พุทธเศรษฐศาสตร์ : การทำความดี ยากล่อมประสาทที่ทันยุค ทันสมัย...


เมื่อคนเราต้องประสบพบเจอกับความสุข การหนีทุกข์นั้นมีหลายทาง หลายวิธี โดยวิธีหนึ่งที่ง่ายและนิยมใช้มากที่สุดอย่างก็คือใช้ "ยากล่อมประสาท" ซึ่งยากล่อมประสาทที่หาซื้อได้ง่าย มีอยู่ทั่วไป และมีมายาวนานตั้งแต่สมัยดึกดำบรรนั้นก็คือ "เหล้า" หรือ "สุรา"

หลายคนในสังคมถูกปลูกฝังความคิดว่า ความเมานั้นสามารถบรรเทาทุกข์ได้... นั่นก็คือ คือ การบรรทาด้วยการลืมความทุกข์ เพราะแก่นที่แท้จริงของความทุกข์ก็คือ "ความคิด" เวลาเมาเราจะลืมคิดเรื่องทุกข์ไปชั่วขณะ พอหายเมาก็คิดเหมือนเดิม ทุกข์เหมือนเดิม หรือบางคนยังเมาอยู่ ก็เร่งฟื้นฟูทุกข์เหล่านั้นมาคิด ทำให้บางคนคิดที่จะปลิดชีวิตของตนเอง เพราะว่าตอนเมานั้น สติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ เรียกว่าสติเหลือศูนย์เลยทีเดียว...

ในศีล ๕ ข้อที่ ๕ ท่านจึงให้สมาทานงดเว้นจากการดื่มสุรา ของมึนเมา เพราะว่าโดยปกติตอนยังไม่เมาสติของเราก็ไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว ยิ่งกินเหล้าเข้าไป แล้วจะเหลืออะไรซึ่งคำว่า "สติ..."

------------------------

ถ้าหากเปรียบเทียบกับการปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ท่านเคยปรารภให้ฟังดังนี้...

บางคนเข้าใจว่า พอมีทุกข์ก็จะมานั่งสมาธิ แล้วคิดว่าทุกข์เหล่านั้นจะหมดไป "มันไม่ใช่..!"

อย่างเราเป็นหนี้เค้าอยู่ ทุกข์เพราะเป็นหนี้ มานั่งสมาธิแล้วหนี้มันจะหมดไปไหม "มันไม่หมด..!"

ท่านจึงพาเราเสียสละ มาวัดให้เสียสละมาก ๆ คำว่า "กรรมฐาน" คือ ฐานของการกระทำ เราต้องมาปรับ มาเปลี่ยนพื้นฐานการกระทำของเราใหม่

เคยขี้เกียจ ก็มาเปลี่ยนเป็นคนขยัน เคยขยันน้อย ก็ขยันมาก... ความรวยนั้นย่อมไม่อยู่ในหมู่ของคนขี้เกียจ ฉันใดก็ฉันนั้น คนขยันย่อมไม่มีคำว่ายากจน...

เราจึงต้องมาสร้างความเห็นให้ถูกต้อง สร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง เราจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

เรามาวัด มาปฏิบัติ เรามาสร้างความเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงของความทุกข์จากหนี้สิน มันมาจากไหน..?

มันมาจากความขี้เกียจ ความโลภ ความสุรุ่ยสุร่าย เป็นคนไม่รู้จักพอ เป็นผู้ที่มีเศรษฐกิจไม่พอเพียง

การมาทำสมาธิ คือการมาพักผ่อนจิตใจ พักผ่อนสมอง... ร่างกายที่เหนื่อยล้ายังต้องมีการนอนหลับพักผ่อน สมองเราก็เหมือนกัน ใช้เค้ามามาก ๆ เค้าก็เหนื่อย เค้าก็ล้า... เมื่อเหนื่อยเมื่อล้ามันก็ถึงทางตัน มันคิดไม่ออก... การมาทำนั่งสมาธิ คือ มาผ่อนคลายทั้งกายทั้งใจ ให้กายสบายก่อน สมองผ่อนคลายกัน จิตใจจะได้พักผ่อน

ดังนั้นการมาที่นี่ ข้าพเจ้าจึงมีหน้าที่พาคนที่มาไปโน่นไปนี่ พาเข้าป่าไปให้อาหารปลา พาขึ้นเขาไปดูกระทิง เพราะให้กายและใจได้ผ่อนได้คลาย เพราะถ้ามาแล้ว ถ้าจับนั่งสมาธิแล้ว เทศน์ ๆ ๆ ๆ นั้นก็ต้องไปถึงทางตัน เมื่อตันมาก ๆ หาทางออกไม่ได้นั้นมันก็จะระเบิด...

ธรรมะ คือ ธรรมชาติ...

อย่างเช่นการไปให้อาหารปลา คือ การกล่อมประสาทด้วยการให้ การเสียสละ ดูปลาได้ทานอาหาร คือว่าเป็นการทำทานพร้อมกับการทำความดี

---------------------

หากยากล่อมประสาทรุ่นโบราณคือเหล้า เราก็ต้องหันมาใช้ยากล่อมประสาทรุ่นใหม่ นั้นก็คือ การสร้างฐานกระทำด้วยความดีด้วยกายและจิตใจ เพื่อกล่อมเกลาให้จิตใจคุ้นชินกับความดี

อย่างเช่นบันทึกเรื่อง 

ฝึกทำความดีเป็นนิสัย จนกลายเป็นอัตโนมัติ...

 https://www.gotoknow.org/posts...

หากเรามีความดีกล่อมอยู่ในจิตใจ เราย่อมสร้างนิสัยแห่งความดีที่ยั่งยืน...

---------------------

เว้นจากเหล้า ห่างจากยา กล่อมประสาท

ย่อมไม่พลาด เดินทางผิด ด้วยความหลง

เว้นจากยา สิ่งเสพติด ย่อมเดินตรง

กายใจทรง สติเยี่ยม เปี่ยมปัญญา



---------------------

สติมา ปัญญาเกิด เพลิดพริ้งแท้

เห็นทางแก้ ทุกปัญหา ด้วยจิตนิ่ง

ความเห็นถูก เข้าใจถูก แก้ได้จริง

ปฏิบัติยิ่ง ตรงตามมรรค แปดประการ



---------------------

ทิฏฐิถูก ออกจากกาม พยาบาท

ไม่พูดหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ

เว้นจากฆ่า ลักขโมย ของที่เจอ

ผัวเมียเผลอ ไม่สำส่อน ผิดคู่ใคร



---------------------

มิจฉาชีพ ขายเหล้ายา ค้าชีวิต

ห่างจากมิตร อันปลอกลอก นำทางเสื่อม

มิตรประจบ พาฉิบหาย อยู่เนืองเนือง

เลือกคบเพื่อน คือบัณฑิต จิตบูชา



---------------------

ควรบูชา ต่อบุคคล ควรเคารพ

ย่อมพานพบ สิ่งประเสริฐ เลิศนักหนา

มีมิตรดี ย่อมชี้แนะ พร้อมนำพา 

กายวาจา ใจอ่อนน้อม ถ่อมตัวตน



---------------------

อกุศล พึงป้องกัน อย่าให้เกิด

หากบังเกิด รีบตัดขาด หยุดทำเสีย

พร้อมเร่งสร้าง กุศลกรรม ทำความเพียร

ฐานกายเปลี่ยน ฐานใจเปลี่ยน แก้กรรมจริง



---------------------



กายา นุปัสสนา สติปัฏฐาน

คือดินน้ำ ลมไฟ เป็นเราเขา

รูปอย่างหนึ่ง ธรรมอย่างหนึ่ง อย่ามัวเมา

ทั้ังเราเขา มิเที่ยงแท้ อนัตตา



---------------------



เวทนา นุปัสสนา สติปัฏฐาน

ทั้งสุขทุกข์ อุเบกขา แลอามิส

เห็นเกิดดับ เวทนา ไม่เที่ยงจริง

พึงละทิ้ง สุขและทุกข์ มุ่งสายกลาง




---------------------



จิตตา นุปัสสนา สติปัฏฐาน

เห็นซึ่งจิต เห็นความคิด ความโกรธนั่น

ยามเหม่อลอย เรียกสติ กลับคืนทัน

นามธรรม รูปธรรม แยกขาดจริง




---------------------



ธัมมา นุปัสสนา สติปัฏฐาน

ย่อมพบพาน โลกยิธรรม ตามวิสัย 

อยู่ในโลก ไม่พ้นโศรก ไม่พ้นภัย

จักพ้นได้ โลกุตร นำนิพพาน



---------------------


รูป เวทนา สัญญา แลสังขาร

อีกวิญญาณ คือขันธ์ห้า จำให้มั่น

กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ไม่เที่ยงทัน

อีกทุกขัง อนัตตา คือสามัญ



---------------------

วิตก วิจารณ์ ปิติสุข เอกัคคตา

คือรูปา วจร ฌานรูป

อรูปฌาน ความว่างเปล่า หาไม่เจอ

มิพลั้งเผลอ เวียนตายเกิด ประเสริฐจริง...




---------------------











 

หมายเลขบันทึก: 689515เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2021 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2021 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท