พุทธเศรษฐศาสตร์ : แหล่งทุนตาม "กรรม..."


การที่เราจะประกอบธุรกิจการค้าขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เราจำเป็นต้อง "ลงทุน" เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตสินค้าหรือบริการ

"ทุน" หลัก ๆ ก็ได้แก่่ "เงิน" ซึ่งสามารถนำมาแปลงเป็นสินทรัพย์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

การได้มาซึ่งเงินนั้นสามารถได้มาจากหลายที่หลายแหล่ง เบื้องต้นตั้งแต่การเก็บหอมรอมริบโดยตัวเจ้าของกิจการเอง ถ้าไม่พอก็ต้องไปทำเรื่องกู้ธนาคารหรือแหล่งเงินทุนต่าง ๆ แต่ทุนที่ได้มาตามธรรมแบบเป็นธรรมชาติมากที่สุดก็คือ "พ่อแม่"

การตั้งกิจการนั้นหลาย ๆ คนได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ ทั้งในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ อาคารบ้านเรือนที่จะใช้ในการจัดเก็บหรือจัดจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนจากพ่อแม่...

พ่อแม่เอาทุนเหล่านี้มาจากไหนเพื่อให้เรา...?

ทุนเหล่านี้ก็เก็บมาจากน้ำพักน้ำแรงของท่าน เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ เราเคยขอของเล่นพ่อแม่ อยากได้เครื่องเล่นเกมส์ไปอวดเพื่อน ๆ ในโรงเรียน อยากได้คอมพิวเตอร์ ของดี ๆ ของหรู ๆ แต่ท่านก็ไม่ซื้อให้เรา แล้วเราก็ร้องไห้บอกว่าพ่อแม่ไม่รัก แต่แท้ที่จริงแล้วท่านรักเรามาก แต่ท่านต้องทำจิตใจเข้มแข็งเพื่อความมั่นคงของครอบครัว ถึงท่านไม่ให้เราในวันนั้น แต่ในวันนี้ และวันที่ท่านละสังขารไป "ทุน" เหล่านั้นก็จะตกทอดมาเป็นมรดกแก่เรา

แต่ในที่นี้จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปถึงทุนที่ท่านให้เรามา หรือเราออกปากไปหยิบยืมมาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

ทุนเหล่านี้ถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ๆ เพราะแทบจะปราศจากดอกเบี้ย ไม่มีการส่งบิลมาให้เราต้องไปชำระในทุก ๆ เดือน ในช่วงเดือนแรก ๆ ปีแรก ๆ หากเราขาดทุน หรือยังไม่ได้กำไร เราก็แทบจะไม่ต้องส่งต้นส่งดอก แต่ทว่า... หลาย ๆ คนก็กลับกลายเป็นเพิกเฉย เมื่อครั้นลืมตาอ้าปากได้จนกระทั่งถึงได้กำไรจนเป็นเศรษฐี แต่ก็มิได้คิดที่จะนำเงินไปให้เพื่อชดใช้ทุนที่ได้มาจากพ่อแม่ จากหนี้เงินจึงกลายเป็นหนี้ชีวิต หนี้ที่แปลงสภาพเป็น "กรรม" คือการกระทำที่ผิดพลาด ถือว่าเราเป็นนักฉวยโอกาสจากความรักความเอื้ออาทรของพ่อแม่ที่มีแต่ให้ มีแต่เสียสละ...

อันที่จริงแล้ว พ่อแม่ให้เงินเรามาลงทุน ท่านก็มิได้หวังว่าจะได้รับสิ่งใดตอบแทนจากเรา ทั้งจะเป็นดอกเบี้ยหรือเงินต้น แต่ทว่า... ถึงอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของเราก็คือต้องให้คืนท่าน "ทั้งหมด..."

นี่เฉพาะเงินที่นำมาลงทุนนะ... ถ้านับไปจริง ๆ แล้ว ทุนที่ท่านลงแรงลงกายสร้างมาจนเป็นตัวเรา นับตั้งแต่อยู่ในท้อง ลืมตาดูโลก เจริญเติบโตได้ร่ำเรียนหนังสือ จนกระทั่งให้เงินมาประกอบธุรกิจหน้าที่การ ถ้านับเป็นจำนวนเงินแล้วมากมายมหาศาล มิต้องนับถึงของเล่นที่เราร้องไห้งอแงอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็นอีกต่างหาก...

ความกตัญญูกตเวทีจึงเป็นพื้นฐานของคนดี

หากวันนี้ใครประสบความสำเร็จ ก็พึงระลึกย้อนไปว่า เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หรือใครประสบความล้มเหลวในชีวิต ก็พึงระลึกย้อนไปว่า เราได้ชดใช้แหล่งทุนตาม "กรรม" อย่างยิ่งใหญ่นี้บ้างหรือไม่

ความเจริญที่มั่นคงต้องมาจากพื้นฐานของความดีที่มีในจิตใจของเรา

ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักวิถีพุทธนั้น เราต้องหันกลับมาตระหนักให้ชัดเจนในเรื่องของความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นการสร้างพื้นฐานของการเป็นคนดี ที่จะพัฒนาให้เป็นหัวหน้าครอบครัว หัวหน้าองค์กร จนกระทั่งไปถึงขั้นผู้ปกครองประเทศ

เราพูดดี ทำดีให้คนอื่นหมื่นแสน ก็มิแม้นนำสองมือนี้ไปกราบตักของคุณพ่อคุณแม่

พึงตอบแทนบุญคุณท่านด้วยการทำตนให้เป็นคนดี ให้สมกับค่าน้ำนม แรงกาย แรงใจจากคุณพ่อคุณแม่ที่มีให้เรา

ความรักของหนุ่มสาวหรือจะเท่าความรักที่เที่ยงแท้ คือความรักจากดวงใจของคุณพ่อคุณแม่อันนิรันดร์

หมายเลขบันทึก: 688832เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2021 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท