เรียนจากมุมทำ ไม่ใช่แค่จากมุมมอง


 

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผมเข้าร่วม (ผ่านซูม) วงเสวนา “การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางานร่วมกัน ครั้งที่ 2” ของสำนักครู ของ กสศ. ในฐานะ learning facilitator ร่วมกับคุณเปา ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร   การเตรียมโจทย์ของกิจกรรม “เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงาน” นำสู่หัวข้อบันทึกนี้ ... เรียนจากมุมทำ ไม่ใช่แค่จากมุมมอง

วงเสวนานี้ มีเป้าหมายหนุนให้พนักงานของสำนักครู มีทักษะเรียนรู้จากการทำงาน    ย้ำที่การลงมือทำของตนเอง     ตามด้วยการคิดแบบ “ใคร่ครวญสะท้อนคิด” (reflection)   เท่ากับเป็นการฝึก reflective learning นั่นเอง   เน้น reflect จากการทำงานของแต่ละคน     ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานพัฒนา lifelong learning skills ใส่ตน

โดยผู้เข้าร่วมวงเสวนาได้ประโยชน์ ๓ ด้านคือ (๑) ทักษะเรียนรู้จากการทำงาน (๒) เข้าใจงานของตนในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงขึ้น  คิดพัฒนางานเป็น  (๓) เกิดความเป็นทีมงาน/ชุมชน หรือ collective mindset    ทำงานเป็นทีม 

นี่คือกระบวนการ HRD – Human Resource Development ที่ทรงพลังที่สุด    ดีกว่า HRD โดยวิธีฝึกอบรมหลายเท่า    อย่างตอนนี้มีข่าวนักวิชาการออกมาท้วง รมต. ศึกษาธิการ    ที่ทำโครงการว่างจ้างติวเตอร์เอกชนมาฝึกอบรมวิธีสอนแก่ครู (๑)   ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อทักท้วงนั้น    แต่ผมมีเหตุผลเสริมท่านผู้ท้วง ว่าท่าน รมต. ใช้ HRD หรือ Professional Development mindset ที่ตกยุค     คือยังเชื่อในแนวทางฝึกอบรมอยู่    โดยที่เวลานี้เรารู้ว่าแนวทางที่ได้ผลกว่า และใช้เงินน้อยกว่าคือ แนวทางเรียนรู้จากการปฏิบัติงานร่วมกัน    ที่เรียกว่า PLC   

เรื่อง training mindset นี้ บางทีก็มี hidden agenda ที่ผลประโยชน์ของผู้ให้บริการฝึกอบรม   

ย้ำอีกทีว่า แนวทางฝึกอบรม มีคุณค่าน้อย   และยังต้องระวังท่าทีไม่เคารพครู    ไม่ให้เกียรติครู ว่ามีความสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้จากการปฏิบัติงาน    เป็นการทำร้ายศักดิ์ศรีครูทางอ้อม โดยไม่ตั้งใจ    นโยบายระดับกระทรวงของคนระดับรัฐมนตรีจึงอาจถูกมองว่า เป็นนโยบายที่ไม่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ   ทำลายความน่าเชื่อถือต่อท่านรัฐมนตรี 

“มุมทำ” มีความซับซ้อน  มีหลายมุม จากแต่ละมุมหรือจุดทำงานของผู้นั้น   การแชร์การสะท้อนคิดอย่างเปิดใจของสมาชิกแต่ละคนจึงมีค่ายิ่ง    ต่อการรับรู้และเรียนรู้ของสมาชิก    คุณค่านี้มีได้ตื้นลึกหลายระดับ   ขึ้นกับความสามารถในการตีความร่วมกันของสมาชิกในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้    ซึ่งผมเข้าใจว่า ขึ้นกับพื้นฐานความรู้ทางทฤษฎี และขึ้นกับระดับใจเปิดของสมาชิก    

ในวง ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) นี้ สมาชิกสื่อสารถ้อยคำของการตีความจาก “มุมทำ” ของตนออกมาแชร์แก่สมาชิก   และรับฟังการตีความจาก “มุมทำ” ของสมาชิกท่านอื่น    เอามา dialogue กัน  เพื่อยกระดับความเข้าใจคุณค่าของงานนั้นขึ้นไปอีกระดับหนึ่งหรือหลายระดับ    รวมทั้งยกระดับทักษะวิธีทำงาน  และความรู้เชิงทฤษฎีขึ้นไปด้วย   

ดังนั้น “ท่าที” ของสมาชิกในวง จึงต้องเป็นท่าทีที่ศรัทธาและปฏิบัติโดยมี growth mindset นำ    เชื่อว่าตนเองและสมาชิกในทีมสามารถร่วมกันยกระดับคุณภาพงานให้ดียิ่งกว่าเดิมได้    โดยการเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติงาน    ทั้งผ่านเวทีนี้    และทั้งที่คุยกันเองอย่างไม่เป็นทางการ 

ทีมงานของสำนักครู เลือก ๓ กิจกรรมมา ลปรร. กัน     ได้แก่ (๑) Online workshop เรื่อง Active learning สำหรับครูไทย  (๒) การคัดเลือกและพัฒนาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 (ประเทศไทย) (๓) กระบวนการคัดเลือกมหาวิทยาลัยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2    โดยที่ผมไม่คุ้นเคยกับเรื่องทั้งสามเลย    

ในวงเสวนา ผมทำหน้าที่สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” อย่างเต็มที่    เพื่อให้ทีมงานพูดออกมาจากใจ    ยิ่งได้คำพูดเสริมจากคุณเปา ยิ่งได้บรรยากาศผ่อนคลาย   

ผลของเวทีในวันนี้ทำให้ผมมั่นใจว่า การพูดสะท้อนความคิดออกมาจากมุมทำมีพลังมาก   เพราะทุกคนพูดมาจากสิ่งที่ตนสัมผัสตรง   เมื่อบวกกับความรู้สึกเป็นอิสระและปลอดภัย ไม่กลัวผิด   การแชร์เหตุการณ์และการตีความของตนจึงพรั่งพรูออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ    ยิ่งผมบอกว่า แต่ละคนทำงานคนละหน้าที่ จึงย่อมมีมุมมองต่างกัน   เราอยากฟังมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน    ก็ยิ่งมีการเสนอมุมมองอย่างกว้างขวาง   

หลัง ๓ ชั่วโมงเศษๆ   และคุยกันเพียง ๒ เรื่องแรก   ทุกคน AAR ว่า ได้เห็นมิติของงานที่กว้างขึ้น   เห็นความเชื่อมโยงของงาน    และนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้   

วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ค. ๖๔

 

   

หมายเลขบันทึก: 691031เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2021 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2021 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท