวลานี้ บุคคลของหน่วยงานภาคประชาชนจำนวนหนึงเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ในความหมายว่า หากไม่ฉีดวัคซีนก็ยังใช้ชีวิตอยู่ปกติ ที่แม้จะมีตัวเลขเพียงน้อยนิด แต่น้อยนิดในเชิงสถิตินี้ไม่ใช่น้อยนิดในเชิงสัมพันธ์แบบเครือญาติที่มีความรักเป็นตัวเชื่อม และความรักนี้ถูกสร้างสะสมมาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี บางคนได้รับผลกระทบสิ้นสติต้องเข้าห้องไอซียูระหว่างรอดูผลหลังฉีดวัคซีน บางคนรู้สึกผิดที่เห็นด้วย อาจจะขัดไม่ได้ต่อท่าทีของรัฐและสังคมที่มีต่อตนและครอบครัว ส่งผลเป็นความเสียหายต่อบุคคลภายในครอบครัว อย่างข้อความที่ทรงคุณค่านี้ที่อยากสะสมไว้ในประวัติศาสตร์ทางความคิด

“มีเพื่อน คนนึง พ่อเขา อายุเกือบ 80  พ่อเขาเคยมีภาวะเส้นเลือดตีบในสมอง  แล้วเขาพาไปฉีดวัคซีน AZ  อาทิตย์ถัดมา พ่อมีอาการ ชามือ ข้างขวา และพูดติดขัด อยู่ 2-3วัน แล้วจู่ๆ ก็น็อค นำส่ง รพ. หมอ คนหนึ่งวินิจฉัยว่า ลิ่มเลือดอุดตัด ในสมอง ต้องให้ยาสลายลิ่มเลือด   แต่พอ ให้ยาไป ปรากฎว่า มีอาการเลือดออกในสมอง สมองบวม อาการยิ่งหนักกว่าเดิม  ตอนนี้ เขาพร่ำบ่น ว่าการฉีดวัคซีนเป็นเหตุ ... และโทษตัวเองว่า เขาไม่น่าพาพ่อไปฉีดวัคซีนเลย ... เราควรจะปลอบเขาแบบไหนดี”

ข้อความนี้เป็นข้อความตรงที่ผุ้ส่งสารส่งมาเพื่อพิจารณาความคิดเห็น ไม่นับประสบการณ์ตรงในฐานะคนเฝ้าผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

หลายโดยงานโดยฝ่ายบริหารมีความพยายามจะฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไว้รัสที่แต่ละคนสัมผัส จำนวนหนึ่งแม้จะฉีดเข้มที่สองแล้วทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ สื่อระบุว่า ยังเป็นเหยื่อของไวรัสโคโรน่า ถ้าการฉีดวัคซีนและไม่ฉีดวัคซีนมีผลเท่ากันคือ ยังไม่พ้นจากไวรัสโคโรนา เราจะฉีดเพื่อสิ่งใด นอกจากนั้น ถ้าพิจารณาจากความคิดนี้

ถ้าทุกคนฉีดวัคซีน  ทุกคนไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

นาย ก. ไม่ฉีดวัคซีน นาย ก.ติดเชื้อโคโรนา

ถ้าทุกคนฉีดวัคซีน คำถามคือ เชื้อโคโรนามาจากคนไหน

นาย ก.ไม่ฉีดวัคซีน นาย ก.ก็ไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

ความคิดนี้เป็นความคิดแบบหลวม แต่เมื่อพิจารณาความเป็นจริงทางสังคม คนที่ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งยังติดเชื้อไวรัสโคโรนา และคนไม่ฉีดจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา

ย้อนกลับไปที่ ความต้องการให้ทุกคนในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนฉีดวัคซีน คำถามที่ตามมาคือ คนที่มีความต้องการให้คนอื่นฉีดวัคซีน รับผิดชอบอย่างเพียงต่อต่อผลกระทบที่เกิดกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนมากน้อยเพียงใด ชุดข้อความหนึ่งที่ผู้ต้องการเมื่อถูกต้องคำถามว่า “ถ้าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ขอให้รับผิดชอบอย่างเพียงพอได้หรือไม่" คำตอบที่ได้คือ “กี่สิบล้านคนที่เขาฉีดก็ไม่เห็นจะเป็นไร” การตอบคำถามแบบนี้บ่งชี้อะไร? (๑) ตอบไม่ตรงประเด็นที่ผู้ถามได้ถาม (๒) การเปลี่ยนประเด็นหลักไปสู่ประเด็นอื่น (๓) การบ่งชี้ความสามารถที่จะรับผิดชอบได้ไหว 

ตอนต้น ได้กล่าวถึง “อำนาจบังคับ” อำนาจนี้จะมาพร้อมกับ “สิทธิ์ในการตัดสินใจ” อำนาจบังคับมีหลายแบบ และแบบที่ไม่มีหลักฐานแบบลายลักษณ์เช่น ท่าทีของสังคมที่มีต่อสิ่งนั้นอย่างความรังเกียจและการกีดกัน ท่าทีต่อฝ่ายถือกฎที่มีต่อสิ่งนั้น อย่างการเช็คชื่อ แน่นอนว่า อำนาจบังคับแบบไม่มีลายลักษณ์ จะพบว่าจำนวนหนึ่งมีผลต่อสถานภาพบุคคลในอนาคต หากบุคคลผู้ถืออำนาจผนวกหน้าที่กับความรู้สึกของตนเข้าเป็นอย่างเดียวกัน สิทธิ์ในการตัดสินใจจะเบี้ยวทันที

 ปัญหาที่น่าพิจารณาคือ ความต้องการในการให้บุคคลผู้ไม่ใช่ตนทำอย่างที่ตนคิดคือการฉีดวัคซีน อยู่ในลักษณะแห่งความกลัวหรือความปรารถนาดี

ความกลัวและความปรารถนาดี อยู่ต่างกลุ่มกัน ความกลัวในที่นี้หมายถึงความกลัวที่จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งที่ไม่ควรให้เป็นไป (อคติ) จะมีอยู่ ๔ อย่างคือ ความพึงพอใจส่วนตัว ความกลัว ความโกรธ/เกลียด และความไม่รู้/เลอะเลือน ส่วนความปรารถนาดีในที่นี้จะคือเมตตาที่หมายถึง ความปรารถนาความเจริญงอกงามอย่างแท้จริงต่อบุคคลนั้น สถาพทางจิตของ ๒ อย่างนี้แตกต่างกัน ความกลัวบ่งชี้สภาพจิตที่กระด้าง มีช่องว่างระหว่างผู้ต้องการและผู้ที่จะต้องทำตามต้องการ แตกต่างจากความปรารถนาดี จะมีสภาพเชื่อมสัมพันธ์แบบส่งเสริม

การวัดว่า เป็นความกลัวหรือความปรารถนาดีในกรณีความต้องการให้ทุกคนในหน่วยงานฉีดวัคซีน (๑) ถ้ากังวลว่า ถ้าหน่วยงานของตนจะมีคนไม่ฉีดวัคซีน จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานและการนำพาหน่วยงาน (๒) ถ้ากังวลว่า หากคนในหน่วยงานไม่ฉีดวัคซีน ผุ้มีอำนาจเหนือกว่าจะเพ่งเล็ง ส่วนนี้จัดเป็นความกลัว แต่ถ้า (๑) เชื่อมั่นว่าวัคซีนคือสิ่งที่ดีที่จะให้บุคคลในหน่วยงานปลอดภัยจากเชื้อไวรัส (๒) เชื่อมั่นว่า บุคคลในหน่วยงานจะไม่เป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสต่อคนอื่น ส่วนนี้จัดเป็นความปรารถนาดี

หมายเหตุ (๑) ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัว (๒) ความคิดนี้เกิดขึ้นขณะเดินกลับไปกลับมาภายในบ้าน และไม่อยากให้ความคิดหายไป จึงนำมาบันทึกไว้ (๓) ประเด็นหลักของการพิจารณาคือประเด็น ความต้องการฉีดวัคซีนให้กับบุคคลในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เป็นความกลัวหรือความปรารถนาดี แต่มีประเด็นย่อยอื่นอีกที่ผ่านเข้ามาในความคิด

๒๕๖๔๐๗๑๕

๐๕.๐๐ น.

 

 

หมายเลขบันทึก: 691527เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 06:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนเสือให้วัวเห็นเป็นความกลัวคนทั่วหล้าอยู่ใต้คำสั่งการเขียนสมุนไพรให้คิดปรารถนาทานขอจงผ่านวิกฤติปิดตำนาน.ยุกยิก จักรวาล 15-07-64

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท