มนุษยศาสตร์ประยุกต์



ในการประชุมสภา มช. เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๔  มีวาระพิจารณาให้ความเห็นรอบที่ ๑ ของการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ชื่อ หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขามนุษยศาสตร์โลก เพื่อความยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ) Bachelor of Arts in Global Humanities  ที่ทีมร่างหลักสูตรจากคณะมนุษยศาสตร์ระบุในเอกสารว่า ต้องการผลิตบัณฑิตที่มี ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์     เน้นเรียนรู้ ความหลากหลายของศาสตร์และความรู้ และ พัฒนาสมรรถนะแบบรอบด้าน   

ได้เสนอว่าโครงสร้างการเรียนจะเป็น หลักสูตรแบบเปิด (open curriculum) หรือที่ผมอยากเรียกว่า หลักสูตรเฉพาะตัว (personalized curriculum) (๑)   เพื่อฝึกผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนเชิงรุก (active learner)    ในหลายรายวิชามีการจัดการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning โดยไปทำโครงงานในบริษัทสื่อสารสร้างสรรค์   บริษัทการตลาดแบบสร้างสรรค์    ที่มีการมอบหมายงานให้นักศึกษาทำเองเป็นหลัก  

เท่ากับเป็นการผลิตบัณฑิตด้านมนุษยศาสตร์เพื่อการเป็นผู้นำในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง     เป็นผู้ประกอบอาชีพเชิงสร้างสรรค์    เป็นพลเมืองโลก    ตัวอย่างอาชีพที่เขายกมาคือ นักประพันธ์  นักสร้างเรื่อง นักสร้างเนื้อหาเพื่อการตลาด  นักภาษา  นักแปลและล่าม  นักสื่อสารเชิงเทคนิค  นักลูกค้าสัมพันธ์    นักการขาย  ผู้จัดการและประสานงานด้านการแพทย์และสุขภาพ

การเสนอหลักสูตรใหม่ที่แหวกแนวเช่นนี้ย่อมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมายเป็นธรรมดา     คำแนะนำที่ดีเช่น ควรเน้นเรียนการสื่อสารมากกว่าด้านภาษา     เป็น new liberal arts    ควรเน้นเรียนด้านจิตวิทยาด้วย

ผมเสนอว่า เป็น applied humanities (๒)  หรือ integrated humanities    และแนะนำว่านักศึกษาควรได้เข้าใจความเป็นมนุษย์จากมุมของชีววิทยา (human biology) ด้วย    ยกตัวอย่างอาจารย์ที่สอนวิชานี้เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งคือ Robert Sapolsky แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด   

ผมยุว่า ต้องทำหลักสูตรนี้ให้สำเร็จให้ได้     เพราะเป็นหลักสูตรสร้างคนที่เข้าใจมนุษย์แห่งอนาคต  เป็นหลักสูตรที่สร้างคนที่ริเริ่มสร้างสรรค์    

เอามาเล่าเพื่อสื่อสารว่า มหาวิทยาลัยในยุคใหม่ต้องกล้าออกไปนอกจารีตวิชาการแบบเดิมๆ    มีการพูดกันว่า กรอบที่รัดรึงอาจจะอยู่ที่ สป.อว.   รวมทั้งการขอให้ ก.พ. รับรอง     แต่หากไม่สนใจการเข้ารับราชการ ก็ไม่น่าเป็นปัญหา    

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๖๔

ห้อง ๒๐๒๖  โรงแรม ดิ เอ็มเพรส  เชียงใหม่  


หมายเลขบันทึก: 690369เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท