ความรู้ ความเชื่อ และ ความจริง ตอนที่ 1


ความรู้ ความเชื่อ และ ความจริง   #1 
บันทึกบทความที่เขียนลงใน Application Blockdit : วิรุฬหก


เนื่องจากว่าแนวคิดทางปรัชญานั้นมีความเป็นระเบียบ ภาษาที่นักปรัชญาบางสำนัก หรือบางคนใช้ช่างวิจิตรพิสดารสรรหาเลือกเฟ้นคำมาอย่างเคร่งครัด สละสลวย  ซึ่งแนวคิดทางปรัชญานั้นเป็นมากกว่าคำคมเท่ๆ ที่เหล่านักเทศน์สอน นักบรรยาย ไลฟ์โค้ช เทรนเนอร์ดังๆ หยิบยกบางประโยค บรรทัดทองทอง มายกจิตยกใจให้เราๆชาวบ้านร้านตลาดได้ฟัง มีกำลังใจฟูขึ้นมาใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีพลัง

 ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาตะวันตก ซึ่งเรากำลังจะพูดถึง “คำสามคำคือ ความเชื่อ ความรู้ และความจริง”  สามคำนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ Belief” “Knowledge” และ“Truth”ตามลำดับนั้น ในการทำความเข้าใจแนวคิดทางปรัชญา เราต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า แนวคิดเหล่านี้อยู่ในรูปของคำ หรือภาษา ต้องบอกเลยว่า ทุกแนวคิด แม้กระทั่งแนวคิดเรื่อง พระเจ้า นรก สวรรค์ นิพาน เป็นต้นก็อยู่ในรูปของคำ เราเดิน ขับรถ นั่งเครื่องบิน หรือขุดหาไปหาสิ่งเหล่านี้ไม่พบหรอก นักปฏิบัติธรรมอาจจะแย้งว่า ต้องนั่งสมาธิไปจึงจะเห็น ผู้นับถือศาสนาเทวนิยมก็อาจจะเถียงว่า ต้องศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจึงจะพบจะเจอ อันนี้คงไม่มานั่งเถียงด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ใช่มั้ยว่า สิ่งที่ว่านี้ อยู่ในรูปของคำในภาษา 

คนเราอยู่ในโลกของวัตถุ เดิมทีเดียวเราไม่มีภาษา ต่อมาเราเห็นความจำเป็นในการสื่อสารกันในหมู่มนุษย์ เราจึงสร้างภาษาขึ้น ภาษาทำให้เราบอกคนอื่นว่าเราคิดอะไรอยู่ในใจได้  ซึ่งความคิดของคนและสัตว์เป็นของเกิดมีตามธรรมชาติ สัตว์เดรัจฉาน หมูหมา กาไก่ ก็คิด… แต่การหาวิธีถ่ายทอดความคิดระหว่างวกันนั้น ดูเหมือนว่ามนุษย์เราจะล้ำหน้ากว่าสิ่งใดในโลก มีคนเขาตังข้อสังเกตุว่า สมมุติเครื่องบินตกแล้วมีผู้รอดชีวิตคือ ชายหรือหญิงคนหนึ่ง และสุนัข ไปเจอหมู่บ้านชาวพื้นเมืองช่วยชีวิตไว้ สังเกตุให้ดีว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ชายหรือหญิงคนนั้นจะสามารถเรียนรู้เข้าใจและพูดภาษาท้องถิ่นนั้นได้ไม่มากก็น้อยล่ะ แต่ก็ไม่เคยปรากฎว่า สุนัขที่ไปอยู่ด้วยจะพูดภาษาคนได้ แม้ตลอดชีวิตมันก็ตาม ซึ่งก็แปลกใจเหมือนกันว่าในคัมภีร์ศาสนา เช่นในชาดก หรือธรรมบทของพุทธสาสนาเราเอง มักจะมีเรื่องเล่าบรรยายว่า สัตว์ต่างๆในเนื้อเรื่องนั้น พูดภาษาคนได้ อย่างเชี่ยวชาญคล่องแคล่ว ที่สำคัญ พูดเป็นภาษาบาลีซะด้วย อันนี้ก็แปลกดี น่าสนใจ…

ตัวอักษรที่เรียงกันรวมเป็นตัวหนังสืออยู่บนหน้ากระดาษ นั้นสามารถทำให้คนร้องไห้ หัวเราะ เครียด ร่าเริง หึกเหิม เศร้าสร้อยได้ การไม่มีภาษาเป็นสื่อกลางระหว่าเรากับสิ่งอื่น เช่นหมา แมว ทำให้เรายุ่งยากทีเดียว หากพูดกันได้ หมาคงไม่ฉี่รดในที่ที่เราไม่อยากให้ฉี่ แมวข่วนผ้าม่านที่พึ่งเปลี่ยนมาใหม่ แมงสาบเข้ามาแชร์พื้นที่ในห้องโดยไม่ขออนุญาติ แต่เพราะเราพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ทั้งที่อยู่ร่วมกันบนโลกมาน่าจะเกินหมื่นปีแล้ว เราจึงต้องหงุดหงิดกับเรื่องแบบนี้ต่อไปอีกนาน

ตัวหนังสือนั้นเป็นพาหะของภาษา และเราก็ทราบกันดีว่าพาหะของภาษาเป็นเสียงก็ได้ เดิมนั้นมนุษย์ใช้ภาษาในรูปของการเปล่งเสียง เวลานี้สัตว์หลายชนิดก็ยังใช้ภาษาเสียงที่ว่านี้อยู่ ต่อมา มนุษย์พบว่าภาษาเสียงนั้นถ่ายทอดลงเป็นตัวหนังสือได้ เราก็สร้างตัวหนังสือขึ้น การพิมพ์หรือจารึกหนังสือก็กลายมาเป็นอารยธรรมที่สําคัญอย่าง หนึ่งของมนุษยชาติไป เวลาที่เราอ่านหนังสือ เราไม่ได้อ่านวัตถุ แต่อ่านสาระของภาษาที่ถูกถ่ายทอดลงเป็นตัวหนังสือที่พิมพ์หรือเขียนลงบนกระดาษหรือวัสดุที่เทียบเท่ากับกระดาษเช่น ใบลาน บนจอแท็บเล็ต หรือสมารท์โฟนก็ไม่ว่ากัน

พวกเราเกิดมาในสมัยนี้เป็นยุคที่ภาษามีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงแล้ว ชนชาติใดที่มีภาษาละเอียดลึกซึ้ง ชนชาตินั้นก็จะเป็นผู้สรางอารยธรรมให้แก่ชนชาติที่ภาษาไม่ละเอียดลึกซึ้งเท่า เช่นอินเดียกับไทย วัฒนธรรมไทย ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย พระพุทธศาสนาเราก็นำเข้ามาจากอินเดีย แต่ก็ดันมาเถียงกันหัวร้างข้างแตกเอาเป็นเอาตายเรื่องสายไหน ใครเป็นพุทธแท้.. ย้อนไปในสมัยที่ปรัชญาเกิดขึ้นใหม่ๆ ก็ไม่นานนักหรอกแค่ ๔-๕ พันปีเอง ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมของปรัชญาคือกรีซ (กรีก) อินเดียและจีน ประเทศเหล่านี้เขามีเขามีภาษาเป็นของตนเองอย่าลึกซึ้ง อาจจะหมายความว่าภาษากับความคิดเกี่ยวข้องกันมาก ความเชื่อที่ว่าความคิดอยู่ในหัวคน เรายื่นมือไปปรับแต่งจูนนู่นนี่นั่นเหมือนเครื่องมือต่างๆไม่ได้ แต่เรามีอุปกรณืปรับแต่งความคิดคือภาษา ซึ่งทำให้ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมที่สำคัญเช่นกรีซ จีน และอินเดียให้ความสำคัญแก่การเรียนวิธีใช้ภาษา เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อคนเรานั้นปรับแต่งความคิดได้แหลมคมชัดเจนขึ้น ความคิดนั้นจะช่วยให้เรามองเห็นวีที่จะปรับแต่งภาษาให้ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นคำว่าจากเดิมคำในภาษาไทยว่า มีชู้ ฟังดูแรงไปมักจะใช้กับคนที่แต่งงานแล้ว เราก็มีการสร้างคำว่า “กิ๊ก”เข้ามาให้มีความหมายที่ นุ่มนวลกว่าคำว่าชู้ คือ เป็นมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน อะไรเป็นต้น  ภาษากับความคิดจึงเป็นเสมือนขั้นบันไดส่งให้เราไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ 

ความเชื่อ ความรู้ และความจริง นับเป็นปรากฎการณ์ในโลกธรรมชาติก่อนจะมีภาษา สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วนักปรัชญญาชื่อ จอนห์ ล็อค (John Locke)  บอกว่า ชีวิตของคนเรานั้นว่าไปแล้วอาจพูดได้ว่าเราอยู่ในโลกอย่างน้อยสองโลก โลกหนึ่งคือโลกที่ท่านผู้อ่านและ ผมเห็นอยู่ด้วยสายตาเวลานี้แหละ ตื่นนอนมา เราก็มองเห็นและเชื่อว่าตนเองกําลังมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้แหละ เท่าที่เราเข้าใจ โลกใบนี้เป็นดาวดวงหนึ่งในระบบสุริยจักรวาล โลกเราหมุนรอบดวงอาทิตย์ มีดวงจันทร์หมุนรอบโลกเราอีกที เราจึงเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตอนกลางวัน และเห็นดวงจันทร์ขึ้นตอนกลางคืน แล้วใครทำให้มันหมุน หมุนอย่างคงที่ มาตั้งนาน แล้วถ้าจะหยุดหมุนมั้ย เมื่อไหร่ นั้นคงเอาไว้ก่อน แต่เราเชื่อว่า สิ่งต่างๆ ที่เราเห็นและได้สัมผัสด้วยอายตนะอย่างอื่น มีจริง เป็นจริง ตามที่ปรากฏแก่อายตนะ ของเรา ผมขอเรียกโลกที่ว่านี้ว่าโลกทางวัตถุ ล็อคบอกว่า เราคงอยู่ในโลกของวัตถุนี้มานาน ร่วมกับสัตว์และพืช มาวันหนึ่ง มนุษย์บางคนก็สามารถแสดงออกในทางภาษาได้ คือส่งเสียง บางอย่างเพื่อบอกคนอื่นว่าตนคิดอะไร แรกๆเสียงนั้นก็คงไม่มีใครเข้าใจ แต่พอสังเกตไปสักระยะก็เริ่มเข้าใจ “ความหมาย” ของเสียงที่ว่านั้น เช่นคนคนหนึ่งเปล่งเสียงอยู่หลายครั้งว่า งูๆๆ คนฝรั่งอาจออกเสียงว่า สเน็คๆๆ ก็แล้วแต่ท้องถิ่น คนอื่นแรกทีเดียวก็ไม่เข้าใจ แต่นานไปก็สังเกตเห็นว่า เมื่อเปล่งเสียงนี้ คนนั้นจะชี้ไปที่สัตว์ชนิดหนึ่ง ตัวยาวๆ ไม่มีขา เลื้อยไปมาบนพื้นดิน คนทั้งหลายยิ้ม เพราะรู้แล้วว่าเสียงว่างูหมายถึงไอ้ตัวยาวๆ ที่เลื้อยไปบนดินนี้แหละ นอกจากเข้าใจ คนอื่นก็เลียนเสียงว่างูนั้นด้วย นี่คือกําเนิดของคําว่างู

แรกที่เดียวคํานี้จะมาคู่กับของจริงคือสัตว์ตัวยาวที่เลื้อยไปบนพื้น เมื่อเสียงนี้กลายมาเป็นคำ ก็เกิดพัฒนาการทางภาษาขึ้นอีกช่วงหนึ่งคือ คําอาจมาเดี่ยวๆโดยไม่ต้องมาคู่กับของจริงก็ได้ คนป่าสองคนในถ้ากําลังนั่งกินข้าวด้วยกัน คนหนึ่งก็อาจพูดถึงงู อีกคนก็เข้าใจ ทั้งที่ในถ้ำเวลานั้นไม่มีงูเลยสักตัว จอนห์ ล็อค พูดเรื่องนี้เพื่ออธิบายว่าคําในภาษาของมนุษย์เกิดได้อย่างไร คําในภาษา มาจากการที่มนุษย์เราเห็นบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่จริง เราอยากพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เราเลยสร้างคําขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ ประโยชน์ของคํามีอย่างน้อยสองอย่าง

๑.ใช้เป็นชื่อเรียกสิ่งนั้น เช่นงู แมว เก้าอี้ ปากกา ควาย เป็นต้น การที่สิ่งต่างๆ มีชื่อทําให้เราสะดวก ลองนึกภาพซิครับว่า หากสิ่งต่างๆ ไม่มีชื่อ เราเข้าร้านอาหารแล้วอยากกินของบางอย่าง คงใช้เวลานานกว่าคนขายจะเข้าใจว่าเราอยากกินอะไร ที่จริงอาหาร ไม่ต้องมีชื่อก็ได้ ทางร้านก็เพียงแต่วางตัวอย่างอาหารเอาไว้หน้าร้าน เราก็ชี้มือเอา แต่สมมติว่าร้านนั้นขายอาหารร้อยอย่าง ก็คงเป็นภาระแก่ทางร้านที่จะต้องแสดงตัวอย่างอาหารจํานวนมาก สรุปคือตั้งชื่อให้สะดวกที่สุด อยากกินอะไรก็เปล่งเสียง บอกเช่น “ลาบควาย” หรือ “ต้มยำเหี้ย” เป็นต้น

สภาพของความรู้และความเชื่อที่ไม่มี ภาษา ยากแก่การถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น อาจถ่ายทอดได้ แต่ว่าคงลำบากน่าดู หากมีลูกแล้วจะถ่ายทอดให้ก็ต้องพาลูกไปดูสิ่งนั้นบ่อยๆ แต่การไม่มีภาษาก็อาจทำให้ลูกของเราไม่เข้าถึงความรู้นี้ทั้งหมด  ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและช่วงเวลา เว้นแต่เขาจะมีปัญยาเท่าๆกับพ่อหรือมากกว่า แต่ถ้าหากมีภาษา เราก็จะสามารถอธิบายให้ลูกฟังว่าทั้งหมดเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง นั่นแหละครับความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดอย่างครบถ้วน นี่คือบทบาทของภาษาในสังคมมนุษย์


ต่อมา มนุษย์เราสามารถจดจําและเข้าใจความหมายได้แม้ไม่มีสิ่งที่คำระบุถึงปรากฏให้เห็น อานุภาพของคําตามที่กล่าวมานี้ทําให้เกิดคนพวกหนึ่งที่สามารถเอาคำทั้งหลายมาเรียงร้อยกลายเป็นเรื่องราวได้คนพวกนี้คือนักประพันธ์หรือกวี มีการศึกษาสมัยใหม่ ที่เรียกว่างานวิจัยในต่างประเทศที่บอกว่า เด็กนักเรียนที่อ่านเรื่องแต่งดีๆ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาสติปัญญาได้ดีกว่านักเรียนที่อ่านแต่หนังสือเรียนเพียงอย่างเดียวเรื่องแต่งก็เช่นนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทละคร เป็นต้น ซึ่งในที่นี้เราจะหมายความคลุมไปถึงงานศิลปะอื่นที่ใช้เนื้อหาจากเรื่องแต่ง เช่นหนัง นิยายนั้นคนเขียนไม่ยืนยันว่าเรื่องที่แต่งเคยปรากฏเป็นจริงในโลกแต่หนังสือที่แต่งขึ้นจากจินตนาการเหล่านี้กลับมีอิทธิพลต่อจิตใจและพฤติกรรมของคนเราได้ นี่คืออานุภาพของภาษาหรือคําที่จอนห์ ล็อค (John Locke)ตั้งข้อสังเกตให้เราเห็น และชี้ชวนให้เราไตร่ตรองศึกษา

มนุษย์เรานอกจากจะอยู่ในโลกแห่งวัตถุตามที่กล่าวข้างต้น เรายังอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่าโลกแห่งภาษา

๒.โลกนี้มีจริง เป็นจริง เท่าเทียมกัน เวลาที่เราไม่สบาย เราไปหาหมอ ยาที่หมอให้เรากินเป็นวัตถุ เครื่องมือแพทย์ที่ใช้รักษาเราก็เป็นวัตถุ นี่คือตัวอย่างที่แสดงว่าโลกแห่งวัตถุมีจริง และมีอิทธิพลต่อชีวิตของเราจริงในทํานองเดียวกัน คนบางคน อ่านหนังสืออยู่เสมอ คนที่อ่านหนังสือที่ว่านี้อาจได้แก่คุณหมอหรือพยาบาลที่รักษาเรา เราเอง ก็อ่านหนังสือด้วย คนสามคนคือเรา หมอ และพยาบาลอ่านหนังสือคนละอย่าง เรียกว่าเราสามคนรวมอยู่ในโลกวัตถุเดียวกันก็จริง แต่เราอยู่ในโลกภาษาและหนังสือคนละโลกโลกแห่งวัตถุว่าไปแล้วเกี่ยวข้องกับชีวิตเราในส่วนที่เป็นกายเป็นหลัก แต่โลกหนังสือเป็นโลกที่เกี่ยวกับเราในส่วนที่เป็นความคิด

ในแง่นี้จะเห็นว่า โลกภาษานั้นสําคัญมาก และเป็นโลกที่อาจหล่อหลอมให้คนเรามีจิตใจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การมีจิตใจบางแบบดีต่อตัวคนผู้นั้นและโลกแต่การมีจิตใจบางแบบน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นอันตรายต่อเจ้าตัวเองและคนอื่นๆ ในโลกแนวคิดของล็อคนั้นสนใจปัญหาว่า เมื่อเราอยู่ในโลกแห่งภาษา เราควรมีหลักในการที่จะใช้ป้องกันตนจากอันตรายที่อาจเกิดได้แก่ตัวเราภายในโลกแห่งภาษานั้นตัวอย่างอันตรายที่สามารถเกิดแก่ผู้คนในโลกแห่งภาษากเช่น เคยมีการฆ่าตัวตายหมู่ในบางประเทศ คนตายจํานวนหลายร้อย การฆ่าตัวตายเกิดในศาสนสถาน คนเหล่านี้เชื่อว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ มีโลกอีกโลกหนึ่งที่เต็มไปด้วยความสุข อย่างยิ่งยวด ที่นั่น เราจะได้พบพระผู้เป็นเจ้าที่เปรียบพระบิดาที่รักเราโลกนั้นไม่มีคนพิการ ไม่มีคนยากจน ไม่มีสามีที่ใจคด ไม่มีภรรยาที่นอกใจสามี ไม่มีลูกที่เสียคนและอกตัญญู มีแต่ครอบครัวและเพื่อน ที่สมบูรณ์ สภาพอากาศที่สดชื่น ธรรมชาติที่งดงาม

นักบวชที่เป็นผู้นําของศาสนสถานเหล่านี้พูดกรอกหูสาธุชนที่ไปโบสถ์ตลอดเวลาว่าพวกเราเป็นมนุษย์พิเศษที่ปฏิบัติตนจนพระเจ้าทรงยอมรับ ให้ไปอยู่ในสรวงสวรรค์ด้วย แล้ววันหนึ่ง ผู้นําศาสนาก็นัดแนะให้ทุกคนมาร่วมกันฆ่าตัวตายหมู่ที่โบสถ์ ด้วยความเชื่อว่า เมื่อสามารถหลุดจากโลกที่เส็งเคร็งนี้ได้เพื่อไปอยู่ในโลกใหม่พร้อมด้วยชีวิตใหม่ เราจะรอไปจนแก่ตายทําไมในศาสนาทุกศาสนาจะมีคําสอนที่อยู่ในรูปภาษาที่กล่อมเกลาความนึกคิดของผู้คนให้เชื่อบางสิ่ง บางอย่าง และหลายสิ่งที่เป็นคําสอนสําคัญในศาสนาไม่สามารถตรวจสอบความหมายได้ว่าตกลงคําเหล่านี้หมายความว่าอะไร อยู่ที่ไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ตัวอย่างของคําสําคัญในทางศาสนาก็เช่น สวรรค์ นรก พระเจ้า นิพพาน โมกษะ กรรม สังสารวัฏ เป็นต้นคําเหล่านี้มีอํานาจในการหล่อหลอมใจคนที่เชื่อถือมากถึงขนาดตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นหมู่เป็นคณะได้ หรือไม่ฆ่าตัวตาย แต่ก็อาจยอมอดมื้อกินมื้อในโลกนี้เพื่อเอาทรัพย์ที่มีอยู่บริจาคทานแก่นักบวชที่บางส่วนมีความเป็นอยู่ดีกว่าชาวบ้านเคยมีข่าวปรากฏในหลายศาสนาว่าคนบางคนยอมบริจาคเงินที่ตนมีอยู่เกือบทั้งหมดให้แก่ศาสนา โดยไม่แยแสว่าตนมีลูกที่ต้องส่งเสียให้เรียนหนังสือ คนเหล่านี้เชื่อว่า ส่งลูกเรียนแล้วก็ไม่แน่ว่าลูกจะกลับมาเลี้ยงดูตน แต่ถ้าฝากธนาคารความดีของศาสนาไว้ ตายไปจะต้องได้รับการคุ้มครองแน่นอน แน่นอนกว่าส่งลูกเรียนหนังสือ จอนห์ ล็อค (John Locke) บอกว่าสิ่งที่ศาสนาสอนตามที่กล่าวมานี้อาจจริงหรือเท็จก็ได้ นักปรัชญาไม่มีหน้าที่พิสูจน์เรื่องนี้ แต่มีหน้าที่ชวนให้คิดว่า เราที่อยู่ในโลกแห่งภาษา เราควรปล่อยให้ภาษามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด การไม่รู้จักคิดและกําหนดหลักในการใช้ชีวิตในโลกแห่งภาษาอาจส่งผลเป็นโศกนาฏกรรม แก่ชีวิตอย่างน่าสมเพชเวทนา ก็เป็นได้

ความรู้นั้นว่าไปแล้วก็คือความเชื่อที่ได้รับการตรวจสอบว่าใช่... เป็นเช่นที่เชื่อจริงในวงการปรัชญาตะวันตก เรามักมีคำพูดว่า Knowledge is Justified belief คือเมื่อความเชื่อได้รับการตรวจสอบแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร นั่นคือความรู้เช่น ถ้าเราไปถามเพื่อนบ้านว่าเขาใช่มั้ยที่ขับรถขูดรถเรา ไม่ว่าเขาจะตอบอย่างไร คำตอบนั้นก็เป็นความรู้เสมอ เขารับ ก็เป็นความรู้ เขาไม่รับก็เป็นความรู้ เขาเดินหนีไม่พูดด้วยก็เป็นความรู้ความจริงนั้น ต่างจากความรู้ตรงที่ ความรู้คือความเชื่อที่ได้รับการตรวจสอบ ส่วนความจริงนั้นบางอย่างเป็นคุณสมบัติของข้อความเหมือนความรู้ แต่บางอย่างไม่เกี่ยวกับภาษา พูดง่ายๆคือ ความรู้เป็นคุรสมบัติของข้อความ ส่วนความจริงเป็นได้ทั้งคุณสมบัติของข้อความและสิ่งของ หรือปรากฎการณ์ 

ความรู้อาจจะเป็นคุณสมบัตินอกภาษาก็ได้ เช่นนายสมชายที่ไม่รู้ภาษา แต่รู้ว่าจะหาปลาอย่างไร ซึ่งเราอาจจะแยกเป็น๒กรณีได้หากรู้นอกภาษา ก็เรียกว่า “การรู้” (Knowing)หากรู้ในระบบภาษาก็เรียกว่า “ความรู้”(Knowledge)เพราะที่นายสมชายหาปลาได้มาก หรือนกทำรังได้สวย นั่นเพราะมี “การรู้” การรู้จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อาจตายไปพร้อมเจ้าตัว แต่หากก่อนตาย เจ้าตัวถ่ายทอดให้คนอื่นไว้ผ่านทางภาษา ภาษาอะไรก็แล้วแต่ สิ่งนั้นก็จะเป็นความรู้ และจะบอกได้ว่าความรู้เป็นของสาธารณะ ไม่ตายไปพร้อมกับเจ้าของแน่นอน เพราะฝากคนอื่นไว้ในรูปของข้อความไว้แล้ว...

แหล่งอ้างอิง

1.John Locke, An Essay Concerning Human Understanding
2.โยสไตน์ กอร์เดอร์,โลกของโซฟี.
3.ศ.ดร.สมภาร พรมทา, พุทธปรัชญากับญาณวิทยา,โลกและภาษา


ธันรบ วงศ์ษา

หมายเลขบันทึก: 689819เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2021 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2021 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท