ทำไมเราถึงไม่อาจนำอัตราการกระทำผิดซ้ำมาตัดสินประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์ได้


ทำไมเราถึงไม่อาจนำอัตราการกระทำผิดซ้ำมาตัดสินประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์ได้


นัทธี จิตสว่าง

ในเวทีการสัมมนาหรือในการอภิปรายเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์โดยทั่วไป บ่อยครั้งที่มักจะมีการนำเอาอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกจากเรือนจำ แล้วหวนกลับเข้ามาอีกภายใน 2 หรือ 3 ปี เป็นการประเมินประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์ เช่นกรณีที่ระบบราชทัณฑ์ของไทย ปล่อยผู้ต้องขังออกไปแต่ละปีนับแสนคน แต่กลับเข้ามาใหม่ภายใน 2 ปี ถึงร้อยละ24 และภายใน 3 ปี ร้อยละ 33 แสดงให้เห็นว่าระบบราชทัณฑ์ไม่สามารถอบรมแก้ไขผู้ต้องขังจนทำให้ต้องกลับเข้ามาอีกถึง 1 ใน 3  ของจำนวนที่ปล่อยออกไปแต่ละปี แต่การนำอัตราการกระทำผิดซ้ำดังกล่าวไม่อาจนำมาใช้ในการประเมินความสำเร็จของงานราชทัณฑ์ในแต่ละประเทศ เพราะ “อัตราการกระทำผิดซ้ำ” ของผู้ต้องขังนั้นมีนัยยะทางสถิติที่จะต้องตีความมิฉะนั้นจะเกิดความคลุมเครือเข้าใจที่ผิดพลาดได้

 ถ้าจะพิจารณาอัตราการกระทำผิดซ้ำ ของผู้ต้องขังในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าทางระบบราชทัณฑ์ จะพบว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังสูงกว่าประเทศไทยแทบทั้งนั้น จากรายงานการศึกษาของ Seena Fazel และ Acitim Wolf (2015) พบว่าในรอบ 3 ปี ชิลีมีอัตราการกระทำผิดซ้ำกลับมาต้องโทษจำคุกอีก ร้อยละ 50  เยอรมนีร้อยละ 35 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 36 และในรอบ 2 ปี ออสเตรเลียร้อยละ 39 และในรอบ 3 ปี ฝรั่งเศสมีถึงร้อยละ 46 และอิสราเอลร้อยละ 43   

การที่ประเทศไทยมีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังต่ำกว่าของประเทศอื่นๆ ก็มิอาจตีความได้ว่าระบบงานราชทัณฑ์ไทย สามารถประสบความสำเร็จในการแก้ไขผู้ต้องขังให้กลับสู่สังคมได้ดีกว่าระบบราชทัณฑ์ในประเทศอื่น เพราะการที่ประเทศใดมีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังสูงหรือต่ำนั้น จะต้องไปพิจาณารายละเอียดต่อไปว่าระบบราชทัณฑ์ของประเทศนั้นๆ คุมขังผู้ต้องขังประเภทใดไว้เป็นสัดส่วนเท่าใดและปล่อยผู้ต้องขังประเภทใดออกมา อีกนัยหนึ่งถ้าในเรือนจำของประเทศใดคุมขังผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือเป็นพวกโหดร้าย กระทำผิดซ้ำซากหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะกระทำผิดซ้ำไว้เป็นจำนวนมาก และมีผู้กระทำผิดในคดีเล็กน้อยหรือคดีที่ผู้กระทำผิดกระทำไปโดยพลั้งพลาดจำนวนน้อย เพราะได้รับการคัดกรองออกไปใช้วิธีปฏิบัติในชุมนุม เช่นการคุมประพฤติไม่ต้องเข้าคุมขังในเรือนจำ อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศเหล่านี้ก็จะสูง เพราะคนที่ปล่อยออกมาก็จะเป็นผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงและยากต่อการแก้ไข แต่ตรงกันข้ามในประเทศที่มีระบบการคัดกรองคนเข้าสู่ระบบเรือนจำยังไม่สมบูรณ์พอ ผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำต่ำเข้าไปอยู่ในระบบเรือนจำนวนมาก คนเหล่านี้เมื่อพ้นโทษออกมาก็มักจะไม่กระทำผิดซ้ำและทำให้สัดส่วนของการกระทำผิดซ้ำต่ำตามไปด้วย ดังนั้นการเปรียบเทียบอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังประเทศต่างๆ หรือการนำเอาอัตราการกระทำผิดซ้ำมาประเมินความสำเร็จของงานราชทัณฑ์ไม่ว่าในประเทศใด จึงต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย

รูปที่ 1

สัดส่วนของผู้ต้องขัง 3 ประเภทในระบบเรือนจำ

คำถามต่อไปก็คือว่าเหตุใดผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำสูงจึงยากต่อการแก้ไขและมักจะหวนกลับสู่การกระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษออกมา ทั้งนี้ไม่ว่าประเทศใดจะพบว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เติบโตและถูกหล่อหลอมขัดเกลาขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมที่เหลวแหลกมาเป็นเวลานานมากกว่า 20 – 30 ปี แล้วมาใช้เวลาในเรือนจำเพียง 3 – 4 ปี ในการแก้ไขจึงเป็นไปได้ยากเพราะคนเหล่านี้เปรียบเสมือนแก้วที่แตกละเอียดมาแล้วแต่มาใช้เวลาในเรือนจำที่จะประกบต่อชิ้นมาใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งเมื่อพ้นโทษกลับออกไปอยู่ในสังคม ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ แต่ที่สำคัญก็คือผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงมักจะไม่ได้รับการอบรมแก้ไขหรือได้รับโอกาสจากในเรือนจำ โครงการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังต่างๆ ในเรือนจำส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ต้องขังที่พอแก้ไขได้หรือมีความเสี่ยงต่ำ เพราะจะทำให้มีโอกาสสูงที่โครงการจะดำเนินการประสบความสำเร็จโดยผู้ต้องขังไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ เช่น ผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษก็จะคัดเอาผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดีๆ ทำผิดโดยพลั้งพลาด มีครอบครัวรองรับ มีโอกาสที่จะมีที่ทำงานและที่พักเป็นหลักแหล่งง่ายต่อการติดตามดูแลของพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่มี และจะไม่ได้รับการพิจารณา ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวพักการลงโทษจึงมีอัตราการกระทำผิดซ้ำต่ำกว่าผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวตามป้ายปกติ เช่นเดียวกับโครงการฝึกอบรมฝึกวิชาชีพต่างๆ หรือการส่งผู้ต้องขังออกไปทำงานนอกเรือนจำในโรงงานอุตสาหกรรมและสามารถทำงานต่อหลังพ้นโทษ โครงการก็จะคัดเลือกเฉพาะผู้ต้องขังที่คาดว่าจะไม่มีปัญหาในการบริหารออกไปแล้วมีแนวโน้มที่จะ ไม่ก่อเรื่อง ไม่หลบหนี ตั้งใจทำงาน ซึ่งจะทำให้โครงการไม่เสียหายและประสบความสำเร็จ ผู้ต้องขังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจึงมักหลุดจากวงโคจรในการอบรมแก้ไขเรือนจำแทบทุกโครงการ และมักจะพ้นโทษตามป้ายออกมากระทำผิดซ้ำอีก

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังของระบบเรือนจำส่วนใหญ่จะเป็นการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังที่ไม่จำเป็นจำต้องแก้ไข แต่ละเลยที่จะแก้ไขผู้ต้องขังที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ผู้ต้องขังที่มีความเสี่ยงสูงไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดจึงมักจะกระทำผิดซ้ำสูงและประเทศใดที่มีผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นสัดส่วนในระบบราชทัณฑ์สูง ประเทศนั้นก็จะมีอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังสูงตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้การใช้อัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังเป็นสิ่งวัดความสำเร็จเพื่อประสิทธิภาพในการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังคืนสู่สังคมของระบบราชทัณฑ์จึงมีอาจทำได้อย่างเด่นชัดนัก

ปัญหาจากการที่ไม่สามารถนำ “อัตราการกระทำผิดซ้ำ” มาใช้ประเมินระบบราชทัณฑ์ของประเทศต่างๆ ได้นั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่ “อัตราการกระทำผิดซ้ำ” ต้องไปคำนวณจากฐานของผู้ต้องขังที่มีอยู่ในระบบจากที่ปล่อยออกจากเรือนจำ ดังนั้นจึงมีกรณีหนึ่งที่มีการนำเอาอัตราจากการกระทำผิดซ้ำมาใช้วัดประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์ที่มีฐานของผู้ต้องขังที่เท่ากันหรือกลุ่มเดียวกัน เช่นนำผู้ต้องขังที่มีคุณลักษณะเท่ากันมาแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเข้ารับการบำบัดในโปรแกรม เช่นโปรแกรมการศึกษา โปรแกรมปฏิบัติธรรม หรือโปรแกรมกีฬา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้เข้ารับการบำบัดในโปรแกรมดังกล่าว แล้วนำผลของการกระทำผิดซ้ำของสองกลุ่มเมื่อพ้นโทษไปแล้วมาเปรียบเทียบกัน ถ้ากลุ่มผู้ต้องขังเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมมีอัตราการกระทำผิดซ้ำต่ำกว่ากลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดก็อาจสรุปได้ว่า การเข้ารับการบำบัดมีผลต่อการลดการกระทำผิดซ้ำ แต่กรณีเช่นนี้ก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก การแบ่งผู้ต้องขังเป็นสองกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกัน แล้วให้กลุ่มที่หนึ่งเป็นกลุ่มทดลองอีกกลุ่มเป็นกลุ่มเปรียบเทียบนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยากและมีปัญหาเรื่องจริยธรรม ดังนั้นโครงการประเมินในลักษณะดังกล่าว มักจะเริ่มต้นจากการที่ผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการบำบัดมีความแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมตั้งแต่แรก จึงส่งผลต่อความแตกต่างของผลการกระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษ

ประการที่สอง การที่ผู้ต้องขังพ้นโทษออกไปจากเรือนจำและไปกระทำผิดซ้ำขึ้นใหม่นั้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการได้รับการปฏิบัติในเรือนจำ แต่มิอาจกล่าวได้ทั้งหมดเพราะเมื่อพ้นโทษกลับไปอยู่ในสังคมแล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายส่วนที่นำผู้พ้นโทษไปสู่การกระทำผิดซ้ำ เช่น ครอบครัว เพื่อน สามี สภาพแวดล้อม การยอมรับของสังคมและการระบาดของยาเสพติด ดังนั้นการนำการกระทำผิดซ้ำมาประเมินความสำเร็จของการอบรมมาแก้ไขจากในเรือนจำจึงอาจกล่าวได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

โดยสรุป การนำอัตราการกระทำผิดซ้ำมาใช้ประเมินความสำเร็จของงานราชทัณฑ์นั้น จะต้องมีความระมัดระวังในการเปรียบเทียบและตีความเพราะมีปัจจัยหลายประการที่ข้ามาเกี่ยวข้องจนทำให้ไม่อาจนำอัตราการกระทำผิดซ้ำมาใช้ตัดสินประสิทธิภาพของงานราชทัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์นัก

-------------------------------------------

อ้างอิง

Fagel , Seema and Achim Wolf (2015) A Systematic Review of Criminal Recidivism Rates Worldwide : Current Difficulties and Recommendation for Best Practice. 

หมายเลขบันทึก: 688544เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2021 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2021 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท