บางโก้งโค้ง


บางโก้งโค้ง : อำนาจของคนสีกากี 

     บางโก้งโค้ง หนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้นนักเขียนรางวัลยอดเยี่ยม “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” หนังสือเล่มนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่าตัวเรื่องสั้น คือ สถานที่และช่วงเวลาที่เรื่องสั้นแต่ละเรื่องเขียนเสร็จ ประกอบกับตัวเนื้อหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย นอกจากนี้ ตัวเรื่องที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษร จนกลายเป็นเรื่องสั้นที่เข้ารอบชิงรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ยังมีความสัมพันธ์กับอดีตของกำพล นิลวรรณ นักเขียนผู้มากความสามารถอีกด้วย 

     บางโก้งโค้ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าป่าล่าสัตว์ของเจ้าหน้าที่ การบุกรุกพื้นที่ป่า ล่าสัตว์สงวน สัตว์คุ้มครอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดเรื่องเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าระบบข้าราชการ หรือวัฒนธรรมแบบข้าราชการนั้นมีส่วนทำให้เกิดการกระทำผิดดังกล่าวโดยไม่ใครสามารถทำอะไรได้ ดังนั้นในเรื่องนี้ถึงแม้ว่ากฎหมายจะทำอะไรพวกเขาไม่ได้ แต่ในตอนท้ายผู้เขียนก็ให้ธรรมชาติเป็นผู้ลงโทษคนใจคนบาปเหล่านี้แทน บางโก้งโค้ง คือภาพแทนของป่าที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ หรือสัตว์ป่าหายากก็สามารถพบได้ที่นี่ บางโก้งโค้งตั้งอยู่อำเภอเบี้ยซัด เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ซึ่งในปัจจุบัน คือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้บางโก้งโค้งยังเป็นสัญลักษณ์แทนการทำความเคารพ ที่คนจะต้องเคารพธรรมชาติ เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ 

     เรื่องนี้ดำเนินเรื่องแบบย้อนกลับ คือ เล่าเหตุการณ์ในตอนท้ายเพื่อให้เกิดความสงสัยก่อน จึงเล่าเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ การเปิดเรื่องผู้เขียนทำให้เห็นถึงผลการกระทำของตัวละคร ซึ่งจะเห็นผลการกระทำของลูกโดด โผงเดียว หรืออดีตนายอำเภอหนุ่มสุดหล่อ แต่ตอนนี้เขากลับผอมแห้ง เนื้อตัวมอมแมม ชอบทำท่าทางยกปืนประทับไหล่ แล้วเล็งไปยังที่ว่างบนสะพานแบบนี้แทบทุกวัน เดิมทีเขาคลั่งไคล้การล่าสัตว์ และมองว่าการล่าสัตว์เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นชายชาตรี ซึ่งการล่าสัตว์มีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ หน้าที่ล่าสัตว์มักตกเป็นของผู้ชาย ส่วนหนึ่งก็ทำเพื่อปากท้อง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อแสดงความเป็นชาย และยังแสดงถึงภาวะของการเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ แนวคิดการสะสมเขาสัตว์ หัวสัตว์ และชิ้นส่วนของสัตว์ ยังแสดงรสนิยมความหรูหรา การเป็นผู้ดีมีเงิน (แบบผู้ดีอังกฤษและยุโรปโดยทั่วไป) ทำให้การล่าสัตว์เป็นไปเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อแสดงความเป็นชาย ยิ่งสิ่งที่ต้องการมีความคาบเกี่ยวกับกฎหมายหรือศีลธรรม เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เข้าไม่ถึงก็ยิ่งน่าสนใจ การครอบครองจะรู้สึกมีอำนาจ ดูเป็นชายมากขึ้น เห็นได้ว่าคนที่เข้าไปล่าสัตว์มักจะเป็นคนรวย และมีอำนาจ หลายครั้งที่มีข่าวการจับกุมเกี่ยวกับการล่าสัตว์ บุกรุกพื้นที่ป่าไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย หรือต่างประเทศก็จะพบผู้มีอำนาจทั้งเรื่องเงินทั้งบารมีอยู่เบื่องหลัง อีกคน คือ นายผิน ฟันทอง ที่ตอนนี้ฟันหายไปทั้งปาก และกลายเป็นคนกลัวเด็ก ซึ่งเดิมทีนายผินจะเป็นที่หวาดกลัวของเด็ก ๆ เนื่องด้วยเขามีรูปร่าง และลักษณะนิสัยที่น่ากลัว ตัวละครตัวนี้สันนิษฐานว่าผู้แต่งอาจสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าเผด็จการ ในยุคที่เขาขึ้นเป็นรัฐมนตรีของประเทศไทย จากผลการกระทำของทั้งสองคนสะท้อนให้เห็นถึงกฎแห่ง ทำกรรมเช่นไรไว้ ย่อมได้รับผลของการกระทำเช่นนั้น 

      นายอำเภอ และพวกเจ้าหน้าที่ที่มียศ เป็นภาพแทนของคนที่มีเส้นสาย มีอำนาจ สามารถทำอะไรก็ได้ ทำผิดโดยไม่มีความผิด ยกตัวอย่างเช่น นายอำเภอและพวกเข้าป่าล่าสัตว์สงวนโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือนายผิน ฟันทองใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ไปในทางที่ผิด คือ เขาเป็นตำรวจผู้รักษาสันติภาพ แต่กลับข่มขู่ รีดไถ่ประชาชน พร้อมยัดเยียดข้อหาต่าง ๆ ให้แม่ค้าในตลาดรวมทั้งอีพร้อยคู่ปรับของเขา การกระทำนี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีข้าราชการที่บกพร่องต่อหน้าที่ ใช้อำนาจในทางที่ผิด แสวงหาผลประประโยชน์เพื่อตนเอง และละเลยทุกข์สุขของประชาชน ซึ่งข้าราชการเช่นนี้ยังคงพบเห็นมากในสังคมปัจจุบัน 

     ทุกครั้งที่นายอำเภอและพวกต้องการเข้าป่าล่าสัตว์ เฒ่าเหินพรานป่าที่เก่งทีสุดในเบี้ยซัดจึงเป็นที่ต้องการ และเขากลายเป็นพรานคู่ใจของนายอำเภอในเวลาต่อมา ครั้งแรกที่คณะนายอำเภอล่าสัตว์มาได้ พวกเขาก็เอาเนื้อสัตว์มาทำอาหาร และแจกจ่ายอาหารให้กับชาวบ้าน คณะนายอำเภอจึงเป็นที่ชอบใจ และได้หัวใจของชาวบ้านไปครอบครอง เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่าเมื่อชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ก็พร้อมที่จะอยู่ข้างคนที่ทำผิด ซึ่งชาวบ้านเป็นภาพแทนคนธรรมดาที่เมื่อมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องก็พร้อมจะทำตามคำสั่ง และอยู่เคียงข้าง โดยไม่ได้สนใจว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนดีหรือไม่ ก่อนไปล่าสัตว์เฒ่าเหินจะเตรียมอาหารไว้รอคณะนายอำเภอ และเมื่อนายอำเภอมาถึงก็ออกไปต้อนรับพร้อมยกมือไว้อย่างนอบน้อม เรื่องการไหว้ทำให้เฒ่าเหินและอีพร้อย ซึ่งเป็นภรรยาต้องถกเถียงกันเป็นประจำ เพราะเฒ่าเหินและอีพร้อยอายุแกกว่านายอำเภอ สะท้อนให้เห็นว่าคนชั้นล่างยังต้องทำความเคารพผู้ที่มีอภิสิทธิ์ชนอยู่ ถึงแม้จะมีวัยวุฒิที่สูงกว่าก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจเพราะสังคมสมัยก่อนปลูกฝังให้เด็ก ๆ เคารพ และนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ แต่ในตอนนี้กลับต้องมาเคารพกันตามตำแหน่ง หน้าที่ หรืออำนาจที่มีอยู่ 

     กำพลได้แฝงเรื่องความเชื่อไว้ในเนื้อเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่พรานเหินจะนำทางคณะนายอำเภอไปยังบางโก้งโค้ง มีตุ๊กแกหางด้วนหล่นลงมาตายต่อหน้า อีพร้อยเชื่อว่าเป็นลางไม่ดี ซึ่งความเชื่อนี้คนโบราณบอกว่าห้ามออกจากบ้านเพราะอาจจะมีภัยอันตรายมาสู่ตนเอง หรือเป็นความเชื่อของพรานเหินเกี่ยวกับการห้อยพระ คนที่ห้อยพระจะต้องเป็นบุคคลที่มีศรัทธา รักษาศีล ทำแต่ความดี ส่วนพรานเหินนั้นฆ่าสัตว์ ทำบาปมากมาย ทำให้เขาคิดว่าพระไม่น่าจะคุ้มครอง เขาศรัทธาและนับถือเจ้าป่าเจ้าเขามากกว่า ทุกครั้งที่เข้าป่าเขาจะต้องโก้งโค้งเพื่อทำความเคารพป่า และขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาคุ้มครอง เห็นได้ว่าความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยไม่ว่ายุคสมัยใด เพราะความเชื่อเป็นความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ศรัทธาของมนุษย์ในสิ่งต่าง ๆ ว่าจะบันดาลอะไรให้เราได้ หากกระทำและปฏิบัติต่อความเชื่อในทางที่ถูกที่ควร แล้วความสุขก็จะเกิดตามมา หากละเลยความทุกข์ร้อนก็จะเกิดตามมาได้ 

     นอกจากนี้ผู้เขียนยังแฝงเรื่องราวความรักไว้ในเรื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรักของคน หรือความรักของสัตว์ ความรักของคนที่พบเห็นในเรื่อง คือ ความรักระหว่างอีพร้อยและเฒ่าเหิน ถึงแม้อีพร้อยจะปากร้ายแต่เธอก็ใจดี รักสามีมาก เห็นได้จากเธอเป็นห่วงสามีเมื่อเห็นตุ๊กแกตกลงมาตาย หรือจะเป็นตอนที่เธอยื่นห่อข้าวให้สามีเอาไว้รับประทานขณะเข้าป่า ส่วนความของสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่อีพร้อยติดตามสามีไปล่าสัตว์ เธอเหินเฒ่าเหินผู้เป็นสามียิงค่างแม่ลูกอ่อน และก่อนที่ค่างผู้เป็นแม่จะตกลงมาตายมันได้กระโดดไปอุ้มลูก และนำลูกขึ้นไปไว้ยอดไม้ เพื่อหวังให้พ้นจากอันตราย นอกจากนี้ยังมีตอนที่คณะนายอำเภอยิงนกแข่งกันระหว่างเดินทางไปบางโก้งโค้ง นกตกลงมาตายโดยที่พวกเขาไม่ได้สนใจว่ามันจะเป็นอย่างไร พวกเขาฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนพวกเขาได้อย่างเลือดเย็น และยังมองว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน การฆ่าสัตว์ พรากลูกและแม่จากกัน สะท้อนให้เห็นว่าทุกชีวิตล้วนรักตัวเอง แม้แต่สัตว์ก็รักชีวิตของมัน เราเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เหตุไฉนจึงไปทำลายชีวิตของคนอื่น สร้างกรรมให้กับตนเอง โดยไม่รู้สึกละอายต่อการทำบาป 

      พรานเหิน เป็นภาพแทนของชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอะไร เมื่อผู้ที่มีอำนาจกว่าตนสั่งให้ทำเช่นไรก็ต้องทำ หากไม่กระทำตามอาจนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและครอบครัว นอกจากนี้พรานเหินยังเป็นภาพแทนของผู้ชายที่ไม่รักษาคำพูด คือ เฒ่าเหินเคยสัญญากับภรรยาว่าจะไม่ล่าสัตว์อีกนับตั้งแต่ที่ยิงค่างแม่ลูกอ่อนตาย แต่เขาก็ทำไม่ได้ ยังคงเข้าป่าล่าสัตว์ตามเดิม ถึงแม้ในตอนสุดท้ายเขาจะพยายามลบล้างความผิดที่เคยให้สัญญากับภรรยาของเขาไว้ก็ตาม อีพร้อยเป็นภาพแทนของคนที่ไม่เห็นด้วยกับคนที่ทำความผิด กล่าวคือ อีพร้อยกับหมวดผินฟันทองมีเรื่องกัน และเธอก็ไม่ชอบหมวดผินมาก เพราะหมวดผินชอบข่มขู่ประชาชน รังแกคนที่ไม่มีทางสู้ อีพร้อยยังไม่เห็นด้วยกับการเข้าป่าล่าสัตว์เพราะเธอมองว่าทุกชีวิตย่อมรักตัวเอง นอกจากนี้เหตุการณ์ที่คณะนายอำเภอล่าสัตว์มาได้ แล้วนำไปทำอาหาร และแบ่งให้ชาวบ้าน จนได้ครองใจคนในชุมชน แต่พร้อยกับไม่ชอบใจ สะท้อนให้เห็นว่าคนอย่างพร้อยถึงแม้จะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเธอก็ไม่เห็นด้วย คนอย่างพร้อยในปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที เพราะในสังคมทุกคนล้วนเห็นแก่ตัว หาแต่ประโยชน์ให้ตนเอง จนลืมมองถึงความถูกต้อง ตัวละครละครที่สำคัญต่อเรื่องอีกหนึ่งตัว ได้แก่ ยายนวล ยายนวลเป็นตัวละครที่ช่วยเสริมให้เรื่องราวดำเนินไปได้ด้วยดี และยายนวลน่าจะเป็นภาพแทนของการเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายป่า ไม่ล่าสัตว์ สัตว์ที่หาได้จะเป็นพวกหอย และยายนวลจะเก็บแค่พอรับประทานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยายนวลจึงสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เห็นได้จากการที่อยู่ในกระท่อมกลางป่าคนเดียวโดยไม่หวาดกลัว และอยู่ได้อย่างปลอดภัย แสดงให้เห็นว่าหากมนุษย์คิดดี ทำดีสิ่งศักดิ์สิทธ์ย่อมคุ้มครอง และจะอยู่ที่ไหนก็สามารถอยู่ได้ 

     ในเรื่องนี้เราจะเห็นอาถรรพ์ของป่า เห็นความมหัศจรรย์ กล่าวคือ เกิดลมพายุครั้งใหญ่ที่ทางเข้าป่าบางโก้งโค้ง แต่เมื่อพรานเหิน และคณะของนายอำเภอไปโก้งโค้งเพื่อทำความเคารพ ลมพายุนั้นก็สงบลง หรือตอนที่คณะนายอำเภอได้ฟังเรื่องความลี้ลับ และประสบกับเหตุการณ์น่าขนลุกของป่าบางโก้งโค้ง คือ ได้ฟังเรื่องที่กวางน้อยกลายเป็นหญิงสาว ได้พบกับสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกับคนแคระ และตอนที่พวกเขาเข้าไปในถ้ำแล้วเห็นภาพหลอน โดยเห็นภาพของตนเองหัวขาด มีเลือดไหลนอง ซึ่งผู้เขียนใช้กลวิธีการแต่งแบบแฟนตาซี ทำให้เนื้อเรื่องมีความสนุกสนาน น่าตื่นเต้น ติดตาม มีความสมจริง ภาษาที่ใช้ในเรื่องเป็นภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย คำสละสลวย พร้อมทั้งสอดแทรกคติสอนใจเอาไว้ 

     ฉากและบรรยากาศ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรื่องดำเนินไปได้ด้วยดี และส่งเสริมให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ฉากที่สำคัญในเรื่อง คือ ฉากป่า บางโก้งโค้งทำให้เห็นว่าป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีความลี้ลับ น่ากลัว ยังถูกรุกล้ำจากมนุษย์ ซึ่งมนุษย์เหล่านั้นคือเจ้าที่ของรัฐ ที่ทำผิดโดยไม่เกรงกลัวความผิด และยังคงลอยนวล ไม่มีใครเอาผิดได้ เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอาถรรพ์ภาพวาดวาดเสือดำ เพราะมีเนื้อเรื่องคล้าย ๆ กัน คือ การล่าสัตว์ บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งบุคคลเหล่านี้ทำผิดแต่ไม่ได้รับโทษ เพราะมียศ มีอำนาจ หากมองอีกมุม ถ้าคนที่ทำความผิดไม่มียศ ไม่มีอำนาจ คงต้องรับโทษไปตามกฎหมาย ถึงอย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายผู้แต่งพยายามเขียนให้ธรรมชาติได้ลงโทษมนุษย์บ้าง ไม่ใช่ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว เห็นได้จากตอนจบของเรื่องผู้รอดชีวิตจากการเข้าป่ามีเพียง ๓ คน คือ นายอำเภอ หมวดผิน และพรานเหิน ส่วนคนอื่นน่าจะเสียชีวิต คนที่เสียชีวิตทุกคนล้วนแต่ใช้ปืนยิงสัตว์ในบางโก้งโค้งทั้งสิ้น เห็นได้ว่าธรรมชาติก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์
     การล่า จับจอง ครอบครอง ก็ยังเป็นความบันเทิงของคนรวยไร้สำนึก สนองรสนิยมที่ยังมีผู้สนองโดยที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด สัตว์ และป่าตกเป็นเหยื่อของคนใจบาป หากคนในชาติยังเมินเฉยและไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ต่อไปเราจะไม่มีอากาศบริสุทธ์ไว้หายใจเพราะป่าถูกบุกรุก ไม่มีสัตว์ป่า เพราะถูกล่าจนไม่หลงเหลือ ฉะนั้นแล้วทุกคนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ เพื่อประเทศและโลกที่น่าอยู่ในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 689018เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท