ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...


 

ครม. มีมติให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ (๑)   ตามมาด้วยเสียงคัดค้านของกลุ่มผลประโยชน์ (๒)  (๓)    

ขั้นตอนต่อไปคือ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติ    ผมภาวนาให้ผ่านไปได้ เพราะรอมานานหลายปี    แม้ พรบ. นี้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากการศึกษาแห่ง(คริสต)ศตวรรษที่ ๑๙  มาเป็นศตวรรษที่ ๒๑  และจะก่อคุณูปการในการพัฒนาพลเมืองไทยในอนาคตอย่างที่สุด     หลังจากคุณภาพการศึกษาไทยค่อยๆ ตกต่ำลงเรื่อยๆ เป็นเวลาประมาณ ๓๐ ปี   

ที่จริงสาระใน ร่าง พรบ. นี้ไม่มีอะไรใหม่สำหรับโรงเรียนที่พัฒนาตัวเองล้ำหน้าไปแล้ว     แต่โรงเรียนแบบนั้นน่าจะมีราวๆ เพียง ๑ พันโรงเรียน     ที่เหลืออีกกว่า ๓ หมื่นโรงเรียนคงจะดำเนินการแบบเดิมๆ คือสอนแบบถ่ายทอดความรู้    เน้นเพื่อให้สอบ O-NET ได้คะแนนสูง   ไม่ได้คำนึงถึงการหนุนให้นักเรียนพัฒนาตนเองครบด้าน     ผมหวังว่า พรบ. ใหม่นี้จะทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยแปลงใหญ่ หรือ transformation ในระบบการศึกษาไทย        

ผมอ่านร่าง พรบ. นี้แล้ว บอกตนเองว่าเป็นกฎหมายที่ลงรายละเอียดมาก   เริ่มด้วยเหตุผลในบันทึกหลักการและเหตุผล ก็ร่ายยาวถึง ๒๑ บรรทัด   ซึ่งที่จริงสาระชัดเจนครบถ้วนดีมาก   

ที่ยาวมากคือมาตรา ๘ ที่ระบุสมรรถนะที่ต้องการพัฒนาตามช่วงวัย   ซึ่งมีรายละเอียดดีมาก แต่คนไม่รู้อย่างผมอดคิดไม่ได้ว่า กฎหมายต้องลงลึกขนาดนี้เชียวหรือ    ปล่อยให้มีการตีความเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนตามสภาพ VUCA ของสังคมไม่ดีกว่าหรือ 

แต่เมื่ออ่านถึงมาตรา ๙ และ ๑๐ ผมก็ชมคณะผู้ร่าง   ว่ามีความรอบคอบครบถ้วนดีมาก   กล่าวได้ว่า พรบ. นี้ครอบคลุมคนทุกช่วงอายุ    และครอบคลุมเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย    แถมในมาตรา ๑๑ ยังให้สิทธิของพ่อแม่ในการจัดการศึกษาแก่บุตรเองได้ด้วย    ไม่ให้รัฐผูกขาดฝ่ายเดียวอย่างสมัยก่อน     

ข้อที่น่าชื่นชมมากคือ ร่าง พรบ. นี้ให้ความคล่องตัวในการจัดการโรงเรียนสูงมาก ในหลากหลายด้าน    และนิยามคุณภาพการเรียนรู้ไว้ชัดเจนดีมาก  

โดยรวม ร่าง พรบ. นี้จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา   มีข้อกังวลอยู่อย่างเดียวว่า การโอนสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้มาทำหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ   จะทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเริ่มด้วยความอ่อนแอหรือไม่   

ผมลองจินตนาการว่า  เปรียบเทียบระหว่างการใช้ พรบ. เก่า กับ พรบ. ตามร่างใหม่    ผลต่อคุณภาพการศึกษาจะแตกต่างหรือไม่    ผมเชื่อว่าจะแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ในด้านการส่งมอบผลลัพธ์การเรียนรู้คุณภาพสูงให้แก่ประเทศ    แต่การมี พรบ. ใหม่ ก็จะต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้น   

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มิ.ย. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 691457เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2021 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2021 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท