ความสำคัญของจริยธรรมนักการเมืองท้องถิ่น


ความสำคัญของจริยธรรมนักการเมืองท้องถิ่น

5 มีนาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ภาพลักษณ์ในวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นต้องมีคุณธรรมจริยธรรม

ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น นอกจากจะเป็นรากฐานของรัฐประชาธิปไตยแล้ว ยังถือเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสมือนเป็นโรงเรียนให้ประชาชนได้เข้าใจถึงการปกครองตนเองและการมีส่วนร่วมในการปกครอง เสริมสร้างสำนึกรับผิดชอบในท้องถิ่นของตนให้ประชาชนและถือเป็นการให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนที่จะสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในทุกครั้ง ซึ่งจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในช่วงหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารว่า การเมืองท้องถิ่นไม่ได้ยึดโยงอยู่กับนามสกุลดังหรือพรรคการเมืองเก่าแก่ แต่ประชาชนเริ่มที่จะสนใจมองไปที่นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการยกระดับการปกครองตนเองในท้องถิ่นให้พ้นจาก “วัฒนธรรมที่ผูกขาดอำนาจทางการเมือง” หรือเรียกสลับถ้อยคำว่า “วัฒนธรรมทางการเมืองที่ผูกขาด” [2] โดยอำนาจนิยม (authoritarianism)

เมื่อการปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญ กลไกสำคัญในการปกครองท้องถิ่นนอกเหนือจากประชาชนก็คือ “สมาชิกสภา อปท.” ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกเป็น “ผู้แทนของประชาชน” ให้เข้ามาตรวจสอบ อนุมัติ บริหารงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชนให้เกิดประโยชน์ในชุมชนมากที่สุด ที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวที่ไม่เหมาะสมของสมาชิกสภาท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อิทธิพล การเข้ามามีส่วนได้เสีย กอบโกยหาผลประโยชน์ ถึงขนาดต้องเข่นฆ่าคนในองค์กรเดียวกัน [3] การข่มขู่ข้าราชการประจำ พกอาวุธปืนเข้ามาข่มขู่คนในสถานที่ราชการ [4] รวมถึงการคุกคามทางเพศหรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม [5] เป็นต้น ทั้งที่บุคคลเหล่านี้ถือเป็นผู้แทนของประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารท้องถิ่นเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม จึงต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน เพราะพฤติกรรมในภาพลบของบรรดาผู้บริหาร อปท.ย่อมเป็นปัจจัยที่สะท้อนภาพลักษณ์ของการปกครองท้องถิ่นออกสู่สายตาประชาชน และย่อมส่งผลลบต่อความศรัทธาน่าเชื่อถือ [6] (faithfulness & accountability) ของประชาชนที่มีต่อการปกครองท้องถิ่นรวมถึงส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (people participation) ในการปกครองท้องถิ่นอีกด้วย เช่น การประท้วงไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมู่บ้าน [7] เป็นต้น

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ได้กำหนดให้ รัฐพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance : GG) ดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม และจัดให้มี “มาตรฐานทางจริยธรรม” (Code of Conduct) หรือ “หลักความประพฤติทางจริยธรรม” อันเป็น “มาตรฐานทางจริยธรรม” (Ethical Standard) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงาน “อย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ” [8]

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะมิได้มีการกล่าวถึงจริยธรรมของนักการเมือง [9] ชัดเจนเท่ากับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีการบัญญัติให้ต้องมีจริยธรรมนักการเมืองใน หมวด 13 เรื่อง จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้อย่างชัดเจน โดย มาตรา 279 [10]ได้กำหนดให้มี “มาตรฐานทางจริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่ดำเนินการจัดทำขึ้น และให้ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมดังกล่าว และส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม และให้ถือเป็นเหตุที่จะ “ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง” ซึ่งได้สร้างสำนึกความตื่นตัวตื่นรู้ (awareness, alert, consciousness) [11] ให้แก่บุคคลากรในองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท และรวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดย “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดย “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ดำเนินการให้มี “มาตรฐานทางจริยธรรม” ขึ้น แม้มิได้มีการบัญญัติหมวดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ดังเช่นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ตาม แต่หลักการเหมือนกัน ในภาพรวมแล้วถือว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้ให้ความสำคัญกับจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นมากเช่นกัน

การขับเคลื่อนประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น

ปัจจุบันประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นกำลังถูกขับเคลื่อนโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นซึ่งได้มีหนังสือขอความเห็นไปยังจังหวัดต่างๆ เกี่ยวกับการจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.6/ว 4003 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เรื่อง การจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น [12] สถ. ได้ขอความเห็น (ร่าง) ประมวลจริยธรรมผู้บริหารท้องถิ่นฯ

ปัจจุบันประมวลจริยธรรมดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ในขณะที่ประมวลจริยธรรมของนักการเมืองระดับชาติและหน่วยงานอื่นๆ ได้ประกาศใช้และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบแล้ว ความล่าช้าของการจัดทำประมวลจริยธรรมของนักการเมืองท้องถิ่นนั้น อาจก่อให้เกิด “ช่องว่าง” ในการพิจารณาเพื่อชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองท้องถิ่น

หลายครั้งความล่าช้าในการเสนอกฎหมายลำดับรองของกระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สร้างปัญหาในทางปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่มาแล้วอย่างมากมาย เช่น กรณีความล่าช้าในการประกาศกฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในเทศบาล พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในเมืองพัทยา พ.ศ. 2563 แต่สิ่งที่รวดเร็วกว่าก็คือ การปรับปรุงโครงสร้างและการแบ่งงานภายในของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เพื่อผลักดันให้เกิดกลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอในจังหวัด โดยท่ามกลางความไม่ชัดเจนของภารกิจกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่เป็นศูนย์รวมของงานหลายกระทรวงหลายกรม ปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีการเพิ่มตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและประสานงานท้องถิ่นอำเภอในจังหวัดซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้างหลังจากมีความพยายามในการผลักดันตำแหน่งท้องถิ่นอำเภอที่สวนกระแสการลดโครงสร้างของหน่วยงานภูมิภาคและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

แต่สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่า ประมวลจริยธรรมนักการเมืองท้องถิ่น [13] เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการจัดให้มีขึ้นและให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพราะจุดยืนที่สง่างามของนักการเมืองท้องถิ่นคือ การยืนอยู่ความเชื่อถือ เชื่อมั่นศรัทธา (faithfulness) ของประชาชน อย่างมีเกียรติยศศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของท้องถิ่นนั้นและประเทศชาติเป็นหลักประกัน

สาระร่างประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น [14]

ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 [15] บัญญัติให้ใช้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นหลักในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ ที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ มาตรา 6 วรรคสาม [16] แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นผู้วินิจฉัยว่าองค์กรใดเป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับมติคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ) ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 76 วรรคสาม [17] บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว

เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตน และรักษาคุณงามความดีที่ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องยึดถือปฏิบัติ ที่สำคัญดังนี้

ข้อ 4 ต้องยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อ 5 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ 6 ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และมีจิตสาธารณะ

ข้อ 8 มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็วทันต่อเวลา และสถานการณ์

ข้อ 9 ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อ 10 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี และรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

ข้อ 11 รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของราชการ

ข้อ 12 ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ในกำกับดูแลหรือ ความรับผิดชอบของตน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากคู่กรณีหรือจากบุคคลอื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ข้อ 13 ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้น

ข้อ 14 ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้ เสียหาย หรือสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

ข้อ 15 การดำเนินการแก่บุคคลตามข้อ 3 ว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการนั้น

ให้นำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมฉบับนี้ มาวินิจฉัยประกอบข้อมูลสิทธิประโยชน์ สวัสดิการใดๆ สำหรับบุคคลตามข้อ 3 ด้วย

ข้อ 16 ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประมวลนี้และมีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลนี้

มีข้อสังเกตว่า การไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของนักการเมืองนี้ จะได้รับโทษถึงสองเด้ง กล่าวคือ เด้งแรกจะถูกข้อหาผิดจริยธรรมทำให้ต้องถูกถอนจากตำแหน่ง หรือทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งแล้ว เด้งที่สองยังต้องโดนคดีอาญา ป.ป.ช.ติดตามมาอีก [18] และต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกตามระดับความร้ายแรงและตามกฎหมายแต่ละประเภทที่บัญญัติด้วย

เมื่อเห็นร่างประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นแล้ว น่าชื่นใจ เพราะสมฐานะกับตัวแทนของคนท้องถิ่นที่ต้องมีกรอบมาตรฐานทางความประพฤติไว้ยึดถือปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับ “เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ” เสมอภาคเหมือนๆ กัน

      

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 5 มีนาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/225057

[2]วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture)หมายถึง ค่านิยม ความเชื่อ ปทัสถาน และพฤติกรรมของคนในกระบวนการหรือวิถีทางทางการเมือง : ลิขิต ธีรเวคิน, 2529

ดู วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย, โดย อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เอกสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ Academic Focus, กันยายน 2559, http://library2.parliament.go.th/ejournal/content_af/2559/sep2559-1.pdf    

& วัฒนธรรมทางการเมืองไทย, นิธิ เอียวศรีวงศ์, วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (24) มกราคม - มิถุนายน 2554, คำปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วัฒนธรรมการเมืองไทย” ในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 ภายใต้หัวข้อ “วัฒนธรรมการเมืองจริยธรรม และการปกครอง” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 มกราคม 2551 หน้า 81-100, http://ejournals.swu.ac.th/index.php/jica/article/download/1866/1916

[3]ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต “นายกฯสิงหนคร” คดีฆ่า ผอ.กองช่าง, ข่าว 8, 24 ธันวาคม 2562, https://www.thaich8.com/news_detail

[4]โดนแล้ว! มท.สั่งสอบ นายกอบต.หัวร้อน ฝากเด็กไม่ได้ ถือปืนขู่ลูกน้อง, ข่าวสด, 16 พฤศจิกายน 2561, https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1834756

[5]ผวา อิทธิพล นายก อบต. ถูกขู่ “แค่นี้เสียหายมากนักหรือ”, เดลินิวส์, 18 มีนาคม 2563, https://www.dailynews.co.th/regional/763626

[6]หลักการสำคัญของประชาธิปไตย ประการหนึ่งก็คือ การมีศรัทธาในความสามารถของมนุษย์แต่ไม่ศรัทธาบุคคลใดถึงขั้นทำผิดก็คิดว่าเขาถูก การถือความเท่าเทียมกันขั้นมูลฐานของมนุษย์ โดยมีค่านิยมประชาธิปไตยที่สำคัญคือ เป็นคนที่มีเหตุผล ยอมรับเรื่องสิทธิหน้าที่ ความเป็นจริงในทางสังคม เคารพในตัวเอง เคารพในศีลธรรมและประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม

การมีศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญเพราะ ศรัทธาจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นว่า แม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ระบบประชาธิปไตยก็จะเป็นระบบการเมืองที่ต้องจรรโลงไว้ ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นระบบที่ทำงานได้ผล และก่อความเสียหายน้อยที่สุด เพราะเป็นระบบที่มีการประชุมต่อรองหาข้อยุติ และเคารพในหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพ ด้วยเหตุนี้ จิตสำนึก และศรัทธาในระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของระบบ

ดู วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย, โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์, ในบ้านจอมยุทธ, 2552, https://www.baanjomyut.com/library_4/political_culture/02_3.html

& ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย, http://www.wangboth.go.th/files/dynamiccontent/file-182463-15949686261557599124.pdf

[7]อึ้ง!พิษณุโลกปิดหีบชาวบ้านห้วยทรายเหนือประท้วงไม่ไปใช้สิทธิ์ทั้งหมู่บ้าน, ไทยโพสต์, 20 ธันวาคม 2563, https://www.thaipost.net/main/detail/87469

[8]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 76  รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

                รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

                รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว

มาตรา 219ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรงในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้วให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย แต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 276ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 219 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งระยะเวลาหนึ่งปีตามวรรคหนึ่งให้นับแต่วันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่ และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่ด้วยโดยอนุโลม

[9]จริยธรรม ในนักการเมืองไทย : โดย เฉลิมพล พลมุข, ข่าวมติชน, 2 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.matichon.co.th/columnists/news_1934618

& จริยธรรมนักการเมือง, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 30 กันยายน 2562, https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1671180

[10]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 279  มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น

                มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ

                การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270

                การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใด เข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา 280  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหมวดนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมตามมาตรา 279 วรรคหนึ่ง และส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม รวมทั้งมีหน้าที่รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมตามมาตรา 279 วรรคสาม

                ในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมมีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้

[11]ความหมายใน sense นี้คือคำว่า “Active Citizen” (พลเมืองผู้ตื่นรู้) เป็นพลเมืองที่รู้สิทธิในการเป็นพลเมืองของตน (Civil Right) เป็นพลเมืองที่รู้หน้าที่พลเมืองของตน (Civic Duty) ซึ่งมี “การตื่นตัวทางการเมือง” (political awareness)หมายถึง ระดับความกระตือรือร้นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การมีจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย การตระหนักรู้ถึงสิทธิหน้าที่และบทบาทของตนเองในฐานะการเป็นพลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย โดยพิจารณาจากองค์ประกอบด้านความรู้ ความเข้าใจ และพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ได้พัฒนาต่อเนื่องมาจากแบบแผนพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลที่เรียกว่า “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย"

ดู วัลลภ รัฐฉัตรานนท์ และ นพพล อัคฮาด, วารสารการบริหารปกครอง (Governance Journal) ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2562), https://so01.tci-thaijo.org/index.php/gjournal-ksu/article/download/200365/140054/  

& การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย (The Political Alertness of New Generation in Thailand), โดย กัญจิรา วิจิตรวัชรารักษ์, วารสารสถาบันวิจัยญาณสังวร ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2563) Journal of Yanasangvorn Research Institute Vol.11 No.1 (January – June 2020), หน้า 92-103, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/yri/article/download/244034/166004/

การก้าวข้ามวิกฤตการณ์ ความขัดแย้งครั้งสำคัญ, ทัศนีย์ สาแก้ว, ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 2552, http://www.sscthailand.org/uploads_ssc/toacrossofpoliticalthaiprob_52.pdf

[12]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.6/ว 4003 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เรื่อง การจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น, https://drive.google.com/file/d/1XSWSAcZ-t3HQrLrg1PTktCzKZ9rdCuL8/view?

[13]ดู การเสริมสร้างจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมืองท้องถิ่น ในจังหวัดนครราชสีมา, บทความวิจัย, วารสาร มจร.สังคมศาสตร์ปริทรรศน์, ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 (2020) ตุลาคม - ธันวาคม 2563,

https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jssr/article/view/245122  

[14]สถ.ขอความเห็น (ร่าง) ประมวลจริยธรรมผู้บริหารท้องถิ่นฯ, นิตยสารผู้นำท้องถิ่น, 26 ธันวาคม 2563,

https://poonamtongtin.com/บทความ/1035/สถ.ขอความเห็น%20(ร่าง)%20ประมวลจริยธรรมผู้บริหารท้องถิ่นฯ

[15]มาตรา 5 มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

(3) กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน

(6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

(7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ

มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับการปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตนในการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

ดู พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 1-10, https://www.nesdc.go.th/article_attach/article_file_20201213154038.pdf

[16]มาตรา 6 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ

ในกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่รับผิดชอบ ให้องค์กรต่อไปนี้ เป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรม

(1) คณะรัฐมนตรี สำหรับข้าราชการการเมือง

(2) สภากลาโหม สำหรับข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหม

(3) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำหรับผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

(4) คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน สำหรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชน

ในกรณีที่มีปัญหาว่าองค์กรใดเป็นผู้จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทใด ให้ ก.ม.จ. เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย

ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐอาจจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมเพื่อใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นเพิ่มเติมจากประมวลจริยธรรมให้เหมาะสมแก่ภารกิจที่มีลักษณะเฉพาะของหน่วยงานของรัฐนั้นด้วยก็ได้

การจัดทำประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ม.จ. กำหนดตามมาตรา 14 ด้วย

ดู พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562, อ้างแล้ว

[17]อ้างแล้ว

[18]7 รมต. โดนสองเด้ง! ฝ่ายค้านจ่อจัดหนัก ยื่น ปปช.เอาผิด-ล่าชื่อถอดถอน, สยามรัฐออนไลน์, 26 กุมภาพันธ์ 2564, https://siamrath.co.th/n/223385

หมายเลขบันทึก: 689327เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2021 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2021 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท