อคติทางวิชาการ...


บันทึกนี้ขออนุญาตบันทึกไว้จากความรู้สึกภายในจิตใจ ซึ่งอาจจะมีอคติสำหรับการปฏิบัติทางวิชาการบางสิ่งบางอย่าง ถ้าหากท่านไม่ประสงค์จะอ่านสามารถกดปิดหรือข้ามบันทึกนี้ไปได้เลย...

-----------

สิ่งที่กวนใจและต้องขบคิดมานานแรมเดือน คือ การได้พบเห็นวิถีของโครงสร้างบทความทางวิชาการ ซึ่งสามารถใช้และสอบผ่านได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

ข้าพเจ้าจำโครงสร้างนี้ได้ตั้งแต่ที่อ่านหนังสือสอบนักธรรมตรี ซึ่งเป็นระดับแรกของการสอบนักธรรมว่าจะต้องมีการเขียนโคลงด้วย ซึ่งในแนวทางการเขียนก็จะมีลักษณะบอกไว้ว่าจะต้องเริ่มขึ้นอย่างไร ตรงกลางเป็นอย่างไร สุดท้ายต้องเอาพุทธวจนมาใส่ไว้สักกี่บท กี่บาท

ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกสำหรับการเริ่มต้นการเขียนในระดับนักธรรมตรี แต่ทว่า สิ่งที่ได้พบเห็นมาตลอดสองสามเดือนนี้ คือ โครงสร้างนี้ผู้ใช้ซึ่งจบระดับสูงสุดทางเปรียญธรรมก็ยังใช้อยู่ 

ใช้อยู่ก็ไม่ได้แปลกอะไรนะ เพราะใช้ได้ และเป็นแนวทางที่ดี 

แต่ที่ข้าพเจ้าว่าแปลกนั้นคือ ตรงส่วนพุทธวจนที่เอามาแทรก มีการนำคำคมจากอินเตอร์เนท สื่อโซเชียลมาใส่

ใส่ก็ไม่แปลกอีก... 

ที่แปลก อาจจะเป็นความคิดของข้าพเจ้าคนเดียวก็คือ คนเก่งขนาดนี้ ขนาดจบดีกรีสูงสุดทั้งทางโลกทางธรรม ทำไมไม่แต่งคำคมเอง แต่งกลอนเอง ทำไมต้องไปค้นหาจากอินเตอร์มาใส่ในโครงสร้างการเขียนของตนเองด้วย


ใคร ๆ ก็ทำกัน... 

ใช่ ถูกต้อง ใคร ๆ ก็ทำ และสอนกันตั้งแต่ระดับนักธรรมตรี...

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การนำพุทธวจน นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงนั้นดี ถูกต้อง หรือจะนำหลักจากครูบาจารย์ พระขีณาสพเจ้าทั้งหลายนั้นก็ดี ถูกต้อง แต่ทว่าการนำคำคมมาจากอินเตอร์เนทนั้น ยังถูกต้องไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ที่เขียนนั้นยังมิใช่ผู้ที่หมดกิเลส หรือคำคมต่าง ๆ บางครั้งก็ชี้ไปในทางสั่งสมกิเลส คือ ไม่ขาวสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ มิหนำซ้ำ การนำมาก็มิได้อ้างอิงถึงผู้ที่ไปเอาของเขามาด้วย

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ต้องคิดหนัก

เพราะการนำมา ตามหลักกติกามารยาทวิชาการก็ต้องอ้างอิงให้เขา แต่ทว่า... ถ้ามีการตัดแต่ง แต่งเติมไปสักนิดสักหน่อย เติมคำเราลงไปบ้าง และโครงสร้างก็เป็นคำคมเดิมของเรา รู้จักสอดแทรก อันนี้ก็ฟ้องร้องไม่ได้ เพราะไม่ผิดกฏหมาย...

เมื่อก่อนข้าพเจ้าทำบ่อย เพราะเคยดำรงชีวิตเป็นมือปืนทางวิชาการ คือ เคยรับจ้างทำผลงานวิจัย อันนี้รู้ ๆ กันดี ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่...

ประเด็นนี้มีปัญหา... คือ นำมาแล้ว ถ้าจะนำมาก็เอามาทั้งดุ้น ทั้งหมด แล้วอ้างอิง อันนี้จะดูโปร่งใสกว่า ที่จะนำมาแล้วตัดแต่งคำ เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องทางวิชาการ ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา

จากโครงสร้างเดิมตอนนักธรรมตรี... คือ เขียนของตัวเอง 80-90 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำคาถา หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์มาเสริม มาแทรกให้เข้าเรื่องกันสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ทำให้บทความของเราดี และมีคุณค่ามากขึ้น

แต่ทว่า... การนำกลอน คำคม หรือคัดลอกมาเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วแค่นำมาพูด นำมาขยาย อันนี้ในความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้านั้นคิดว่าเป็นการสวนทางของการเป็นนักวิชาการที่ดี...

เขียนไปเขียนมาก็เริ่มรู้สึกตัวได้ว่า จะเป็นเหมือนครั้งที่ไปนั่งเรียนในคลาสพัฒนบูรณาการศาสตร์อีกแล้ว คือ คิดและพูดออกมาตรงไป และดังไป...

ดังไปในที่นี่คือเปิดเผยเกินไป เปิดเผยออกไปสู่สาธารณชน

ดังที่แจ้งในเบื้องต้น บันทึกนี้ อาจจะเขียนด้วยความอคติที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะผิดมากกว่าถูก

แต่ที่เขียนมาก็คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย...

คือ วงการการศึกษา ไม่ค่อยสนับสนุนการคิดการเขียนด้วยตนเอง คือ ไม่สนับสนุนความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ซึ่งผู้เขียนเริ่มแรก อาจจะเขียนไม่ได้เรื่องเลย ต้องใช้เวลาแรมเดือนแรมปี แต่ทว่า อาจารย์หรือกรรมการผู้ให้คะแนนก็มิได้ใส่ใจ ให้คะแนนจากการพยายามนี้

กลับไปให้คะแนนการนำบทความ คำคม หรืออะไรต่าง ๆ จากสื่อโซเชียลที่สวยหรู นำมา copy&paste ลงไปในบทความของตนเอง อ้างบ้าง ไม่อ้างบ้าง ถ้าไม่อยากจะอ้างแหล่งที่มา ก็ตัดแต่งคำเขาสักหน่อย เขาจะได้ไม่สามารถฟ้องกลับเราในฐานะไปขโมยผลงานวิชาการเขา คือ ไม่ผิดกฏหมายและเสียมารยาทนะ

วงการการศึกษา น่าจะให้คุณค่ากับผู้ที่พยายามถ่ายทอด Tacit knowledge มากขึ้น ให้คุณค่า ให้น้ำหนัก ให้รางวัลกับผู้ที่พยายามเขียนโดยกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ จากจิตจากใจของตนเองมากกว่าการนำไปของคนอื่นที่สวยหรูหรืองดงามมาตัดแปะลงในผลงานของตนเอง...

ถ้าหากกรรมการ หรือผู้ให้รางวัล ยังคงให้คะแนนการตัดแปะมากกว่าการสกัดข้อความจากความรู้ฝังลึกอยู่อย่างนี้ ก็คงไม่มีใครมาสนใจ ใส่ใจ ในการเขียนแบบกระป๋องกระแป๋ง ล้มลุกคลุกคลานแบบนี้ เพราะใคร ๆ ก็อยากได้อยากมีปริญญา ใคร ๆ ก็อยากได้อยากมีทรัพย์สินเงินตรา อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ จากคำพูด จากบทความที่สวยงามตระการตา แต่เกิดจากการคัดลอก แปะโน่นโยงนี่มา แล้วบอกว่าเป็นผลงานของตัวเอง...

คำสำคัญ (Tags): #อคติ
หมายเลขบันทึก: 690368เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2021 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท