การดำเนินธุรกิจและการท่องเที่ยวโดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากมูลค่าและคุณค่าอย่างยั่งยืน


วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของชุมชน

วันที่ 8 ธันวาคม เป็นวันแรกของการเดินทาง 

การดูงานที่แรกเป็นชุมชนหนองปิ้งไก่ จังหวัดกำแพงเพชร ทางเข้าเป็นถนนเล็กๆที่พอดีกับรถบัสของเรา แต่ภายในโรงเรือนการผลิตมีป้ายรางวัลแห่งการยอมรับในระดับชาติมากมาย ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีการดูแลตัวเองโดยมีความร่วมมือของคนในพื้นที่ จนกระทั่งมีภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทำให้เกิดการขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด เกิดระบบการบริหารจัดการ เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

บทบาทของคนในชุมชน ความยั่งยืนของการประกอบกิจกรรมต่างๆของชุมชนต้องเริ่มจากผู้นำที่มีความอดทน เข้มแข็ง สร้างสรรค์ ริเริ่ม และที่สำคัญไม่ทิ้งเพื่อนสมาชิกในชุมชน  สมาชิกก็ต้องมีความเชื่อมันในตัวของผู้นำจึงจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างดี แม้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะวัดค่าความรู้ของคนจากระดับและจำนวนปริญญาที่ได้รับ แต่ในการทำงานชุมชน ปริญญามิใช่เครื่องหมายของความสำเร็จ สิ่งที่ดำเนินการผ่านประสบการณ์การล้มลุกคลุกคลานสร้างความแข็งแรงของการเรียนรู้ สิ่งที่รับประกันความสำเร็จคือความอยู่รอดของคนในชุมชน ความเป็นปึกแผ่น การให้ความร่วมมือของคนในชุมชน ความเป็นที่ยอมรับของสังคม และความก้าวหน้าของชุมชน ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของการดำเนินการ และความยั่งยืนที่แท้จริงคือการมีคนที่จะสืบสานต่อยอดทำให้กิจกรรมต่างๆเป็นไปในทางที่ก้าวหน้าดีขึ้น

บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการดำเนินธุรกิจของชุมชนคือช่วยแนะนำแนวทางโดยมหาวิทยาลัยอาศัยความร่วมมือจากคณะต่างๆที่มีความรู้ความสามารถความเชียวชาญที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องมีความสัมพันธ์อันดีทั้งเป็นทางการและไม่เป๋นทางการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความสัมพันธ์อันดีมามีส่วนร่วมในการพัฒนา รวมถึงการที่นำอาจารย์ นักศึกษาของสาขาวิชาเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ต่อการปรับเปลี่ยนต่อการดำเนินการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เกิดสมรรถนะที่ชัดเจนกับนักศึกษา และการเรียนรู้ของนักศึกษาก็ตอบสนองความต้องการของชุมชน ฝึกฝนจนเกิดทักษะเข้าประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ จนได้รับรางวัล

บทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย จากการเรียนรู้ผ่านการดูงานช่วงระยะเวลาหนึ่งจาก Presentation ที่ได้มีการนำเสนอทำให้รู้ว่า อาจารย์ต้องเป็นมากกว่าผู้ที่ลงมาทำงานเป็นครั้งคราว ควรทำงานกับชุมชนเหมือนเป็นบ้านของตนเอง จะทำให้อาจารย์เข้าใจถึงเนื้อแท้ แก่นแท้ของชุมชน "สิ่งที่ใช่อาจจะไม่เห็นสิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่" ความทุ่มเท ความต่อเนื่อง ความใส่ใจ ความเข้าใจ และการเรียนเพื่อที่จะรู้เป็นสิ่งสำคัญของการทำงานร่วมกับชุมชน จากการนำเสนอของอาจารย์ที่ทำงานร่วมกับชุมชนทำให้เห็นว่าการสนับสนุนไม่ใช่สาระสำคัญมากนักเพราะอาจารย์พยายามที่จะพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด แต่มีข้อคิดถึงหน่วยงานที่ต้องสนับสนุนไม่ใช่อาจารย์ไม่ต้องการแต่เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องก็ต้องใช้ความเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ อย่างมากเพื่อให้เกิดความสำเร็จของงาน 

กำหนดการของเราเป็นไปไม่ตามเวลาเพราะระหว่างที่ดูงานมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้นมากมาย พร้อมทั้งมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนเป็นจำนวนมากพอสมควร 

วันที่ 9 ธันวาคม เราออกเดินทางจากจังหวัดตากซึ่งเป็นที่พักแรมแต่เช้าตรู่เพื่อไปเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีพื้นที่ทั้งสิ้น 43,750 ไร่ ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญในเรื่องการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นระเบียบและมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมมูล วันที่ไปเรากลายเป็นคนกลุ่มเล็กๆที่เข้าไปใช้บริการ เพราะมีเด็กนักเรียนเข้ามาใช้บริการหลายคันรถบัส

สิ่งอำนวยความสะดวกและจุดเยี่ยมชมต่างๆมีการจัดทำเป็นระบบ ตั้งแต่ป้ายประชาสัมพันธ์ ป้ายข้อมูล ทำได้น่าสนใจและมีความมั่นคงแข็งแรง หรืออาจจะเป็นเพราะอุทยานประวัติศาสตร์เป็นเมืองมรดกโลกจึงทำให้มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการดำเนินการค่อนข้างละเอียด ห้องน้ำก็มีจำนวนมากพร้อมรับนักท่องเที่ยว รถบริการมีหลายรูปแบบในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีทั้งรถราง รถกลอฟ์ และรถจักรยาน ที่บริการให้กับผู้มาใช้บริการที่มีความต้องการหลายรูปแบบ การจัดการร้านค้าและที่จอดรถต่างๆเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ผู้ดูแลมีอัธยาศัยดี คนทำงานสามารถทำได้หลายบทบาทหน้าที่ เช่นผู้ที่ขับรถรางก็สามารถที่จะบรรยายภาพรวมๆของสถานที่พร้อมเกล็ดเล็กเกร็ดน้อย นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นนักวิชาการของกรมศิลปากรทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ลักษณะสัณฐานของสถาปัตยกรรมเช่น รูปแบบพระของสุโขทัยจำง่ายๆคือ "อิ่ม เอิบ โอบ อ้วน และอมยิ้ม" และได้รับความเข้าใจในเรื่องของภูมิศาตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลรวมถึงระหว่างประเทศมากขึ้น 

หลังจากดูงานในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเราก็ได้ใช้บริการรถคอกหมู ที่ปัจจุบันก็มีใช้เพียงไม่กี่คันเพื่อใช้รับนักท่องเที่ยวและใช้เป็นรถโดยสารประจำทาง เพื่อไปบ้านพระพิมพ์ บ้านที่เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ผลิตทั้งเครื่องใช้ ของที่ระลึก และของกิน โดยมีความเป็นเอกลักษณ์ น่ากินน่าใช้ สวยงาม และอร่อย รวมถึงการบบรจุภัณฑ์ก็มีการออกแบบให้เป็นของตนเอง

ภายในบ้านพระพิมพ์ ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ ทั้งวิทยากรที่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่อง และวิทยากรผู้เป็นคนสาธิตในกิจกรรมการพิมพ์พระสร้างพระด้วยตนเอง อาหารการกินทั้งอาหารว่างและอาหารกลางวันเป็นการจัดทำโดยชุมชน ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งนับว่าน้อยมาก 

วิทยากรของทั้ง 2 ฐานมีการเชื่อมโยงสื่อถึงกันได้อย่างน่ารัก และวิทยากรทั้งสองท่านได้มีการถ่ายทอดนำเสนอจากประสบการณ์และการเรียนรู้จากการอ่านมาก ทำจนเป็นประจำเกิดเป็นความชำนาญทำให้การถ่ายทอดเป็นไปอย่างลื่นไหล สำหรับวิทยากรฐานประวัติและรายละเอียดของเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นประสบการณ์ผ่านการเล่าเรื่อง นั้นมีการใช้สื่อและการดึงส่วนร่วมจากผู้ที่เข้ารับฟังเป็นระยะๆ ถ้าเป็นผู้ฟังที่ไม่ค่อยมีความรู้จะใช้คำถามรอเพื่เตอบ แต่ถ้าเป็นผู้ฟังที่มีคำถามจะใช้การตอบและแสดงทัศนะมุมมองซึ่งทำให้ดูน่าติดตามและน่าสนใจ สำหรับวิทยากรฐานประสบการณ์ผ่านมือผ่านการปฏิบัติ จะมีลูกเล่นทำให้กิจกรรมดูไม่น่าเบื่อและมีการกระตุ้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดเวลา นับเป็นการจัดฐานการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก ใช้เรื่องของความศรัทธาและการให้แบ่งปันเป็นหลักในการจัดกิจกรรม

สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดเวียนสถานที่ ทำให้มีการไหลของคนได้อย่างเป็นระบบทิศทางการเข้าออกปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีความแข็งแรง การจัดอาหารก็ใช้บริการจากคนในชุมชนเป็นอาหารท้องถิ่น ภาชนะที่ใช้สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ อุปกรณ์หีบห่อเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นย่อยสลายได้ง่าย 

ช่วงเย็นเดินทางไปยังบ้านนาต้นจั่น ซึ่งเป็นชุมชนไฮไลต์เรื่อง Home stay  1 ใน 5 ที่สุดของประเทศไทย "คีรีวง/ขามใต้/บ้านไร่/วังเจ้าฉ่า"

แม่เสงี่ยม แสวงลาภ ผู้บุกเบิกกิจการ Home stay บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย จากแนวความคิดอยากพัฒนาตน-ครอบครัว-ชุมชน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2534 จากการได้มีบทบาทเป็นผู้นำสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้แม่เสงี่ยมเกิดอยากให้ชาวบ้านทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ จึงมีการรวมกลุ่มแม่บ้าน เสนอปัญหาของหมู่บ้านเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบต. สำหรับการสร้างภาวะผู้นำให้กับสตรีในชุมชน เริ่มจากการปลูกกล้วย ทำรำวง ทำผ้าป่า เพื่อหาทุนในการช่วยเหลือชุมชน โรงเรียน และวัด 

คุณลักษณะสำคัญของผู้นำ "แม่เสงี่ยม แสวงลาภ" คือ มุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ดู อยู่ให้เป็น ใจกล้า อดทน เสียสละ คิดต่าง เรียนรู้ หาพันธมิตร เริ่มต้นที่ตัวเองเป็นแบบอย่างให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ชักชวน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากในทุกๆเรื่องต้องเจอ จัดระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ร่วมทำ ร่วมรับ ร่วมรักษา และผลักดันให้มีการต่อยอดทั้งเรื่องธุรกิจและผู้คนที่เกี่ยวข้อง มีความกตัญญูรู้คุณ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลเอาใจใส่ทีมงานเฉลี่ยกันได้ จาก บ้านตนเองเป็นโฮมสเตย์หลังแรงสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดการการท้่องเที่ยวชุมชนบนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่น ที่ต้องดึงเอาความน่าสนใจ ผนวกกับเรื่องราว โดยผู้เล่าเรื่องต้องใช้อินเนอร์คนฟังก็จะคล้อยตามพร้อมเปิดรับการเรียนรู้อย่างตั้งใจ

กิจกรรมที่ร่วมทำกับชุมชนในช่วงค่ำของกลุ่มเราเริ่มจากการฟังเกล็ดเรื่องเล่าเล็กน้อยจากแม่เสงี่ยม การรับประทานอาหารค่ำจากบ้านแต่ละหลังซึ่งมีความแตกต่างกันแต่จัดสรรสวยงามทุกบ้าน ชมการแสดง ร้องเพลงของกลุ่มผู้สูงอายุ การแสดงดนตรีโดยกลุ่มเยาวชน การบายศรีสู่ขวัญ และกิจกรรมรื่นเริงสนุกสนานการรำวงโดยกลุ่มคนวัยทำงาน การจัดกิจกรรมค่ำประมาณ 3 ชั่วโมงที่มีความต่อเนื่องไม่ขาดหาย เป็นการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนาต้นจั่น และเห็นการดึงศักยภาพของคนในชุมชนมาใช้ในทุกด้านไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่วัยรุ่นที่มีความผิดปกติ ทุกการแสดงและกิจกรรมทำให้เห็น ความเป็นผู้นำมากขึ้น ความมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มวัยมากขึ้น 

เช้าวันที่ 10 ธันวาคม การสร้างสรรค์กิจกรรมของชุมชนมีความหลากหลายตามความต้องการของผู้รับบริการ ผู้ที่ต้องการสัมผัสหมอกหนาชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าก็ต้องตื่นมาทำกิจกรรมแต่เช้ามืดตี 4 เพื่อขึ้นเขาไปชม หากผู้เข้าร่วมอยากใช้ชีวิตแบบสบายๆสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนก็สามารถเดิน วิ่ง และปั่นจักรยานไปตามถนนภายในหมู่บ้าน หรือไม่ก็นอนฟังเสียงไก่ขัน เสียงตำน้ำพริก เสียงหม้อไหตะหลิวที่กระทบกันในการทำอาหารเช้าเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน หลังอาหารเช้าก็มีการพาชมจุดการเรียนรู้ซึ่งการเดินทางเป็นวงกลม สร้างเรื่องราวการเดินทางของแต่ละจุดอย่างน่าสนใจ และก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนที่มีการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว มีการสร้้างจุด check point ที่ทำให้สามารถประชาสัมพันธ์สู่โลกภายนอกจากนักท่องเที่ยวที่มีการโพสต์สู่สังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการรับรู้ในความเป็นชุมชนมากขึ้น 

ศูนย์ทางทางภูมิศาสตร์ ...วัดมหาธาตุ สุโขทัย
หมายเลขบันทึก: 687612เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2020 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2020 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท