ข่าวว่านกจะมา


ข่าวว่านกจะมา : อิสรภาพ บ้าน และครอบครัว

จเด็จ กำจรเดช เป็นที่รู้จักจากผลงานรวมเรื่องสั้น “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ”ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี ๒๕๕๔ และในปี๒๕๖๓ เขาก็ได้รับรางวัลซีไรต์ ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่ ๕ ของเมืองไทย รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือ เป็นผลงานที่มีความแปลกใหม่ไปจากการเขียนเรื่องสั้นเรื่องเดิม ๆ ของไทย ทั้งด้านการเล่าเรื่อง การผูกเรื่อง จำนวนตัวละคร ขนาดความยาว และจเด็จ กำจรเดช ได้หยิบยกประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมมาเขียน เชิงเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์สังคม สร้างสัญญะโดยใช้สัตว์เป็นตัวสื่อความหมาย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินกับการอ่าน ขณะเดียวกันผู้อ่านจะได้เห็นมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อสังคม และได้แง่คิดจากการอ่าน

เรื่องสั้น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

“ข่าวว่านกจะมา” เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้รับเหมาก่อสร้างที่ภรรยาหนีหายไปเป็นเวลาสามเดือน เนื้อเรื่องสะท้อนให้เห็นเรื่องของครอบครัว และผู้เขียนยังโยงไปสู่ประวัติศาสตร์เขมรแดง เขมรแดง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” คือ กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่เคยปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่น ๆ และหนึ่งในจำนวนประชาชนที่ถูกกวาดต้อนก็มีกลุ่มคนไทยในเกาะกงด้วย พวกเขาถูกบังคับให้ทำการเกษตรและใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท เพื่อจำแนกประชาชนที่ถือว่าเป็น "ศัตรูทางชนชั้น" ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่าง ๆ ออกมาเพื่อขจัดทิ้ง การกระทำดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชา รวมถึงกลุ่มคนไทยในเกาะกงต้องเสียชีวิตจากการสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยากเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าระบอบการปกครองของเขมรแดงเป็นหนึ่งในระบอบที่มีความรุนแรงที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

“เขาว่ามาแบบนั้น ตอนแรกขนอ่อนจะงอกจากนิ้วมือ เหมือนรายการสารคดีชีวิตลูกนกที่ถ่ายแบบเร่งสปีด ขนอ่อนค่อย ๆ กลายเป็นขนเต็มสีดำขลับสะท้อนไฟ จากนั้นอวัยวะที่มีขนเต็มนั้นแยกออกขนาดเท่า ๆ ตัวนก พูดง่าย ๆ ว่าหนึ่งคนแบ่งร่างออกเป็นนกหลายสิบตัว ” (หน้า ๖๙) การเปิดเรื่องผู้แต่งได้พรรณนาถึงนก ซึ่งการกล่าวถึงนกในตอนแรกของเรื่องก็สอดคล้องกับการตั้งชื่อเรื่องข่าวว่านกจะมา คำว่า ข่าวว่านกจะมา ผู้แต่งน่าจะต้องการสื่อถึงการรอที่จะได้รับอิสรภาพคืนมาของคนไทยในเกาะกง แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดพวกเขาก็ไม่ได้อิสรภาพนั้นสักที เป็นเพียงข่าวที่รอแล้วรอเล่า ผู้แต่งใช้ความเปรียบได้น่าสนใจ เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากติดตามเรื่องราวไปจนจบ และจากข้อความที่กล่าวว่า หนึ่งคนแบ่งร่างออกเป็นนกหลายสิบตัว ซึ่งข้อความนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนหนึ่งคนอาจมีได้หลายบุคลิก สามารถเป็นอีกคนหนึ่งได้ เมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน

     การดำเนินเรื่องผู้แต่งได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์เขมรแดงสะท้อนให้เห็นถึงประชาชนที่ถูกกีดกันจากอำนาจของรัฐ การถูกกดขี่ข่มเหง ลิดรอนสิทธิจนทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องอพยพย้ายถิ่น นอกจากเรื่องการอพยพของชาวไทยในเกาะกง ผู้แต่งยังกล่าวถึงการอพยพของชาวโรฮิงญาที่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตน เดินทางไปที่ประเทศไหนก็ไม่มีใครต้อนรับ พวกเขากลายเป็นบุคคลไร้รัฐ ซึ่งเหตุการณ์อพยพของชาวไทยในเกาะกงและชาวโรฮิงญา สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้รับสิทธิ ความเท่าเทียม และอิสรภาพจากรัฐบาลไทย ทั้งที่ชาวเกาะกงก็เคยเป็นคนไทย แต่ต้องมาเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ สิทธิที่เป็นของพวกเขา การอพยพกลับมาประเทศไทยเพราะประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้าน บ้านที่พวกเขาเคยอยู่ เคยเป็นคนประเทศนี้ เมื่อเกิดความเดือดร้อนจึงต้องกลับมาบ้านเกิด หวังเป็นที่พึ่ง เป็นที่คุ้มภัย เมื่อมาถึงกลับไม่ใช่อย่างที่คิด ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากที่เดิมที่ถูกกดขี่ เอาเปรียบ และลิดรอนสิทธิ ชาวโรฮิงญาก็มีสภาพไม่ต่างจากชาวเกาะกงเท่าไหร่นัก คือ พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ และความเท่าเทียม การแทรกประวัติศาสตร์ในเรื่องนับว่าเป็นความคิดที่ดีเพราะทำให้ผู้ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้รู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจ รู้สึกมีส่วนร่วมไปกับเนื้อเรื่อง นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์ผู้เขียนยังกล่าวถึงเรื่องการสร้างบ้าน เรื่องของครอบครัว ที่ชีวิตคู่ระหว่างสามีและภรรยาไม่คอยราบรื่น ผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยเล่าตัดสลับเหตุการณ์ไปมา ทำให้เรื่องมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และในการดำเนินเรื่องผู้แต่งได้สอดแทรก เรื่อง social midia เข้ามา คือ ใช้อินสตาแกรมเป็นสื่อที่ติดต่อกันระหว่างผม และภรรยา ทำให้ผู้อ่านในปัจจุบันเข้าถึงเรื่องราวได้ง่าย เพราะเนื้อเรื่องทันสมัย น่าสนใจ กลวิธีการแต่งแปลกใหม่ การอ่านเรื่องสั้นจึงไม่น่าเบื่อ  

     การปิดเรื่องผู้แต่งได้กล่าวถึง คำว่า “เขาว่า” ซึ่งเป็นการเสียดสีสังคมที่คนไทยมักจะเชื่อข่าวลือ และไม่ได้ตรวจสอบที่มาของข่าวว่ามีความน่าเชื่อเพียงใด ได้รับสารเช่นไรมาก็เชื่อไปแบบนั้น นำไปเล่าต่อจนเนื้อความแทบไม่เหลือความจริงอยู่เลย เป็นการปิดเรื่องได้อย่างแยบยล โดยผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเรื่องสั้นไว้เพียงว่า “ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี่ก็ฟังเขาเล่ามาเหมือนกัน” เป็นคำสารภาพว่าเรื่องที่เขาเล่ามาเขาก็ฟังจากคนอื่นมาอีกที ไม่รู้ว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นความจริง หรือน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

     แก่นของเรื่องข่าวว่านกมา คือ ผู้เขียนต้องการเตือนสติ อย่าเป็นคนหูเบา หลงเชื่อคนง่าย ต้องตรวจสอบที่มาของข่าวนั้น ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรและจะต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนจะเชื่อสิ่งใด

     ผู้แต่งมักกล่าวถึงคำว่า “เขาว่า” อยู่บ่อยครั้ง สังเกตได้จากเกือบทุกย่อหน้าจะขึ้นต้นด้วยคำนี้ ผู้แต่งใช้คำว่า “เขาว่า” มากล่าว เพราะเป็นคำติดปากในชีวิตจริง ซึ่งเป็นคำที่ไม่ยืนยันแหล่งที่มาของข้อมูล อาจได้ฟังเขาว่ามาอีกที ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลลดลง แต่ถึงจะเป็นข้อมูลที่ไม่ทราบที่มานี้กลับแพร่ไปในวงกว้าง คนส่วนใหญ่ปักใจเชื่อโดยไม่สนใจว่า “ใครว่า” บางครั้งผู้ที่เป็นต้นตอของเรื่องอาจสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมาจากคำว่า “เขาว่า” ดังที่ตัวละครในเรื่องนี้กล่าวว่า “ผมต้องฟังเรื่องตัวเองจากคนอื่น พวกนั้นรู้เรื่องของเราดีกว่าตัวเราอีก” (หน้า ๑๓๘) ยิ่งในยุคของการเสพข่าวสารออนไลน์ ข้อความที่ว่า “เขาว่า” ได้รับการกดไลก์กดแชร์จนแพร่ไปสู่วงกว้างเป็นเครือข่ายใยแมงมุม การที่ผู้แต่งใช้ผู้เล่าเรื่อง “เขาว่า” จึงน่าจะมีเจตนาชี้ให้เห็นความจริงในความลวง และความลวงในความจริง เรื่องที่ “เขาว่า” อาจมีความจริงอยู่ไม่น้อย เชนเดียวกับเรื่องที่ต้องย้ำบ่อย ๆ ว่าเรื่องจริงนะ ก็มีความลวงอยู่แน่นอน เมื่อเราอยู่ในโลกที่ความจริงและความลวงใกล้ชิดกัน ก็ต้องใช้สติให้มากเพื่อแยกให้ออกว่าอะไรจริง อะไรลวง

     เรื่องสั้น “ข่าวว่านกจะมา” ยังเสียดสีสังคมอยู่หลายประเด็น ทั้งความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ การกระทำที่หวังผลตอบแทน คือ ในเรื่องกล่าวถึงการเก็บรังนกนางแอ่นไปขาย ซึ่งในหนึ่งปีจะสร้างรังสองครั้ง รังที่เป็นสีเลือดจะมีราคาแพงมาก แต่รังสีนี้หาได้ยาก คนจึงทำรังนกสีเลือดปลอมขึ้นมาโดยเอาสีมาทา แสดงให้เห็นถึงความโลภมากของมนุษย์ และการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับนก โดยการสร้างตึกเพื่อให้นกเข้าไปอยู่จึงแพร่หลายมาก ในประเทศไทยธุรกิจเช่นนี้พบมากที่ปากพนัง เพราะมีตึกให้นกไปอยู่นับร้อยตึก ที่อำเภอเบตงจะมีนกพิราบเกาะสายไฟเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวชอบถ่ายรูปนกเกาะสายไฟไว้ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เมื่อมีโครงการนำสายไฟลงใต้ดินนักท่องเที่ยวก็เริ่มน้อยลง โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป ผู้แต่งกล่าวถึงความจริงของการใช้นกทำธุรกิจ นกเปรียบเสมือนเครื่องมือที่มนุษย์ใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน

     ปมความขัดแย้งที่พบในเรื่องเป็นปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ คือ ตัวละครผมกับภรรยา โดยทั้งสองทะเลาะกันอยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุดทั้งสองต้องหย่าร้างกัน ซึ่งสาเหตุของการหย่าร้างน่าจะมาจากความคิด ทัศนะคติที่แตกต่างกัน ไม่ปรับความเข้าใจกัน และสามีนอกใจไปมีผู้หญิงอื่น สาเหตุนี้น่าจะเป็นสาเหตุที่ภรรยาคงทนอยู่กับสามีต่อไปไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดีในเรื่องครอบครัวปัจจุบันอัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และปัญหาการหย่าร้างยังส่งผลกระทบทำให้เด็กก่อปัญหาทางสังคมมากมาย ด้วยสาเหตุที่ครอบครัวแตกแยก ขาดความรัก ความอบอุ่น มีความรู้สึกไม่มั่นคง  

     ผู้แต่งใช้ภาษาที่สั้นกระชับ คำสละสลวย เข้าใจง่าย เลือกสรรคำได้อย่างประณีต มีคำซ้ำช่วยย้ำความหมาย คือคำว่า “เขาว่า” การเล่าเรื่องเป็นการเล่าแบบพรรณนาโวหาร และผู้แต่งใช้สัญลักษณ์มาเล่าเรื่องทำให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ น่าติดตาม สัญลักษณ์ที่ผู้แต่งกล่าวถึงมีดังนี้ กาดำ เป็นลักษณ์แทนพวกเขมรแดง นกนางแอ่น เป็นสัญลักษณ์แทนอิสระ เสรีภาพ และยังเป็นสัญลักษณ์แทน การรักเดียวใจเดียวด้วย รัง เปรียบเสมือนบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย อันอบอุ่นละปลอดภัย การบินของนกก็อาจจะเปรียบเสมือนการอพยพของชาวไทยที่เกาะกง หรืออาจจะเรียกได้ว่าคนไทยพลัดถิ่น เมื่อเกาะกงตกเป็นของเขมร พวกเขาก็ถูกกดขี่ข่มเหง จึงพากันอพยพบางคนยอมทิ้งบ้านเรือนเพื่อมาอยู่ดินแดนสยาม

      ตัวละครผม เป็นตัวละครเอกของเรื่อง ผู้แต่งเล่าเรื่องผ่านสายตาของผม ผมเป็นตัวละครแบบกลม กล่าวคือ ผมมีทั้งด้านดีและไม่ดี ผมเป็นคนที่ขยันทำงาน เมื่อภรรยาออกไปใช้ชีวิตข้างนอกผมก็ทำหน้าที่พ่อ ดูแลลูก ทำอาหาร ทำงานบ้าน ไปรับ – ส่งลูกไปโรงเรียน ส่วนด้านที่ไม่ดี ผมทำงานหนักจนทำให้เขาละเลยความรู้สึกของภรรยาและลูก ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ครอบครัว ผมนอกใจภรรยาซึ่งการนอกใจของผมสะท้อนลักษณะนิสัยของผู้ชายในสังคม ซึ่งผู้ชายแบบผมมีจำนวนมาก และสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของชายหญิง ผู้ชายมีอำนาจมากกว่า ผมเป็นผู้นำครอบครัว การสร้างบ้านออกแบบบ้านเป็นหน้าที่ของผม ภรรยาไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ต้องทำตามที่สามีบอก ผมให้ความความสำคัญกับการสร้างบ้าน จนมองไม่เห็นความสำคัญของชิ้นส่วนที่มาต่อเติมบ้าน ในที่นี้บ้านอาจจะหมายถึงครอบครัว ชิ้นส่วนที่มาต่อเติมบ้านคือคนในครอบครัว บางครอบครัวคิดว่าการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อ แม่ ลูก คือครอบครัวที่สมบูรณ์ อบอุ่น แต่บางครั้งก็ไม่ได้เป็นดังนั้นเสมอไป เช่นในเรื่องครอบครัวของผมอยู่กันสามคนพ่อ แม่ ลูก แต่กลับเป็นครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เพราะทั้งพ่อและแม่ไม่ยอมปรับตัวเข้าหากัน ไม่ใส่ใจดูแลกันและกัน จนนำไปสู่ปัญหาครอบครัวและการหย่าร้างในที่สุด ตัวละครผมมีความสมจริงเพราะมีทั้งด้านดีและไม่ดี พฤติกรรมและความคิดของเขาเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เจอ

     ภรรยา และผมตัดสินใจสลับบทบาทกัน จากเดิมผมใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทำตามความคิดของตัวเอง เปลี่ยนมาใช้ชีวิตที่อยู่แต่ในบ้าน ทำงานในบ้านไปพร้อมกับดูแลลูก มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นกว่าตอนที่อยู่นอกบ้าน จากเดิมภรรยาของผมเป็นครูรับราชการ ทำงานเสร็จกลับบ้านเลี้ยงลูก ชีวิตอยู่แต่ที่บ้านและโรงเรียน ไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยว ไม่รู้ว่าโลกภายนอกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ถูกจองจำให้อยู่แต่ที่บ้านและโรงเรียน เพราะมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งไม่ต่างจากการถูกกักขังไว้ในถ้ำ เธอเปลี่ยนมาใช้ชีวิตที่อิสระ ออกไปท่องเที่ยว เผชิญกับโลกภายนอก เมื่อเธอได้ไปใช้อย่างที่ต้องการ เธอก็หายไป และไม่ได้กลับบ้านอีกเลย ภรรยาของผมเป็นตัวแทนของคนที่ต้องการอิสระ ต้องการออกเดินทางไปพบกับสิ่งใหม่ ไปเรียนรู้โลกภายนอก และการใช้รูปอินสตาแกรมของเธอก็เป็นรูปนกอพยพ การใช้รูปนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความคิดดังกล่าวว่าเธอต้องการอิสระ อยากจะโบยบินไปทุกทีเหมือนนกอพยพ และการอพยพของนกเปรียบเหมือนการอพยพของชาวเกาะกง ชาวโรฮิงญา ไม่เพียงเท่านี้การอพยพน่าจะหมายถึงคนทั่วโลกที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ซึ่งการอพยพก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในชีวิตบางประการ หรือเพราะความอยากจะไปก็ได้ ผู้แต่งกล่าวถึงสัญลักษณ์รูปนกบ่อยมาก นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น สัญลักษณ์รูปนกยังมีปรากฏบนตัวของผู้ช่วยช่างที่มาต่อเติมบ้านให้กับผม เขาสักรูปนกไว้ที่ไหล่สองข้าง คนงานคนนี้เป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้เห็นว่าผู้แต่งใช้สัญลักษณ์มาเพื่อย้ำเรื่องการอพยพของคนต่างชาติ

     ข่าวว่านกจะมายังเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ ไม่ว่าในสังคมไทยหรือต่างประเทศจะพบคนไร้บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนคนที่มีบ้านบางคน ขนาดบ้านก็ใหญ่โตมากกว่าจำนวนคนที่อยู่ ข้อความที่สะท้อนความคิดนี้ คือ “ถ้ามนุษย์สร้างบ้านให้มีขนาดพอเหมาะกับการใช้งานจริง ๆ โลกจะมีบ้านเพียงพอให้กับทุกคน”

     บทสนทนาในเรื่องมีจำนวนน้อย มีความสมจริง คือถ้อยคำที่ตัวละครใช้พูดโต้ตอบกัน มีลักษณะเป็นธรรมชาติ คล้ายคลึงกับที่บุคคลใช้ในชีวิตจริง รวมทั้งบทสนทนาช่วยสร้างบรรยากาศของเรื่องให้ดูสมจริงมากยิ่งขึ้น และทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความเบื่อหน่าย นอกจากนี้ยังช่วยขยายเรื่องให้คืบหน้า โดยที่ผู้แต่งไม่ต้องเขียนคำอธิบายยาว ๆ เช่น “ทำไมเมียคุณหนีไป อ้อโทษที ผมฟังเรื่องจากคนอื่นว่าคุณหย่ากันแล้ว คุณนอกใจใช่ไหม” “เขาว่าอย่างไรบ้างล่ะ ผมคงไม่ต้องบอกอะไรแล้วมั้ง” “เขาว่าเธอคงไม่กลับมาบ้านนี้อีกแล้ว” “กลับสิ เธอเป็นนกนางแอ่น ผมถึงได้จ้างคนงานพวกนี้มาต่อเติมบ้านรอไงล่ะ”

     ฉากหรือสภาพแวดล้อมของตัวละคร เป็นสถานที่และบรรยากาศที่ให้ตัวละครโลดแล่นไปตามเรื่องราว ฉากในเรื่องเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง สามารถไปดู หรือสัมผัสได้ เช่น กงเกาะสถานที่เคยเป็นของไทย แต่ปัจจุบันตกเป็นของเขมร อำเภอปากพนังสถานที่ที่มีตึกมากกว่าร้อยตึกไว้สำหรับให้นกไปอาศัยอยู่ อำเภอเบตงนกเกาะสายไฟจำนวนมาก เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ผู้แต่งใช้บทสนนา สัญลักษณ์รูปนก หนังสือ ในการสื่อบรรยากาศ ชักพาผู้อ่านให้คล้อยตามเรื่อง และขบคิดในสิ่งที่ผู้อ่านต้องการจะสื่อ บรรยากาศของเรื่องจะแสดงสภาพความเป็นอยู่ของตัวละคร เช่น ตอนที่ภรรยาของผมอยู่บ้านกับลูก เขาไม่เก็บกวาดบ้าน ทำให้บ้านรก ข้าวของวางกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบเพราะเขาไม่มีเวลาทำ เวลาส่วนใหญ่ เขาใช้ไปกับการสอนนักเรียน เตรียมการสอน และดูแลลูก หรือตอนที่ผมใช้ชีวิตอยู่บนรถ กินข้าว ทำงานบนรถ โดยเขาดัดแปลงรถให้เป็นเหมือนบ้าน เอาเบาะข้างหลังออก ให้เหลือเป็นพื้นที่ว่างแล้วนำโต๊ะเข้าไปตั้งไว้สำหรับทำงาน เขานำรถไปจอดนอนและอาบน้ำที่ปั๊มน้ำมัน อาหารก็ซื้อที่ร้านสะดวกซื้อฉากและบรรยากาศจึงมีความสมจริง และช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่าน

      อิสรภาพ เป็นสิ่งที่คนไทยในเกาะกงต้องการ พวกเขาอยากได้รับความเท่าเทียม สิทธิต่าง ๆ ไม่แบ่งแยกชนชั้น ถึงพวกเขาจะเรียกร้องจากรัฐบาลไทยเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับมันเลย บ้านเปรียบเสมือนที่ที่ปลอดภัยที่สุด เป็นที่ที่อยู่แล้วรู้สึกสบายใจ เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนใจบ้านก็เป็นที่ที่อยากจะกลับมามากที่สุด ซึ่งเหมือนกับคนไทยในเกาะกงที่อยากกลับมาประเทศไทย เพราะหวังเป็นที่พึ่งในเวลาที่เดือดร้อน แต่สิ่งที่เขาคิดกลับผิดเพราะบ้านไม่เป็นอบอุ่นที่สุด ไม่รู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ และยังต้องมาเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียมให้กับตนเอง ส่วนความคิดที่ว่าครอบครัวที่อบอุ่นคือครอบครัวที่มีครบ ๓ คน พ่อ แม่ และลูก ซึ่งความคิดนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป เห็นได้จากในเนื้อเรื่องถึงจะมีครอบครัวครบ ๓ คน พ่อ แม่ ลูก กลับเป็นครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เพราะคนในครอบครัวละเลย ไม่ใส่ใจ ดูแลกันและกัน ไม่ปรับความเข้าใจเมื่อมีปัญหา ไม่เติมความรักให้แก่กัน ฉะนั้นครอบครัวไหนที่เป็นเหมือนครอบครัวของตัวละครในเรื่อง ต้องปรับปรุงตนเองก่อนที่จะไม่มีโอกาส และเสียครอบครัวไป

อ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช.  (๒๕๕๔). คืนปีเสือ.  พิมพ์ครั้งที่ ๑.  กรุงเทพมหานคร ฯ : สำนักพิมพ์ผจญภัย

เขมรแดง. สืบค้น ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔,  จาก  https://bit.ly/3rpiRpq

ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (๒๕๕๔).  เชิญมาวิจารณ์. สืบค้น ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔, 

       จาก https://bit.ly/2MZ49Gt

หมายเลขบันทึก: 689020เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท