โครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ของประเทศไทย



ข่าว (๑) เรื่องดัชนีความรู้โลก ที่บอกว่าไทยอยู่อันดับ ๕๓ ใน ๑๓๘ ประเทศ  คะแนน ๔๘.๓    นำไปสู่การทำความเข้าใจ Global Knowledge Index 2020 (GKI) สำหรับผม   คือผมไม่รู้จักดัชนีนี้มาก่อน  

เมื่ออ่านเอกสารนี้แล้ว ก็คิดว่า ผู้รับผิดชอบระบบความรู้ และหน่วยงานรับผิดชอบความเข้มแข็งของระบบความรู้ของไทยต้องทำความเข้าใจให้แจ้งชัด    แล้วเอามาประยุกต์ใช้ในการวางแนวทางพัฒนาระบบความรู้ของเรา    จุดสำคัญคือ เขามองระบบความรู้เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตรงตามหน้าที่ของ UNDP ผู้จัดทำ GKI ร่วมกับ MBRF แห่งประเทศ UAE  

ผมจะเสนอประเด็นที่ไม่ซ้ำกับข่าวใน นสพ. ไทยโพสต์ (๑)    และเสนอด้วยมุมมองที่แตกต่าง    คือมองว่าเราต้องคาดหวังสูง    ไม่ใช่มุ่งเทียบกับค่าปานกลางอย่างในไทยโพสต์    เราต้องไม่แค่มุ่งสอบผ่าน ต้องมุ่งศึกษารายละเอียดในรายงาน   เอามาคิดต่อ ว่าเราจะพัฒนาระบบความรู้ของเราให้ก้าวสู่ระดับแนวหน้าของโลก (อย่างน้อยก็อยู่ใน Q1) ได้อย่างไร    โดยน่าจะใช้มาเลเซีย เป็นตัวเทียบ (อันดับที่ ๓๓  คะแนน ๕๕.๖)

GKI วัด knowledge performance ใน ๗ ด้านคือ (๑) การศึกษาก่อนมหาวิทยาลัย  (๒) อาชีวศึกษา  (๓) อุดมศึกษา  (๔) วิจัย  (๕) การพัฒนาและนวัตกรรม  (๖) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  (๗) เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่เอื้อ  

โจทย์ของผมคือเขาวัด knowledge performance อย่างไร    อ่านแล้วได้คำตอบว่า เขาใช้ database ระดับโลกกว่า ๓๐ ฐานข้อมูล    เอามาทำเป็นตัวชี้วัด ๑๙๙ ตัว  วัดแต่ละประเทศ    แต่หาชื่อตัวชี้วัดไม่พบ     คือเขาไม่บอกรายละเอียดของวิธีการ    อ่านแล้วไม่รู้วิธีให้คะแนนของแต่ละด้าน และไม่ทราบว่าตัวชี้วัด ๑๙๙ ตัว มีอะไรบ้าง       

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ “หลักการพหุมิติ” (multi-faceted concept) ของความรู้    ผมอยากรู้ว่าเขามองอย่างไร    เขาบอกว่า มองเชื่อมกับ เศรษฐกิจความรู้ (knowledge economy)   สังคมความรู้ (knowledge society)    แต่ไม่มีการขยายความให้ชัดเจน  

เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอันดับ ๑ (สวิตเซอร์แลนด์)   มาเลเซีย (๓๓)   กัมพูชา (๙๐)   และอันดับสุดท้าย ชาด (๑๓๘) ดังในตาราง

จะเห็นว่าเราแพ้มาเลเซียในทุกด้าน    แต่อาชีวศึกษาของกัมพูชาดีกว่าของไทยมาก และดีกว่าของมาเลเซียด้วย    ในเรื่องอาชีวศึกษาเราจึงน่าจะเรียนรู้ระบบของกัมพูชา    ประเทศอันดับโหล่คือ Chad ก็แปลกมาก ที่อุดมศึกษาคะแนนเกือบเท่าของไทย    จึงน่าจะใช้เป็นคู่เทียบเพื่อเรียนรู้ ว่าประเทศยากจนสุดๆ เช่นนั้น อุดมศึกษาดีขนาดประเทศไทยได้อย่างไร  

หมวดที่ไทยคะแนนต่ำสุดคือ Research, Development & Innovation   จึงต้องหาประเทศคู่เทียบเพื่อหาความรู้    ที่ GKI ต่ำกว่าเรา แต่ RDI คะแนนสูงกว่าอย่างชัดเจน    ปรากฏว่าหาไม่ได้    ที่น่าสนใจคือจีน GKI อันดับ ๓๑  แต่คะแนน RDI สูงถึง ๔๔.๔   ดังนั้น หากจะยกระดับ RDI ต้องศึกษาจีน  

การศึกษาระดับก่อนอุดมศึกษา    อันดับ ๑ คือ ฟินแลนด์ (๗๘.๕)   อันดับ ๒ ฮ่องกง (๗๘.๑)   อันดับ ๓ ไอซ์แลนด์ (๗๘)  อันดับ ๔ จีน (๗๖.๙),  ศรีลังกา อันดับ ๓๔ (๖๙.๘),  มาเลเซีย อันดับ ๔๗ (๖๕.๘),   เวียดนาม อันดับ ๕๙ (๖๓.๑),  ไทยอันดับ ๗๓ (๕๙.๓)    ที่จริงเราไปดูงานและเรียนรู้จากฟินแลนด์มากมาย แต่เราแทบไม่ได้นำมาใช้เลย    ระบบการศึกษาระดับก่อนอุดมศึกษาของไทยดื้อการเปลี่ยนแปลงเพราะปัจจัยที่ระบุไว้ใน WDR 2018 (๒)  

อาชีวศึกษา  การศึกษาด้านเทคนิค และการฝึกอบรม    อันดับ ๑ คือ สหรัฐอเมริกา (๙๒.๓),  ฟินแลนด์ อันดับ ๒ (๘๑),   จีนอันดับ ๑๔ (๖๕.๒),  กัมพูชาอันดับ ๒๔ (๖๐.๓),   สิงคโปร์อันดับ ๒๗ (๖๐.๒),   เวียดนามอันดับ ๖๗ (๔๙.๓),   ไทยอันดับ ๑๐๑ (๔๔.๙)

ผมเข้าใจว่า ที่สหรัฐอเมริกาเข้มแข็งเพราะระบบ Community College    ที่เชื่อมโยงกับความต้องการกำลังคนของประเทศ    มีความคล่องตัวสูงในการปรับตัว     แต่ก็แปลกใจที่ระบบของแคนาดาไม่เข้มแข็ง คืออันดับ ๕๒ คะแนน ๕๒.๘ เพราะผมเข้าใจว่าแคนาดาก็ใช้ระบบ Community College เช่นเดียวกัน     

อุดมศึกษา    อันดับ ๑ สวิตเซอร์แลนด์ (๖๘.๖),   สหราชอาณาจักร อันดับ ๒ (๖๘.๓),   ฟินแลนด์อันดับ ๑๓ (๕๖.๑),   สิงคโปร์อันดับ ๑๔ (๕๖),   มาเลเซียอันดับ ๔๓ (๔๕.๖),   จีนอันดับ ๗๑ (๓๘.๙),   ไทยอันดับ ๘๔ (๓๗.๓),   เวียดนามอันดับ ๑๐๙ (๓๐.๙),  ศรีลังกาอันดับ ๑๑๐ (๓๐.๘),   กัมพูชาอันดับ ๑๒๒ (๒๘)

RDI  อันดับ ๑ สวิตเซอร์แลนด์ (๖๕.๗),   สวีเดนอันดับ ๒ (๖๕.๕),   อิสเรลอันดับ ๓ (๖๔.๕),   จีนอันดับ ๒๒ (๔๔.๔),   อินเดียอันดับ ๔๔ (๒๗.๓),   ไทยอันดับ ๔๘ (๒๕.๗),   เวียดนามอันดับ ๕๗ (๒๓.๑),   กัมพูชาอันดับ ๖๑ (๒๑.๙),    ศรีลังกาอันดับ ๙๓ (๑๗.๓), 

ทำไมไทยและจีน อุดมศึกษาอ่อนแอมาก  แต่ RDI แข็งแรงกว่า     ทำไม RDI ของทั้งโลก คะแนนต่ำกว่าหมวดอื่นๆ  

ICT  อันดับ ๑ สหรัฐอเมริกา (๘๖.๕),   สิงคโปร์อันดับ ๒ (๘๕.๙),   ฮ่องกงอันดับ ๕ (๘๔.๖),   ญี่ปุ่นอันดับ ๙ (๘๓.๒),   มาเลเซียอันดับ ๓๐ (๗๐.๓),   จีนอันดับ ๔๙ (๖๑.๔),    ไทยอันดับ ๕๓ (๕๙.๖),   เวียดนามอันดับ ๘๔ (๔๙.๒),    กัมพูชาอันดับ ๘๙ (๔๖.๖),    ศรีลังกาอันดับ ๙๐ (๔๖.๑),   

เศรษฐกิจ  อันดับ ๑ สิงคโปร์ (๗๖.๖),   ยูเออีอันดับ ๒ (๗๓.๒),   ฮ่องกงอันดับ ๓ (๗๑.๒),  จีนอันดับ ๑๗ (๕๗.๗),    มาเลเซียอันดับ ๑๘ (๕๗.๓),   ญี่ปุ่นอันดับ ๒๒ (๕๖.๒),   ไทยอันดับ ๒๙ (๕๓.๘),    เวียดนามอันดับ ๔๕ (๔๘.๔),   กัมพูชาอันดับ ๗๖ (๔๐.๓)

 อันดับเศรษฐกิจของไทยแข็งแกร่งตามที่ระบุใน GKI 2020 จริงหรือ    นอร์เวย์อันดับ ๓๐    รัสเซียอันดับ ๗๐   

สภาพแวดล้อมทั่วไปที่เอื้อ    อันดับ ๑ นอร์เวย์ (๘๙.๓),   สวิตเซอร์แลนด์อันดับ ๒ (๘๖.๖),    สิงคโปร์อันดับ ๑๐ (๘๑.๓),   ฮ่องกงอันดับ ๑๗ (๗๘.๑),   ญี่ปุ่นอันดับ ๑๘ (๗๗.๕),   สหรัฐอเมริกาอันดับ ๓๑ (๗๓.๕),   มาเลเซียอันดับ ๔๖ (๖๖.๗),   ไทยอันดับ ๕๘ (๖๑.๘),   เวียดนามอันดับ ๖๓ (๖๐.๕),    ศรีลังกาอันดับ ๖๔ (๖๐.๒),   รัสเซียอันดับ ๗๘ (๕๗.๗),   จีนอันดับ ๘๑ (๕๗.๖),   กัมพูชาอันดับ ๙๘ (๕๑.๘)

ผมอยากรู้ว่า สภาพแวดล้อมทั่วไปที่เอื้อมีอะไรบ้าง หาไม่พบ    ค้นในเว็บไซต์ knowledge4all (๓) ก็ไม่พบ

Country profile ของไทยอยู่ที่หน้า ๑๔๒ – ๑๔๓    ดู Spider Chart จะเห็นว่า KI ของไทยใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของ GKI  ด้านที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยชัดเจนคือเศรษฐกิจ   

อ่านละเอียดสองรอบแล้วผมไม่จุใจ    จึงอยากเสนอให้ สอวช. และ สกสว. หาทาง commission ให้ผู้มีความสามารถติดต่อทีมพัฒนา GKI 2020 ขอทราบรายละเอียดวีธีให้คะแนน    สำหรับเอาความรู้นี้มาคิดวิธียกระดับปัจจัยทั้ง ๗ ด้านของประเทศไทย    โดยเป้าหมายหลักไม่ใช่เพื่อยกระดับ GKI    แต่เพื่อหาทางยกระดับปัจจัยที่จะทำให้เราหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ   

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ม.ค. ๖๔

  

หมายเลขบันทึก: 688485เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2021 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2021 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท