พุทธเศรษฐศาสตร์ : “knowledge explosion”


เมื่อสังคมมีวิวัฒนาการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีและหลักวิชาการใหม่ ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ

knowledge explosion

ปัญหาใหญ่ของการพัฒนาไม่ใช่เราไม่มีความรู้ แต่เราเรียนรู้ไม่ทัน

ไม่ทันอย่างไร...? 

คำว่าไม่ทันนี้คือ เมื่อใครคิดค้นทฤษฎีอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาก็ "ตู้ม"  “knowledge explosion” ตื่นตูม ยิ่งกว่าความรู้ที่ระเบิดออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือสถาบันทางการวิจัยต่าง ๆ ก็สนับสนุนแนวทางในการสร้างทฤษฎีใหม่ ๆ และบังคับให้ต้องเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ต้องมีการสร้างฐานผู้ที่จะมารับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยเหล่านั้น จึงเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราทั้งหลายเรียนไม่ทัน จนเรียนไม่จบ

พุทธเศรษฐศาสตร์เป็นการเรียนศาสตร์แห่ง "ธรรมชาติ"

พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ศาสตร์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ในตัวทุกผู้ทุกคน

ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความสุข ความทุกข์ ความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "ปกติ"

ศาสตร์แห่งพุทธะ คือ ให้เรารู้เหตุแห่งทุกข์ รู้เหตุแห่งความดับทุกข์ รู้เท่าทันยุค ทันสมัย

การพัฒนาสิ่งภายนอก พัฒนาเท่าไหร่ก็พัฒนาไม่จบ หากว่าเราไม่ได้พัฒนาใจของตนเอง

ใจของเราต้องรู้เท่าทันความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ต้องใส่ใจกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ทุกวันนี้เราพยายามพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อมาต่อสู้กับความไม่แน่นอน ความรู้ใหม่ ๆ จึงระเบิดออกมาเรื่อย ๆ “knowledge explosion” ไม่มีวันจบ ไม่มีวันสิ้น เหมือนไวรัสที่กลายพันธุ์ วัคซีนตัวเดิมใช้ได้ อีกสักพักก็ใช้ไม่ได้ ต้องพัฒนาใหม่ไปเรื่อย ๆ 

เราพยายามจะไปแก้ไขความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่มิได้ตัดตอปัญหาที่ความไม่เกิด ซึ่งจะไม่มีการแก่ การเจ็บ การตาย

เมื่อมีความสุข ก็ย่อมมีความทุกข์ แท้ที่จริงความสุขนั้นก็มิได้มี มีแต่เพียงความสุขนั้นบรรเทาเบาบางลง

การพัฒนาความรู้ที่แท้จริงนั้นจึงต้องย้อนกลับมาพัฒนาความรู้แห่งจิตใจ เพื่อให้ใจของเรารู้เท่าทันกิเลส ตัณหา ราคะ อุปทาน

รู้เท่าทันในความรู้ รู้เท่าทันในผู้ที่หาผลประโยชน์จากความรู้ที่นำมาเผยแพร่นั้น

ถ้าจิตใจของเราเข้มแข็ง เราก็เปรียบเสมือนมีตะแกรงคอยร่อน หรือคัดกรองความรู้ที่จะเข้ามาสู่ระบบสมอง สติปัญญา

ยิ่งทุกวันนี้การเข้าถึงความรู้ทั้งหลายยิ่งทำได้ง่ายมากขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็นยุคความรู้ไร้พรหมแดน เราจึงต้องมีเครื่องคัดกรองความรู้เหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้น "สติ สัมปชัญญะ" จะเป็นเครื่องคัดกรองความรู้ได้อย่างดียิ่ง

เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราได้รับสัมผัสจากสิ่งใด ๆ ก็ตาม เราต้องมีสติสัมปชัญญะคัดกรองสิ่งที่มาสัมผัสหรือกระทบอายตนะของเราให้ทันท่วงที มิฉะนั้น ความรู้ทั้งหลายก็จักมาทำร้ายเรา

ทำร้ายอย่างไร..?

ความรู้นั้นทำให้เราโลภก็ได้

ความรู้นั้นทำให้เราโกรธก็ได้

ความรู้นั้นทำให้เราหลงก็ได้


ยกตัวอย่าง...

"โลภ"...เรารู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ คอมพิวเตอร์ที่จะออกมาใหม่ จากคอมพิวเตอร์เครื่องเดิม โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมที่เคยใช้ดีอยู่ได้ก็กลับกลายเป็นต้องการของใหม่ขึ้นมาทันที

"โกรธ" เรารู้ข่าวสารของสังคมต่าง ๆ คนนั้นฆ่าคนนี้ โกงทรัพย์สิน ฉกชิงวิ่งราว เรารู้ปุ๊บ เราก็เอาใจเข้าไปผูกโกรธปั๊บ วาจาก็เกริ่นกร่นออกมาซึ่งคำด่าทอ ทั้ง ๆ ที่เราจะรู้หรือไม่รู้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่ทำไมเมื่อเรารู้ถึงกลับทำให้เกิดความเศร้าหมองของจิตใจ แล้วเราจะรู้สิ่งเหล่านี้ไปทำไม..?

"หลง" ตามสื่อสังคมเขานิยมชมชอบคนหล่อ คนรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คนรวย ๆ" จนเกิดค่านิยมต้องรวยเท่านั้นจึงจะถือว่าเป็นการที่บุคคลจะประสบความสำเร็จในชีวิต เราทั้งหลายจึงขวนขวายและทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อให้กับความหลง ความดี คุณธรรม ศีลธรรม ก็ถูกเหยียบย่ำจากวัตถุและเงินตรา

การสื่อสารในยุค “knowledge explosion” จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องรู้เท่าทันความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นที่ถ่ายเทและทับถมจิตใจของผู้คนในทุกวินาที

ความพอเพียง ความเพียงพอจึงเป็นสิ่งที่ชะลอความทุกข์ได้อย่างชะงักงัน

ความเพียงพอนั้นมิใช่เราจะเพียงพอเฉพาะวัตถุ การจัดการความรู้ของเราก็ต้องพอเพียง

แม้แต่การปฏิบัติธรรม... ครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่านจึงได้ปรารภไว้ว่า ผู้ที่รู้มากนั้นบรรลุธรรมได้ยาก ความคิด ความสงสัยเยอะ รักษาศีลได้อะไร สวดมนต์ได้อะไร วัดนั้นทำอย่างนั้น ครูบาอาจารย์องค์นี้สอนอย่างนี้ ไม่เหมือนกับที่นั่น แตกต่างจากที่นี่ ก็เลยวุ่นวาย หาความสงบไม่ได้สักที

ความพอเพียงนั้นแลคือความสงบ

ถ้าหากความรู้จะระเบิด ก็ขอให้เกิดระเบิดขึ้นมาจากภายใน ผ่องถ่าย Tacit Knowledge ออกมาจากจิตใจ ส่งเสริมให้ยุคให้สมัยแห่ง Knowledge Explosion เป็นความหวังใหม่อันสดใสที่จะรับมือกับความทุกข์และภยันตรายแห่งสังคมได้อย่างแท้จริง...






หมายเลขบันทึก: 688557เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2021 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2021 08:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท