Developmental Evaluation : 16. หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนกร ข้อที่ 4 ทำให้ความคิดเชิงประเมินเป็นเจ้าเรือน



สาระในตอนที่ ๑๖ นี้    ผมตีความจากบทที่ 7  Embed Evaluative Thinking Throughout : The Fourth Operating Principle   ของหนังสือ Facilitating Evaluation : Principles in Practice(2018) เขียนโดย Michael Quinn Patton    

สาระสำคัญคือ กระบวนกรต้องฝึกความคิดเชิงประเมินให้แข็งแกร่งลุ่มลึก    สามารถประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันขณะได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และเข้าใจในมิติที่ลึก    สำหรับนำมาใช้ในการ facilitate กระบวนการสู่เป้าหมายที่กำหนด   เท่ากับว่า การทำหน้าที่กระบวนกรต้องใช้การคิดเชิงประเมินในทุกกระบวนการและทุกขณะ   

การคิดเชิงประเมิน

การคิดเชิงประเมินเป็นการคิดอย่างลึกซึ้ง (critical thinking) ในรูปแบบที่ใช้ในบริบทของการประเมิน    ซึ่งหมายความว่าต้องคิดอย่างรู้เท่าทันสมมติฐาน และมายาคติ    รวมทั้งคิดบนฐานของการนำมาใช้ปฏิบัติได้ (practical thinking)    ทั้งหมดนั้นต้องคิดอย่างมีข้อมูลหลักฐานยืนยันความเป็นจริงหรือถูกต้อง    ไม่ใช่คิดจากความเห็นหรือคิดแบบเดาสุ่ม   

การคิดเชิงประเมินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องการการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ    การได้ทำหน้าที่กระบวนกรแก่การประเมิน ที่ต้องทั้งใช้การคิดเชิงประเมินของตนเอง    และพัฒนาการคิดเชิงประเมินของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงเป็นโอกาสสูงยิ่งต่อการฝึกฝน    รวมทั้งการที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เข้าร่วมกระบวนการประเมินที่มีการบรรจุการฝึกคิดเชิงประเมิน  เป็นโอกาสดีในชีวิตที่จะได้พัฒนาสมรรถนะที่สำคัญยิ่งนี้    ซึ่งหมายความว่า สำคัญต่อชีวิตที่ดี ทั้งด้านการงาน และชีวิตส่วนตัว

หลักการของการคิดเชิงประเมินใน ๑๕ มิติ แสดงในตารางที่ ๑๖.๑

หลักการ คำอธิบาย
๑ ความชัดเจน ชัดเจนในเรื่องเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (purpose),  เป้าหมายงาน (goal),  สิ่งที่ต้องการประเมิน,  ข้อมูลที่ต้องรวบรวม,  วิธีวิเคราะห์ประมวลข้อมูล และตัดสิน,  การนำผลไปใช้ประโยชน์    กล่าวโดยสรุปได้ว่า ต้องมีความชัดเจนในทุกๆ เรื่อง ทุกประเด็น  
๒ รู้เจตนารมณ์ รู้ว่าตนเองต้องการทำอะไร ด้วยเหตุใด    วางแผนงานและดำเนินการตามแผน   คิดเรื่องงานที่กำลังทำอย่างรอบคอบ    คำนึงถึงเหตุบังเอิญที่อาจเกิดขึ้น
๓ มีความรับผิดรับชอบ ตรวจสอบอย่างเป็นระบบว่าสิ่งที่ตั้งใจจะทำดำเนินการไปตามแผน   และบรรลุผลตามที่กำหนดไว้
๔ มีความจำเพาะ ความจำเพาะสัมพันธ์กับความชัดเจน    ความจำเพาะช่วยให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเห็นคุณค่าหรือความหมายร่วมกัน    เอาใจใส่รายละเอียดในงานที่ชัดเจนเพื่อช่วยให้เห็นความหมาย และช่วยการสื่อสาร
๕ โฟกัสและจัดลำดับความสำคัญ ตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะทำอย่างมีเป้าหมายเชิงคุณค่า    ตัดสินใจเลือกลำดับความสำคัญและรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
๖ คิดและทำอย่างเป็นระบบ จัดระบบและบันทึกสิ่งที่ทำ    ดำเนินการอย่างมีเหตุผล  ตามลำดับ  และอย่างครบถ้วน
๗ ทำให้สมมติฐานมีความชัดเจน ระบุให้ชัดว่าสมมติฐานใดที่ดำเนินการพิสูจน์ได้  ส่วนใดไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
๘ สรุปโดยมีข้อมูลหลักฐาน รวบรวมและใช้ข้อมูลสนับสนุนข้อค้นพบและคำอธิบายเชิงเหตุผล ในตอนสรุป
๙ ตระหนักและปรับตามความซับซ้อนของสถานการณ์ จ้องสังเกตหา และปรับตาม สิ่งผุดบังเกิด  ผลที่ไม่เป็นเส้นตรง  ปฏิสัมพันธ์ที่เป็นพลวัต  และความปั่นป่วนในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว   
๑๐ คิดอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างกัน  ทัศนียภาพ (perspectives),  ขอบเขต (boundary),  และการนำมาใช้ในการประเมิน   
๑๑ บอกเกณฑ์และมาตรฐานในการประเมินอย่างชัดเจน ระบุ สื่อสาร และใช้ เกณฑ์  คุณค่า  และมาตรฐาน อย่างชัดเจนในการตัดสิน 
๑๒ อธิบายเหตุและผลเพียงเท่าที่มีข้อมูลสนับสนุน อธิบายข้อสรุปเชิง generalization  และเชิงเหตุและผล  ด้วยธรรมชาติของข้อมูลที่ใช้สนับสนุน
๑๓ ให้ความสำคัญต่อปัจจัยเชิงวัฒนธรรม เอาใจใส่ และใช้ประโยชน์ ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และความแตกต่างหลากหลายของบริบท  ในการประเมิน  
๑๔ ให้ความสำคัญต่อบริบท เอาใจใส่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทภาพใหญ่   ว่าอาจมีผลต่องาน    หาทางปรับให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป
๑๕ เอาใจใส่ผลที่ไม่คาดฝัน ผลที่ไม่คาดฝันอาจมีความสำคัญพอๆ กันกับผลที่เป็นเป้าหมาย    ต้องไม่ละเลย

จากหลักการ ๑๕ ข้อข้างบน จะเห็นว่าการคิดเชิงประเมินมีความละเอียดอ่อนและเป็นพลวัตมาก    โดยมีหลักการสำคัญสามประการคือ  (๑) การตั้งข้อสงสัยอย่างเป็นระบบ  (๒) การคิดอย่างมีตรรกะ  และ (๓) การสื่อสารอย่างได้ผล     ย้ำว่าต้องไม่ใช่แค่คิด ต้องสื่อสารด้วย    เพื่อให้การคิดนำไปสู่การกระทำและผลลัพธ์

การคิดเชิงประเมินในฐานะรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพด้านการประเมิน

การดำเนินการ facilitation โดยมีการคิดเชิงประเมิน บูรณาการอยู่ในกระบวนการตลอดเวลา และตลอดเส้นทางการดำเนินการประเมิน    จะส่งผลให้เกิดการพัฒนากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกิดผลกระทบอย่างถาวร    นี่คือคุณค่าของการคิดเชิงประเมินที่เป็นผลกระทบทางอ้อมที่มีคุณค่ายิ่ง    ตรงตามเป้าหมายของการประเมินแบบ DE  

จะเห็นว่า หากมีการดำเนินการ DE อย่างเข้มข้นจริงจัง    จะก่อผลเชิงพัฒนาในหลายมิติ    รวมทั้งมิติการพัฒนาคนไปในตัว    โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เข้าร่วมการประเมินในฐานะผู้ใช้ผลการประเมิน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   

นอกจากมีผลต่อการพัฒนาคนแล้ว    เมื่อสมาชิกขององค์กรมีความคิดเชิงประเมินติดตัว และนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน  ก็จะทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ให้คุณค่าและใช้การประเมินบูรณาการอยู่ในงานประจำ    เป็นเส้นทางสู่องค์กรเรียนรู้ (learning organization)    เพราะการประเมินจะนำไปสู่การให้ข้อมูลป้อนกลับ และการปรับตัว หรือพัฒนา ต่อเนื่อง     

ศักยภาพสองด้าน

ศักยภาพด้านการประเมินมี ๒ ด้าน คือ (๑) ศักยภาพในการคิดเชิงประเมิน (การคิดเชิงเหตุผล)  และ (๒) ศักยภาพในการดำเนินการประเมิน (การออกแบบ เลือกวิธีการ เครื่องมือ และเทคนิค)    ทั้งสองศักยภาพนี้สามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยการ facilitate การประเมินแบบ DE    โดยที่การพัฒนาศักยภาพทั้งสองด้านนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน  

ปฏิบัติการคิดเชิงประเมินภายใต้แนวทาง GUIDE

G- Guiding Wisdom

ไม่ว่าจะ facilitate เรื่องใด ต้องมีเรื่องการคิดเชิงประเมินบูรณาการอยู่ด้วยเสมอ

ตัวอย่างของการบูรณาการความคิดเชิงประเมิน เข้ากับขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการประเมิน  ได้แก่กิจกรรมเริ่มต้นกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกทีมทำความรู้จักกัน    ตัวอย่างโจทย์ของกิจกรรมเพื่อให้เกิดผลทั้งสองอย่าง เช่น

  • ให้แต่ละคนแชร์ตัวอย่างของการตัดสินใจของตนที่ต้องใช้การเปรียบเทียบ และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดจากหลายทางเลือก  ตัวอย่างเช่น การซื้อรภ  ซื้อคอมพิวเตอร์  เลือกสถานที่ไปพักร้อน  เลือกซื้อบ้าน  หรืออื่นๆ
  • ขอให้เล่าประวัติของตนเองและที่มาของการเข้ามาเป็นสมาชิกทีมประเมินนี้    เส้นทางสู่การเข้ามาทำงานด้านการประเมินคืออะไร
  • ขอให้แชร์ความสำเร็จเรื่องหนึ่งของตน  พร้อมข้อมูลหลักฐานของความสำเร็จนั้น    ต่อไปเราจะคุยกันเรื่องข้อมูลหลักฐานอีก    ในชั้นนี้ขอให้แชร์ประสบการณ์เรื่องข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จที่อาจเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงานก็ได้        

นอกจากโจทย์ดังกล่าวแล้ว  ควร facilitate ให้สมาชิกทีมได้ระบุแบบแผน (pattern) ของเรื่องที่สมาชิกเล่าด้วย    เพื่อให้สมาชิกได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ (systematic thinking) ซึ่งเป็นมิติหนึ่งของการคิดเชิงประเมิน

โอกาสบูรณาการความคิดเชิงประเมิน

นอกจากบูรณาการในขั้นตอนเปิดโครงการดังกล่าวแล้ว     สามารถบูรณาการความคิดเชิงประเมินได้ในทุกขั้นตอนของกิจกรรมประเมิน DE    โดยใช้เครื่องมือของกระบวนกร ๓ ตัวคือ  (๑) ทำความชัดเจนเรื่องสมมติฐาน  (๒) ทำความชัดเจนเรื่องคุณค่าหลัก  และ (๓) ตีความข้อค้นพบ   

ใช้สมมติฐานเป็นเครื่องมือฝึกความคิดเชิงประเมิน

กระบวนกรสามารถหยิบเอาคำพูดบางคำพูดของสมาชิกกลุ่ม เอามาเขียนบนกระดาน    เพื่อตรวจสอบกับเจ้าของคำพูดว่าถูกต้องตามที่พูด    แล้วชวนสมาชิกกลุ่มร่วมกันวิเคราะห์ว่ามีสมมติฐานอะไรอยู่เบื้องหลังคำพูดนั้น

ทำความเข้าใจประเด็นเชิงคุณค่า

เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการทำหน้าที่กระบวนกรของการประเมิน คือการช่วยให้กลุ่มมีความชัดเจนในเรื่องคุณค่า    ซึ่งหมายถึงคุณค่าของกิจการที่กำลังประเมิน    คุณค่าของการประเมิน และอื่นๆ    การทำความชัดเจนเรื่องคุณค่า เป็นแบบฝึกหัดความคิดเชิงประเมินอยู่ในตัว    คือประเมินคุณค่า    และบทบาทสำคัญของกระบวนกร คือการทำให้สมาชิกทีมประเมินเข้าใจคำถามสองแบบ คือคำถามเชิงคุณค่า  กับ คำถามเชิงข้อเท็จริง     ดังตัวอย่างคำถาม

ควรใช้เงินสาธารณะสนับสนุนยาคุมกำเนิดฟรีให้แก่ผู้หญิงที่ยากจนหรือไม่    กับ    มีหญิงยากจนจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ไม่มีเงินซื้อยาคุมกำเนิดหรือเครื่องมือคุมกำเนิดแบบอื่นๆ    คำถามแรกเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบเชิงคุณค่า     ส่วนคำถามหลังต้องการคำตอบเชิงข้อมูลหลักฐาน           

การตีความเป็นการคิดเชิงประเมิน

กระบวนกรต้องหาทางทำให้สมาชิกทีมประเมินแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับการตีความ    ตัวอย่างเช่น “ในปี ๒๕๖๑ ประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในภาวะยากจน ๖.๗ ล้านคน”  นี่คือข้อเท็จจริง    เป็นข้อเท็จจริงที่ตีความยาก เพราะไม่มีตัวเลขเปรียบเทียบ     “ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๗.๒ เป็นร้อยละ ๙.๘  อีกทั้ง จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก ๔,๘๕๐,๐๐๐ คน เป็นมากกว่า ๖,๗๐๐,๐๐๐ คน”    ข้อความหลังนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ช่วยการตีความ หรือช่วยตีความให้แล้ว    การคิดเชิงประเมินอาจตั้งคำถามว่า มีเกณฑ์อะไรบอกว่าคนไทยคนไหนอยู่ในภาวะยากจน        

   การคิดเชิงประเมิน เป็นท่าทีของการยึดตามกาลามสูตรนั่นเอง  

UUseful Knowledge

ความมุ่งมั่นอยู่กับการคิดเชิงประเมิน นำสู่ความเข้มแข็งของกลุ่ม และการบรรลุผลลัพธ์ที่กำหนด

การทำหน้าที่กระบวนกร ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มร่วมกันกำหนดกติกากลุ่ม เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ทรงคุณค่าร่วมกัน   เท่ากับใช้พลังของความคิดเชิงประเมิน ในการสร้างสรรค์ยกกำลังสอง คือสร้างสรรค์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่ม  และสร้างสรรค์โอกาสบรรลุเป้าหมายของงาน    

เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง กระบวนกรสามารถตั้งคำถามเชิงประเมิน ว่ากติกาที่ร่วมกันตั้งนั้น ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร   และร่วมกันทำให้กติกาชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้

คำถามเพื่อ facilitate   เน้นเพื่อทบทวนเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (purpose)    ทบทวนข้อมูลที่มีหรือที่จะต้องรวบรวม  และเพื่อสร้างความมุ่งมั่นร่วมกัน      

โจทย์สำหรับงานกลุ่ม ๔ กิจกรรม    เพื่อใช้พลังความคิดเชิงประเมิน ในการสร้างสรรค์พลังกลุ่ม และขับเคลื่อนสู่ผลงานที่เป็นเป้าหมาย แสดงในตารางที่ ๑๖.๒

กิจกรรมการประเมิน ลักษณะของความคิดเชิงประเมินที่ต้องการ ความท้าทายในการ facilitate  กระบวนการประเมิน ผลของการ facilitate การประเมิน
๑ โฟกัสการประเมิน และการสร้างโจทย์ประเมินที่มีลำดับความสำคัญสูง
  • ก.  ชัดเจน
  • ข.  ตั้งใจจริงจัง
  • ค.  รับผิดรับชอบ
  • ง.  จำเพาะ
  • จ.  โฟกัส และลำดับความสำคัญสูง
  • ฉ.  สอดคล้องกับวัฒนธรรม
  • ช. สอดคล้องกับบริบท
  • ก.  ให้กลุ่มได้เห็นทางเลือกด้านเป้าหมายที่ทรงคุณค่า และกระบวนการประเมินที่หลากหลาย
  • ข.  เลือกเป้าหมายที่ช่วยให้โฟกัสการประเมินเพื่อการใช้งานของกลุ่ม primary intended users
  • ค.  สร้างคำถามการประเมินที่มีความหมาย และมีความสอดคล้อง
  • ง.  ตัดสินใจเลือกคำถามประเมินเพื่อให้การประเมินสนองความต้องการของ  primary intended users
  • ก.  มีเป้าหมายที่ทรงคุณค่าของการประเมินที่ชัดเจน
  • ข.  มีการกำหนดตัว primary intended users
  • ค.   มีการจัดลำดับความสำคัญของ primary intended users
  • ง.  มีการตกลงเลือกคำถามประเมินที่มีความหมายและสอดคล้อง
  • จ.  มีความเข้าใจต่อทางเลือกการประเมินที่ลึกและชัดเจนยิ่งขึ้น
๒. ออกแบบการประเมิน และเลือกวิธีการที่เหมาะสม

ก. ทำอย่างเป็นระบบ

ข. ระบุสมมติฐานอย่างชัดเจน

ค. เปรียบเทียบทางเลือก

ง.  กำหนดเกณฑ์และมาตรฐานในการเลือกทางเลือกต่างๆ

จ. คำนึงถึงประเด็นเชิงระบบ และปรับการออกแบบให้รองรับความซับซ้อน

ง. ขยายความและระบุความเป็นเหตุเป็นผลเพียงเท่าที่มีข้อมูลสนับสนุน

จ. คำนึงและปฏิบัติให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม

ฉ. คำนึงถึงบริบท

ก. ใช้เป้าหมายที่ทรงคุณค่าและการใช้ประโยชน์ของการประเมินเป็นหลัก ในการ facilitate ให้กลุ่มออกแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูล หลายๆ แบบ

ข. เลือกวิธีการที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ทรงคุณค่าของการประเมิน และคำถามประเมินที่กำหนด

ค. ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของรูปแบบการประเมินและการเก็บข้อมูลแต่ละแบบ

ง. ประเมินว่ารูปแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูลแบบใดที่จะนำไปสู่ข้อค้นพบที่มีประโยชน์กว่า

จ. ให้มั่นใจว่า ผลการประเมินที่ได้จะเป็นที่น่าเชื่อถือ และเป็นที่พอใจของกลุ่มผู้ใช้ผลการประเมิน

ฉ. นำเกณฑ์มาตรฐานมาประเมินว่ารูปแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูล จะใช้ได้ผล  คุ้มค่า และสอดคล้องกับหลักจริยธรรม

ก.  คำถามประเมิน และวิธีประเมินที่เลือกมีความคล้องจองกัน

ข. รูปแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูล ที่กลุ่มผู้ใช้ผลการประเมินมองว่า น่าเชื่อถือ และใช้ประโยชน์ได้ดี

ค. รูปแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูล ที่พอเหมาะต่อทรัพยากรที่มี

ง. ความเข้าใจต่อจุดแข็งและจุดอ่อนของ รูปแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูล เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใช้ผลการประเมิน
๓. ทบทวนเครื่องมือเก็บข้อมูลและขั้นตอนต่างๆ ก่อนออกทำงานภาคสนาม

ก. ทำอย่างเป็นระบบ

ข. ระบุสมมติฐานอย่างชัดเจน

ค. ระบุเกณฑ์และมาตรฐานในการตัดสินอย่างชัดเจน

ง. คิดอย่างเป็นระบบ

จ. ว่องไวและปรับตัวต่อความซับซ้อนที่เผชิญ

ฉ. คำนึงถึงและเคารพปัจจัยด้านวัฒนธรรม

ช. คำนึงถึงปัจจัยด้านบริบท

ก. ให้มั่นใจว่ารูปแบบการประเมินที่เลือกสอดคล้องกับเป้าหมายที่ทรงคุณค่าของการประเมิน และคำถามวิจัยที่กำหนด

ข. facilitate การประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของรูปแบบการประเมิน และวิธีเก็บข้อมูล

ค. ประเมินว่ารูปแบบการประเมิน และวิธีเก็บข้อมูล จะนำไปสู่ข้อค้นพบที่ใช้ประโยชน์ได้ตามต้องการ

ง. จำลองข้อค้นพบที่น่าจะได้รับ เพื่อตรวจสอบความชัดเจนของข้อมูล

จ. ให้มั่นใจว่าผลที่ได้รับจากวิธีการที่เลือกจะเป็นที่น่าเชื่อถือและตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ 

ฉ. ประเมินว่ารูปแบบการประเมิน และการเก็บข้อมูล จะใช้ได้ผล  คุ้มค่า และสอดคล้องกับหลักจริยธรรม

ช. ก่อนเริ่มเก็บข้อมูล  เสนอให้กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ของการประเมิน (primary intended users) มีมติให้ความเห็นชอบให้เริ่มดำเนินการได้ โดยพิจารณาค่าใช้จ่าย และการใช้ประโยชน์

ก. รูปแบบการประเมินได้รับการอนุมัติ และพร้อมดำเนินการ

ข. เครื่องมือและแผนงานเก็บข้อมูลได้รับการอนุมัติ และพร้อมเริ่มงาน

ค. เกิดความเข้าใจในมิติที่ลึก ต่อกระบวนการประเมินในสนาม

๔. ตีความผล และตัดสินใจต่อการประเมิน

ก. ระบุสมมติฐานอย่างชัดเจน

ข. สรุปโดยอิงข้อมูลหลักฐาน

ค. ระบุเกณฑ์และมาตรฐานของการตัดสินอย่างชัดเจน

ง. คิดอย่างเป็นระบบ

จ. คำนึงถึงและปรับตามความซับซ้อนที่เผชิญ

ฉ. จำกัดการขยายความและการอ้างความเป็นเหตุเป็นผลเท่าที่มีข้อมูลสนับสนุน

ช. คำนึงถึงและดำเนินการตามปัจจัยด้านวัฒนธรรม

ซ. คำนึงถึงปัจจัยด้านบริบท

ฌ. ตระหนักว่าอาจมีผลต่อเนื่องที่ไม่คาดคิด  

ก. จัดระบบข้อมูลเพื่อการตีความ

ข. ออกแบบการตีความ

ค. facilitate การหาข้อสรุป

ง. facilitate การตัดสิน

จ. facilitate การตีความและมุมมองหลายๆ แบบ

ฉ. facilitate การสะท้อนคิดเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ และเรียนรู้จากกระบวนการนั้น

ช. facilitate ให้เห็นระดับความแน่นอนที่แตกต่างกัน   ทำความชัดเจนเรื่องข้อมูล ในด้านความน่าเชื่อถือ และข้อจำกัด

ซ. สร้างข้อเสนอแนะ หากเหมาะสม

ฌ. facilitate การใช้ประโยชน์

ญ. facilitate การวางแผนติดตามผล

ฎ. ตรวจสอบศักยภาพการใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ที่กำหนดไว้ (การสื่อสาร)

ก. ผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าข้อค้นพบเป็นที่เข้าใจ ได้รับความเชื่อถือ และมองว่ามีประโยชน์

ข. การตีความและการตัดสิน ทำได้อย่างมีความหมาย น่าเชื่อถือ และมีประโยชน์ ในมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง

ค. มีแผนการใช้ประโยชน์ สื่อสาร และติดตามผล

ง. เพิ่มการคิดเชิงประเมิน และศักยภาพในการเข้าร่วมการประเมินในอนาคต

ตัวอย่างของเกณฑ์สำหรับการออกแบบการประเมินที่มีคุณภาพสูง ที่กลุ่มทีมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกำหนด

  • ๑. ตอบคำถามประเมินที่มีลำดับความสำคัญสูง
  • ๒. ได้รับคำตอบที่น่าเชื่อถือ สมดุล และตรงตามความต้องการของผู้ใช้
  • ๓. ใช้ข้อมูลมากกว่า ๑ ชนิด
  • ๔. ดำเนินการเสร็จได้ตามกำหนดเวลา
  • ๕. ดำเนินการเสร็จได้ตามงบประมาณที่มี
  • ๖. จะนำไปสู่คำตอบที่หนักแน่น น่าเชื่อถือ และนำไปใช้ปฏิบัติได้
  • ๗. ผลที่ได้น่าจะมีการนำไปใช้

IInspiring Values

กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจคุณค่าของการคิดเชิงประเมิน ผ่านการปฏิบัติ

การคิดเชิงประเมิน มีส่วนซ้อนทับกับการคิดอย่างใคร่ครวญลึกซึ้ง (critical thinking)    การคิดในเชิงหลักการ (conceptual thinking)    ซึ่งในทางสังคมมีคุณค่าต่อสังคมประชาธิปไตย    และการคิดเชิงใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective thinking)    ซึ่งมีคุณค่าต่อการเป็นบุคคลเรียนรู้  

การ facilitate การประเมินแบบ DE หากทำอย่างได้ผลดี จะนำไปสู่การให้คุณค่าต่อ ความจริง ความงาม และความเป็นธรรม

  

DDevelopmental Adaptation

การคิดเชิงประเมินช่วยเอื้อต่อการปรับตัว

ไม่ว่าในกิจการใด หรือในตัวบุคคลใด    การดำเนินการกิจกรรมต้องมีการคิดเชิงประเมิน  การตัดสินใจ  และการกระทำ    ซึ่งก็คือการปรับตัว   

หากจะให้คิดเชิงประเมินเข้มข้น  ต้องฝึกทักษะการคิดเชิงใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflective thinking) ซึ่งจะให้คุณค่าต่อการเรียนรู้สูงมาก    และหากทำไประยะหนึ่งจะกลายเป็นนิสัย    ทำให้เป็นคนที่มีจริตและทักษะในการเรียนรู้จากการทำงานและการดำรงชีวิต    ทำให้เป็นบุคคลเรียนรู้    และที่สำคัญ ไม่กลัวการประเมิน    หรือมีมุมมองต่อการประเมินที่เปลี่ยนไป    กลายเป็นมงเชิงบวก เชิงเอื้อประโยชน์  

EEvaluable Facilitation

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันประเมินความก้าวหน้าของการประเมิน

การประเมินที่สำคัญที่สุดสำหรับทีมผู้ร่วมการประเมินคือการประเมินพฤติกรรมของตนเอง ตามกติกาที่ได้ร่วมกันกำหนด    เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงตนเอง    เช่นกติกางดใช้โทรศัพท์มือถือ งดสื่อสารกับภายนอก    รวมทั้งการประเมินความก้าวหน้าของผลงานที่ตนรับผิดชอบ และผลงานของกลุ่ม   

เพื่อให้ทีมงาน หรือบุคคล ประเมินตนเองได้อย่างเป็นระบบและครบถ้วน    สามารถนำเอาตาราง ๑๕ หลักการของการคิดเชิงประเมิน (ตารางที่ ๑๖.๑) มาให้ทีมงานร่วมกันประเมินตนเองด้วย สเกลการปฏิบัติ ๕ ระดับ  คือปฏิบัติเป็นประจำอย่างเคร่งครัด  ปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่  ปฏิบัติบ้าง  ปฏิบัติน้อยมาก  และไม่ปฏิบัติเลย    รวมทั้งมีช่องว่าสองช่อง ช่องหนึ่งให้ระบุเรื่องราวของการคิดเชิงประเมินในการปฏิบัติของทีมหรือของบุคคล    อีกช่องหนึ่งเล่าเรื่องที่ขาดการคิดเชิงประเมินในการปฏิบัติ

บทเรียนสำหรับกระบวนกร

มีคำแนะนำสำหรับกระบวนกร ๕ ข้อคือ

  • ๑. สอบสภาพ (check in) อย่างสม่ำเสมอ  อย่างเป็นระบบ  และอย่างมีเป้าหมาย    เพื่อให้กลุ่มร่วมกันตรวจสอบว่างานดำเนินไปถึงไหนแล้ว    ส่วนไหนที่ลุล่วงไปด้วยดี  ส่วนไหนที่ต้องปรับ  งานขั้นต่อไปคืออะไรบ้าง
  • ๒.  อธิบายอย่างชัดเจนว่า การทำหน้าที่ facilitate การประเมิน   เป็นการหนุนการใช้ การคิดเชิงประเมิน    เพื่อให้สมาชิกของทีมงานเข้าใจว่า กระบวนกรต้องหนุนการคิดเชิงประเมินอย่างไร    เขาแนะนำให้พิมพ์ตารางที่ ๑๖.๑ ในหน้าแรกแจกทีมงานทุกคน  
  • ๓. ยอมรับสไตล์การทำงานของสมาชิกที่แตกต่างกัน   และในขณะเดียวกันก็หนุนให้ทีมเคลื่อนงานไปข้างหน้า    สไตล์ที่สำคัญคือบางคนเอาแต่พูดไม่ค่อยทำ    บางคนชอบทำไม่ชอบพูด    กระบวนกรต้องเข้าใจความต่างนี้และหาวิธีให้สมาชิกทำงานร่วมกัน ให้งานลุล่วงไปได้
  • ๔. ในกรณีที่มีกลุ่มที่งานไม่ก้าวหน้า  กระบวนกรต้องใช้การคิดเชิงประเมินของตน  ดำเนินการออกแบบทางเลือกสองสามทางเลือกให้แก่กลุ่มที่งานก้าวหน้าช้า    ให้กลุ่มเลือกเอง    โดยกระบวนกรแจ้งแก่กลุ่มอย่างชัดเจนว่า งานก้าวหน้าช้า ต้องมีการปรับวิธีทำงาน  และเสนอทางเลือกให้เลือก    Michael Patton บอกว่า อย่าให้กลุ่มคิดหาแนวทางใหม่เอง 
  • ๕.  ประเมินความก้าวหน้าเป็นระยะๆ    โดยกระบวนกรต้องกล่าวย้ำ (ซ้ำ) ว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คืออะไร    และบอกว่าเวลานั้นงานก้าวหน้าถึงไหนแล้ว    โดยอาจใช้ตาราง ๑๖.๒ ช่วยการทำหน้าที่กระบวนกร

การทำหน้าที่ facilitate การคิดเชิงประเมิน อย่างมีคุณภาพสูง ต้องให้การไกด์อย่างมีประโยชน์  สร้างแรงบันดาลใจ  สร้างการปรับตัวเพื่อพัฒนา  และส่งมอบผลที่ประเมินได้

วิจารณ์ พานิช

๙ ต.ค. ๖๓

  

หมายเลขบันทึก: 687298เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2020 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2020 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท