พุทธเศรษฐศาสตร์ : เศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูล


ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นระบบความสัมพันธ์ของสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน
เศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูลจึงเป็นสิ่งสำคัญตามหลักของพุทธเศรษฐศาสตร์


การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเริ่มต้นในระดับครอบครัวต่อครอบครัว หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน เรื่อยและลามจนกระทั่งไปถึงระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และในระดับโลก

ประเทศไทยของมีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อใช้คนบิดตัวกันเป็นเกลียวเชือก จากด้ายเส้นเล็ก ๆ เมื่อนำมาบิดเกลียวกันก็จะกลายเป็นเชือก... เชือกหลาย ๆ เส้นเมื่อบิดเกลียดรวมตัวกันก็เสริมความแข็งแกร่งได้อย่างเอนกอนันต์

เศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูล จึงเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของวิถีคนไทยตามแนวหลักของพุทธศาสนา

การให้ทาน ใส่บาตร ทำบุญ เป็นการฝึกจิตใจให้คนไทยรู้จักการให้ การเสียสละ

เมื่อจิตใจเรารู้จักให้ รู้จักเสียสละ จิตใจของเรานั้นก็จะสร้าง "เมตตา" ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เมตตาธรรมจึงเป็นเครื่องค้ำจุนโลก...

ระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก ทุกคนต้องขวนขวาย แย่งชิงวัตถุดิบ ทรัพยากร แย่งชิงอำนาจ ฉกฉวยโอกาสทางการตลาด มีการเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ตลอดเวลา แม้แต่คนบ้านเดียวกัน ตำบล อำเภอเดียวกัน ก็ยังคิดว่าเราเป็นศัตรูกัน 

ดังนั้นเศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูล ต้องเริ่มต้นจากความคิดว่า เราทุกคนที่เกิดมาต่างเป็นญาติพี่น้องกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรือฐานะทางสังคม
เราต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง เราถึงจะสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูลขึ้นมาได้อย่างถูกต้อง

ไม่ว่าเราจะเป็นชิ้นส่วนใดในระบบสังคม เราต้องทำหน้าที่ในการให้ การเสียสละอย่างเต็มที่ เต็มร้อย และหน้าที่นั้นต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ภายในหมู่บ้าน ชุมชน ต้องรวมตัวกันแน่นแฟ้น เป็นปึกแผ่น มีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
มีมากก็แบ่งปันให้ผู้มีน้อย ผู้ที่มีน้อยก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ลดทิฏฐิมานะ ละตัวละตน พร้อมที่จะรับการช่วยเหลือแบ่งปันจากบุคคลอื่น 
วัตถุเราจะมีมากมีน้อยนั้นไม่สำคัญ เท่ากับน้ำใจที่เราต้องมีให้แก่กันและกันเสมอ

ธรรมชาติมีระบบความเกื้อกูลกันระหว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ฉันใด
สังคมของเราก็ต้องมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างกาย วาจา และจิตใจ ฉันนั้น



ข้าพเจ้าเคยมีโอกาสไปก่อสร้างเมรุที่ประเทศลาว เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ผู้นำชุมชนก็จะเกณฑ์ลูกบ้านที่มีหลายหมู่บ้าน นำแรงงานผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยก่อสร้างทุก ๆ วัน
ความเกื้อกูลกันทางกายเหล่านี้ ผ่องถ่ายออกมาจากจิตใจของผู้ให้ ผู้เสียสละ
https://www.gotoknow.org/posts...

การขุดดินที่ไม่มีรถแบ็คโฮ หรือเครื่องทุนแรงใด ๆ ช่วยเหมือนในประเทศไทย แต่สามารถทำได้ด้วยแรงกาย และแรงใจ ที่มีการให้ การเสียสละ

เศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูล เป็นการทำงานที่ไม่เน้นตัวเลขในระบบเศรษฐกิจ ที่คิดว่าผู้ที่มาช่วยงานเหล่านี้เป็นผู้ที่ตกงานแอบแฝง คือ เป็นแรงงานที่ไม่สามารถเกิดคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ ว่าง่าย ๆ คือ ไม่สามารถนำแรงงานนี้คิดออกมาเป็นตัวเลขทางสถิติ ทั้งการจ้างงาน การจ่ายเงิน หรือระบบภาษีอากร

แต่ทว่า... ความเกื้อกูลของคนในระหว่างการทำงานเพื่อเงิน กับการทำงานเพื่อให้ เพื่อเสียสละนั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง

เพราะการทำเพื่อให้ จิตใจของเราจะใส สว่าง บริสุทธิ์ ปราศจากความเห็นแก่ตัว

ความเกื้อกูลกันทางคำพูด จะได้ยินได้ฟังตลอดในระหว่างการทำงาน มีความใส่ใจ สอบถามสารทุกข์สุขดิบกันเสมอ ซึ่งแตกต่างจากจิตใจของผู้ที่ทำงานเพื่อหวัง "เงิน"

เศรษฐศาสตร์เชิงเกื้อกูลนี้ เราทำปุ๊บ เราก็มีความสุขปั๊บ... ซึ่งแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่ต้องทำงานหน้าดำหน้าแดง แก่งแย่งชิงดี เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินตรา แล้วนำซึ่งเรานั้นไปเสาะแสวงหาซึ่งให้ได้มาซึ่งคำว่า "ความสุข..."

ความสุขนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอทุกเวลา หากเราทั้งหลายมีความเมตตาต่อกันและกัน

เมตตาด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมสุข เปรียบประดุจดอกไม้และของหอม

เมตตาด้วยคำพูดที่ปรองดอง เปรียบเสมือนอาภรณ์ปกคลุมใจ


ความเกื้อกูลเพิ่มพูนซึ่งความสุข เพื่อมนุษย์ทุนนิยมให้หยุดนิ่ง

หยุดที่พอหยุดที่ละหยุดแย่งชิง เพิ่มพูนยิ่งความเมตตาค้ำจุนกัน


พี่น้องเอ๋ยโปรดเกื้อกูลต่อพ่อแม่ ญาติที่แท้ต้องแบ่งปันกันเสมอ

ทุกหมู่บ้านทั้งตำบลถึงอำเภอ ต้องเสนอความช่วยเหลือทั้งกายใจ


จากจังหวัดสู่ประเทศประกาศก้อง ไทยทั้งผองรู้รักสมัครสมาน

มีเมตตาเผื่อแผ่และเจือจาน สอดประสานธรรมาภิบาลให้เป็นจริง... 

หมายเลขบันทึก: 688668เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2021 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2021 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท