ข้าเจ้าเป็นสาวเหนือ : ภาพแทนของสาวเหนือในบทเพลง


ข้าเจ้าเป็นสาวเหนือ : ภาพแทนของสาวเหนือในบทเพลง

        หากผู้อ่านได้ยินคำว่า “สาวเหนือ” ภาพในความคิดคงปรากฏหญิงสาวผิวขาวผ่อง ดวงหน้าสะสวย กิริยาเรียบร้อย วาจาอ่อนหวาน อยู่แน่แท้ ทว่ามองเพียงผิวเผินเป็นการฉายภาพแทนในทางบวกเสียมากกว่า แต่บางครั้งผู้เขียนฟังเพลงเกี่ยวกับสาวเหนือคราใด จึงคิดตลอดว่า “เป๋นจะใด ต้องมาจ้ำอ๊กจ้ำใจ๋จะอี้” (เป็นอย่างไร ทำไมต้องมาช้ำอกช้ำใจอย่างนี้) เหตุที่ต้องช้ำอกช้ำใจขนาดนั้น คงเป็นเพราะภาพแทนผิวเผินเหล่านั้นเสียกระมัง ถ้ามองลึกเข้าไปอีกขั้นคงปรากฏภาพแทนที่ซ้อนอยู่คือ ความใสซื่อ หัวอ่อน หลอกง่าย ทำให้ “หนุ่มเมืองใต้” ผู้มีภาพแทนเป็นนักรัก นักพูด สมกับชายชาตรี และดูเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง มาล่อลวงเอาเลือดเนื้อและหัวใจสาวเหนือไป

            วาทกรรมหนึ่งที่บ่มเพาะความคิดของบุคคลซึ่งทำให้จดจำภาพแทนเหล่านั้นคงไม่พ้นวรรณกรรม ในบทความนี้ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงงานเขียนบทเพลงเท่านั้น เนื่องจากงานเขียนประเภทนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นเพลง มีทำนองจังหวะและมีระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดการฟังซ้ำได้หลายครั้ง อีกทั้งจำนวนบทเพลงที่กล่าวถึง “สาวเหนือช้ำรักจากหนุ่มเมืองใต้” มีมากพอประมาณ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการนำมาศึกษา

            บทเพลงที่นำมาประกอบบทความได้แก่ สาวเหนือเบื่อรัก – ผ่องศรี  วรนุช, เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ – พุ่มพวง  ดวงจันทร์, น้ำตาชาวเหนือ – วงจันทร์  ไพโรจน์, สาวเหนือก็มีหัวใจ – อรวี  สัจจานนท์, น้ำใจชาวเหนือ – พรทิพา บูรณะกิจบำรุง, กุหลาบเวียงพิงค์ – วงจันทร์  ไพโรจน์, และล่องแม่ปิง – สุนทรี  เวชานนท์ สามารถสังเกตได้ดังนี้

ข้าเจ้าสิเบื่อแล้วหนอ บ่ขอฮักชายเมืองใต้ ตราบาปประทับหัวใจ สาวเหนือร้องไห้มาแล้วเท่าใด
เมืองใต้ผู้ชายปากหวาน ปานน้ำตาลหยดย้อย ข้าเจ้าบ่อยากเป็นน้อย หลอกให้หลงคอยบ่กลับคืนมา
ข้าเจ้าบ่เจื้ออีกแล้ว
กลัวแล้วผู้ชายเมืองใต้ คำพูดบ่ได้ออกจากใจ ข้าเจื่อบ่ได้หรอกพี่จ๋า

(สาวเหนือเบื่อรัก)

โอ้พอกันทีเมืองหลวง เมืองที่เป็นเหมือนบ่วง ผูกรัดมัดทรวงสาวเหนือ เพิ่งจะฮู้ด้วยหูด้วยตาจึงเชื่อ
ว่าคนเหนือแม่นแล้ว คือเหยื่อคนกรุง โอ้ดูหรือคนเมืองใต้ ฮักบ่ทันเท่าไหร่ หัวใจร้ายดั่งกับยุง
สูบเลือดกินสิ้นรสสิ้นคาวบ่ยุ่ง โอ้คนกรุงฮักไผบ่เคยแม่นจริง

(เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ)

โอ้ละเน้อชีวิตเฮาเอ๋ย หลงคำลวงล่อเขาเอ่ย เขาเปรยว่าฮักเฮาเหลือ สุดจะจำเปิ้นทำให้เฮาหลงเชื่อ
พอเปิ้นสมใจแล้วเบื่อ เปิ้นก็ทิ้งเฮาให้เศร้าละเด้อจั๊กจวนเฮาให้เข้าสู่กรุง หมายมุ่งทำลายผลาญพร่า
โอ้อนิจจาคนเอ๋ย บ่เมตตาสงสารจาวเหนือบ้างเอย คนใต้ใจร้ายเหลือเอ่ย บ่เคยพบเลยใจทรามสิ้นดี

(น้ำตาชาวเหนือ)

โอ้กระไรใจชาย ฮักง่ายทิ้งง่าย ผู้ชายภาคกลาง ข้าเจ้าสาวเหนือ ข้าเจ้าหลงเชื่อคำบอกของชายชาวบางกอก จึงต้องช้ำชอกเจ็บบ่จาง โอคุณชายเจ้า ฮับฟังข้าเจ้าสาวซื่อ สาวเหนือนามระบือจึงต้องเสียชื่อปี้ป่น เจ็บอายก็ยังพอดู เสียฮู้เสียผู้เสียคน อย่าสร้างทุกข์ทน สาวเหนือทุกคนกราบเท้าอย่าจุ๊หมู่เฮาเกินไป โปรดอย่าทำย่ำยี สาวเมืองเหนือนี่ก็มีหัวใจ

(สาวเหนือก็มีหัวใจ)

สิ้นบุญญา สาวเอยเครือฟ้าจึงลาตาย ชีพวางวาย ถือความสัตย์ไว้ ยิ่งเหลือ นี่คือน้ำใจสาวเหนือ
ดุจเกลือ ฮักษาความเค็ม หนุ่มชาวใต้ อย่าใช้ความฮัก เป็นเกมส์ รูปหล่อปากหวาน ระรานเลาะเล็ม
เห็นหญิงเป็นเกมส์ แห่งกามกีฬา

(น้ำใจสาวเหนือ)

ด้วยสาวชาวพิงค์ กลัวบ่ฮักจริงของชายรูปหล่อ กลัวเสียนักกลัวคำป้อยอ กลัวน้ำตาร่วงรินทรวง หมู่เฮาชาวเหนือ อย่าไปเชื่อเชียวหนอคำชาย เดี๋ยวจะต้องเจ็บช้ำใจกาย เปิ้นเมืองใต้พูดจาหลอกลวง หากเปิ้นได้เฮาเปิ้นคงทิ้งเราน้ำตาไหลร่วง หากหลงลม คงโดนหลอกลวง ช้ำทรวงเหมือนดั่งบัวบาน

(กุหลาบเวียงพิงค์)

คนงาม ๆต้องงามคู่ความเด่นดี ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรีแม่ย่าแม่หญิง เยือกเย็นสดใสเหมือน น้แม่ ปิงมั่นคงจริงใจ ฮักใครฮักจริง สาวเอยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเกยซมซาน อีกแม่สาวบัวบาน นั่นคือนิทาน สอนใจ

(ล่องแม่ปิง)

            จากที่ยกตัวอย่างไปผู้อ่านคงเห็นภาพได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น หากจะกล่าวว่าวาทกรรมนั้นสร้างภาพแทนให้สาวเหนือเป็นคนโง่ หัวอ่อน คงไม่รุนแรงเกินไป อีกทั้งยังมีชุดคำที่บ่งบอกถึงความกดทับความเป็นสาวเหนือให้ดูด้อยค่า เช่น ตราบาปประทับหัวใจ, เหยื่อคนกรุง, บ่เมตตาสงสารจาวเหนือบ้างเอย, สาวเหนือทุกคนกราบเท้า, โปรดอย่าทำย่ำยี  เป็นต้น รวมถึงถ้อยคำที่ทำให้ฝั่งชายเมืองใต้เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงฝ่ายหญิง เช่น อ้ดูหรือคนเมืองใต้ ฮักบ่ทันเท่าไหร่ หัวใจร้ายดั่งกับยุง สูบเลือดกินสิ้นรสสิ้นคาวบ่ยุ่ง, ใช้ความฮักเป็นเกมส์ รูปหล่อปากหวาน ระรานเลาะเล็ม เห็นหญิงเป็นเกมส์แห่งกามกีฬา  เป็นต้น ฝ่ายหญิงเสียเองที่ต้องจำยอมไม่ให้ตกหลุมพรางโดยการสร้างคำสอนขึ้นมา เช่น หมู่เฮาชาวเหนือ อย่าไปเชื่อเชียวหนอคำชาย เดี๋ยวจะต้องเจ็บช้ำใจกาย เปิ้นเมืองใต้พูดจาหลอกลวง หากเปิ้นได้เฮาเปิ้นคงทิ้งเราน้ำตาไหลร่วง หากหลงลมคงโดนหลอกลวง ช้ำทรวงเหมือนดั่งบัวบาน , สาวเอยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเกยซมซาน อีกแม่สาวบัวบาน นั่นคือนิทาน สอนใจ เป็นต้น

            จะเห็นได้ว่าบ่งบอกถึงลักษณะสังคมแสดงถึงผู้ชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย (patriarchy) ชัดเจนและอีกหนึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกเช่นกันคือ การกดขี่ชาติพันธุ์ใต้อาณานิคมให้ดูด้อยค่าลงไป จากเหตุการณ์ในยุคล่าอาณานิคม หรือช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง สยามรุกล้ำเข้าล้านนา ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสที่เข้ามาลุกล้ำดินแดนทางตะวันออก สภาพทางสังคมและการเมืองย่อมส่งผลถึงตัววรรณกรรมเช่นกัน

            แนวคิดของฟูโกต์ที่เห็นว่า เบื้องหลังของวาทกรรมนั้นมีโครงข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งย่อมหมายถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมกับประเทศอาณานิคมที่ไม่เท่าเทียมและมักจะมีการคัดง้างกันอย่างชัดเจน (สุรเดช โชติดุดมพันธ์, 2560 : 238) และในขณะที่ผู้คนจากประเทศเจ้าอาณานิคมรู้สึกได้ถึงความชอบธรรมในการยึดครอง คนพื้นถิ่นในประเทศอาณานิคมเองก็ถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าตนเองด้อยกว่าและต้องเปิดกว้างยอมรับการพัฒนาจากประเทศเจ้าอาณานิคม (สุรเดช โชติดุดมพันธ์, 2560 : 239)

               การใช้ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์หลังอาณานิคมนิยม (postcolonialism) ตามที่ได้อธิบายแนวคิดไปในย่อหน้าก่อน และประกอบกับโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย (patriarchy)  ทำให้เกิดภาพแทนของสาวเหนือ หรือคนพื้นถิ่นในประเทศอาณานิคม มีความด้อยเรื่องของความคิด ที่ตามไม่ทันหนุ่มเมืองใต้ หรือคนประเทศเจ้าอาณานิคมได้ และมีการคัดง้างหรือขัดแย้งกัน โดยการสร้างชายเมืองใต้เป็นคนที่ไม่ซื่อสัตย์ กระหล่อน เชื่อถือไม่ได้แทน

               ปัจจุบันแนวความคิดการเท่าเทียมระหว่างเพศ และชาติพันธุ์เริ่มมีบทบาทต่อการรับใช้สังคมมากขึ้น และมีแนวโน้มที่มากขึ้นไปข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่หรือการกดขี่ชาติพันธุ์อื่นไม่ได้ลดลงไปมากนัก ฉะนั้นการพยายามเข้าใจถึงเหตุที่มาของการเกิดวาทกรรมต่าง ๆ อาจเป็นอีกหนึ่งหนทางที่สามารถเปลี่ยนภาพแทนใหม่ ๆ ให้กับเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

สุรเดช  โชติอุดมพันธ์. (2560). ทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 20. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเลขบันทึก: 688300เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2021 03:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2021 03:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท