มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 2 (2)


การเปลี่ยนแปลงแนวคิด (Mentality) ทางวิชาการจากการเป็นผู้ตามเพียงฝ่ายเดียว มาเป็นผู้เท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

         < เมนูหลัก >

         ตอน 2 (2)

         "ปฏิวัติวัฒนธรรม" เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         ผู้นำ – ผู้ตาม

         วัฒนธรรมที่ต้องมีการปฏิวัติประการต่อมา คือ การเป็น “ผู้นำ – ผู้ตาม” เนื่องจากการไหลบ่าของวัฒนธรรม และองค์ความรู้จากประเทศตะวันตก มาเป็นเวลา 200 – 300 ปี ทำให้คนไทยเคยชินกับการเป็นผู้ผลิตตามความรู้จากต่างประเทศ จนลืมคิดว่าในความเป็นจริงแล้ว คนไทยสามารถสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำทางวิชาการบางเรื่องได้ โดยไม่จำเป็นต้องตามฝรั่งเสมอไป

         ทั้งนี้มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าคนไทยไม่ได้ด้อยสติปัญญากว่าฝรั่งแต่จิตใต้สำนึกที่สั่งสมมาเป็นวัฒนธรรมว่า ความรู้ที่ทันสมัยจะต้องมาจากตะวันตก ทำให้คนไทยไม่สนใจสร้างระบบการทำงานวิชาการ สร้างบรรยากาศวิชาการ สร้างสถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นในประเทศไทย

         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของวัฒนธรรมผู้ตามทางวิชาการคือ แนวคิดเรื่องการสร้างมหาวิทยาลัย ซึ่งทำกันอยู่อย่างเดียวมาเป็นเวลาเกือบร้อยปี โดยส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่จริงการส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศมิใช่สิ่งผิด

         อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผิดคือ การส่งคนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ จนลืมคิดหาทางสร้าง “ดุษฎีบัณฑิต” ในประเทศที่มีคุณภาพความสามารถสูงเท่ากับมาตรฐานนานาชาติให้เพียงพอ และการที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยพอใจอยู่กับการจัดการศึกษา “บัณฑิตศึกษา" ที่มีมาตรฐานต่ำกว่ามาตรฐานนานาชาติ

         การเปลี่ยนแปลงแนวคิด (Mentality) ทางวิชาการจากการเป็นผู้ตามเพียงฝ่ายเดียว มาเป็นผู้เท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ประเทศตะวันออกหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง เช่น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, สิงคโปร์, และเกาหลี จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยสามารถทำสำเร็จได้หากมีความตั้งใจจริงและทำจริง

         แนวคิดและความมุ่งมั่นที่จะ สร้างความสามารถในการสร้างสรรค์ วิชาการอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ นี้ เป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาระบบการวิจัย และพัฒนาของประเทศ

         บทความพิเศษ ตอน 2 (2) นี้ ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ล.2788 (104) 9 พ.ค. 39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6902เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท