มองราชการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน


มองราชการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน

14 พฤษภาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ทีมงานเคยวิพากษ์การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นมาก่อนหน้าแล้ว เห็นว่าในช่วงของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการปกครองนั้นจำเป็นที่ต้องหันมาทบทวนของเดิม ของเก่าที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านการเมืองการปกครอง และการพัฒนาประเทศ เพราะในมิติของการพัฒนา (Development) นั้นจะเน้นในด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องพัฒนาแบบบูรณาการ แบบองค์รวม [2] (Integrated & Holistic Development) เป็นการมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแบบบูรณาการ และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ เช่น (1) มิติด้านสังคม (2) มิติด้านเศรษฐกิจ (3) มิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ที่เชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร

มาเปิดประเด็นการวิพากษ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) [3] ดูจุดอ่อนจุดด้อย (Weak & limited) หรืออุปสรรคขัดขวาง (Threats) ในราชการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยมีประเด็นหลัก (Main Issue) ว่า ประเทศไทยสูญเสียระบบกันหมดทั้งหมู่บ้านและตำบล ทำให้ประเทศขาดพัฒนาทางการเมือง จริงหรือไม่ อย่างไร

(1) เรามีผู้นำท้องถิ่น (Head villager) ระดับหมู่บ้านที่มีหลายคน และหลากหลายขั้ว คือ มี สมาชิกสภา อบต. 2 คน (คราวหน้าเลือกตั้งฯ เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 คน) มีผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ผู้ช่วยผู้ใหญ่ 2 คน (อาจมี ผรส.หรือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ อีก 1 คน) รวมแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้นำ 5- 6 คน

(2) ผู้นำในระดับตำบล ฝ่าย “ปกครองท้องที่” ได้แก่ กำนัน 1 คน สารวัตรกำนัน 2 คน แพทย์ประจำตำบล 1 คน “ฝ่ายท้องถิ่น” ได้แก่ นายก อบต./เทศบาล 1 คน รองนายก 2 คน มีเลขานายก (เทศบาลมีที่ปรึกษานายก) มีที่ทำการ อบต. /สำนักงานเทศบาล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ราว 20-30 คน (คิดเฉพาะตำบลเล็กๆ) เพราะฉะนั้นใน 1 ตำบลจะมี เจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง รวมๆ แล้วกว่า 40-50 คน เช่นกัน บุคคลเหล่านี้ย่อมมีสังกัดทางการเมือง ที่อาจหลากหลายขั้วเหมือนดังเช่นหมู่บ้าน

(3) จากข้อ (1) ข้อ (2) ข้างต้น รัฐต้องจ่ายเงินเดือนค่าตอบแทน ในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก หากคิดเฉลี่ยคนละ 10000 ต่อเดือน ก็ตกเดือนละ ไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ต่อ 1 ตำบล (เล็กๆ)

(4) ลองมาสังเกตบุคคลตามข้อ (3) ว่า บุคลากรเหล่านี้ได้ทำงานอะไรที่เป็นเนื้อเป็นหนังมีผลงานอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลบ้าง ได้ทำงานเต็มที่ เต็มฝีมือ อย่างจริงจัง แข็งขัน เต็มกำลังความสามารถ อุทิศตัว เสียสละ สร้างสรรค์ มีสำนึกรับผิดชอบ มีอุดมการณ์ มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่คดไม่โกง ฯลฯ ในการทำงานเพียงใด หรือว่า ทำงานตามนายสั่ง คนสั่ง ตามใบสั่ง หรือทำงานไปวันๆ ทำงานเอาหน้า เอาผลงาน ทำงานแบบขี้โกงฯ หรือทำงานด้วยจิตวิญญาณพิทักษ์ปกป้องช่วยเหลือประชาชน

(5) พฤติกรรมผู้บริหารท้องถิ่นมีแบบนี้เพียงใด หรือไม่ เช่น คิดแต่เรื่องสร้างทางสร้างถนนหนทาง เพื่อหาส่วนลดส่วนต่าง เงินทอน จากโครงการฯ เป็นผู้รับเหมา ผู้ประสานผลประโยชน์ทับซ้อนฯลฯ

มีโครงการเพื่อปากเพื่อท้องของชาวบ้าน โครงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ สวัสดิการ สงเคราะห์ ช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ มีหรือไม่ เพียงใด

(6) ลองหันมาดูข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำในพื้นที่ มีพฤติกรรมเหล่านี้เพียงใด หรือไม่ เช่น มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งแยกพวกมึงพวกกู เด็กใครเด็กมัน ตามสายการเมืองที่มีในท้องถิ่น ข้าราชการคนใดใครเลือกนายมาถูกก็เป็นพวกเดียวกัน ใครเลือกผิดไม่ได้นายที่มาใหม่ เขาก็หมายหัวจ้องเอาเรื่อง ไม่เติบโต ทำงานติดขัดไปหมด ฯลฯ เป็นต้น

(7) ลองย้อนไปดูการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นกัน (การเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้ง อปท.) สักนิดว่า มีอย่างนี้หรือไม่ เพียงใด เช่น สังคมท้องถิ่นแตกแยกกัน มีขั้วมีพวก การเลือกตั้งมีจ่ายหัวคะแนน จ่ายผู้ลงคะแนน (ซื้อเสียง : Vote buying) เป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน

(8) คนที่อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนรับใช้ท้องถิ่นมีคุณสมบัติที่เหมาะสม (Qualifying) มีวุฒิภาวะ เป็นที่ยอมรับของสังคมเพียงใด เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ (Experience & Expert) มีชื่อเสียง (Well known) มีคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม (Moral & Ethics) มีลักษณะเป็นผู้มีอิทธิพล ใหญ่โต นักเลง ฯลฯ

(9) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ (ฝ่ายปกครองในพื้นที่) กำนันได้ตำแหน่งมาเพราะเข้าซื้อเสียงผู้ใหญ่บ้านหรือไม่ เพราะระบบการเลือกสรรที่เอื้อต่อการซื้อเสียงมาก โดยให้ผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเองเป็นกำนัน ซึ่งได้ยกเลิกการให้ประชาชนเลือกกำนันไปแล้ว และเมื่อได้ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้วก็ถือว่าตนเองมีอำนาจ สังเกตจากคราวประชุมตำบล หมู่บ้านแต่ละครั้ง มีการขู่ ชี้นำฯ เพียงใด หรือไม่ ผู้ร่วมประชุมหรือชาวบ้านโต้แย้งอะไรได้บ้างหรือไม่ ก็เพราะตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่ฯ รุ่นใหม่จะมีวาระอยู่จนเกษียณอายุ 60 ปี [4] ชาวบ้านจะเปลี่ยนตัวจะเลือกคนใหม่ไม่ได้ ส่วนผู้ใหญ่บ้านก็เช่นกัน เหมือนกัน อยู่จนเกษียณ ก็มีคนยอมลงทุนจ่ายเงินซื้อมาเป็นล้านได้ การถอนทุนคืน คืนทุนจึงเป็นเรื่องปกติ เช่น หาเศษหาเลยกับเงินโครงการงบประมาณแผ่นดิน ทั้งเป็นหน้าม้า หรือทำเอง หรือเป็นนอมินี หรือร่วมมือกับนักการเมือง และ/หรือผู้รับเหมาทำทุกอย่าง เพราะเนื้องานโครงการอาจได้สัก 40-50% เท่านั้น เป็นต้น

(10) จากข้างต้นจะเห็นว่าระบบมันมีช่องว่าง เปิดช่องว่างให้ใช้ระบบอุปถัมภ์ ขาดหลักการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ตรวจสอบ ได้ ตามระบบคุณธรรม ระบบธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)

(11) ข้อสังเกตเช่น กรณีแพทย์ประจำตำบล ที่อยู่จนเกษียนมาแต่เดิม (กฎหมายไม่ได้แก้ไขวาระ)

เป็นภารกิจงานที่แทบไม่มีประโยชน์ ซ้ำซ้อนกับงาน อสม. ที่มีอยู่แล้วทุกหมู่บ้านทุกตำบลแล้ว จำนวนมากถึง 1.05 ล้านคน แถมยังมีผลงานสู้ อสม. ในหมู่บ้าน ตำบลไม่ได้เลย เพราะ แพทย์ประจำตำบลบัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อช่วยเหลือกำนัน กรมการเมือง (นายอำเภอ) ในสมัยก่อนที่บ้านเมืองความเจริญ การคมนาคมยังไม่สะดวก ทั่วประเทศมีแพทย์ประจำตำบล 7,255 ตำบล [5] รัฐจะเสียเงินค่าตอบแทน (เงินเดือน) ไปเยอะมาก หากคิดคนละ 5,000 บาทต่อเดือน จะตกถึงเดือนละไม่น้อยกว่า 36 ล้านบาท นี่ยังไม่คิดรวมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรกำนันอีก ที่ใช้งบประมาณมากมายเป็นจ่ายค่าตอบแทนเช่นกัน แต่ผลงานที่ได้จากคนกลุ่มนี้มีน้อยกว่า อปท.เสียอีก ปัจจุบันแพทย์ประจำตำบลแทบไม่มีผลงานใด ฉีดยาหมาแมวก็ยังไม่ได้ทำ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า ปัจจุบัน สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ได้เรียกร้องขอขึ้นเงินค่าตอบแทนฯ (เงินเดือน) และสวัสดิการอื่น [6] เช่น การรักษาพยาบาล และการแต่งเครื่องแบบหลังเกษียณอายุ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ มิใช่ท้องถิ่น แต่เป็น “บุคลากรของราชการส่วนภูมิภาค” ที่เรียกว่า “ท้องที่” [7]

(12) โลกปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ คนมีวุฒิการศึกษาสูงๆ มีมาก แต่มิได้หมายความว่าคนมีคุณวุฒิการศึกษาสูงจะมีคุณธรรม มีความรู้ หรือเก่งกว่าคนมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า เพียงแต่ การศึกษาทำให้คนได้มีความคิดที่สร้างสรรค์กว่า เรื่องวุฒิการศึกษาจึงจำเป็น เช่น มีวุฒิการศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท เป็นต้น ฉะนั้น ผู้นำท้องถิ่นควรมีวุฒิการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมโลกโซเซียลสมัยใหม่ (ยุค Digital) ต้องรู้ทันโลกออนไลน์ โลกดิจิตัล อีเมล์ ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ คลับเฮาส์ ฯลฯ เพราะมิเช่นนั้นจะสื่อสารกับเด็กคนรุ่นใหม่รุ่น เจน Z (คนรุ่นดิจิทัล) เจน Y (คนรุ่นมิลเลนเนียม ที่รู้เทคโนโลยีดี) ทำให้พูดคุยกับคนรุ่นเจนหลังๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะ สื่อสารพูดและทำงานกันคนละภาษา จึงเป็นปัญหาของ "ช่องว่างระหว่างวัยระหว่างรุ่น" (Generation Gap) [8] เพราะคนที่ทำงานการเมืองท้องถิ่นรวมทั้งคนที่ทำงานท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ) ให้รัฐนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่น เจน X เจน Baby Boomer

เป็นข้อสังเกตที่ยังมีปัจจัย (Factor) อื่นทั้งภายใน และภายนอก (ภาวะแวดล้อม) อีกหลายปัจจัยที่ยังมิได้กล่าวถึง เช่น ความเหลื่อมล้ำ (Inequality) [9] การกระจายรายได้ (Distribution) การกระจายอำนาจ (Decentralization & Devolution) รวมถึงสวัสดิการแห่งรัฐ (Social welfare & Welfare state) ฯลฯ เป็นต้น

การเมืองการปกครองไทย เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนากันบ้าง คงถึงเวลาเปลี่ยนแปลงกันแล้วมั้ง ไม่ลองพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสดูกันบ้าง หรือว่าจะรอกันอีกยาว

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 14  พฤษภาคม 2564, 

https://siamrath.co.th/n/24397

[2]การบูรณาการ (Integration) หมายถึง การประสานกลมกลืนกันของแผน กระบวนการ สารสนเทศ การจัดสรรทรัพยากร การปฏิบัติการ ผลลัพธ์ และการวิเคราะห์ เพื่อสนับสนุนเป้าประสงค์ที่สำคัญขององค์กร การบูรณาการที่มีประสิทธิผล เป็นมากกว่าความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน (Alignment) และจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อการดำเนินการของแต่ละองค์ประกอบภายในระบบการจัดการผลการดำเนินการมีความเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์

ส่วนการพัฒนาแบบองค์รวม (holistic development)นั้นคือการที่ก่อให้เกิดพัฒนาการขึ้นในทุกๆด้านพร้อมๆกันอย่างสมดุล ไม่ใช่เจาะจงเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาของเด็กปฐมวัยซึ่งถ้าแบ่งหลักๆแล้วจะแบ่งได้เป็นสี่หมวดใหญ่ๆคือ ด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านอารมณ์/จิตใจ และด้านสติปัญญา และถ้าเจาะจงลึกไปกว่านั้นอีกก็สามารถรวมไปถึงทักษะการอยู่รอด (survival skills) และทักษะชีวิต (life skills) ได้อีกด้วย

[3]"ช่วงเปลี่ยนผ่าน" (transition period) เช่น ช่วงเวลาที่สหราชอาณาจักร (United Kingdom) จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) หลังเป็นสมาชิกมา 47 ปี อย่างเป็นทางการในเวลา 23.00 น. ตามเวลาในสหราชอาณาจักร หรือเวลา 24.00 น. ตามเวลาในกรุงบรัสเซลส์ ของวันที่ 31 มกราคม 2563

นอกจากนี้ คำนี้ยังนำมาใช้กับในกรณีอื่นๆ ได้ เช่น "ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน" หรือ transitional justice เป็นต้น คือ สภาวะที่สังคมได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบอบทางการเมือง (political transformation/regime change) จากรูปแบบหนึ่งไปสู่รูปแบบใหม่อย่างมีนัยสำคัญ เช่น จากระบอบอำนาจนิยม (authoritarian) หรือการปกครองแบบกดขี่ (repressive rule) ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย (democracy) หรือใช้ในความหมายของการเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งของคนในสังคมไปสู่สันติภาพและความมั่นคง (วิกิพีเดีย)

ในความหมายก็คือ หมายถึงห้วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลง นั่นเอง ในที่นี้ผู้เขียนจงใจให้หมายความถึงการผ่านของการปกครองส่วนท้องถิ่นจากรูปแบบเดิมๆ ที่ผูกติดกับราชการบริหารส่วนภูมิภาค ไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มรูปแบบ หรือที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เดิม

[4]ดู มาตรา 14 (1) แห่ง พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457, http://www.law.moi.go.th/069.pdf

มาตรา 14 ผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) มีอายุครบหกสิบปี ...

*** มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551

[5]ข้อมูลทางการปกครองส่วนภูมิภาค (ทำเนียบท้องที่, https://multi.dopa.go.th/pab/news/cate9/view46& https://multi.dopa.go.th/pab/assets/modules/news/uploads/29ac9fe31fca32d67bf9adfa1b54f5eb58edf1943e2d17173306339303145546.pdf

ข้อมูลกรอบอัตรากำลัง (พื้นที่ที่มีอัตรากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ได้ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่)

(1) กำนัน 7,036 อัตรา (2) ผู้ใหญ่บ้าน 74,663 อัตรา (3) แพทย์ประจำตำบล 7,036 อัตรา (4) สารวัตรกำนัน 14,072 อัตรา (5) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 195,507 อัตรา

- อัตรากำลังรวมทุกตำแหน่ง จำนวน 291,278 อัตรา

- ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านรวมกำนัน จำนวน 74,663 อัตรา

- ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านไม่รวมกำนัน จำนวน 67,627 อัตรา

& ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563), กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/work/abt/

(1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง (2) เทศบาล 2,472 แห่ง คือ เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง (3) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง (4) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง

& ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/114/1.PDF

อัตราเงินตอบแทนตำแหน่ง แพทย์ประจำตำบล 5,000-10,000 บาท

[6]'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน' ออกแถลงการณ์จี้รัฐขึ้นค่าตอบแทน, ข่าวthebangkokinsight, 28 ธันวาคม 2562, https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/263361/

& กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอปรับเงินเดือน และเพิ่มสวัสดิการ ทวงคืนตำแหน่งเขตเมืองและนคร, เชียงใหม่นิวส์, 10 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1259685/

& กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่ยะลา เฮ รัฐบาลจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ 7 เดือน เพื่อเป็นกำลังใจต่อสู้วิกฤตโควิด -19, ข่าวคมชัดลึก, 25 มิถุนายน 2563, https://www.komchadluek.net/news/local/435038

ข่าวเมื่อ 28 ธันวาคม 2562 สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขอขึ้นเงินเดือนกำนันจาก 10000 บาทเป็น 15000 ผู้ใหญ่บ้านจาก 8000 บาทเป็น 13000 และเรียกร้องสวัสดิการช่วยเหลือรักษาพยาบาล รวมค่าห้องพิเศษ ค่าอาหารพิเศษ และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เกษียณมีสิทธิแต่งเครื่องแบบสีกากีคอพับ ชุดเครื่องแบบปกติขาวได้ เช่นเดียวกับข้าราชการประจำ

[7]คำว่า “ท้องที่” มิใช่ “ท้องถิ่น” ซึ่งแต่เดิมนั้น การปกครองส่วนภูมิภาคหรือ “ท้องที่” มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวหลัก ต่อมามีการพัฒนาพื้นที่บางแห่งเป็น “การปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ “ท้องถิ่น” หรือที่เรียกว่า “อปท.หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มีทั่วทุกพื้นที่อำเภอและจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) คือ “องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) ความสับสนในถ้อยคำเรียกยังมีอยู่ เพราะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2509  ให้หมายรวมถึง เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าด้วยกัน คือ “เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น” ดู

พระราชบัญญัติเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2509, http://123.242.159.135/2558/files/pdf/uniform/6-1.pdf

มาตรา 4 "เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น"* หมายความว่า สมาชิกสภาจังหวัด ข้าราชการส่วนจังหวัด ลูกจ้างประจำของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ตาม กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล นายกเทศมนตรี เทศมนตรี พนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำของเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล สมาชิกสภาเมืองพัทยา นายกเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา พนักงานเมืองพัทยา ลูกจ้างประจำของ เมืองพัทยา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา กรรมการสุขาภิบาล พนักงานสุขาภิบาล ลูกจ้างประจำของสุขาภิบาลตามกฎหมายว่าด้วยสุขาภิบาล กรรมการสภาตำบล ที่ปรึกษาสภาตำบล เลขานุการสภาตำบล หรือเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างประจำอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนตำบล หรือ เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการตำบล กรรมการหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ตำบลและหมู่บ้านตาม กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และหมายความรวมถึงผู้ได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมาย ว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น

[8]Generation Gap สร้างแรงกดดันทำให้ทั้งเพื่อนร่วมงานต่างรุ่นเกิดความเห็นที่แตกต่าง เป็นสาเหตุสำคัญของความตึงเครียดในที่ทำงาน อาจทำให้ไม่สามารถร่วมงานกันได้ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ทำงานเสียพนักงานรุ่นใหม่อยู่เสมอ  ผลสำรวจออนไลน์เปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของคนทำงานเสียเวลากับความขัดแย้งเรื้อรังกับเพื่อนร่วมงานต่างวัยกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (คิดเป็น 12% ของเวลาทำงาน) ดู ช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap, โดย ​TK DreamMakers, 5 มีนาคม 2564, https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/28507/#:~:text=Generation%20Gap%20สร้างแรงกดดัน,งานต่างวัยกว่า%205

[9]“ความเหลื่อมล้ำ” คืออะไร ทำความเข้าใจ “ความไม่เท่าเทียมกัน”, ในคอลัมน์ ระดมสมอง โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 1 มิถุนายน 2561, https://www.prachachat.net/columns/news-168380#:~:text=“ความเหลื่อมล้ำ”%20คือ%20ความ,ให้หมดสิ้นไปได้ 

“ความเหลื่อมล้ำ” ในภาพรวม ๆ มีทั้ง “ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง” (political inequality) “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” (economic inequality) และ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” (social inequality)

ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะเป็นผลเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง

“ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง” หมายถึงสถานภาพที่ในทางการเมือง การปกครอง มีทั้ง “ผู้มีอำนาจในการปกครอง” และ “ผู้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง”

หมายเลขบันทึก: 690608เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2021 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2021 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท