พุทธเศรษฐศาสตร์ : งานยิ่งมาก ยิ่งดี...


วันนี้มีคณะผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ใจดี พร้อมด้วยบุคลากรจาก อบต. มาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ตอบแทนคุณพระศาสนา เทิดพระเกียรติพระมหากษัติรย์ไทยทุก ๆ พระองค์ จำนวนเกือบ ๆ ๘๐ คน คนที่อยู่ที่นี่ถือว่าเป็นโอกาสดี เพราะจะได้ทำความดี ได้เสียสละ...

แนวความคิดตามแนวทางแห่งพุทธเศรษฐศาสตร์นั้น จะแตกต่างกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เพราะเราจะเน้นย้ำอยู่เสมอ ๆ ให้ว่า งานยิ่งมากยิ่งดี คนยิ่งมาเยอะยิ่งดี งานลำบาก ๆ ปัญหาเยอะ ๆ ยิ่งดี แถมงานที่เยอะ คนที่มามาก เราไม่ได้เงิน ได้สตางค์ด้วยซ้ำ แถมจะต้องควักสตางค์จากกระเป๋าตัวเองมาดูแลผู้ที่มาอีกต่างหาก แต่เราก็เต็มใจ และยินดี ถือว่าเป็นโอกาสให้เราได้สร้างบุญสร้างกุศล...

ซึ่งจะแตกต่างกับข่าวคราวที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยาในกรณีของผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน มีข่าวออกมาเยอะว่า ผู้ที่ไปรับบริการนั้น ได้รับบริการที่ไม่ดีเท่าที่ควร สาเหตุก็เพราะว่า การศึกษาบ้านเราในหลายปีที่ผ่านมา สอนให้คนอยากทำงานน้อย ๆ แต่อยากได้เงินเดือนมาก ๆ อยากทำงานสบาย ๆ แล้วหวังที่จะได้เงินเยอะ ๆ แต่เมื่อมีงานเยอะ แต่ได้เงินเท่าเดิม ทุกคนจึงเกิดความทุกข์ เพราะที่มาทำงานก็หวังเงิน หวังสตางค์ เรื่องนี้แก้ไขได้ไม่ยาก หากเราเพียงปรับทัศนคติให้ทุกคนมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องว่า คนมาเยอะ ๆ นี่แหละดี เราได้ทำความดีเพื่อส่วนรวม คนที่มาขอลงทะเบียน ถึงแม้นว่าจะไม่ใช่ญาติพี่น้องของเรา แต่เราก็จะเต็มใจช่วยเหลือของอย่างเต็มที่ เพราะเขาลำบากนะ เขาไม่มีสมาร์ทโฟน ถึงแม้นว่าลูก ๆ เขาจะเรียนจบสูง ๆ มีมือถือเครื่องแพง ๆ แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้าน กลับไม่สามารถลงทะเบียนได้ในขั้นตอนแรกเหมือนคนทั่วไป เป็นโอกาสดีนะที่รัฐบาลเปิดให้เขามาลงทะเบียนได้โดยวิธีนะ เราจะช่วยเขาให้เต็มที่ มากันเยอะ ๆ เราจะได้ทำความดี เหมือนกับคนที่เดินทางมาหาพวกเราในวันนี้

เมื่อวาน มีคณะเดินทางล่วงหน้ามา ๒ คณะ ตอนแรกข้าพเจ้าตั้งใจจะชวนอีกคณะหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์เก่า เคยเดินทางไปปฏิบัติธรรมาหลายแห่ง จะให้เปิดโรงทานเพื่อเลี้ยงคนที่มานะ แต่หนึ่งในสมาชิกกลับตอบว่า มาเที่ยวนี้ ก็ว่าจะมาอยู่เฉย ๆ อยู่แบบสงบ ๆ...

ข้าพเจ้าจึงชี้แจงไปว่า การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จะมาอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร การมาปฏิบัติธรรม เราต้องขยันกว่าเดิม เสียสละมากกว่าเดิม การมาแก้กรรมคือการแก้ไขการกระทำของตนเองที่เคยทำมาอย่างเคยชิน เคยขี้เกียจก็เปลี่ยนเป็นขยัน เคยขยันน้อยก็ขยันมากกว่าเก่า การปล่อยวางไม่ใช่ไม่ทำอะไร แต่ทำมากกว่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือทำทุกอย่างด้วยการปล่อยวาง 

สรุปแล้วข้าพเจ้าก็เปลี่ยนไปให้อีกคณะหนึ่งทำ ซึ่งคณะนั้นแทบไม่รู้จักพื้นเพกันเลย แต่เพียงบอกคำเดียวกลับตอบว่า "ได้ค่ะ..."

นี่ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง คนที่ปฏิบัติธรรมมามาก ๆ กลับมีปัญหาเยอะกว่าคนที่มาใหม่ ๆ เพราะเรียนมากรู้มากกลับทำให้มีปัญหาข้อสงสัยเยอะ ตามคำโบราณที่ว่า "รู้มาก ยากนาน"

การปฏิบัติธรรมตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ก็คือ การทิ้งงานทิ้งการมาอยู่ที่วัด แล้วมาอยู่แบบสงบ ๆ ไม่ทำอะไร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร เอาแต่จะมาเดินจงกรม หลับตา นั่งสมาธิ... ครูบาอาจารย์บอกว่า ถ้าพากันทำแบบนั้นก็เหมือนกับการสร้างโลกอีกโลกหนึ่งขึ้นว่า คิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องแยกออกไปจากโลก ออกไปจากสังคม

เหมือนกับการออกกำลังกาย... หลายคนก็คิดว่า การออกกำลังกายคือต้องไปเข้า fitness ต้องไปวิ่ง ไปเดินตามสวนสาธารณะหลังเลิกงาน การคิดอย่างนี้ก็เป็นการสร้างโลกการออกกำลังกายขึ้นอีกโลกหนึ่งเหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราก็จะปฏิบัติอย่างถูกต้อง คือเราจะปฏิบัติธรรมไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติงาน

เราทำงานบ้านที่บ้าน เราไปทำงานที่ทำงาน เราก็ทำแบบเดิม เพิ่มเติมคือเปลี่ยนทัศนคติจากการที่เราไปทำงานเพื่อเงิน เพื่อรายได้ แต่คิดใหม่ว่า เรามาทำงานเพื่อให้ เพื่อเสียสละ

อย่างเช่นอาชีพคุณหมอ คุณพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล การที่มีคนไข้เยอะ ๆ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราจะเข้าใจว่า เราได้ทำบุญทำกุศลทุก ๆ วัน เราไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำบุญทำกุศลที่วัด เราทำหน้าที่ดูแลคนไข้นี่แหละ พูดดี ๆ กับคนไข้ พูดเพราะ ๆ กับญาติของคนไข้ ดูแลเอาใจใส่เค้าอย่างเต็มที่เต็มร้อย ถึงแม้เขาจะไม่ญาติพี่น้องของเรา เขาเป็นคนต่างด้าว คนยากจน แต่เราก็จะดูแลทุกคนอย่างดี อย่างพิเศษ ถ้าเราคิดถูกต้องอย่างนี้ หน้าที่การงานของเราก็เป็นบุญเป็นกุศล แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำงานเพื่อเงิน คนไข้เยอะก็ทุกข์ ทำไมงานมันเยอะอย่างนี้ ไม่ได้พัก ไม่ได้ทานข้าว อาชีพหมอ อาชีพยาบาล ก็เป็นอาชีพที่เป็นบาปเป็นกรรม เพราะเราทำงานกับคนใกล้ตาย ทำมาหากินกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ดังนั้นจึงเน้นย้ำว่า หัวใจแห่งพุทธเศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งการให้ การเสียสละ เน้นการสร้างความคิดเห็นให้ถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องเดินตามอริยมรรคมีองค์แปดประการ คิดดี พูดดี ทำดี ทำเพื่อให้ เพื่อเสียสละ ทำเพื่อละอัตตาตัวตน

มีงานมาก ๆ ยิ่งดี ยิ่งลำบากมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะทุก ๆ วินาทีนี้คือเวลาแห่งการภาวนา เพื่อพัฒนาจิตใจให้ใส สว่าง สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากความเห็นแก่ตัว...

หมายเลขบันทึก: 689025เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท