9 วัน : 19 ชีวิตอาสาฝ่าวิกฤติสมุทรสาคร


เรื่องราวของทีมเเพทย์และสาธารณสุขต่างจังหวัดอาสาช่วยค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดสมุทรสาคร

       ขณะกินข้าวเที่ยงวันศุกร์ มือถือสั่นอยู่บนโต๊ะ หยิบแก้วน้ำเย็นยกขึ้นดื่ม ก่อนกดรับ เสียงปลายสายถามว่า...รับสมัครทีมแพทย์ สาธารณสุขไปช่วยสมุทรสาครหนึ่งอาทิตย์ วีไปไหม? รีบตอบตกลงโดยยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง 

        เช้าวันเดินทาง วันอาทิตย์แดดอ่อนๆ ทำพิธีปล่อยตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา จึงรู้ว่าในทีมมีด้วยกัน 19 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 3 คน เจ้าหน้าที่ 16 คน และแบ่งย่อยเป็น 3 ทีม โดยผมอยู่ในทีมที่ 3 เสียงแตรกระป๋องดังขึ้น รถเคลื่อนตัวออกท่ามกลางผู้คนที่มาส่ง 2 ข้างทาง ออกจากจังหวัดสงขลาด้วยรถตู้ 3 คน ตามทีมที่แบ่งย่อย คันที่ผมนั่งมามีพี่ปุ๊ ชายวัยกลางคนร่างผอมบาง เป็นคนขับ มีพี่ดาว ซึ่งมารู้เมื่อถึงสมุทคสาครว่าเป็นหัวหน้าคณะ นั่งข้างคนขับ แถวถัดมามีพี่ไก่ ผู้ใจดี สาวจากเมืองเหนือที่มีนิทานเล่าให้เราฟังตลอดการเดินทาง  นั่งข้างด้วยพี่ปุ ที่พกมีดมาด้วย แถวถัดไปมีเต้ย ชายหนุ่มอารมณ์ดี และผม ที่นั่งข้างหลังเป็นน้องยะห์ สาวพูดน้อยที่ขออาสามาด้วย รถวิ่งมาด้วยความเร็ว 100 – 120 กม./ชม. มาถึงเมืองสาคร เวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่าๆ ช่างเป็นเมืองที่เงียบสนิทซะเหลือเกิน วนหาที่พัก มหาชัยกรีนบูทิค ทำภารกิจส่วนตัวนอนพักผ่อนเอาแรงไว้พรุ่งนี้

         วันจันทร์เรามารายงานตัวที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร หรือ สสจ. โดยในทุกๆวัน เราต้องไปรับภารกิจที่  สสจ. แต่ละวันก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะได้ไปทำอะไร ที่ไหน จำนวนกี่เคส...  

รู้ได้ไงว่าจะต้องไปตรวจที่ไหน? : ตามหลักเลยครับคือค้นหาในกลุ่มที่มีผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสอาศัยอยู่ 

ระบบของการประสานงาน:  ระบบของที่นี่ใช้การโทรประสาน โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่ง ประมาณ 7-10 คน นั่งในอาคารซ้ายมือของสำนักงาน เป็นอาคารเล็กๆ 2 ชั้น ประตูกระจกที่เต็มไปด้วยกระดาษโน็ตเขียนบ้าง พิมพ์บ้างติดไว้ตัวโตๆ “กรุณาผลัก ไม่เช่นนั้นประตูจะเสีย”เปิดประตูเข้าไปซ้ายมือเจอโน๊ตบุคแพคพร้อมเครื่องพริ้นที่พร้อมจัดส่งให้แต่ละทีมเพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลและออกโค๊ดแลป ถัดมาเป็นโต๊ะวางซองยาขนาดใหญ่ กลาง เล็ก กรรไกร ที่กระจัดกระจายอยู่ ด้านหน้าเจ้าหน้าที่นั่งรับโทรศัพท์ และนั่งพิมพ์รายชื่อเพื่อติดกระปุกส่งแลป มองลอดไปห้องข้างๆ ที่ติดกัน มีเก้าอี้บุนวมอย่างดีที่ถูกยกขึ้นวางซ้อนกันบนตู้เอกสาร บ่งบอกได้ว่าคงอีกนานที่จะได้นั่งเก้าอี้ตัวนั้น   สรุปได้ว่าห้องนี้เป็นห้องบริหารจัดการทีมเก็บตัวอย่างกับโรงงานหรือชุมชน 

อธิบายขั้นตอนพอสังเขป: หากวันนี้ทางโรงงานหรือตัวแทนชุมชนโทรแจ้งจำนวนประชาชน พร้อมส่งรายชื่อทางเมล์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องนี้ก็จะพริ้นรายชื่อออกมาพร้อมกับสติ๊กเกอร์แผ่นเล็กๆ 4 แผ่นต่อ 1 คน นำสติกเกอร์นั้นมาวางที่โต๊ะวางซองยาอยู่ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดสติ๊กเกอร์ซองยาเล็ก 1 แผ่น กลาง 1 แผ่น แล้วใส่ซ้อนกัน ตัดพาราฟิล์มที่เป็นเทปยืดตามจำนวนเคส ตรวจสอบความถูกต้อง แพคลงกล่อง จากที่ได้คุยเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่งานติดสติ๊กเกอร์จะทำช่วงกลางคืน เพราะกลางวันโทรประสานงานก็แทบจะไม่ทันอยู่แล้ว บางคืนแพคเสร็จเที่ยงคืน ลุกมาจัดของตอนตี 3 เป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยมา    สำหรับทีมผมจากสงขลา 16 คน บางวันก็แบ่งย่อยเป็น 2 ทีมบ้าง 3 ทีมบ้าง ตามแผนที่ได้รับแจ้งในตอนเช้าของวันนั้นๆ ถ้าเร็วหน่อยก็จะทราบแผนตอนกลางคืน โดนมีพี่ดาว ICN จากรพ.สทิงพระ เป็นหัวหน้าทีม คอยประสานงาน แจ้งข่าวต่างๆให้พวกเราทราบ... 

หลังจากรับภารกิจ: ขึ้นรถตู้รุ่นใหม่ ที่ บ.โตโย้ต้ามอบให้สสจ.ไว้ใช้ในภารกิจโควิด แต่เอาเข้าจริงบางวันรถก็ไม่พอ ต้องวนรับหรือไม่ก็ใช้รถของทีมเรา ภารกิจที่ได้รับมอบจากจังหวัดสมุทรสาครคือ active surveillance หรือการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก 


การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก: โดยจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบ nasal swab ที่เราเห็นหมอใช้ไม้ยาวๆแหย่จมูกนั่นแหละครับ กับอีกวิธีคือ การใช้น้ำลายในส่วนลึกของลำคอ ซึ่งวิธีแรก หมอจะใช้ไม้ swab เล็กๆ แหย่เข้าไปในรูจมูกจนปลายแท่งชนกับผนังโพรงจมูกด้านใน คาแช่ไว้แป๊บนึง เพื่อซึมซับสารคัดหลั่งแล้วหมุนเล็กน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อเก็บเนื้อเยื่อจากนั้นก็เอาแท่ง swab ออกจากจมูก ใส่แท่งไปในหลอดเก็บ หลายคนถามว่าเจ็บไหม? บางคนน้ำตาใหล บางคนบอกว่าเหมือนเป็นแผลสดแล้วราดด้วยโพวีดีน แต่สำหรับผมมันเหมือนมีอาหารตกไปในหลอดลมคันๆ คอ น้ำตาคลอเบ้า ส่วนอีกวิธีใช้น้ำลายประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ​ ตามหลักแล้วต้องหลังตื่นนอน ที่ยังไม่กิน ไม่แปรงฟัน แต่ความเป็นจริงน้ำลายที่ได้มามีทั้งเศษมะขาม หมาก ปนมาด้วยเสมอ บางเคสสีแดง สีฟ้า สีม่วง ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ากินอะไรมา ผล 2 วิธีนี้ต่างกันยังไง? สรุปง่ายๆว่า น้ำลายให้ผลใกล้เคียงกับการทำ swab มีการศึกษามาแล้วว่า การใช้น้ำลายตรวจหาเชื้อโควิด มีความไวและความจำเพาะสูงครับ

มาต่อหลังจากที่ขึ้นรถตู้เพื่อเดินทางไปทำภารกิจ ก็จะเเบ่งเป็น 2 ที่หลักๆ คือ โรงงานและชุมชน บางวันหน้าที่นอกเหนือจากนั้น เราก็ต้องหาพิกัดโรงงาน บอกทาง พขร. ต่างจาก ชุมชน บางวันเบอร์ผู้ประสานก็ไม่มี บางชุมชนเขียนชื่อศาลาโน้น ศาลานี้ หาใน gps แล้วก็ไม่เจอ กว่าจะเจอก็เกือบๆเที่ยงไปบ้าง.. 

ทีมที่ไปมีใครบ้าง จัดอย่างไร: สสจ.จัดทีมน้องๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ร่วมกับทีมต่างจังหวัดที่อาสามาช่วย มาแรกๆก็แปลกใจว่าทำไมที่นี่จนท.เด็กๆทั้งนั้น คุยไปคุยมาเลยรู้ว่า เด็กๆ วัยรุ่นก็ออกภาคสนามกัน


ต้องทำอะไรบ้าง: เมื่อเดินทางถึงโรงงานหรือชุมชน ก็ขนของลง จัดสถานที่ ตรวจเช็คทิศทางลม เปลี่ยนชุดป้องกัน ระหว่างเปลี่ยนชุดก็จะแบ่งหน้าที่กันว่าใครอยู่จุดไหน ทำหน้าที่อะไร ถ้าไปโรงงานทีมเราส่วนใหญ่จะลุยช่วงเช้าให้ได้เกินครึ่งของจำนวนเคสที่ต้องเก็บตัวอย่าง  แล้วจึงพักกินข้าวเที่ยง สำหรับอาหารเที่ยงเป็นข้าวกล่อง มีโน้ตเล็กๆเขียนติดให้กำลังใจทุกกล่อง ^_^ โดยจะมีรถจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดส่งอาหารให้พวกเรา วันไหนไปที่ไกลๆ ก็จะได้กินสายๆหน่อย บ่าย 2 บ้าง แต่ก็มีน้ำ ขนมจากโรงงาน/ชุมชนไว้ให้บริการเยอะมากๆ อย่างเมื่อวานเช้าลงโรงงาน 2 แห่ง ที่แรกเป็นโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ เสร็จเขาก็ใส่ซองให้ไปกินน้ำกินหนม โรงที่ 2 เป็นโรงงานพลาสติก ก็มอบขนมซิฟฟ่อนขึ้นชื่อของบ้านแพ้ว ที่เราเพิ่งไปกินกันมาเมื่อวาน หลายกล่องมาก ยังให้เฟสชิลล์ 3 ลัง หน้ากากอนามัยอีกส่วนหนึ่ง  

         วันนี้เราลงชุมชนในอำเภอบ้านแพ้ว คงจะเป็นวันที่หนักสุดในรอบวันที่ผ่านมาก็ได้ เช้านั่งรถมากับพี่ติ้ง พนักงานขับรถชาวบ้านแพ้ว อายุน่าจะ 30 กลางๆ ที่เป็นคนอัธยาศัยดีมาก แนะนำโน้นนี่นั้นตลอด รถเลี้ยวเข้าโรงเรียนมองไปรอบๆ มีเพียงชาวบ้านสองสามคนที่กำลังจัดสถานที่อยู่  มองดูนาฬิกาแสดงว่าเรามาเร็วไปหน่อย สักพักมีน้องๆจากมูลนิธิรักษ์ไทยที่มาเป็นล่ามให้เราก็มาถึง จึงช่วยกันจัดสถานที่เปลี่ยนชุด ทำหน้าที่ แต่ละคนตามปกติ เช้านี้ทุกคนชำนาญขึ้นมาก ไม่ต้องแบ่งหน้าที่ ทุกคนก็จะประจำจุดของตนเองทันที เวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงได้เวลาพักเที่ยง แต่ก็ยังคงมีชาวบ้านนั่งรออยุ่อีกประมาณ 20 คน น้องๆ เลยแบ่งชุดกันพักกินข้าวครึ่งนึงก่อน เมื่อถึงคราวพักพวกเราก็ถอดชุดป้องกันออก ก็จะมีพี่พยาบาล ICN คอยดูเพื่อป้องกันการปนเปื้อน เสร็จก็ล้างมือ ทุกคนเดินไปที่ลังน้ำแข็งด้วยร่างกายที่เปียกโซก เปิดลังน้ำหยิบแป๊ปซี่ น้ำเปล่า คนละ 2 ขวดพร้อมข้าวกล่องนั่งกินในอาคารอีกฝั่ง ได้เอนกายประมาณ 5 นาทีก็ต้องมาใส่ชุดสลับกับอีกทีม ชาวบ้านทยอยมาเรื่อยๆ จนเกือบๆ บ่าย 2 หลายคนเริ่มไม่ไหว จึงแบ่งชุดกันพัก ผมเริ่มรู้สึกเหมือนเสื้อที่อยู่ด้านในเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ กระหายน้ำ ปวดส้นเท้า ซึ่งทำได้เพียงเอาสเปร์แอลกอฮอล์ฉีดบริเวณมือทั้งสองข้าง เพื่อให้ความเย็นซึมซับผ่านถุงมือที่หน้า 2 ชั้นเข้าไปในร่างกาย และหวังให้สายลมพัดมากระทบกับใบหน้าเท่านั้นเอง 

        บ่าย 3 ครึ่งกับอุณภูมิประมาณ 32 – 34 องศา ชาวบ้านเริ่มเบาบางลง จึงกำหนดเวลาบ่าย  3 ครึ่งปิดรับคิว ชาวบ้านเริ่มทยอยถือกระปุกน้ำลายมาส่ง หลายคนเอากระปุกใส่ถุงมาเรียบร้อย อีกหน้าที่นึงที่คนรับน้ำลายต้องทำคือตะโกนบอกให้เอากระปุกออกจากถุง ถ้าเป็นต่างด้าวก็ต้องพูดซ้ำๆ แต่เขาก็ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง เมื่อได้ครบตามรายชื่อ เสร็จก็ซิลกล่องโฟมปิดด้วยรายชื่อขนขึ้นรถตู้คันที่พวกเรานั่งมา เพื่อนำส่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะมีรถบรรทุกมารับกล่องโฟมที่บรรจุน้ำลายทุกวัน  วันไหนที่ทำงานเร็วหน่อยก็จะเสร็จประมาณบ่ายสาม แต่กว่าจะกลับถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็สี่โมง ห้าโมงเย็นนั้นแหละ

             เป็นเช่นนี้อยู่ทุกวัน จนวันที่ห้า วันที่พวกเราเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งไปแล้ว ล้างมือ ฉีดสเปร์แอลกอฮอล์ทั่วรองเท้าทุกครั้งก่อนขึ้นรถ รวมไปถึงกิจกรรมในแต่ละวันตั้งแต่ตื่นนอน รออาหารมาส่งหน้าประตูห้อง ทุกวันเราก็ลุ้นอาหารที่สั่งไป กินได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คละเคล้ากันไป ลุ้นว่าวันนี้ต้องแบ่งเป็นกี่ทีม ลุ้นไปถึงคนขับรถประจำวันว่าจะได้นั่งไปกับใคร ผมมองทุกคนมีความทะมัดทะแมงกันมากขึ้น เมื่อรถจอด พี่ดาวก็จะนำลงไปเตรียมสถานที่ จุดปนเปื้อน จุดสะอาด สมาชิกในทีมเริ่มแต่งตัวด้วยความรวดเร็วและชำนาญ พร้อมเริ่มทำงานในทันที...

            เช้าวันอาทิตย์ เป็นวันสุดท้ายที่เราปฏิบัติภารกิจทื่นี่ รถวิ่งเข้า สสจ.ด้วยความเงียบเหงากว่าวันอื่นๆ เพราะหลายคนหยุดพัก วันนี้มีเพียง 6 ทีมเท่านั้น วันนี้เป็นวันที่ทีมเราทั้ง 16 คน ได้ทำภารกิจด้วยกัน  ไปชุมชนในอำเภอบ้านแพ้ว กลุ่มเป้าหมายคร่าวๆ 1,000 คน เมื่อถึงชุมชนเราก็ได้คุยกับผู้ใหญ่บ้าน บอกให้เราแบ่งย่อยเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งคัดกรองคนไทย  อีกทีมคัดกรองต่างด้าว รวมแล้วประมาณ 1,500 คน เราแยกย้ายขึ้นรถกันไปอีกที่เพื่อคัดกรองต่างด้าว จัดของ จุดต่างๆเสร็จ เริ่มทำงานกันทันที วันนี้ทีมเราได้คัดกรองในกลุ่มต่างด้าว มีทั้งกัมพูชา พม่า ประมาณด้วยสายตาเเล้วน่าจะไม่เกิน 150 คน เราก็แบ่งทีมเราเป็น 2 ทีมย่อยผมอาสาอยู่ในช่วงแรก ทำหน้าที่ซีลจัดแลปกระปุกน้ำลายตามรายชื่อ ลงกล่องซีลกล่องพร้อมนำส่ง  11โมง แดดเริ่มเเรง กับคนรอตรวจอยู่ประมาณ 50 คน ก็เร่งเพื่อให้ทันในภาคเช้านี้ จนเที่ยงนิดๆ ซีลกล่องแลป ถอดชุดพร้อมไปกินข้าว สิ่งเเรกที่เราหยิบมากินก่แนข้าวเสมอคือ น้ำอัดลมแช่เย็น น้ำเปล่าเย็นๆ ยิ่งถ้าได้ผ้าเย็นเช็ดหน้าคงจะกระปี้กระเปร่าขึ้นเยอะ  กินเสร็จเราก็เริ่มต่อในช่วงบ่าย ขณะที่ผมกำลังเริ่มใส่ชุดPPE มีเสียงแว่วมา วี จะต่ออีกหรอ พักก่อนเดี๋ยวพวกพี่ต่อเอง... รอบนี้จึงมีพี่ๆ ชุดที่พักในตอนเช้าลุยต่อ เเละเป็นที่มาของ..รอบคนแก่ แต่ก็ปิดรับคิวเมื่อชาวบ้านบางเบาลงในเวลาประมาณบ่าย 2 ...

       สิ่งที่ได้เรียนรู้: ท่ามกลางโรคระบาดที่ผู้คนหวาดกลัว ระแวงกันและกันนั้น มันยังมีสิ่งเล็กๆ ที่แอบซ่อนอยู่ ส่งให้ทีมเรามีกำลังใจ มีแรงในการทำภารกิจในแต่ละวัน บางครั้งก็ไม่เกี่ยงเวลาพัก ไม่เกี่ยงหน้าที่กัน นั้นคือความมีน้ำใจของชาวสมุทรสาคร ความน่ารัก ความใจดีของชาวบ้าน ที่เขาอาจมองว่า ต่อให้มีโรคระบาดหรือเกิดวิกฤตใดๆก็ตาม พวกเขาก็ยังคงวิถีของความมีน้ำใจที่พร้อมหยิบยื่นให้ผู้อื่นทุกเมื่อเสมอ   

     และการที่เราอาสามาแล้ว ไม่จำกัดว่าต้องช่วยในเรื่องบทบาท หน้าที่เท่านั้น...ยังมีงานสนับสนุน เช่น การเตรียมอุปกรณ์ การเพ็คของ งานเอกสารอีกมากมาย ที่เราช่วยได้ ทำให้เขามีเวลาพักผ่อน ได้กินข้าวตรงเวลา ได้นอนหลับเต็มอิ่ม มันคืองานหนักอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น      

ขอบคุณครับ

บันทึกสมุทรสาคร/วี

1 ก.พ.2564


หมายเลขบันทึก: 688835เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2021 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท