สร้างครูเพื่อศิษย์



หนังสือ Building a Better Teacher : How Teaching Works (and How to Teach It to Everyone) (2014)  เขียนโดย  Elizabeth Green    เป็นหนังสือดีระดับ New York Times Bestseller   บอกว่า ครูดีต้องสร้าง    และสร้างได้จากห้องเรียน    จากปฏิสัมพันธ์กับศิษย์  กับเพื่อนครู  และกับพี่เลี้ยง (mentor)    ครูต้องรู้จักใช้ปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นเพื่อการเรียนรู้ และยกระดับความเป็นครูของตนเอง

เขาเล่าสภาพอาชีพครูในสหรัฐอเมริกา ว่าครูใหม่ร้อยละ ๔๐ - ๕๐ ละจากอาชีพครูในเวลา ๕ ปี   เป็นสภาพที่ต่างจากครูไทยโดยสิ้นเชิง    และยังเล่าปัญหาเรื่องคุณภาพครูอีกมากมาย   ที่เรื่องหนึ่งคือ ระบบผลิตครูของประเทศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพครูตกต่ำ คือมีคณะศึกษาศาสตร์ประมาณ ๑,๔๐๐ แห่งทั่วประเทศ ผลิตครูออกมา ๒ เท่าของที่ประเทศต้องการ    ประเทศไทยก็ผลิตครูเกินต้องการหลายเท่าเหมือนกัน    และหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลกบอกว่า  ประเทศที่ครูคุณภาพสูงจะผลิตครูตามจำนวนที่ต้องการเท่านั้น    และคัดเลือกคนอย่างพิถีพิถัน (๑)(หน้า ๑๒๙)  

หนังสือบอกว่า การเป็นครูดีไม่ใช่เรื่องยาก    ทำได้โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยมีโค้ชที่ดี   มีการใคร่ครวญกับตนเองอย่างจริงจัง   และมีการร่วมมือกันในกลุ่มครูและผู้บริหาร   

ผมตีความว่า    การพัฒนาครูดี ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกเท่านั้น    ต้องเป็นเรื่องของ “สังฆะ” หรือหมู่คณะของครู ด้วย     และครูที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาหมาดๆ ยังอยู่ในช่วงเป็น “ครูมือใหม่” (novice teacher)    ที่ยังจะต้องฝึกฝนเคี่ยวกรำเรียนรู้จากการปฏิบัติงานไปอีกหลายปี    จึงจะเข้าสู่สภาพ “ครูดี” ได้    โดยผมคิดว่าอาจจะไม่ทุกคน    เพราะบางคนอาจไม่ดำเนินตามปฏิปทานี้    คือไม่ยอมรับสภาพการเป็น “ครูฝึกหัด” ในช่วงสามสี่ปีแรกของอาชีพครู   

ครูที่ดี ต้องการ transformative learning   ที่จะต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    โดยใฝ่หาวิธีการและหลักการดีๆ มาทดลองใช้

ญี่ปุ่นใช้หลักการ “ครูเรียนรู้ตลอดชีวิตการเป็นครู”    โดยใช้เครื่องมือ Lesson Study  และ Open Approach    เพื่อสร้าง “ชุมชนเรียนรู้ของครู” (Professional Learning Community – PLC)      

วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่ต้องทำงานเต็มเวลา    ครูดีไม่มีทางเอาเวลาว่างไปทำงานพิเศษหาลำไพ่ (เช่น ขายแอมเวย์ หรือรับจ้างติว)     เพราะจะต้องใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้ และเพื่อเตรียมออกแบบบทเรียนให้แก่ศิษย์    รวมทั้งทบทวนว่าศิษย์ได้เรียนรู้ตามแผนที่กำหนดไว้ทุกคนหรือไม่    มีใครที่ควรได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษบ้าง    และแต่ละคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ควรได้รับการช่วยเหลือแบบไหน   

นั่นหมายความว่า ระบบการศึกษาต้องแยกแยะครูดี ออกจากครูธรรมดาๆ ให้ได้    และปูนบำเหน็จครูดีให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างสมควรแก่ฐานะ    ไม่ใช่ปูนบำเหน็จแบบไม่แยกแยะ   ที่สำคัญคือต้องปูนบำเหน็จตามเกณฑ์ครูเพื่อศิษย์    ไม่ใช่ตามเกณฑ์ “ผลงานวิชาการ” ที่ไม่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของศิษย์ อย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน   

งานสอนเป็นงานที่ยาก   แต่เมื่อใช้ความพยายาม และมีระบบสนับสนุนที่ดี    ผลที่ออกมาจะให้ความชื่นใจ  

ผมเขียนบันทึกนี้แบบ เขียนเป็นข้อสะท้อนคิดของผมเอง จากการอ่านบทความรีวิวหนังสือเล่มนี้ที่ (๒)    ไม่ได้อ่านหนังสือทั้งเล่ม    โดยตีความสู่บริบทไทย    ไม่รับรองว่าผมตีความถูกต้องทั้งหมด  

หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาคไทยแล้ว ในชื่อ ครูคุณภาพสร้างได้ (๒๕๖๐)    อ่านแล้วจะได้ทั้งสาระและแรงบันดาลใจ (๓)

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.พ. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689129เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท