ความฝันสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน : ระหว่างความฝันกับความจริง


ฝันบ้าบอคอแตกจริง ๆ (หน้า 129)

“ความฝันสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน” หนึ่งในรวมเรื่องสั้น “ไร้สัญชาติ” ผลงานของ บัญชา อ่อนดี เป็นเรื่องสั้นที่ผู้อ่าน จะได้กลิ่นอายของประวัติศาสตร์จากการหยิบยกเรื่องราวของวีรชนเมืองพิชัยมาถ่ายทอดอีกครั้ง ซึ่งผู้แต่งแฝงด้วยนัย บางอย่างเพื่อให้ผู้อ่านได้ขบคิด

“มนุษย์ล้วนมีความฝัน แต่จะมีสักกี่คนที่ฝันเหมือนผม” (หน้า 119)

ข้อความข้างต้นเป็นการเปิดเรื่องจาก คำกล่าวของตัวละคร “ผม” ผู้มีความฝันยาวนานถึงสามเดือนกับอีกสิบเจ็ดวัน ถือเป็นการเปิดเรื่องด้วยการเกริ่นถึงปมปัญหาของตัวละครที่ดึงดูดความน่าสนใจแก่ผู้อ่านไม่น้อย

“ความฝันสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน” เป็นเรื่องราวที่เล่าผ่านตัวละครผมที่ถ่ายทอดความฝันอันยาวนานของเขาแทบตลอด ทั้งเรื่อง หากพิจารณาเนื้อเรื่องจาก ความฝันของผมจะพบว่า ผู้แต่งได้นำ “ตำนานพระยาพิชัยดาบหัก” มาเล่าซ้ำอีกครั้ง นั่นคือ เมื่อพิจารณาโดยอิงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์แล้วจะเป็นช่วงที่พระยาพิชัยดาบหักยังไม่ได้รับการเเต่งตั้งเป็นขุนนาง เห็นได้จากตัวละครอย่าง “ครูเที่ยง” ที่เป็นครูฝึกมวยของพระยาพิชัยดาบหัก และตัวละครที่ผมเรียกว่า “ชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่” ซึ่งมีชื่อว่าทองดี แม้ผู้แต่งจะไม่ได้กล่าว ถึงพระยาพิชัยดาบหักโดยตรง แต่ใน เนื้อเรื่องยังแฝงการบอกใบ้ของผู้แต่งผ่านรูปลักษณ์ของทองดีอีกว่า “เขาเปิดยิ้มจนเห็นฟันขาว” (หน้า132) สอดคล้องกับนามเดิมของพระยาพิชัยดาบหักที่ชื่อว่านายทองดี ฟันขาวอีกด้วย
นอกจากนี้ผู้วิจารณ์ได้สืบค้นประวัติของผู้แต่ง พบว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้เห็นเจตนาของผู้แต่งอย่างชัดเจนว่าบัญชาอ่อนดีได้นำตำนานจากถิ่นเกิดของตนเล่าซ้ำอีกครั้งในเรื่องสั้นเรื่องนี้
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบส่วนของ โครงเรื่องและการดำเนินเรื่อง เรื่องสั้นเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องที่เรียบง่าย เพียงการบรรยายเหตุการณ์ระหว่างฉากใน ความฝันกับความจริงผมเมื่อลืมตาตื่น แต่จะเห็นถึงลีลาการเขียน (Style) ในการลำดับเนื้อเรื่องและการวางปมปัญหาของตัวละคร โดยเนื้อเรื่องในต้นเรื่องและบทสรุปของเรื่องเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ ผู้แต่งนำเนื้อความซึ่งเป็นบทสรุปของเรื่องมาอยู่ในส่วนต้นเรื่อง นั่นคือเหตุการณ์ที่ชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่กราบลาพระจีวรแดง และเหตุการณ์ตัดไปในตอนผมตื่นจากฝันขณะที่เขาพูดคุยกับนักศึกษา จากนั้นผู้แต่งจึงเล่าย้อนไปเหตุการณ์ในขณะที่ผมฝันเป็นเวลาสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน และนำไปสู่การปิดเรื่องที่ผู้แต่งได้กล่าวเนื้อความในตอนต้นเรื่องซ้ำอีกครั้ง

“ผมเกิดในตัวจังหวัด แต่บรรพบุรุษเป็นชาวพิชัย” (หน้า 149)
จากเนื้อความข้างต้นซึ่งปรากฏในตอนปิดเรื่อง เป็นการทิ้งท้ายปมปัญหาให้ ผู้อ่านได้ฉงนใจว่าเหตุใดผมจึงคิดว่าตนเป็นบรรพรุษชาวพิชัย รวมทั้งไม่ได้คลี่คลายอีกปมปัญหาหนึ่งว่าสาเหตุ ที่แท้จริงที่ทำให้ผมต้องฝันติดต่อกันนานถึงสามเดือนกับสิบเจ็ดวันนั้นคืออะไร
“สาม สอง หนึ่ง แอ็คชั่น”
(หน้า 134 )
เหตุการณ์ในความฝันของผมจะมีลักษณะทั้งสมจริงและเหนือจริงปะปนกัน นอกจากเนื้อเรื่องจะสอดคล้องกับตำนานพระยาพิชัยดาบหักแล้ว ใน บางตอนจะพบว่าเหตุการณ์กลับกลายเป็นการถ่ายทำละคร และบุคคลกลับกลายเป็นดารา หรืออีกความฝันหนึ่งเหตุการณ์กลับกลายเป็นภาพขาวดำทั้งหมด ถือเป็นการเสริมแต่งเรื่องราวเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของตัวละครผม อีกทั้งยัง ช่วยเสริมความสมจริงต่อธรรมชาติของ ความฝันอีกด้วย

เรื่องสั้นเรื่องนี้ผู้แต่งใช้รูปแบบทำนอง การเขียนกราฟิก (Graphic) เป็นทำนองที่ผู้เขียนเข้าใจพรรณนาสิ่งต่าง ๆ ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพขึ้นในใจ (เปลี้อง ณ นคร, 2542 อ้างถึงใน กำพล จันทะกุล, 2550) ผู้แต่งสามารถเล่าเรื่องได้อย่างสมจริงใช้สำนวนที่สอดคล้องกับบริบทในสมัยโบราณ ทั้งยังใช้พรรณนาโวหารประกอบฉากในความฝันของผมได้อย่างชัดเจนและสามารถร้อยเรียงถ้อยความ ได้อย่างสละสลวย แสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ด้านการใช้ภาษาของผู้แต่งได้อย่างดี อาทิ “ฟ้าแดงก่ำดังหนึ่งเมฆขาวโดนไฟ นรกโลกันตร์เผาผลาญ เศษขี้เถ้าถูกแรงลมพัดโหมฟุ้งกระจายเดี๋ยวม้วนจากเหนือไปใต้เดี๋ยววนจากตะวันออกไปตะวันตกนกใหญ่เล็กถลาบินไม่รู้ทิศทาง เบื้องล่างเกลื่อนกล่นปนเปทั้งซากศพและผู้คนบาดเจ็บ เสียงหวีดร้องระงมครวญคราง บางคนตะบึงวิ่งหนีทั้ง ๆ หัวหลุดจากบ่า” (หน้า 129)

เรื่องสั้นเรื่องนี้จัดเป็นเรื่องสั้นชนิด ที่เพ่งแสดงลักษณะของตัวละคร (Character Story) ที่เน้นพฤติการณ์ของตัวละครเป็นสำคัญ โดยสร้างให้ ผู้อ่านเห็นบุคลิกนิสัย หรือลักษณะใด อันใดอันหนึ่งที่เด่นชัดยิ่งกว่าปกติ ลักษณะของตัวละครมักแสดงออกมาชัดเจนเพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียว ผู้เขียนอาจใช้เพื่อเป็นแบบอย่างของคุณลักษณะอันใดอันหนึ่ง (สันติภาพ ชารัมย์, ม.ป.ป.)
หากมองภาพรวมของเนื้อเรื่องจะพบว่าตัวละครผมเป็นบุคคลที่ “เพ้อฝัน” เห็นได้จากจากการที่เขาฝันเรื่องแต่เดิม ๆติดต่อเป็นเวลานาน นั่นอาจเป็นเพราะผมลุ่มหลงและยึดติดกับมันเอง ผมมักจะกล่าวถ้อยความซ้ำ ๆ ว่า “ฝันบ้าบอคอแตกจริง ๆ” อยู่ตลอดทั้งเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นการเน้นย้ำลักษณะนิสัยดังกล่าวของตัวละคร เช่นเดียวกับใน เรื่องสั้น ‘หนองอีด่อน’ ที่ผู้เล่าเรื่องมักกล่าวซ้ำๆ ว่า “แค่นี้เอง แค่นี้จริง ๆ” การกล่าวซ้ำข้างต้นอาจเป็นกลวิธีที่ผู้แต่งอาจต้องการขยี้ประเด็นบางอย่างที่ต้องการจะสื่อกับผู้อ่าน โดยในเรื่องสั้น ‘ความฝันสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน’ ผู้แต่งอาจต้องการแสดงทัศนะและเน้นย้ำเพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นความลุ่มหลงและยึดติดกับโลกแห่งความฝันของตัวละครผม
จากเหตุการณ์ในตอนปิดเรื่องจะพบว่า ตัวละครผมนำเรื่องราวในความฝันมา คิดว่าตนเป็นบรรพบุรุษชาวพิชัย ทั้งที่ แท้จริงแล้วผมเป็นเพียงอาจารย์ซึ่งเป็นปุถุชนคนธรรมดา และอาจมีนิสัยส่วนตัวที่พูดจาไม่ดีอีกด้วย ดังในตอนที่ภรรยาของผมพูดว่า “ไปผ่าหมาออกจากปากคุณไง” (หน้า 141) ถือเป็นนัยที่สะท้อนสังคมซึ่งเต็มไปด้วยคนมีกิเลสลุ่มหลงอยู่กับเปลือกนอกที่ห่อหุ้มด้วยเกียรติยศ ชื่อเสียงอันจอมปลอมเพื่อต้องการให้คนรักใคร่และเคารพนับถือ แต่จิตใจข้างในกลับเสื่อมทราม อิจฉาริษยาแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน
การที่ผู้แต่งนำตำนานพระยาพิชัยดาบหักมาเล่าซ้ำเป็นความฝันของตัวละครในเรื่องถือว่าทำได้อย่างกลมกลืนและสมเหตุสมผล ผู้แต่งสามารถหยิบยกเรื่องราวดังกล่าวมานำเสนอด้วยลีลาเฉพาะ ของตน และนำมาผูกโยงกับตัวละครเพื่อนำเสนอสารัตถะของเรื่อง ซึ่งนอกจากจะถ่ายทอดผ่านตัวละครในเรื่องแล้ว ผู้แต่งยังสอดแทรกแนวคิดที่สะท้อนสังคมไว้ในเรื่องราวความฝันของผมด้วย ดังในตอนที่ขุนนางกุเรื่องไปเพ็ดทูลว่าพระจีวรแดงซ่องสุมกำลังเตรียมยกทัพไปยึดพระนครเพื่อสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน เหนือหัวกลัวจะสูญเสียอำนาจ จึงข่มเหงชาวบ้านและขุนนางอำมาตย์ที่ไม่ เห็นด้วย สะท้อนให้เห็นถึงการกดขี่ของผู้ที่มีอำนาจ เพื่อไม่ให้ตนเองเสียผลประโยชน์

นอกจากนี้ยังแฝงแนวคิดอีกประเด็นหนึ่ง ในตอนที่ชายรูปร่างสูงใหญ่ช่วยพระจีวรแดงหนีออกจากเมือง โดยจะแจ้งกับเหนือหัวว่าพระอาจารย์หายตัวไปในกำแพง ถึงแม้ความจริงพระจีวรแดงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ แต่เขาก็เชื่อว่าได้ผล เพราะจากที่เขาประโคมข่าวเรื่องพระอาจารย์ ใครต่อใครก็เชื่อว่า พระอาจารย์มีอาคมขลัง เหาะเหินเดินอากาศได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงสังคมปัจจุบันที่คนขาดวิจารณญาณต่อสื่อ ต่าง ๆ ซึ่งบิดเบือนความจริง หรือหลอกลวงเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง ทำให้คนเหล่านั้นตกเป็นเหยื่อในที่สุด ดังในกรณีของข่าวปลอม หรือข่าวลูกโซ่ เกี่ยวกับการป้องกันไวรัส COVID-19 ด้วยวิธีการที่พิสดารและไม่มีการรองรับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่กระนั้นยังมีหลายคนที่ไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ จนทำให้ข่าวดังกล่าวถูกส่งต่อทางสื่อ โซเชียลเป็นวงกว้าง
“ความฝันสามเดือนกับสิบเจ็ดวัน” ของบัญชา อ่อนดี ถือว่าเป็นเรื่องสั้นที่ควรค่าแก่การอ่าน หากมองเพียงผิวเผินจะเห็นเพียงเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ฝันเห็นเรื่องราวของวีรชนยาวนานติดต่อกัน แต่หากมองทะลุถึงรายละเอียดจะพบสารัตถะที่แอบแฝงอยู่ในนั้น ซึ่งผู้แต่งนำเรื่องราวระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแห่งความฝันมาถ่ายทอดเพื่อสื่อแนวคิดออกมาได้อย่างลุ่มลึก ผู้อ่านอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์ด้านการอ่านเพื่อกะเทาะแนวคิดต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องออกมา และอาจจะช่วย “ปลุก” ใครสักคนให้ตื่นจากฝัน อันยาวนานก็เป็นได้..


รายการอ้างอิง
กำพล จันทะกุล. (2550). ลีลาการเขียนและกลวิธีการนําเสนอบทวิจารณ์ภาพยนตร์ในนิตยสารภาพยนตร์,
[PDF file]. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564.
บัญชา อ่อนดี. (2563). ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ. กาญจนบุรี: สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ.
สันติภาพ ชารัมย์. วรรณกรรมร่วมสมัย, [PDF file]. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564.

หมายเลขบันทึก: 688847เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท