ประเมินผลงานครู“แบบPAหรือ3in1”กับวัฒนธรรม“อำนาจ”(ตอนจบ)


ขณะการปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นเสมอมา ซึ่งสร้างความคับข้องใจให้ครูที่อุทิศหัวใจให้กับการจัดการเรียนการสอนหรือทุ่มเทให้กับเด็กๆเต็มร้อย เป็นความไม่ยุติธรรมจากระบบพรรคพวกของผู้มีอำนาจ ซึ่งมักใช้วิธีบริหารจัดการศึกษาเหมือนไม่ใช่นักการศึกษา ทั้งที่ก็ถูกกำหนดให้บริหารด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม คณะกรรมการสถานศึกษาหรือบอร์ดใหญ่ตามพระราชบัญญัติการศึกษาก็มีมานานพอแล้ว

ย้อนกลับมาที่การประเมินแบบ PA ที่จะนำการเลื่อนวิทยฐานะ คงวิทยฐานะ และเลื่อนเงินเดือนมาประเมินด้วยข้อมูลจากการปฏิบัติงานเดียวกัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ที่พาให้ใจห่อเหี่ยวและน่าเป็นห่วงเมื่อรู้ว่าครูต้องใช้กระบวนการนี้ เนื่องจากการปฏิบัติจริงที่โรงเรียนน่าจะไปซ้ำเติมอิสระเสรีภาพของครู ซึ่งปกติก็ถูกบังคับบัญชาด้วยอำนาจที่ล้น จากตัวอย่างหลายกรณีที่กล่าวมา

ประการแรก การพิจารณาเลื่อนเงินเดือนครู ขนาดเปลี่ยนเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วยังคงสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้เพื่อนครูด้วยกันหรือระหว่างครูกับฝ่ายบริหารมาโดยตลอด จากระบบพวกใครพวกมัน แม้ระยะหลังวิธีประเมิน เครื่องมือ หรือคะแนนที่ใช้จะชัดเจนมากแล้วก็ตาม แต่ความบิดเบี้ยวก็ยังคงอยู่ ยังคงสร้างปัญหา นึกถึงคำพูดบางคน “ให้กฎหมายดีเพียงใด ถ้าใจคนยังไม่ดี ยังหาช่องเอาประโยชน์ ด้วยจิตใจไม่สะอาดพอของผู้ถืออำนาจ อย่างนี้นอกจากกฎหมายจะไม่ช่วยอะไร ยังเหมือนกระทืบซ้ำความรู้สึกจากการไปรับรองความไม่ถูกต้องที่เกิด”

ปกติแบบประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนครูของ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นสากลที่โรงเรียนใช้ แทบทุกประเด็นการให้คะแนนเป็นเรื่องการจัดการเรียนการสอน แต่ผลประเมินที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ต่างจากเมื่อกว่าสามสิบปีก่อน ยังพวกฉันพวกแก พวกเขาพวกเรา รวมทั้งงานพิเศษต่างหาก เช่น พัสดุ การเงิน ธุรการ ฯลฯ ที่จะตัดสินชี้ชะตาจริงๆ ฉะนั้นให้ตั้งใจจัดการเรียนการสอน สนใจดูแลเอาใจใส่เด็กๆดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใด ถ้าไม่สยบยอมก้มหัวหรือไม่หุบปากให้กับผู้มีอำนาจ ก็ฝันลมๆแล้งๆต่อไปเถอะว่าความยุติธรรมหรือความถูกต้องดีงามจะเกิดขึ้นในหมู่ครู

ยิ่งวันนี้เมื่อจะประเมินครูแบบ PA ที่จะนำการเลื่อนวิทยฐานะ คงวิทยฐานะ และเลื่อนเงินเดือนมาประเมินด้วยข้อมูลจากผลการปฏิบัติงานเดียวกัน ไม่ซ้ำร้ายเลยหรือ ความบิดเบี้ยวในการประเมินเลื่อนเงินเดือนที่มีมาตลอด ไม่ระบาดไปสู่การประเมินเลื่อนวิทยฐานะด้วยดอกหรือ ในเมื่อใช้ข้อมูลเดียวกันประเมิน ประเมินจากผลการทำงานที่ต้องทำข้อตกลงหรือสัญญากับฝ่ายบริหารไว้ก่อน คงคล้ายบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู(Memorandum Of Understanding) ว่าปีการศึกษานี้จะทำอะไรบ้าง จะทำอะไรท้าทายใหม่ๆบ้าง ทีนี้ลองมโนภาพผลที่จะเกิดขึ้นต่อไปดู จากข้อตกลงหรือสัญญาว่าจะทำกับฝ่ายบริหาร อีกทั้งจะถูกประเมินผลหลังทำจากฝ่ายบริหารอีก

ไม่แคล้วอีหรอบเดิม กฎกติกาสวยหรู เน้นพิจารณาการเรียนการสอนทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริงตรงกันข้าม อาการโรงเรียนจะยิ่งหนัก การเรียนการสอนจะถูกทิ้งขว้างขึ้น ผลสัมฤทธิ์เด็กจะทรุดต่ำลง แต่ความสำคัญของเด็กๆจะถูกอ้างบ่อยครั้งขึ้น ขณะความพินอบพิเทาต่อผู้มีอำนาจ “ดีครับนาย ได้ครับท่าน” หรือบทฉอเลาะชิงดีชิงเด่นจะยิ่งเด่นชัด เพราะประโยชน์จากการได้เลื่อนวิทยฐานะของครูไม่ธรรมดา ยิ่งกว่าเลื่อนขั้นเงินเดือนอีก ทั้งเงินวิทยฐานะและค่าตอบแทนพิเศษ รายได้ผู้ที่สมประโยชน์จะเพิ่มขึ้นกว่าเดือนละหมื่น

ประการต่อมา เป็นเรื่องไม่เคยมีมาก่อน แต่หลายรัฐมนตรีทำท่าจะทำ เพราะกฎหมายกำหนด คือการประเมินคงวิทยฐานะ หมายถึงเมื่อครูได้เลื่อนวิทยฐานะแล้ว ต้องประเมินตลอดเป็นระยะๆว่าผลงานที่ทำในปัจจุบันสมควรมีวิทยฐานะต่อไปหรือไม่ ไม่เคยมีการประเมินลักษณะนี้ คงเพราะข้อสงสัยหรือคำถามจากครูถึงรัฐบาลก่อนหน้า จะดำเนินการอย่างนี้เฉพาะกับครูล่ะหรือ ข้าราชการอื่นที่ได้รับเงินลักษณะเดียวกันหรือเงินประจำตำแหน่งมีอีกมาก อาจารย์ที่สอนในระดับอุดมศึกษาอีก ตำแหน่งทางวิชาการจะได้รับการปฏิบัติหรือถูกประเมินผลงานเพื่อคงตำแหน่งเป็นระยะเช่นเดียวกับครูหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถ้าการประเมินคงวิทยฐานะเกิดขึ้นจริง ตามที่กำหนดวันเริ่มต้นไว้แน่นอนแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียน กับเด็ก และกับการจัดการศึกษาบ้านเรา คงไม่ต่างจากการประเมินเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งจะใช้ข้อมูลเดียวกับประเมินเพื่อเลื่อนเงินเดือน ซึ่งชัดเจนถึงปัญหาที่มีมาโดยตลอด อำนาจการบังคับบัญชาครูจากฝ่ายบริหารจะฟูเฟื่อง อิสระเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก ความเป็นตัวของตัวเองของครู ซึ่งปกติมีน้อยอยู่แล้วยิ่งจะไม่หลงเหลือ ด้วยความอยากจะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นปกติของทุกคน ผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นต่อการจัดการศึกษาโดยรวมจะเป็นเชิงลบ

ถ้าว่ากันตามหลักการจริงๆ คงไม่มีครูท่านใดอยากปฏิเสธการประเมินแบบเหมารวมหรือทรีอินวันเช่นนี้ งานสอนที่ทำปกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นอกจากจะใช้ประเมินเลื่อนเงินเดือนเหมือนกับทุกๆภาคเรียนแล้ว จะถูกนำไปประเมินเพื่อเลื่อนและคงวิทยฐานะด้วย ซึ่งเป็นความก้าวหน้า ง่ายและสะดวกขึ้น เอกสารงานวิจัยหรือนวัตกรรมไม่ต้องทำส่งอีกต่อไป ขณะการปฏิบัติจริงที่เกิดขึ้นเสมอมา ซึ่งสร้างความคับข้องใจให้ครูที่อุทิศหัวใจให้กับการจัดการเรียนการสอนหรือทุ่มเทให้กับเด็กๆเต็มร้อย เป็นความไม่ยุติธรรมจากระบบพรรคพวกของผู้มีอำนาจ ซึ่งมักใช้วิธีบริหารจัดการศึกษาเหมือนไม่ใช่นักการศึกษา ทั้งที่ก็ถูกกำหนดให้บริหารด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม คณะกรรมการสถานศึกษาหรือบอร์ดใหญ่ตามพระราชบัญญัติการศึกษาก็มีมานานพอแล้ว หรือเพราะไปเรียนรู้เคล็ดลับการบริหารจากนักการเมืองมามาก

จากที่กล่าวมาทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดวิธีการต่างๆที่มีอยู่หรือที่เพิ่งคิดมาใช้ใหม่หมาดๆส่วนใหญ่ใช้ได้ทั้งนั้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่อยมามักอยู่ที่คนหรือผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ เมื่อคิดจะให้อำนาจล้นแก่ฝ่ายบริหารในเรื่องการพัฒนาครูหลายแสนคนทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการศึกษาชาติ อำนาจเหล่านั้นต้องไม่ไปกดทับครูเพิ่มเติม จนไร้ซึ่งอิสระเสรีภาพ ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าคิด การติดตาม กำกับ การใช้อำนาจต้องเข้มแข็งโปร่งใสกว่าที่เป็นอยู่ การประเมินต่างๆต้องอยู่ในรูปคณะกรรมการที่คณะครูมีส่วนร่วมคัดเลือกแต่งตั้งในสัดส่วนที่เหมาะสม เกณฑ์ประเมินหรือเครื่องมือต้องชัดเจน อีกทั้งต้องเปิดเผยผลคะแนนของกรรมการทุกคนเป็นระยะๆต่อสาธารณะ ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปแก้ที่มาที่ไปหรือค่านิยมการบริหารจัดการศึกษาด้วยอำนาจให้อาการทุเลาลงเสียก่อน

หากเป็นอย่างนี้ได้ ผลเสียที่อาจเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานที่สถานศึกษาน่าจะบรรเทา ผลดีตามที่ ศธ. หรือ ก.ค.ศ. มุ่งหวังพัฒนาครูเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาชาติก็มีความน่าจะเป็นสูงขึ้น

หมายเลขบันทึก: 689001เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2021 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2021 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท