คนสำราญ งานสำเร็จ


การบริหารที่จะทำให้ “คนสำราญ งานสำเร็จ” ควรเป็นการบริหารที่เกิดมาจากความร่วมมือร่วมใจจากผู้เกี่ยวข้อง หรือพี่น้องในองค์กรนั้น ๆ นักบริหารจำต้องเข้าไปครองใจคนในหน่วยงานให้ได้ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ นักบริหาร จำต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ หรือนำศาสน์ และศีล มาเป็นหลักในการบริหาร

การบริหารคนให้สำราญ การบริหารงานให้สำเร็จ

ดร. ถวิล อรัญเวศ

       ทรัพยากรในการบริหาร คือคน เงิน วัสดุ และการบริหารจัดการ  
ทรัพยากร
“คน” ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากที่สุด

       นักบริหาร คือ “ผู้ทำงานให้ประสบผลสำเร็จโดยอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องในองค์กรนั้น ๆได้ช่วยกันทำ

     นักบริหารจะไม่สามารถจะทำงานให้ประสบผลสำเร็จได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนในหน่วยงานนั้น ๆ

      คนสำราญงานสำเร็จ เป็นคำอุปมาที่ให้แนวคิดไว้ว่า ถ้าได้ใจคน จะได้ทุกอย่างผิดใจคน เสียหายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานหรือการขับเคลื่อนนโยบาย แต่ถ้าไม่ได้ใจคน จะเสียหายทุกอย่าง เพราะการบริหาร คือ
การทำงานให้ประสบผลสำเร็จโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในหน่วยงานนั้น ๆ ได้ช่วยกันทำ

      นักบริหาร คือผู้สามารถนำศักยภาพของคนในหน่วยงานออกมาใช้ ยิ่งนำออกมาใช้ได้มากเท่าไร ยิ่งจะก่อให้เกิดผลสำเร็จมากเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว จะต้องอาศัยผู้มี่ส่วนได้เสียหรือคนที่เกี่ยวข้องด้วย ได้ช่วยกันทำ

      นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งนักบริหารจะต้องท่องให้ขึ้นใจ เพราะ ผู้บริหารจำต้องอาศัยศิลปะในการบริหารหรือใช้ภาวะผู้นำจึงจะสามารถบริหารงานประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น

       การบริหารที่จะทำให้คนสำราญงานสำเร็จได้ ต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์ และศิลป์” เป็นหลักสำคัญ และควรเพิ่มเข้ามาอีก คือต้องใช้ทั้ง “ศาสน์ และศีล” คือ ต้องนาหลักคุณธรรมทางศาสนามาใช้ในการบริหารด้วย จึงจะทำให้เป็นเกราะคุ้มครองตนเองให้พ้นภัยทั้งหลายทั้งปวง



คนสำราญงานสำเร็จ

    คนสำราญ

        คนสำราญนะมองดูที่ขวัญกำลังใจของคนในหน่วยงาน
ถ้าคนในหน่วยงานมี
ขวัญกำลังใจดีนั้นแหละจะก่อให้
เกิดความสำราญ ผู้บริหารต้องปราศจากอคติ ๔ 
มี
ความเป็นธรรมในการดำเนินงานทุกอย่าง

     นอกจากนี้แล้ว การกระทำที่จะทำให้เกิดขวัญกำลังใจดี
ควรปฏิบัติดังนี้

. ควรทำตนเป็นกัลยาณมิตรมากกว่าเป็นเจ้านาย

    หลักธรรมที่ควรนามาปรับใช้คือสังคหวัตถุ 4 คือ รู้จักเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับที่ดี รู้จักพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ รู้จักทำประโยชน์ และวางตนเสมอต้นเสมอปลาย นอกจากนี้แล้ว ควรเป็นคนมีเหตุ มีผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้จักกาลเทศะ รู้จักบุคคล และรู้จักชุมชนด้วย

. ควรให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน

   ให้เกียรติทั้งทางกาย วาจา และใจ บ่อยครั้งที่หัวหน้างานมักจะพูด หรือทำอะไรโดย“ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นึกอยากพูดอะไรก็ได้ ไม่เกรงใจใคร ไม่ถนอมน้าใจเพื่อนร่วมงาน คิดว่าตนเองมีอำนาจ มักใช้พระเดช มากกว่าการใช้พระคุณ ข้อนี้นับว่าเป็นภยันตรายอย่างใหญ่หลวง การบริหารที่ได้ใจคน คือการให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ ความเป็นกัลยาณมิตรกับเพื่อนร่วมงาน มองเพื่อนร่วมงานเสมือนเพื่อนร่วมวิชาชีพ ใช้วัฒนธรรมการอยู่แบบพี่แบบน้อง

. ควรยึดหลักการทำงานแบบประชาธิปไตย

    การทำงานโดยยึดหลักประชาธิปไตยนั้น ในทางพระพุทธศาสนาเน้นมาก เช่น จะต้องแสดงออกทางคารวะธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม นั้น คือการให้ความเคารพกันด้วยคุณวุฒิ ด้วยวัยวุฒิ และด้วยคุณงามความดี การจะทำอะไรก็พร้อมเพรียงกัน ยึดมติเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่พวกมากลากไป หรือมติมหาโจร เพราะถ้าเสียงส่วนใหญ่แบบพวกมากลากไป และไม่ถูกต้องแล้ว ก็คงไม่ใช่ประชาธิปไตยในทางพระพุทธศาสนา

. ควรมีความเป็นกลาง ไม่หูเบาเชื่อคนง่าย

    มีคำกลอนที่ว่า “ก่อนจะเชื่อสิ่งใด ให้พิสูจน์ ก่อนจะพูดให้ยั้งคิดวินิจฉัย ก่อนจะทากิจการงานใดใด คิดให้รอบคอบ จึงจะชอบดี”

    คำกลอนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเตือนสตินักบริหารได้ ว่า จะต้องฟังหูไว้หู คิดดูให้แน่ ข้อไหนเท็จ ข้อไหนแท้ เราต้องนำมาใคร่ครวญก่อน อย่าด่วนตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้น จะทำให้ขาดความเชื่อมั่น ทำให้ขาดความศรัทธาจากเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้แล้ว ผู้บริหาร ควรนาหลักกาลามาสูตร ๑๐ ประการมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวด้วย คืออย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะการฟังตามๆ กันมา ด้วยการถือสืบๆ กันมา ด้วยการเล่าลือกันมา ด้วยการอ้างว่ามีในตำราหรือคัมภีร์ เพราะตรรกะ เพราะการอนุมาน ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ หรือเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

     ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หลักธรรมข้อไหนกล่าวถึงเรื่องศรัทธาหรือความเชื่อไว้ ก็จะกำกับด้วยหลักของปัญญาไว้ด้วยทุกครั้ง  เพราะก่อนเชื่อต้องใช้ปัญญาพิจารณาก่อนนั้นเอง ไม่ด่วนเชื่องมงายหรือหูเบา

. ไม่หลงหรือบ้าอำนาจ

    นักบริหารที่ดี “ไม่ควรเป็นผู้หลงอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงลูกน้องยกย่องคนประจบสอพลอ” เพราะนั้นคือจุดตายของนักบริหาร

    มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า

    ข้อแรก ผู้บริหาร คือผู้ทำอะไรถูกต้องเสมอ

    ข้อสอง ถ้าสงสัยให้กลับไปดูข้อแรก

    คำเช่นนี้ เป็นคำเปรียบเปรยของนักบริหารที่คิดว่าตนเองมีอำนาจ จะทำอะไรก็ได้ ดังนั้น พึงละเว้นโดยเด็ดขาด



การบริหารให้งานสำเร็จ

     ข้อเสนอแนะการทำงานให้สำเร็จ มีดังนี้

  • ๑. สร้างศรัทธา

             คือการกระตุ้นให้คนในหน่วยงานรักงานที่เรากำลังทำ หรือที่ได้รับมอบหมายให้ทำ เพราะถ้าคนในหน่วยงานมีใจรักงาน ศรัทธางานที่ทำแล้ว เสมือนว่างานนั้นประสบผลสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่การที่จะปลูกจิตได้ดั่งว่า ต้องใช้วิธีการเสริมขวัญกำลังใจและให้ความยุติธรรมในเรื่องผลการปฏิบัติงาน นั้นคือปูนบำเหน็จความขอบตามสมควร

  • ๒. อาสาพากเพียร

            การที่จะส่งเสริมให้คนขยันทำงาน หรือทำงานโดยไม่ต้องไปกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดนั้น นักบริหารต้องใช้ภาวะผู้นำ คือเทคนิคความสามารถในการโน้มน้าวคนในองค์กรให้คล้อยตามความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน และจะสามารถนำองค์กรไปสู่เส้นชัยได้

        ๓. เรียนให้เข้าใจงาน

            นักบริหารจะต้องมีวิธีพัฒนาคนในหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำให้ได้ เพราะถ้าคนในหน่วยงานขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะทำแล้ว ก็ยากที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ นักบริหารต้องสำรวจว่า เพื่อนร่วมงานพร้อมหรือยัง เข้าใจหรือยัง ถ้ายังก็ต้องทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจในงานนั้นๆ ให้ได้ เช่นอบรมพัฒนาก่อน

ทำงาน หรือปฐมนิเทศก่อน เป็นต้น

        ๔. ประสานสัมพันธ์ในการปรับปรุงพัฒนางาน

            นักบริหารต้องเป็นผู้ประสานงานที่ดี หรือที่กล่าวกันว่า นักประสานสิบทิศ มีอะไรที่ยังคลุมเครือ ควรทำให้กระจ่างให้ได้ และงานที่มีข้อบกพร่อง ควรหาวิธีให้คนในหน่วยงานได้ช่วยกันปรับปรุงพัฒนางานให้ได้



สรุป

      การบริหารที่จะทำให้ “คนสำราญ งานสำเร็จ” ควรเป็นการบริหารที่เกิดมาจากความร่วมมือร่วมใจจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หรือพี่น้องในองค์กรนั้น ๆ
ร่วมด้วยช่วยกันทำ
      นักบริหารจำต้องเข้าไปครองใจคนในหน่วยงานให้ได้ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ นักบริหาร จำต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ หรือนำศาสน์ และศีล มาเป็นหลักในการบริหาร ก็จะสามารถครองตน ครองคน ครองงาน ประสานสัมพันธ์ หรือที่เรียกว่า “เก่งคน เก่งงาน และเก่งคิด” ก็จะทำให้ผู้บริหารสามารถบริหารคนให้สำราญ งานสำเร็จสมปรารถนาหรือได้ทั้งคนและงานตาม
ความมุ่งหวัง สิ่งดังกล่าว จะทำให้การทำงานมีคุณภาพและมีความสุข
ไปพร้อม ๆ กันนั้นเอง

-------------





หมายเลขบันทึก: 688844เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท