อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ


อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ : มีอำนาจเท่ากับไม่ผิด

     รวมเรื่องสั้นของนักเขียนรางวัลยอดเยี่ยม “กนกพงศ์ สงสมพันธุ์” เรื่องอาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่นๆ คือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของกำพล นิรวรรณ อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำได้เข้ารอบ Short list เรื่องสั้นไทย รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี ๒๕๖๓ ซึ่งรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ประกอบไปด้วยเรื่องเล่าลี้ลับ สนุกสนาน แปลกประหลาด และมหัศจรรย์

     “กำพล นิรวรรณ” เริ่มงานอาชีพในฐานะนักแปลของกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปุถุชน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ขณะเรียนอยู่ปีสองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขาเข้าป่าไปร่วมเคลื่อนไหวในหน่วยวัฒนธรรม ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขตเทือกเขาบรรทัด กำพลกลับเข้าเมืองหลังป่าแตก นับจากนั้นเขาก็ออกเดินทางค้นหาบทเรียนชีวิตใหม่ ๆ ไปแทบทุกมุมโลก ไม่ว่าในฐานะนักข่าว นักแปล และนักผจญภัย ด้วนประสบการณ์เหล่านั้น เขาจึงค่อย ๆ เคี่ยวคั้นกลั่นกรองออกมาเป็นเรื่องสั้น ในรูปแบบลีลา และการเล่าเรื่องเฉพาะตัว

     อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำเป็นเรื่องที่ผู้แต่งนำกรณีการล่าเสือดำที่เคยเป็นข่าวดังในสังคมไทยกลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง เดิมเสือดำจะเป็นผู้ถูกล่าจากผู้มีอิทธิพล หรือจากนายทุน การที่สัตว์ถูกล่าจากบุคคลเหล่านี้สะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงระบบทุนนิยมที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทย กลายมาเป็นผู้ล่าแทน นอกจากนี้กำพลยังนำเอาเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และ ๑๖ ตุลา มาเล่าในเรื่องด้วย การเล่าเรื่องจะเป็นการเล่าแบบสลับมุมมองกันระหว่างผู้ล่ากับผู้ถูกล่า โดยจะเล่าไปตามลำดับเวลา 

    ผู้แต่งใช้ชื่อเรื่องว่าอาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ เพราะผู้แต่งน่าจะต้องการสื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าคนที่ทำผิดแล้ว ผู้พิทักษ์สันติภาพอย่างตำรวจยังไม่สามารถทำอะไรได้ ผู้เขียนเลยให้เสือผู้ที่ถูกกระทำจากคนใจบาปมาล้างแค้นด้วยตนเอง ในเรื่องจะมีตอนที่เขาไปขออาศัยอยู่กับหลวงน้า และได้วาดภาพเสือดำไปติดกับผนังห้อง เมื่อหลวงน้าของเขามาเห็นรูปวาดนั้น ก็สั่งให้เขานำไปทิ้งเพราะเชื่อว่าเสือดำคือสิ่งไม่ดี อาจจะนำความเดือดร้อนมาให้แก่เรา หรือจะเป็นตอนที่เขานำภาพวาดเสือดำไปมอบให้กับหญิงสาวที่เขาแอบชอบ แต่สุดท้ายก็ถูกพ่อแม่ของหญิงสาวสั่งให้นำภาพวาดนั้นไปทิ้ง เพราะเชื่อว่าเสือดำคือเสือสมิง จะเป็นอันตรายต่อครอบครัวในภายหน้า ซึ่งผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเกี่ยวกับการเมือง คนธรรมดาอาจจะไม่สนใจ เพิกเฉย เพราะถ้าเข้าไปยุ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเอง  

     การเปิดเรื่องผู้แต่งได้กล่าวถึงชีวิตของตัวละครเขา เขาเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งเขาน่าจะเปรียบเสมือนกระบอกเสียงที่กระจายข่าวการฆ่าเสือดำไม่ให้เงียบหายไปตามกาลเวลา เขาเป็นตัวละครที่เรียนไม่เก่ง ไม่ค่อยมีความสามารถ แต่เขาก็มีความกล้า กล้าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเสือดำ สะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่านอกจากเขาจะเปรียบเสมือนกระบอกเสียง เขายังเปรียบเสมือนคนธรรมดา ชนชั้นกรรมาชีพ ที่หาเช้ากินเข้า ถึงแม้จะไม่มีอำนาจ ไม่มีฐานะ แต่พวกเขาก็จะไม่ยอมให้ความยุติธรรมหายไปสังคมเพียงเพราะเกรงกลัวอำนาจของผู้มีอิทธิพล 

     การดำเนินเรื่องจะปรากฏตัวละครที่มีชื่อว่าจ่าง แซ่ตั้ง ซึ่งมีชีวิตจริงในสังคม เป็นตัวละครสำคัญที่ส่งเสริมตัวละครเขาให้มีบทบาทเด่นชัด ช่วยให้เขาเห็นมุมมองและเข้าใจเสือดำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในตอนแรกเสือดำที่เขาวาดยังไม่สวย และไม่มีชีวิตชีวา จ่าง แซ่ตั้งก็ช่วยสอนให้เขาวาดรูปเสือดำจนสามารถวาดได้ดีขึ้น และยังเป็นคนแนะนำให้เขาไปดูนิทรรศการเกี่ยวกับเสือดำ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเห็นมุมมองของเสือดำมากขึ้น เขาจึงได้เพิ่มจำนวนของภาพวาดมากขึ้นเช่นกัน เสือดำที่เขาสร้างขึ้นมา เดิมเป็นเสือที่ยังไม่มีชีวิต เพราะภาพวาดยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คน แต่เมื่อภาพวาดเหล่านั้นได้แพร่กระจาย จนเริ่มเป็นที่สนใจและเป็นที่รู้จัก เสือดำก็มีชีวิตขึ้นมา 

     ภาพวาดเสือดำจะแทนถึงกระบอกเสียงหรือความคิดของคนที่ต้องการเรียกร้องความยุติธรรม หรือจะพูดในเรื่องของการเมืองก็ได้ คือ เห็นได้จากในเรื่องจะมีเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก พบว่าในเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวขนซากสัตว์สงวนที่ตายแล้ว สัตว์เหล่านั้นเป็นสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเฮลิคอปเตอร์เป็นของกองทัพบก ขณะนั้นรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกมาแก้ต่างว่าทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ไปราชการลับบริเวณตะเข็บชายแดนกาญจนบุรี และรูปถ่ายที่ทหาร ตำรวจยืนล้อมซากสัตว์ก็เป็นภาพเก่าและเป็นการยืนถ่ายโชว์โดยไม่รู้ว่าใครยิง เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่าผู้มีอิทธิพล มียศ มีอำนาจใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เพราะไปบุกรุกป่า และเบียดเบียนสัตว์ ถึงรู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ผิด แต่กฎหมายก็ไม่สามารถทำอะไรคนเหล่านี้ได้ เพราะความมีอิทธิพล มีอำนาจย่อมสามารถทำให้สิ่งที่ผิดกลายเป็นสิ่งที่ถูกได้ และเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับเหล่านักศึกษาจนนำไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และ ๑๖ ตุลา พอมีเหตุการณ์เกี่ยวกับการล่าสัตว์ ภาพเสือดำก็จะปรากฏขึ้น แต่พอเวลาผ่านไป ภาพเสือดำก็ค่อย ๆ หายไป ผู้เขียนต้องการจะสื่อว่า คนไทยเป็นคนลืมง่าย เวลาผ่านไปสักพักก็ลืม เพิกเฉยกับเรื่องนี้ 

     การปิดเรื่องผู้แต่งจะปิดเรื่องโดยให้เราได้ตระหนักว่าถ้าหากเราเป็นฝ่ายถูกเสือดำล่าจะทำอย่างไร ในส่วนหมายเหตุของตอนจบเรื่องนี้ ผู้เขียนจะพูดถึงคดีการฆ่าเสือดำของเปรมชัย จากข่าวถึงเปรมชัยจะทำผิด แต่ศาลกลับยกฟ้องนายเปรมชัยในข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากเสือดำ สัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ ๒ – ๔ เป็นคนธรรมดาไม่มีอำนาจกลับถูกลงโทษจำคุก ยิ่งสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นว่ากฎหมายประเทศเรายังไม่มีความเด็ดขาด ไม่มีน่าเคารพ เพราะผู้มีอำนาจทำผิดยังไม่ได้รับโทษที่ตนเองก่อ ในทางกลับกันผู้ที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน ต้องรับโทษไปตามกฎหมายจากเรื่องมีข้อความที่กล่าวว่าภาพเสือดำก็กลับมาอีกครั้ง ก็เหมือนการที่คนให้ความสนใจกับเรื่องนี้อีกครั้ง แต่พอเวลาผ่านไปภาพเสือดำก็หายไป เหมือนที่คนก็จะค่อย ๆ ลืมเรื่องนี้ไปตามกาลเวลา และตอนสุดท้ายเสือดำได้ฆ่าคน สภาพศพเละจนดูไม่ได้ ทำให้เราเห็นว่า เราเคยทำแบบไหนกับเสือดำ พอถึงเวลาที่เราโดนแบบนั้นบ้างเราจะรู้สึกเช่นไร เสือดำหายเข้าไปในกำแพงหลังจากฆ่าคนเสร็จ ก็เหมือนการเงียบหายไปของข่าวการฆ่าเสือดำ โดยผู้ที่ทำผิดไม่ได้รับโทษอะไร

     ผู้เขียนยั่วล้อสังคมไทย กล่าวคือ เสือดำในความเป็นจริงเขาเป็นผู้ถูกล่า แต่พอมาเรื่องนี้ผู้เขียนกลับให้เสือดำเป็นผู้ล่า ผู้เขียนต้องการบอกกับผู้อ่านว่าในชีวิตจริงเสือเป็นสัตว์ที่ไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรได้ ได้แต่ถูกกระทำอย่างเดียว ผู้เขียนก็เลยใช้วิธียั่วล้อให้ผู้กระทำมาเป็นผู้ถูกกระทำ และผู้ถูกกระทำมาเป็นผู้กระทำ จากเนื้อเรื่องทำให้ผู้อ่านเห็นว่าการฆ่าคน ถลกจนเห็นศีรษะ เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ น่าสงสารและเห็นใจ แต่ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับสัตว์ ผู้คนกลับมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

     สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ คือ เรื่องการตีแผ่สังคมเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่ยังวนเวียนอยู่ทุกยุคทุกสมัย สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่พอเวลาผ่านไปไม่ว่าจะนานแค่ไหนเรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นอีก จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวรจนถึงเหตุการณ์ของนายเปรมชัยมันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ แต่คนทำผิดยังคงลอยนวล ไม่ได้รับโทษที่ตนเองก่อ อาจจะด้วยความมีอำนาจ ความมีอิทธิพล ตำรวจเลยไม่สามารถทำอะไรได้   

  



บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณ. (๒๕๖๒).  อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำ. พิมพ์ครั้งที่ ๑.  กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์ผจญภัย

ข่าวสดออนไลน์. (๒๕๖๓).  ย้อนประวัติศาสตร์ ฮ.ล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร ตกนครปฐม สู่จุดเริ่มต้นล้มรัฐบาลทหาร. สืบค้น ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓,  จาก https://bit.ly/3mH6t10

บีบีซีนิวส์. (๒๕๖๒).  เสือดำ : ศาลตัดสินคดีเปรมชัย จำคุก 16 เดือน คดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หลุดข้อหาครอบครองซากเสือดำ. สืบค้น ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓,  จาก https://bbc.in/3rtmxHA

หมายเลขบันทึก: 689022เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท