ชีวิตที่พอเพียง ๓๘๙๔. สร้างเครือข่ายผู้นำสังคมสุขภาวะ



วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔ ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้นำสังคมสุขภาวะ ที่เป็นโครงการต่อเนื่องจาก คศน.    ที่มีการสร้างผู้นำสังคมสุขภาวะในหลากหลายด้าน    ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูงที่ สสส. ให้การสนับสนุนมาเป็นเวลา ๑๒ ปี    โครงการนี้เป็นรอบที่ ๔ นี้เป็นโครงการสร้างเครือข่ายของ node   ต่างจาก ๓ รอบที่แล้วเน้นสร้างคน เชื่อมกันเป็นเครือข่าย    โดยใช้โมเดล INNE (Individual, Node, Network, Environment) (๑) 

ผมตีความว่า ความสำเร็จอยู่ที่การสร้างและสนับสนุนผู้นำการเปลี่ยนแปลงในมิติใหม่ๆ ในวงการสุขภาพ ทำให้กิจกรรมเพื่อสุขภาวะของคนไทยไม่คับแคบอยู่เฉพาะในกลุ่มวิชาชีพสุขภาพเท่านั้น    

ตอนเสนอโครงการ เสนอไว้ ๕ โหนด  คือ (๑) การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง  (๒) ลดความเหลื่อมล้ำทาง     ทันตกรรม  (๓) การศึกษาและการเรียนรู้  (๔) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  (๕) ความมั่นคงทางอาหาร  

วันนี้ มีโหนดใหม่มาเสนอ ชื่อ New Dialogue Culture  ที่เอาแนวคิดมาจากเยอรมัน ผ่านมูลนิธิฟรีดิช เนามันน์    ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส    เลียนมาจากโครงการชื่อ My Country Talks เป็น online platform ที่เขาพัฒนาร่วมกับ Google    เพื่อเอื้อ one to one dialogue คุยกันเรื่องความแตกต่างของความคิดทางการเมือง    

วันนี้ โหนด ๑ และ ๒ มาเสนอกิจกรรมที่กำลังดำเนินการ

โหนด ๑ การสื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ   คุณนาตยา แววธีรคุปต์ เป็นผู้เสนอ     เป็นกิจกรรมของหน่วยธุรกิจที่ แยกตัวออกมาจากสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส   เน้นกิจกรรม ออนไลน์ ชื่อ The Active   จับประเด็นเชิงสังคมได้แก่ ชาติพันธุ์  อาหาร  การศึกษา  ฝุ่นพิษ  คนเปราะบาง  ความยากจน เป็นต้น    กำลังจะเผยแพร่รายการ จักรวาลความจน ๕ ตอน  ตอนละ ๕๐ นาที ในไทยพีบีเอส ในไตรมาสที่ ๒ ของปีนี้    และจะมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่าง   

ผมเสนอว่า น่าจะพิจารณาเผยแพร่กรณีบุคคล ครอบครัว หรือชุมชน ที่เอาชนะความยากจน มีชีวิตที่ดีได้    มาเป็นข้อเรียนรู้เชิงนโยบายว่า การหนุนเสริมอะไรที่จะช่วยให้คนจนส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนได้    รวมทั้งเป็นข้อเรียนรู้ให้แก่ผู้ยากจนที่ขวนขวายยกระดับตนเอง

โหนด ๒  ลดความเหลื่อมล้ำทางทันตกรรม    ด้วยบริการของภาครัฐร่วมเอกชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น   นำโดย ทพ. วัฒนา ทองปัสโนว์  ได้รับทุนวิจัยปฏิบัติการ จาก สวรส.   ระยะเวลา ๒ ปี    ทำใน ๒ อำเภอของจังหวัดสมุทรปราการ   เรื่องนี้หากทำได้สำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อคนยากจนในเมืองมาก    ที่ประชุมแนะนำให้เน้นแก้ความเหลื่อมล้ำ ๒ ด้าน คือ ด้านสุขภาพช่องปาก และด้านการเข้าถึงบริการ      

ที่จริงการที่จะให้แต่ละโหนดดำเนินการตามที่เสนอไว้ ไม่ง่ายนัก    เพราะสมาชิกของแต่ละโหนดเป็นคนที่มีงานหรือกิจกรรมมากมาย    ดังนั้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายนี้จึงต้องอาศัยกลไกการประเมินและติดตามผล  และกลไกการถอดความรู้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ    

ผมจึงเสนอให้สอดใส่แนวคิดและหลักการ DE เข้าไปในกระบวนการติดตามและประเมินผล    เพื่อใช้กระบวนการนี้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   เป็นส่วนหนึ่งของ E – Enabling Environment   ในหลักการ INNE

เครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นเครือข่ายการเรียนรู้จากการปฏิบัติ       

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ม.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 689028เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท