ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๐๐. PMAC 2021 : 4. PL 2 เราจัดการโควิด ๑๙ อย่างไร



 ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔     ๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. เวลาไทย    เป็นรายการสรุป How are we dealing with Covid-19   เน้นการดำเนินการที่เน้นคนกลุ่มเปราะบาง หรือชายขอบ (marginalized)    โดยที่ PHM (People Health Movement) เป็น Lead Coordinator  (๑)

ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นหลังฟังการประชุมจบคือ เราไม่ได้ฟังมุมมองของภาคธุรกิจ    โดยได้ยินมุมมองของ PHM, WHO, และ UNICEF   ที่บอกว่าต้องร่วมมือกัน ใช้พลังของ PPP – Public – Private Partnership   แต่ไม่ได้เชิญคนจากภาคธุรกิจมาให้ข้อมูลจากมุมมองของเขา     นั่นคือข้อสรุปประการแรก

ข้อสรุปประการที่ ๒   คือการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ (Health Systems)     ซึ่งระบบสุขภาพในประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันมากมาย    ทางประเทศปากีสถานบอกว่าระบบสุขภาพของเขาส่วนใหญ่เป็นระบบธุรกิจเอกชน    ยามโควิดระบาด ไม่ได้เข้ามาแสดงบทบาท    เฉพาะระบบรัฐเท่านั้นที่สู้อยู่    เขาต้องหาทางให้เกิด PPP    ทำให้ระบบสุขภาพสู้โควิดได้ดีขึ้น    ทำให้คิดว่าประเทศไทยและคนไทยโชคดีมากที่เราพัฒนาระบบสุขภาพให้เข้มแข็งได้ย่างที่เป็นอยู่    โดยที่ระบบสุขภาพภาครัฐดูแลคนส่วนใหญ่     แต่ก็มีระบบสุขภาพภาคธุรกิจด้วย    และยามวิกฤติโควิด ระบบสุขภาพภาคธุรกิจก็เข้าร่วมมือด้วย   

ข้อสรุปประการที่ ๓   ยูนิเซฟ บอกว่า โควิดมีผลให้คนยากจนสุดๆ (extreme poverty) เพิ่มขึ้นในรอบ ๒๐ ปี    คือก่อนหน้านั้นคนยากจนสุดๆ มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ    แต่ก็ยังยากจนอยู่    คนเหล่านี้ไม่มีกำลังสำรอง     เมื่อโดนสถานการณ์โควิดระบาด ก็ยากจนลงไปอีก   

ข้อสรุปประการที่ ๔   หนึ่งในสี่ของผู้ติดเชื้ออยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้    เช่น ยากจนมาก  อยู่ในสภาพไร้บ้านไร้ประเทศอยู่  เป็นแรงงานข้ามชาติ  เป็นเด็ก    คนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ

ข้อสรุปประการที่ ๕   โลกต้องร่วมกันคิดสร้างระบบสุขภาพขึ้นใหม่    ที่แตกต่างจากเดิมมาก    เพราะระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน รับมือการระบาดใหญ่ไม่ได้   หรือได้ไม่ดีเท่าที่ควร  

ข้อสรุปประการที่ ๖   เกิดวิกฤติด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผลโดยตรงของโควิด และไม่ใช่ผลต่อเศรษฐกิจ ตามมา    ได้แก่ ด้านการศึกษา   การมีงานทำ   ผลต่อเด็ก   ผลกระทบด้านโภชนาการ   ด้านสุขภาพจิต   ด้าน global governance   ผลกระทบเหล่านี้กระทบกลุ่มคนที่เปราะบางรุนแรงกว่า

ข้อสรุปประการที่ ๗   บริการสุขภาพส่วนที่ไม่ใช่การระงับการระบาดของโควิด  และการดูแลผู้ป่วยโควิด   ถูกกระทบมาก    เจ้าหน้าที่บริการสุขภาพทำงานหนักมาก และเสี่ยง รวมทั้งเครียด  

ข้อสรุปประการที่ ๘   โลกและประเทศ ต้องมีระบบเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ที่ดีกว่านี้    

 หากจะให้ตอบคำถามของหัวข้อการประชุม    ตอบได้ว่า ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือหลากหลายระดับ    เป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ระบบสุขภาพดำเนินการแบบฉายเดี่ยว    และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่รวมพลังกันทั้งโลก     

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.พ. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689185เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท