ชีวิตที่เมืองลาว : 20 มกราคม 2554


ความศรัทธาต่อการให้ทาน

พี่น้องชาวลาวมีศรัทธาต่อการให้ทานเป็นอย่างมาก
ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบฐานะทางการเงินกับชาวไทยแล้วถึงแม้นว่าพี่น้องชาวลาวจะมีสถานะทางเศรษฐกิจภาคครัวเรือนดูด้อยกว่า แต่ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะการให้ “ทาน” นั้นสูงกว่าคนไทยมาก

โดยเฉพาะการใส่บาตรในช่วงเช้า พ่อค้า แม่ขายชาวตลาดชนะครามนี้ใส่บาตรกัน “เต็มที่” เป็นอย่างนี้มาทุกวันในตลอดหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีถดถอย นานวันขึ้นคนจำนวนคนและปริมาณอาหารที่ได้รับก็มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ทราบว่าคนที่มาใส่บาตรมีคติประจำใจว่า “ไม่มีเวลาไปวัด แต่ก็ขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ด้วย”

ในการมาทำเมรุฯ ครั้งนี้ ถึงแม้นว่าทุนทรัพย์ส่วนใหญ่จะเป็นของชาวไทย แต่ทว่ากำลังแรงกายและแรงใจของพี่น้องชาวลาวก็มิใช่จะด้อยกว่า

 Large_2101201107

พี่น้องชาวลาวใครมีแรงก็ขอมา “เอาบุญด้วย” มาหิ้วถังปูน ตักหิน ตักทราย
พ่อค้าแม่ขายก็ให้ทานด้วยอาหาร ข้าวน้ำ โภชนาการ

วันหยุด วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือใครว่างก็จะเอาแรงกายเข้ามาช่วย
คนหนุ่ม คนสาวก็ทำงานหนัก งานกลางแจ้ง
ผู้เฒ่า คนแก่ ก็เก็บกวาด ทำความสะอาด
แต่ละคนก็จะมีอุปกรณ์ก็จะมาพร้อมกับอุปกรณ์ประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นมีด ไม้กวาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองมือที่แข็งแรง และอีกหนึ่งใจที่แข็งขัน

แต่ก็มีสิ่งที่น่าแปลกที่เกิดขึ้นในวันพระ วันศีล

ค่านิยมของพี่น้องที่นี่ในวันพระ วันศีล โดยเฉพาะวันพระใหญ่พี่น้องชาวลาวจะหยุดงานกัน แต่เดิม ความเข้าใจของข้าพเจ้าน่าจะสืบเนื่องมาจากการให้หยุดงานที่จะต้องไปขวนขวายหาเงิน เปลี่ยนมาเป็นการมาขวนขวายหาบุญแทน แต่ทว่าในปัจจุบันเมื่อไม่ไปทำงานกลับกลายได้โอกาสตั้งวงดื่มเหล้ากันมากขึ้น แต่ในส่วนของผู้หญิงก็จะใช้โอกาสนี้เข้าวัด ถือศีล เมื่อวานนี้ก็มีผู้ชายมาสองคนเอาเวลาในวันหยุดนี้มาช่วยทำงานสร้างเมรุฯ

 

มาอยู่นี่ตอนแรกก็ประหวั่นกับเรื่องอาหารที่เราทานมังสวิรัติ
แต่การซื่อสัตย์ มั่นคงต่อข้อวัตรของครูบาอาจารย์ ก็พิสูจน์ได้ว่าถ้าตั้งใจจริงไปที่ไหนก็มีคนอำนวยความสะดวกให้เสมอ

 

เพราะบางครั้ง “ความกลัว” อาจจะทำให้เราลด หย่อน ผ่อน ปรน ต่อข้อวัตรปฏิบัติ
โอนอ่อนผ่อนตามกิเลส ตัณหา และกามราคะ กลัวอด กลัวอยาก กลัวทุกข์...

การทำงาน...
งานที่นี่จะเริ่มค่อนข้างสาย คือประมาณเก้าโมง หรือเก้าโมงครึ่ง ด้วยเหตุเพราะช่วงแรกนี้เราต้องใช้แรงงานจากบ้านโนนยาง ซึ่งห่างไปประมาณ 10 กิโลเมตรมาเป็นแรงงานหลัก (10 กิโลเมตรที่นี่ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง เพราะถนนขรุขระมาก)
เนื่องจากคนบ้านชนะครามนี้ยัง “กลัวผี” อยู่ การที่จะต้องหาคนเข้ามาทำงานในป่าช้าเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นจึงต้องใช้รถรับส่งคนงานจากบ้านอื่นมาทำงานแทน

Large_1701201101


แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ ค่านิยมเรื่องของ “ป่าช้า” เป็นที่ “ศักดิ์สิทธิ์” เรื่องของเรื่องก็คือ กลัวผี กลัวตาย ก็ค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง

จากการที่สังเกตนั้นพบว่า ความกลัวเกิดขึ้นจาก “จินตนาการ” เท่านั้น
พอใครที่ได้เข้ามาทำงานที่นี่ มากิน มานอนในป่าช้านี้ เขาจะกลับมาใหม่
ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าการเข้าป่าช้ากลายเป็นเรื่อง “ธรรมดา”

สิ่งที่ลี้ลับ บางครั้งก็เป็นเพียงสิ่งที่ลับหู ลับตา
พอตาได้เห็น หูได้ยิน มันก็เท่านั้น ไม่เห็นจะมีอะไร

การไปนั่งสมาธิหลับตา แล้วภาวนามรณานุสสติกัมมัฏฐานแล้วระลึกถึงความตาย ยังไม่สามารถทำลายความกลัวได้เท่ากับการได้เข้ามาสัมผัสกับป่าช้าจริง ๆ

ป่าช้าที่นี่น่ากลัวกว่าเมืองไทยเยอะ
เพราะคติความเชื่อของพี่น้องชาวลาวนั้นหลัก ๆ ก็จะมีว่า “คนตายโหงไม่ให้เผา”
ก็คนที่ตายผิดธรรมชาติ เช่น ประสบอุบัติเหตุ หรือตีรันฟันแทงกันตาย ศพหรือร่างกายของคนเรานี้จะต้องถูกฝังในป่าช้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในป่าช้าที่ข้าพเจ้าพักอาศัยอยู่จึงเห็นกองดินสูงประมาณสองฟุต ยาวประมาณเท่าคนนอนอยู่เต็มไปหมด
 
แต่จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ในบ้านนี้ความเชื่อเรื่องคนตายโหงไม่ให้เผานั้นก็เริ่มจะคลายลงไปบ้าง โดยท่านเล่าว่า เมื่อเดือนก่อนมีสองคนถูกรถชนตาย สองคนนั้นก็เผา
แต่ทว่า... มีความเชื่อที่ข้าพเจ้าเพิ่งได้ยินครั้งแรกหลายอย่างก็คือ

  1. ตายบ้านไหนต้องเผาบ้านนั้น คือ สมมติว่า เราเป็นคนบ้านโนนยาง แต่ไปประสบอุบัติเหตุตายที่บ้านชนะคราม จะเอาศพกลับบ้านที่โนนยางไม่ได้ ต้องเผาที่บ้านชนะครามนั้นเลย
  2. ห้ามเผาเชิงตะกอนเดียวกัน ตามตัวอย่างในข้อ ๑ ถ้าคนบ้านโนนยางไปเสียชีวิตที่บ้านชนะคราม นอกจากจะนำศพกลับบ้านโนนยางไม่ได้แล้ว เวลาเผา ก็ใช้เชิงตะกอนเดียวกับคนบ้านชนะครามไม่ได้ ต้องตั้งเชิงตะกอนหรือกองฟอนขึ้นมาใหม่ โดยใช้เสาสี่เสาแล้วนำฟืนมารองไว้ข้างล่างเพื่อเป็นเชื้อเพลิง
  3. คนตายท้องกลมต้องฝังเท่านั้น

ในทางปฏิบัติ ผู้ใหญ่ท่านนั้นเล่าให้ฟังว่า ถ้าหากใครรู้ว่าจะตายที่บ้านอื่น ก็ต้องรีบย้ายกลับมาตายในบ้านตัวเอง คือ ถ้ายังไม่ตายก็ย้ายข้ามบ้านได้ ถ้าตายแล้ว “หมดสิทธิ์”

แต่ทว่า... มีข้อยกเว้นสำหรับเรื่องการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ถ้าหากเป็นการนำตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในตัวเมือง ตัวแขวง ตัวจังหวัด เมื่อบุคคลนั้นเสียชีวิตลง ญาติ ๆ ก็สามารถนำศพกลับบ้านได้...

Large_1601201102

 

เมืองสานะคราม แขวงเวียงจันทร์

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว...

หมายเลขบันทึก: 421431เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท