ถ้ำ : สัญชาตญาณที่ซ่อนลึกในจิตใจมนุษย์


“พรุ่งนี้พวกหนูจะไปเที่ยวถ้ำกัน อยากชวนครูไปด้วยค่ะ ...” ข้อความในจดหมายดังก้องอยู่ในหัว

ผลงานรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ ของ “กำพล นิรวรรณ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตในอดีตของผู้เขียนและสภาพสังคมที่ตนได้เผชิญร่วม ณ ขณะนั้น “ถ้ำ” ๑ ใน ๑๒ เรื่องสั้นที่จะนำผู้อ่านไปสู่การค้นหาความหมายเรื่อง ‘เพศ’ ซึ่งผู้เขียนนำเสนอในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ ทำให้ต้องแปลความและตีความจากสัญญะที่ปรากฏตลอดการดำเนินเรื่อง เรื่องสั้นเรื่องนี้ ‘กำพล นิรวรรณ’ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองผ่านมุมมองของมนุษย์คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตยึดมั่นในอุดมการณ์และแนวทางของตน เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม ด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ ผู้เข้าป่าหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยบทความ ถ้ำ : ‘มอง’ ลึกเข้าไปใน ‘ถ้ำ’ ผู้วิจารณ์จะนำผู้อ่านทุกท่านร่วมเดินทางเข้าสู่ ปากถ้ำ : เพื่อค้นหาความหมายและสัญญะที่หลบซ่อนอยู่ภายในถ้ำ จากนั้นเดินทางต่อไปยัง (แก่น) กลางถ้ำ : ซึ่งสะท้อนสัญชาตญาณทางเพศของตัวละครเอกอย่าง‘ครูพัน’และท้ายที่สุดทุกท่านจะได้ค้นพบกับ ทางออกจากถ้ำ : บทสรุปของการ ‘ติดพัน’ ไปพร้อม ๆ กันในบทวิจารณ์เรื่องนี้

                                 

 เรื่องสั้นเรื่อง ‘ถ้ำ’ ให้ ‘ครูพัน’ หรือ สรรพนามบุรุษที่ ๓ เป็นผู้เล่าเรื่อง ครูพันเป็นครู แก่ ๆ ในวิทยาลัยเล็ก ๆ ไม่มีครอบครัว แต่มักมีผู้หญิงมา ‘ติดพัน’ อยู่เสมอ ทว่าผู้หญิงหลายคนผ่านไปคนแล้วคนเล่า ต่างไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมชายคากับครูพันได้ ครูพันมักนึกย้อนถึงเรื่องราวในอดีต ที่ครั้งหนึ่งกลุ่มนักศึกษาหญิงในภาควิชาประวัติศาสตร์ไทย เขียนจดหมายเชื้อชวนเขาไปเที่ยวถ้ำด้วยกัน ถ้ำดังกล่าวเป็นถ้ำที่พึ่งมีการค้นพบ ยังไม่มีชื่อเรียกและอยู่ลึกเข้าไปในเขตเคลื่อนไหวของพวกทหารป่าเมื่อเดินไปถึงปากทางเข้าถ้ำครูพันและกลุ่มนักศึกษาหญิงต้องมุดน้ำว่ายเข้าไปเสื้อผ้าที่เปียกชุ่มตึงรัดเรือนร่างของกลุ่มนักศึกษาหญิงจนทำให้ครูพันไม่สามารถละสายตาจากเรือนร่างที่เว้าโค้งของหญิงสาวได้ เขายืนมองพวกเธออย่างมีความสุข ท่ามกลางจินตนาการที่ช่วยเติมเต็มแรงปรารถนาทางเพศของเขาให้เสร็จสมบูรณ์


ปากถ้ำ : ความหมายและสัญญะที่หลบซ่อนอยู่ภายในถ้ำ 

ถ้ำ น. หมายถึง “ช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในพื้นดินหรือภูเขา อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมนุษย์กระทำขึ้น มีขนาดใหญ่พอที่มนุษย์สามารถเข้าไปได้” (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน , ๒๕๕๔ : ฉบับออนไลน์) ครูพันและนักศึกษาพากันเข้าในไปในถ้ำ ซึ่งกำพลได้แฝงสัญญะของคำว่า ‘ถ้ำ’ ที่เป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่องไว้อีกนัยหนึ่งว่า 

            “เหมือนรูปพนมมือ” เขาเอ่ยเบาๆ 
            “อะไรคะ” ลัดดาถาม
            “ก็ปากถ้ำไง ดูให้ดีสิ ธรรมชาตินี่มันก็แปลกดีนะ”
            “จริงเลยค่ะ”
            “แล้วข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อๆ เสียด้วย”
 เพื่อนจอมแก่นของเธอเอ่ย พร้อมกับชี้มือให้ทุกคนดู
            “ธรรมชาติแปลกจริงๆ อย่างที่ครูว่า” (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๔๓)

ซึ่งลักษณะของถ้ำ ที่เหมือนรูปพนมมือแล้ว ข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อๆ คือ สัญญะของอวัยวะเพศหญิง เช่นเดียวกันกับ “เขาชอบทิวทัศน์ของทุ่งนากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา มีต้นตาลโตนดเป็นอัญมณี มีภูเขาเป็นฉากหลัง” (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๔๖) สัญญะทางเพศที่ปรากฏ                ต้นตาลโตนด คือ อวัยวะเพศชาย และภูเขาที่สื่อถึงหน้าอกของเพศหญิง

   “ครูพันนั่งมองแสงผีตากผ้าอ้อม อยู่ริมหน้าต่างเรือนไม้หลังน้อยกลางทุ่งนา แมลงภู่ตัวสุดท้ายผละจากเถาสร้อยอินทนิลบนรั้วด้านล่างบินหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่นานโลกใบเล็กของเขาก็เลือนลับไปในความมืดมิด”(กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๔๓) 

          “สิ้นเสียงนกแสก เสียงกระสุนปืนใหญ่จากฝ่ายรัฐบาลเริ่มคำรามเขย่าเทือก สะเทือนเข้าไปถึงในอกของครูพัน ... เสียงหัวกระสุนฉีกอากาศตามด้วยเสียงกึกก้องกัมปนาท”(กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๔๓)

ประโยคดังกล่าวปรากฏในตอนเปิดเรื่อง ผู้เขียนได้พรรณนาและแฝงสัญญะให้ผู้อ่านได้ตีความ ซึ่งแมลงภู่ตัวสุดท้ายผละจากเถาสร้อยอินทนิลบนรั้วด้านล่างบินหายไปอย่างรวดเร็ว คือ บทสรุปในตอนท้ายของชีวิตครูพัน นับว่าเป็นการเปิดเรื่องด้วยตอนจบ ให้ผู้อ่านได้ตีความสัญญะและติดตามเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเรื่อง ได้อย่างน่าสนใจ และ เสียงนกแสก เสียงกระสุนปืนใหญ่ที่ถูกกล่าวถึง คือ สัญญะทางการเมือง เป็นประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนที่นำเหตุการณ์ในอดีต มาใช้เป็นฉากและบรรยากาศสำคัญตลอดการดำเนินเรื่อง ในที่นี้เสียงนกแสก อาจเป็น สัญญะแห่งความตายที่แฝงมาพร้อมกับเสียงกระสุนปืนใหญ่ นับว่าผู้เขียนพรรณนาให้เห็นถึงความรุนแรงของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้อย่างน่าสะเทือนใจ

ปมความขัดแย้งสำคัญของเรื่องนี้คือปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ครูพันเกิดความสับสนขึ้นภายในจิตใจ ดังว่า “ในใจเขาเกิดอาการปั่นป่วนขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย คงหนีไม่พ้นเทพกับมารอีกตามเคย เขาคิด มันมักจะลงไปเปิดศึกกันในก้นบึ้งแห่งห้วงจิตสำนึกของเขา ซึ่งทั้งมืดมนอนธการทั้งลึกสุดหยั่ง เขาจึงทำอะไรไม่ได้ นอกจากเฝ้ารอรับผลของมัน ถ้าเทพชนะเขาก็จะอิ่มเอิบใจนอนหลับกินได้ ถ้ามารชนะก็ต้องทุกข์ทรมานราวกับถูกฝังอยู่ในหลุมบาป” (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๕๔-๕๕) ซึ่งผู้เขียนอาจต้องการสื่อให้เห็นว่า เทพ เป็นสัญญะของการยับยั้งชั่งใจในการแสดงออกด้านกามารมณ์  ในขณะที่มารเป็นสัญญะของแรงปรารถนาแห่งกามารมณ์ที่อยู่ลึกลงไปข้างในจิตใจ พร้อมที่จะระเบิดออกมาได้ทุกเมื่อ

ประการต่อมา คือ ปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เป็นปมความขัดแย้งที่กำพลพาผู้อ่านย้อนไปสัมผัสประสบการณ์ชีวิตของเขา ครั้งหลบหนีเข้าป่าจากการปราบปรามของรัฐบาล ในเหตุการณ์สำคัญเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ดังข้อความที่ว่า : แต่ไม่ว่าจะเป็นนาปาล์มหรือกระสุนปืนใหญ่ธรรมดา เขาก็รู้ว่ามันเป็นการถล่มสุ่มสี่สุ่มห้า เพียงเพื่อมุ่งทำลายการพักผ่อนหลับนอนของพวกทหารป่า (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๔๔) กระสุนปืนใหญ่ที่ถูกกล่าวถึง คือ ภาพแทนของฝ่ายรัฐบาลที่มุ่งโจมตีฝ่ายทหารป่าหรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยผู้เขียนทวีความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง ชวนน่าลุ้นระทึกขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้เขียนดำเนินเรื่องมาถึงจุดที่ปมปัญหาในใจของครูพันกำลังจะถูกเปิดเผย  

“แดนเนรมิตทำท่าจะกลายเป็นแดนนรก กลุ่มนักศึกษาเริ่มตื่นตระหนกสาว  (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๖๐)  แดนเมรมิตที่ครูพันสร้างขึ้นกำลังจะถูกเผยด้านมืดอันลึกสุดหยั่ง ความเป็นสุภาพบุรุษและคำสอนทางพุทธศาสนาที่เล่าเรียนมากำลังจะพ่ายแพ้ให้กับแรงปรารถนาที่สั่งสมอยู่ในสัญชาตญาณความเป็นชาย กลุ่มนักศึกษาสาวเริ่มตระหนักรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแดนนรก สายตาคู่นั้นกำลัง ‘ถ้ำมอง’ และจับจ้องมายังเรือนร่างของพวกเธอ

(แก่น) กลางถ้ำ : สัญชาตญาณทางเพศของตัวละครเอก ‘ครูพัน’ 

‘รักนะคะ แต่ไม่ไหวค่ะ’ (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๔๕) ประโยคสั้นๆ จากหนึ่งในผู้หญิงหลายคนที่หลงทางเข้ามาแวะเวียนในชีวิตของ “ครูพัน” ตัวละครสำคัญในเรื่อง “ถ้ำ” อาจเป็นประโยคที่ต้องการสื่อถึงรสรักของเขาหรือสัญชาตญาณทางเพศที่เขาพึงปรารถนาจะได้รับ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่าสัญชาตญาณ (น.) หมายถึง ความรู้ที่มีมาแต่กำเนิดของคนและสัตว์ ทำให้มีความรู้สึกและการกระทำได้เองโดยไม่ต้องมีใครสั่งสอน (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน , ๒๕๕๔ : ฉบับออนไลน์) ซึ่งความหมายของคำดังกล่าวมีความสอดคล้องกับ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรียเป็นบุคคลแรกที่ได้อธิบายทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinctual drive) ฟรอยด์ได้แบ่งสัญญาตญาณของบุคคลไว้เป็น 2 ประเภท ก็คือ สัญชาตญาณอยากอยู่ และ สัญชาตญาณอยากตาย สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Eros or Life) เป็นสัญชาตญาณที่แสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct)
แต่ ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึงความต้องการทางเพศตามความเรียกร้องทางด้านสรีระเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัญชาตญาณที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และเป็นสัญชาตญาณที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาและความต้องการที่จะได้รับความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆบางครั้งฟรอยด์มักจะเรียกสัญชาตญาณแห่งการมีชีวิตอยู่ว่า สัญชาตญาณทางเพศ (ยศ สันตสมบัติ, ๒๕๓๒ : ๘๕) สัญชาตญาณทางเพศในตัวละครครูพัน ผู้เขียนใช้สัญญะทางธรรมชาติสื่อแทนพฤติกรรมทางเพศของเขา ซึ่งพฤติกรรมทางเพศของครูพันปรากฏอยู่ในลักษณะของการ ‘ถ้ำมอง’ เป็นการสร้างมโนภาพขึ้นเพื่อเสพสุขทางกามารมณ์ สังเกตได้จากประโยคที่ว่า “ฝูงผีเสื้อในถ้ำ โฉบเฉี่ยวให้สาว ๆ จับเล่น พอถูกปล่อยก็บินโลมไล้ลำแขนลำขาของพวกเธอ พอพวกเธอเผลอก็โฉบลงไปเกาะบนทรวงอก พวกเธอก็ได้แต่หัวเราะชอบใจ” (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๕๙) เป็นการแสดงออกทางเพศผ่านสัญญะทางธรรมชาติ คือ ฝูงผีเสื้อที่เปรียบได้กับ สายตา ของครูพันที่ใช้ในการมองหญิงสาว เมื่อพิจารณาถึงเหตุแห่งการใช้สัญญะทางธรรมชาติ ผู้เขียนอาจมองว่าเรื่อง ‘เพศ’ เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด กระทำได้เองโดยไม่ต้องมีใครสั่งสอน และเป็นสิ่งมนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา ซึ่งแต่ละคนอาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวบุคคล “ครูพัน” เป็นตัวละครที่มีลักษณะซับซ้อน ตัวละครครูพันถูกสร้างขึ้นให้มีนิสัยคล้ายกับคนทั่วไป พิจารณาได้จากการที่ผู้เขียนใช้บทสนทนาในการสื่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครครูพันเคยบวชเรียนอยู่หลายปีเพื่อแสวงหาวิมุตติ เพื่อว่าชาติหน้าจะได้ไม่ต้องไปเกิดในทุคติยภูมิ สะท้อนให้เห็นว่า ตัวละครครูพันมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเขายังเคยศึกษาภาษาสันสกฤตจนแตกฉานรวมถึงอ่านคัมภีร์กามสูตรของวาตสยายน การศึกษาในเรื่องดังกล่าวอาจเป็นเหตุแห่งการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศของครูพันดังกล่าวมาข้างต้นก็ว่าได้ นอกจากนี้กำพลได้เขียนให้ตัวละคร ‘ครูพัน’ ถ่ายทอด อารมณ์ ความคิดและประสบการณ์ในจริงชีวิตของเขา ดังบทสนทนาที่ว่า “ยิ่งกว่าสนับสนุน” “หมายความว่าไงคะ” “ครูกำลังคิดจะเข้าไปร่วมต่อสู้กับพวกเขา” “เฮ้ยนี่!” ลัดดา หันไปเรียกเพื่อน ๆ “พวกเราว่าไงจ๊ะ ถ้าครูเข้าป่า พวกเราก็ต้องเข้าด้วยสินะ จะรออะไรล่ะ” (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๕๒) ภูมิหลังและประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนถูกเล่าผ่านบทสนทนาดังกล่าว ‘กำพล นิรวรรณ’ เริ่มงานอาชีพในฐานะนักแปลของกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปุถุชน เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๘ ขณะเรียนอยู่ปีสองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขาเข้าป่าไปร่วมเคลื่อนไหวในหน่วยวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเขตเทือกเขาบรรทัด ดังนั้น ความคิดของครูพันที่ว่าจะเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพวกเขา ก็คือความคิดจากในตัวของผู้เขียนเอง ‘กามารมณ์ : ธรรมชาติที่ซ่อนลึกภายในจิตใจของมนุษย์’ แนวคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อผ่านตัวละครครูพันมายังผู้อ่าน พฤติกรรมของครูพัน สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ไม่สามารถแสดงออกได้ทุกเรื่องตามที่ตนรู้สึก แม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การแสดงออกทางความคิดในด้านของกามารมณ์ อย่างตรงไปตรงมาไม่สามารถทำได้ในสังคม ผู้เขียนหลบซ่อนความคิดด้วยการเลือกใช้ ‘สายตาถ้ำมอง’ และ ‘สัญญะทางธรรมชาติ’ เป็นภาพแทน และ ได้นำแฝงแนวคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่เข้ามาแทนระบบสังคมนิยมไว้ด้วย ดังประโยคในตอนท้ายเรื่อง “เสียงปืนใหญ่สงบไปนานแล้ว พร้อมกับความพ่ายแพ้ของพวกทหารป่า เสียงระเบิดภูเขาของบริษัทเหมืองแร่ดังขึ้นแทน” (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๖๑-๖๒)

ทางออกจากถ้ำ : บทสรุปของการ ‘ติดพัน’ 

ผู้เขียนคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งในจิตใจของครูพัน ว่าท้ายที่สุดแล้วด้านมืดที่อยู่ลึกภายในจิตใจของเขาก็ถูกเปิดเผยออกมา โดยกำพลเปรียบว่า เมื่อฟังเสียงโครมครืนจากเบื้องบน เสียงตกใจวี้ดว้ายของเด็กสาวที่ค่อย ๆ ห่างออกไป(กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๖๑) เสียงโครมครืนจากเบื้องบน อาจเปรียบได้กับ เสียงแห่งชัยชนะของมารในจิตใจ ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนท่วมคอ เขาเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นว่าเจ้านัยน์ตาทั้งคู่ของเขามันขโมยไฟปรารถนาของเขาไปด้วย โลกของเขาดับสนิทแล้วสิ้นเชิง (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๖๑) ผู้เขียนอาจต้องการให้เป็นภาพแทนของผลที่เกิดขึ้น เมื่อมารชนะเทพ ครูพันไม่สามารถเก็บซ่อนแรงปรารถนาทางเพศไว้ได้อีกต่อไป เปรียบเสมือนกับโลกที่เขาสร้างมาเพื่อตอบสนองแรงปรารถนาทางเพศของเขาได้สูญหายไปแล้ว กำพลปิดเรื่องแบบทิ้งท้ายไว้ให้ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการคิดต่อ ว่าเมื่อโลกของครูพันดับสนิทแล้วสิ้นเชิงก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย เล่ากันว่าเขากลายร่างเป็นค้างคาวเฝ้าถ้ำแต่บ้างก็ว่าเขากลายเป็นผีเสื้อยักษ์บินโล้รุ้งกินน้ำปะปนอยู่กับฝูงผีเสื้อป่าในถ้ำแห่งนั้น (กำพล นิรวรรณ, ๒๕๖๒ : ๖๒) ซึ่ง ค้างคาว อาจเป็นสัญญะในแง่ที่ว่าครูพันอาจ ‘ติดพัน’ ๑ ก. เกี่ยวข้อง, เกี่ยวเนื่องกัน (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน , ๒๕๕๔ : ฉบับออนไลน์) อยู่ใน ‘ถ้ำ’ ไม่สามารถหาทางออกให้แก่ชีวิตตนเองได้ ยังคงหมกหมุ่นในเรื่องกามารมณ์ไปตลอดชีวิต ค้างคาวเปรียบเสมือนด้านมืดที่ยังคงฝังตัวอยู่ในถ้ำและฝังลึกอยู่ในจิตใจของครูพัน และ ผีเสื้อยักษ์บินโล้รุ้งกินน้ำ
อาจเป็นสัญญะในแง่ของกามารมณ์เช่นเดียวกัน ทว่าผีเสื้อต่างจากค้างคาว ตรงที่ผีเสื้อสามารถใช้ชีวิตกลางวันได้ ค้างคาวออกหากินได้แค่เวลากลางคืน ผู้เขียนอาจต้องการสื่อให้เห็นว่าด้านมืดทางกามารมณ์ของครูพันได้ถูกเปิดเผยออกโดยใช้ภาพแทน คือ ผีเสื้อยักษ์ที่กำลังบินโล้รุ้งกินน้ำ ส่วนฝูงผีเสื้อป่าในถ้ำแห่งนั้น ก็คือ มนุษย์เพศชายคนอื่น ๆ ที่มีแรงปรารถนาทางเพศเช่นเดียวกับครูพัน 

เมื่อพิจารณากลวิธีการในปิดเรื่องของผู้เขียน อาจเพราะกำพลต้องการให้ผู้อ่าน คิดและตีความหมายได้ในหลายแง่มุม เนื่องจากแนวคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการเสนอมายังผู้อ่าน คือ เรื่อง ‘เพศ’ ซึ่งสังคมไทยไม่นิยมพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา จึงปิดเรื่องแบบทิ้งท้ายไว้ให้คิดโดยใช้สัญลักษณ์สื่อแทนสิ่งที่จะกล่าวถึงเรื่องสั้น “ถ้ำ” ในหนังสือรวมเรื่องสั้น อาถรรพ์ ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ ของ“กำพล นิรวรรณ” 
มีเทคนิคการจัดวางองค์ประกอบโครงเรื่องแบบย้อนลำดับเวลา คือเป็นนึกย้อนถึงเรื่องราวในอดีตของครูพัน สร้างความน่าสนใจและเร้าอารมณ์ให้ผู้อ่านอยากติดตามตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนท้ายเรื่อง แม้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องแบบย้อนลำดับเวลา ทั้งผู้เขียนยังคงผูกเรื่องให้ดำเนินต่อเนื่องไป นับว่าเป็นโครงเรื่องที่มีความเป็นเอกภาพ สอดรับกันด้วยเหตุผลอย่างเหมาะสม การใช้ภาษาที่เรียบง่าย สั้นกระชับแต่แฝงไปด้วยสัญญะตลอดการดำเนินเรื่อง ทำให้แนวคิดที่ผู้เขียนต้องการสื่อมายังผู้อ่านผ่านตัวละครครูพัน ต้องพิจารณาและตีความของสัญญะที่ปรากฏในเรื่อง                  

              บทวิจารณ์เรื่อง ‘มอง’ ลึกเข้าไปใน ‘ถ้ำ’ จะทำให้ผู้อ่านเข้าถึง ‘ถ้ำ’ ในความหมายของ ‘กำพล นิรวรรณ’ ได้อย่างลึกซึ้ง

รายการอ้างอิง

กำพล นิรวรรณ. (๒๕๖๒). อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ. กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

ยศ สันตสมบัติ. (๒๕๓๒) ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์จากความฝันสู่ทฤษฎีทางสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

หมายเลขบันทึก: 689029เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท