พุทธเศรษฐศาสตร์ : ประทังชีวิต...


ทุก ๆ เย็นเวลาห้าโมงกว่า ๆ นกแก๊กนับสิบตัวจะโผบินมาและแวะมาที่บริเวณหลังคาบ้าน เสียงตุ้บตั๊บดังอยู่บนหลังคา เนื่องจากว่าลูกไทรหล่น


การได้อยู่และเฝ้าดูชีวิตของนกน้อย ที่ทุก ๆ เช้าต้องโบยบินเพื่อไปหากิน ก็มิต่างอะไรกับชีวิตของตัวเองที่ทุก ๆ เช้าต้องออกไปทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารใช้ประทังชีวิต

ความสุขของชีวิตนั้นอยู่ที่ไหน แท้ที่จริงนั้นความสุขของเรานั้นไม่มี เพียงแต่ทุกข์นี้ผ่อนคลายไป แล้วรอคอยความทุกข์ใหม่เกิดตามมา

ชีวิตที่ต้องดิ้นรนแสวงหาของสัตว์นานาชนิดนั้น เป็นการแสวงหาที่บริสุทธิ์ เพราะแสวงหาเพียงเพื่อดับทุกขเวทนาทางกายคือความหิว มิได้แสวงหาเพื่อสนองกิเลสและตัณหาเหมือนกับมนุษย์ที่ใช้ความอยากนั้นนำพา ออกเสาะแสวงหาเพื่อสนองกิเลสของตนเอง

ช่วงนี้นกแก๊กแวะมาบ้านทุกวัน เพราะต้นไทรที่หลังคาบ้านนั้นลูกไทรกำลังสุกกำลังกิน เมื่อลูกไทรชุดนี้สุกและร่วงหล่นจนหมดต้น

เมื่อต้นนี้หมดไป นกทั้งหลายก็วนเวียนไปหาต้นใหม่ เมื่อครบรอบปี ลูกไทรเกิดขึ้นมาใหม่ นกทั้งหลายก็กลับมา

ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ต่างก็เสาะแสวงหาเพียงเพื่อประทังชีวิตตนและสมาชิกในครอบครัว เพราะชีวิตนกน้อยนี้มิเมามัว ในตัวตนกลั้วอบาย

ชีวิตเราบางทีของในบ้านก็มีกิน หน้าขายก็มีอาหารขาย แต่ก็มิวายต้องดิ้นรนออกไปเสาะแสวงหายังที่ไกลแสนไกล เดินทางไกลแค่ไหนแค่ "อิ่มเดียว"

หิวก็ทุกข์ อิ่มก็เหมือนจะเป็นสุข แต่ไม่นานความทุกข์ก็เข้ามากลับมาเป็นวังวน

ความพอใจจึงเป็นปราการที่สำคัญในการที่จะยับยั้งจิตมิให้วิ่งไปตามกิเลส

อาหารเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ และกิเลส ตัณหานั้น ความคิด ความปรุงแต่งนี้แลเสี้ยมสอนเราให้เดินออกไปเสาะแสวงหา

"อาหารที่เราบริโภคเข้าไปมิใช่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน

อาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้นมิใช่เป็นไปเพื่อความเมามันเกิดกำลังพลังทางกาย

อาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้นมิใช่เป็นไปเพื่อประดับ และตกแต่ง

แต่อาหารที่เราบริโภคเข้าไปนั้นเป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ และสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย ซึ่งจะระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่าคือความหิว อันจะไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น... (ตังขณิกปัจจเวกปณปาฐะ)"


ความหิวแห่งกายนั้นดับได้ง่ายด้วยอาหาร แต่ความหิวแห่งจิตใจนั้นไซร้เราต้องใช้สติสัมปชัญญะ เป็นตัวตัด

ความคิดความปรุงแต่งนี้แลเป็นสิ่งที่สำคัญ

การงดอาหารในเวลาวิกาลนั้น ครูบาอาจารย์สอนง่าย ๆ ว่า "กินไม่ได้ จะไปคิดให้โง่ทำไม..."

เราต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ สร้างระเบียบวินัยให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระเบียบวินัยเกี่ยวกับความพอเพียงเพื่อสร้างความพอใจให้เกิดขึ้นในทุก ๆ ขณะจิต นี่แหละหนอคือพื้นฐานในการจัดการปัจจัย ๔ แห่งชีวิต ซึ่งสามารถจะพิชิตได้ด้วย "พุทธธรรม"

ตอนเช้าเจ้าออกหากิน โผโบยบินไปยังที่ไกลแสนไกล เจ้าโผบินไป ณ ที่แห่งใด ชีวิตของเจ้าซึ่งไร้พันธนาการ

โอ้ชีวิตนั้นหนอ พ่อแม่ต้องลำบากตรากตรำขนาดไหน ต้องออกโผบินไปยังถิ่นที่ห่างไกล เก็บต้นไว้ซึ่งอาหารเพื่อลูกยา

อันลูกน้อยเฝ้าตั้งตารอพ่อแม่ อุแว๊ อุแว๊ แม่จ๋า หนูหิวโหย

โอ้ลูกเอ๋ย รอแม่หน่อย มิลืมเลย

โอ้ลูกเอย พ่อมาแล้ว กลับสู่รัง

------------------------------

หมายเลขบันทึก: 688852เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท