เป็นหมาป่า : วัฏจักรการล่าที่ปราศจากความไว้ใจ


เพราะแบบนี้สงครามจึงไม่มีการเจรจาที่แท้จริงฝ่ายตรงข้ามเราล้วนเป็นหมาป่า (หน้า 451)

หากคุณเปิดผ่านหน้าชื่อเรื่องสั้น “เป็นหมาป่า” เข้ามาพบกับคำว่า มือปืน ยิ่งเมื่อไล่สายตาอ่านลงมาอีกสิบบรรทัดสั้น ๆ ในหน้านั้น แล้วเกิดความสงสัยว่า มือปืน นักร้อง และนิยาย จะเกี่ยวกับหมาป่าอย่างไร ? นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคุณอาจต้องเผชิญกับความสงสัยไปอีกหลายหน้ากว่าจะเริ่มเข้าใจเนื้อหาของเรื่อง

“มีคำอธิบายเพิ่มอีกนิดว่าทำไมไม่ดำเนินเรื่องไปพร้อม ๆ กัน ทำไมปล่อยเนื้อหานิยายมายืดยาวคำตอบก็เพื่อไม่ให้งุนงงสับสนยังไงล่ะ เอาล่ะนะ เรื่องในนิยายพักมันไว้” (หน้า 426 ) 

ประโยคที่ปรากฏในตอนกลางของเรื่อง เป็นหมาป่า หนึ่งในรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ หลังจากที่อ่านไปแล้วกว่าสามสิบหน้า อาจทำให้เริ่มฉุกคิดได้ว่า จเด็จ กำจรเดช ผู้เขียนอาจกำลังสร้างหลุมพรางให้แก่ผู้อ่านที่กำลังติดตามชีวิต มือปืนขณะสวมบทเป็นมือสังหารในนิยายของนักร้องที่เขากำลังซุ่มยิงนั้น เป็นเพียงการเกริ่นเรื่องด้วยเนื้อหาอันยืดยาว ที่กำลังเร้าให้ผู้อ่านเกิดความสนใจใคร่รู้ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การดำเนินเรื่องที่เป็นเนื้อหาแท้จริง  การแหวกแนวทางเดิมของเรื่องสั้น ทั้งตัวละคร ฉาก และการวางลำดับโครงเรื่อง จึงทำให้การเล่าเรื่องมีความซับซ้อนและสร้างความท้าทายให้แก่ผู้อ่านที่ส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชินกับการเขียนวรรณกรรมที่แปลกใหม่

บางคนอาจบอกว่าเรื่องเข้าใจยาก ทว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะรูปแบบที่แปลกใหม่ดังกล่าวมาข้างต้นนี้เอง ที่ทำให้โดดเด่นและสร้างสรรค์จนได้รับคัดเลือกให้หนังสือ “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี 2563 ไปครอง

กลวิธีการเขียนโครงเรื่องที่ซ้อนโครงเรื่องย่อยหลายเรื่องเข้าด้วยกัน นับว่าหาพบได้ยากในงานเขียนประเภทเรื่องสั้น แต่ผู้เขียนเรื่องสั้น “เป็นหมาป่า” เลือกที่จะใช้กลวิธีดังกล่าวในการรังสรรค์เรื่องสั้นของเขาออกมาสู่สายตาผู้อ่าน ผ่านโครงเรื่องหลักเกี่ยวกับนักเขียนที่กำลังตีบตัน ไม่สามารถหาจุดจบให้นิยายของเขาที่เขียนได้ จึงพักการเขียนนิยายและหันมาแต่งเรื่องสั้นเพิ่มอีกเรื่องขณะกักตัวอยู่บ้านในสถานการณ์โควิด – 19 ระบาด เขาต้องการหาข้อมูลเขียนนิยายต่อให้จบ ขณะนั้นได้ข่าวว่ามีคนแถวบ้านกลับมาจากแอฟริกา นักเขียนจึงส่งนิยายที่แต่งให้ชายคนดังกล่าวอ่านระหว่างกักตัว และข้อเสนอแนะรวมถึงการสนทนากับชายที่มาจากแอฟริกา จึงทำให้นักเขียนคิดจุดจบให้เรื่องที่เขากำลังแต่งได้สำเร็จ แม้โครงเรื่องหลักจะไม่ซับซ้อน งานเขียนของผู้เขียนกลับสร้างความสับสนให้แก่ผู้อ่านผ่านกลวิธีการแต่งและการดำเนินเรื่องที่ถือเอากลวิธีของผู้เขียนเป็นสำคัญ ด้วยการยกเอานิยายอันมีโครงเรื่องเกี่ยวกับมือสังหารที่กำลังตามล่าผู้นำประเทศคนเก่าในทะเลทราย และทวีความซับซ้อนด้วยการแทรกโครงเรื่องของเรื่องสั้นเกี่ยวกับมือปืนที่ตามฆ่านักร้อง เจ้าของนิยายเรื่องมือสังหารในทะเลทรายไว้อีกเรื่อง มาแทรกไว้ในโครงเรื่องหลักด้วย

            
ตลอดระยะเวลาที่อ่านจึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงกลิ่นอายความเป็นหนังมากกว่าเป็นเรื่องสั้น การแสดงภาพยนตร์มีพื้นฐานมาจากการแสดงละคร โดยทั่วไปนักแสดงจะมีความสามารถสูงในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง ประกอบกับเทคนิคการสื่อความหมายที่ต้องอาศัยมุมกล้อง การตัดต่อ การให้เสียง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อความรู้สึกและเข้าใจของผู้ชม(พิพิษณ์ สิทธิศักดิ์, 2555)ผู้เขียนมีการสร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่องหลายวิธีที่ท้าทายการตีความ ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อเหตุการณ์แบบตัดสลับคล้ายกับหนังแบบตะวันตกระหว่างเรื่องสั้นและนิยายในตอนต้น โดยใช้มุมมองของตัวละครในเรื่อง คือ มือปืนและมือสังหารเป็นผู้เล่าเรื่อง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตัวละครทั้งในเรื่องสั้นและนิยาย ถ่ายทอดสารสู่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ทำให้อยากติดตามเนื้อเรื่องต่อไปว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันการยกเอาเรื่องมาซ้อนเรื่องด้วยสำนวนที่เยิ่นเย้อในส่วนที่เป็นนิยาย ผู้เขียนเองก็เลือกใช้ความกระชับของภาษาในส่วนที่เป็นเรื่องสั้นเข้าช่วยให้เรื่องไม่น่าเบื่อหน่ายและน่าติดตาม ด้วยประโยคเพียงไม่กี่ประโยคหรือคำเพียงไม่กี่คำ สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในประโยคเพียงไม่กี่ประโยค คำเพียงไม่กี่คำอย่างฉับพลันทันที ฉะนั้นผู้อ่านเองจึงต้องใช้สมาธิสูงและเก็บรายละเอียดของเรื่องจึงจะสามารถตีความเรื่องได้นับว่าเป็นกลวิธีเหล่านี้ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านสร้างความหมายได้หลายระดับขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการตีความของผู้อ่าน


มุมมองของโครงเรื่องหลักใช้น้ำเสียงของนักเขียนซึ่งเป็นตัวละครหลักเป็นผู้เล่าเรื่องในครึ่งหลังของเรื่องสั้น ผ่านกลวิธีการเล่าเรื่องด้วยการตั้งชื่อเรื่องย่อยว่า นักเขียน เพื่อให้ตัวละครได้แสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างเต็มที่ นับว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องที่เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้แสดงทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อสังคม ผ่านน้ำเสียงเชิงตำหนิการทำงานของรัฐบาลในสถานการณ์โรคระบาดและเสียดสีความฟอนเฟะของการเมืองผ่านมุมมองผู้เล่าเรื่อง รวมทั้งเป็นการนำเข้าสู่โครงเรื่องหลักของเรื่องสั้นเป็นหมาป่าไปพร้อมกันอย่างแยบคาย กลวิธีดังกล่าวมีการหยิบยกเอาประเด็นในสังคมที่เกิดทั้งในต่างประเทศ เช่น การใช้แรงงานเด็กในเหมืองแร่เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าแร่เพื่อผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีเด็กราว 40,000 คน ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไปที่อยู่ในวัยเดียวกัน เพราะฐานะที่ยากจนทำให้พวกเขาจำใจต้องทำงานในเหมืองโคบอลต์เพื่อหาเลี้ยงปากท้องของตัวเองและครอบครัว การสู้รบในสงครามของอิรัก ซีเรีย หรือรวันดาที่คนกำลังทอดทิ้งสัตว์ให้รอคอยความตาย และประเด็นที่มีความสดใหม่อย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 กับรัฐบาลที่ปล่อยประชาชนต้องเผชิญปัญหาโดยลำพัง และคิดถึงแค่ผลประโยชน์ของตัวเอง โดยเล่าผ่านมุมมองของนักเขียนซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง เนื้อเรื่องมีการใช้เหตุการณ์จริงและฉากที่อ้างอิงจากสถานที่จริงแม้จะเติมแต่งด้วยจินตนาการของผู้เขียนร่วมด้วย แต่นับว่าเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยเสริมความสมจริงให้แก่เรื่อง

“เป็นหมาป่า” นอกจากการใช้ภาษาที่กระชับ การตัดจบและเริ่มเรื่องอย่างฉับพลัน เสมือนกับผู้เขียนกำลังเร้าให้ผู้อ่านติดตามเรื่อง เพราะอาจทำให้ตกหลุมพรางของผู้เขียนหากพลาดไปแม้แต่บรรทัดเดียว  โครงเรื่องยังเป็นโครงเรื่องแบบใหม่ไม่ได้เน้นถึงความสัมพันธ์ของการลำดับเหตุการณ์แบบวรรณกรรมส่วนใหญ่ การดำเนินเรื่องบางครั้งจึงสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่ผู้อ่านที่ติดกรอบขนบเดิมของการแต่งเรื่องสั้น ทว่ามุ่งสร้างความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมการแสดงออกของตัวละครเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นไปของตัวละครและเข้าถึงสิ่งที่ผู้เขียนกำลังสื่อออกไปมากกว่า การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้จึงอาจไม่พบปมปัญหาหรือความขัดแย้งที่เป็นจุดสุดยอด(climax) ของเรื่องอย่างชัดเจน  ซึ่งตัวละครในเรื่องจะมีทางออกด้วยการพบจุดคลายปมของเรื่องและไปยังจุดจบของเรื่อง ประกอบกับผู้เขียนใช้วิธีการนำเสนอแบบการสร้างภาพสลับฉากไปมาเพื่อให้การเล่าเรื่องจึงทำรู้สึกเหมือนกำลังนั่งชมภาพยนตร์หรือละคร ลักษณะการเล่าเรื่องดังกล่าวจึงทำให้เรื่องประสบความสำเร็จในการจูงในผู้อ่านให้สนใจ อันเป็นการนำจุดเด่นของกลวิธีมาทดแทนจุดด้อยที่เรื่องสั้นมีความยาวมากกว่าเรื่องสั้นทั่วไปอยู่มาก

ตัวละครในเรื่องมีตัวละครหลักคือ “นักเขียน” เป็นผู้ดำเนินเรื่องตลอดทั้งเรื่อง ด้วยการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของนักเขียน ทว่าตัวละครที่ปรากฏในเรื่องทุกตัวละครกลับมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวละครหลัก เนื่องจากตัวละครอื่น ๆ ช่วยแสดงสัญญะสำคัญในเรื่องคือ หมาป่า ซึ่งเป็นสัญญะที่สื่อถึงความเจ้าเล่ห์ของมนุษย์ออกมา ผ่านตัวละครที่เป็นมนุษย์โดยทั่วไปที่มีทั้งด้านที่เป็นผู้เอาเปรียบผู้อื่นและเป็นเหยื่อจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ของตัวละครที่ผู้เขียนสร้างขึ้น ในเรื่อง ต่อรอง คือ ตัวละครมือสังหารที่กำลังรับบทบาทของผู้ล่าที่ซุ่มยิงหัวหน้ากลุ่มกบฏ ทว่าเขากลับเลือกวางปืนแล้วเข้าไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์ นั้นจึงทำให้เขาถูกตลบหลังจากหัวหน้ากบฏและกลายเป็นคนงานในเหมืองแร่ เช่นเดียวกับเรื่อง มือปืน ตัวละครมือปืนที่กำลังซุ่มยิงนักร้องแต่เพราะความเป็นแฟนคลับทำให้มือปืนเลือกที่จะเข้าไปเตือนนักร้องให้ระวังตัว ท้ายที่สุดเขากลับถูกนักร้องหลอกให้ยิงนักร้องก๊อปปี้โชว์และถูกล้อมจับ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนักเขียนกับแฟนของเขาเกี่ยวกับ sex  ตัวละครสะท้อนว่าความเป็นหมาป่าที่มีเปรียบเสมือนสัญชาติญาณของความเจ้าเล่ห์ และพร้อมจะเอาเปรียบผู้อื่นเมื่อได้รับโอกาสซึ่งแฝงเร้นในตัวของมนุษย์ทุกคน และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่เป็นวัฏจักรวนเวียน ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย‘ผู้ล่า’ อย่างหมาป่า หรือ ‘ผู้ถูกล่า’ อย่างลูกแกะ วันหนึ่งผู้ล่าอาจกลับกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง  เหมือนกับที่มือสังหารถูกหัวหน้ากบฏบังคับให้เป็นคนงานเหมือง มือปืนถูกหลอกวางแผนจับกุม นักเขียนและแฟนของเขาเองก็ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเป็นผู้คุมเกมความรักและความ สัมพันธ์บนเตียง ตัวละครจึงสะท้อนของความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ว่ามนุษย์เองไม่ว่าใครก็พยายามแสวงหาหาความชอบธรรมให้แก่ตนเองด้วยการชิงเอาเปรียบเมื่อมีโอกาสเพราะ  “ ก ลั ว ก า ร เ สี ย เ ป รี ย บ ”

"เพราะแบบนี้สงครามจึงไม่มีการเจรจาที่แท้จริงฝ่ายตรงข้ามเราล้วนเป็นหมาป่า"
  (หน้า 451)

ประโยคข้างต้น เป็นประโยคที่แสดงแนวคิดของเรื่องได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาแนวคิดสำคัญของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึง คือ ความไว้ใจไม่ได้ของมนุษย์ ทุกคนต่างมีด้านที่ดีและไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นใครต่างก็มีด้านที่เป็นหมาป่าและลูกแกะ โดยเฉพาะด้านที่เป็นหมาป่ามักปรากฏเมื่อพวกเขาเหล่านั้นได้รับโอกาสให้กระทำ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ดังเช่นที่ หัวหน้ากบฏชิงเอาให้มือสังหารตกเป็นเหยื่อเสียเองขณะที่เขาออกมาเจรจา หรือในสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 เจ้าหน้าที่รัฐกลับชิงกักตุนหน้ากากเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว จนรัฐหมดความน่าไว้ใจจากประชาชน หรือผู้ค้าทองที่ชิงกดราคาทองในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ เพราะเกรงว่าคนจะนำทองมาขายจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเอาเปรียบกันทางความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเองด้วย เพราะบางครั้งฝ่ายหนึ่งเองก็เลือกที่จะเป็นคนคุมอำนาจในความสัมพันธ์ และทอดทิ้งให้อีกฝ่ายกลายเป็นลูกแกะอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อสังคมไว้ใจใครไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างกำลังช่วงชิงการเป็นหมาป่าเพราะเกรงว่าตัวเองจะต้องกลายเป็นลูกแกะของผู้อื่น เพราะความเชื่อใจของฝ่ายหนึ่งกลับกลายเป็นดาบให้ศัตรูเอามาฟาดฟันตนเอง คนจึงกลัวที่จะถูกหักหลังจากผู้ที่ตนไว้ใจ เหตุดังกล่าวทำให้สังคมปัจจุบันกลายเป็นสงครามของการแก่งแย่งผลประโยชน์ และกลายเป็นวัฏจักรของการไล่ล่า ที่เรากำลังกลายเป็นหมาป่าเมื่อเป็นต่อ และเป็นลูกแกะเมื่อกำลังเป็นรองผู้อื่นไปอย่างไม่จบสิ้น เพราะปราศจากความเชื่อใจกันและกัน 

เมื่อพิจารณาเรื่องสั้นเรื่อง   “เป็นหมาป่า”ตลอดทั้งเรื่อง พบว่าฉากในเรื่องจะมีอิทธิพลต่อเรื่องน้อยมากแต่ก็ช่วยส่งเสริมให้เรื่องเกิดความสมจริงยิ่งขึ้น โครงเรื่อง กลวิธีการแต่งและการดำเนินเรื่องที่มีทั้งส่วนที่เยิ่นเย้อและกระชับ การสร้างตัวละครและมุมมองการเล่าเรื่อง มีส่วนช่วยให้เรื่องสั้นเรื่องเรื่องนี้ส่งสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงผู้อ่านได้อย่างตรงไป ตรงมา และทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความเป็นไปของสังคม ผู้เขียนอาจไม่ได้กำลังแสดงสัจธรรมของชีวิตอันลึกซึ้งให้แก่ผู้อ่าน ทว่ากลับกระเทาะเปลือกของสังคม ให้เห็นวัฏจักรการไล่ล่ากันด้วยความระแวงกันและกัน ให้เราระแวดระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นลูกแกะของใคร และให้เราได้ทบทวนและตั้งคำถามกับตนเองว่า เราเองเป็นหมาป่าไปแล้วกี่ครั้งกัน ?


รายการอ้างอิง

จเด็จ กำจรเดช. (2563). คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ.กรุงเทพฯ : ผจญภัย.  

พิพิษณ์ สิทธิศักดิ์. (2555). ภาพยนตร์เบื้องต้น. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564  จาก : https://www.slideshare.net/pipit2010/104-22581989

BBC NEWS ไทย. (2561). โคบอลต์จากแรงงานเด็ก. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2564  จาก : https://www.bbc.com/thai/international-43387057


หมายเลขบันทึก: 688241เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2021 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2021 08:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท