เรื่องเล่าการเดินทาง ทางน้ำทะเลสาบ


#การเดินทางทางน้ำในแม่น้ำปากพนัง แบ่งออกเป็นสามยุคดังนี้

#ยุคแรกเรือสองชั้น เรือท่าทอง1,2,3 แล่นระหว่างปากพนัง-หัวไทร ,เรือจงเจริญสุข,เรือเลิศไพบูลย์1-5และเรืออรุณใหม่ของเจ๊กิ้มเจ้ง อรุณสกุล คนขับเรือคือโก้เด้งปัจจุบันอายุ80ปีกว่าแล้ว เรือเหล่านี้แล่นระหว่างปากพนัง-ชะอวด

เรือดรุณีแล่นระหว่างปากพนัง-สิชล-ขนอม-เกาะสมุยเป็นของครอบครัวสกุลสุชาโต เรือดรุณีแล่นจากปากพนังไปถึงขนอมแล้วจะแล่นข้ามไปเกาะสมุยข้างท้ายจะมีคอกควายด้วย มักจะบรรทุกควายจากปากพนังไปเกาะสมุยด้วย

ในช่วงปี2509 การนั่งเรือเมล์หรือเรือยนต์สองชั้นจากปากพนังไปหัวไทรใช้เวบายาวนานมาก ออกจากปากพนังช่วงเย็นๆแล่นไปตลอดคืน กว่าจะถึงหัวไทรก็ตีห้าของวันใหม่ ผู้โดยสารต้องนอนไปในเรือตลอดคืน

#ยุคที่สองเป็นเรือเร็วมีชั้นเดียว มีเรือเหมพงษ์กับเหมพันธุ์ ของน้าเด็จ เหมทานนท์ แล่นระหว่างปากพนัง-หัวไทร

#ยุคที่สามเป็นเรืออิซูสุ เอาเครื่องรถยนต์อิซูสุหรือยี่ห้ออื่นมาใส่หางใส่ใบพัดแบบเดียวกับเรือที่แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองต่างๆที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา การนั่งเรืออิซูสุซึ่งแล่นได้เร็วและแรงมากเวลาลำอื่นๆแบ่นผ่านไปต้องยกผ้ายางขึ้นกั้นไม่อย่างนั้นน้ำจะกระเซ็นเข้าเรือ เรือแล่นเร็วมากกลัวจะกระแทกหรือชนกัน

ยุคเรืออิซูสุจะมีโจรปล้นบ่อยมาก โจรจะลงทีละคน นั่งข้างท้ายใกล้คนขับ1คน นั่งตรงกลาง1คนนั่งตรงบริเวณส่วนหัว1คน ถึงเวลาปล้นให้สัญญาณแสดงอาวุธบังคับปลดทรัพย์ทุกคน แล้วจี้บังคับให้นายท้ายส่งโจรให้ขึ้นท่าเปลี่ยวๆ เช่น ท่าหัวป่าขลู เดินทางทางเรืออย่าใส่ทองหยองพระเครื่อง นาฬิกา ฯลฯ

ส่วนเรือเครื่องถ่อหรือเรือหางยาวใช้ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน เช่นยี่ห้อบริกแอนด์สเตรทตัน ยี่ห้อฮอนด้า ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลสูบเดียวส่วนมากจะยี่ห้อยันม่าร์

ส่วนเรือแจว เรือพายใช้กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณครับ

สมัยโบราณในครั้งที่ยังไม่มีถนนสายเอเซีย ไม่มีถนนสายนครสิชล ขนอม กาญจนดิษฐ์ สุราษฏ์ธานี ไม่มีถนนสายหัวไทร-การเกด-บ่อล้อ-สี่แยกหัวถนน ถนนสายเลียบชายทะเลหัวไทร-ปากพนัง การเดินทางทางน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปากพนัง-ปากแพรก-หัวไทร, ปากพนัง-ปากแพรก-เชียรใหญ่-การะเกด-ชะอวด,ปากพนัง-สิชล-ขนอม,ปากพนัง-กรุงเทพฯ ปากพนังจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้าขายในลุ่มน้ำปากพนัง แม่น้ำปากพนังมีเรือสัญจรกันอย่างคึกคัก มีเรือหะรินขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯมาปากพนัง มีคลังน้ำมันหลายคลัง โรงปากพนังหรือโรงเรียนชาย โรงเรียนสตรีปากพนังเป็นโรงเรียนแห่งลุ่มน้ำปากพนังทีเดียว

เรือจากปากพนัง-ชะอวดมีจำนวนเที่ยวมากเพราะชะอวดมีสถานีรถไฟเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งทางน้ำกับทางรถไฟ การส่งข้าวสาร สินค้าอาหารทะเล ปลาแห้ง กะปิ และอื่นๆจากปากพนัง หมูขุนในพื้นที่ปากพนังใส่ชุดลงเรือไปขึ้นต่อรถไฟที่ชะอวด พ่อเล่าให้ฟังว่าตอนน้ำนองชะอวดไหลลงมาเชี่ยวการเดินเรือทวนกระแสน้ำลำบากมาก

ส่วนการเดินทางไปในพื้นที่ลึกๆเข้าไปอาศัยเรือเครื่องหางยาว เรือพาย แล่นเข้าไปตามบางน้ำต่างๆที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำปากพนัง เช่น บางไทร บางเข็ม บางหลา บางด้วน บางตะพง บางพระ บางวุน บางปรง บางตำเสก บางหรง บางตะลุมพอ คลองบ้านกลางซึ่งเข้าไปลึกมาก คลองเชียร ฯลฯ

ตามย่านสายแม่น้ำปากพนังมีตลาดชุมชนหลายแห่งด้วยกันเป็นทั้งตลาดที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและเป็นท่าเรือที่สำคัญ ตลาดที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีคือตลาดบ้านบางตะลุมพอ ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆกับบางตะลุมพอ เป็นตลาดที่จ่ายในวันอาทิตย์ ในอดีตที่สังคมยังคงเป็นวิถีชาวนา ชาวไร่จาก และการเดินทางทางเรือ ตลาดบางตะลุมพอมีความคึกคักมาก เป็นตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำทั้ง สัตว์น้ำจืด และอาหารทะเล ปลาช่อนริ้วตัวโตๆตากแดดแห้งสีแดง ปลาช่อนผ่าหลัง ปลาช่อนตัวเล็กๆทำแบบลูกกล้วย ปลาหมอใส่เกลือตากแห้ง ปลากระดี่เสียบไม้ไผ่ ปลากระดี่รำวง คือเอาหางมาวางซ้อนกันจัดเป็นรูปวงกลม ปลาดุกร้า พุงปลาช่อนพุงใหญ่ๆส่งกลิ่นหอม ไข่ปลาช่อนตากแห้ง พุงปลาดีหรือขี้ดี(พุงปลากระดี่) ปลาสดต่างๆ ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก ไหล ส่วนอาหารทะเลก็มีมากพอสมควร ปลาแป้น ปลาโคบ ปลาหางแดง ปลากระบอก ปูม้า ปูดำ ส่วน กะปิหรือเคอย มีทั้งเคอยปลา เคอยกุ้งนาสีดำๆ เคอยกุ้งทะเล น้ำผึ้งจากเคี่ยวจนข้นบรรจุในขวดขาวจุกปากขวดด้วยรากลำพู น้ำส้มจาก น้ำมันมะพร้าว และที่หากินที่อื่นไม่ได้คือนมควาย สมัยก่อนทุ่งบางตะลุมพอ ทุ่งหน้าโกฐิ ทุ่งขนาบนากมีการเลี้ยงควายกันมาก จำได้ฝูงควายตามั่งแห่งทุ่งหน้าโกฐิมีควายเกือบสองร้อยตัว มีการรีดนมควายจากควายแม่ลูกอ่อน นมควายทุ่งน้ำกร่อย หอม หวาน และมัน นำมาเคี่ยวใส่เกลือตั้งไฟอ่อนๆ จนสุกและข้นพอใส่ขวดมาขาย กินกับเหนียวโดยเฉพาะเหนียวดำอร่อยสุดยอด มาตลาดบางตะลุมพอต้องกินนมควาย ส่วนสินค้าจากที่อื่นที่นำมาขายเช่น พลูปากหราม ยากลาย เกลือ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเกษตร แกระเกี่ยวข้าว จอบ เสียม ปาดหญ้า มีด และขวาน เรือหางยาวจากที่ต่างๆมาจอดตามหน้าท่าตลาดบางตะลุมพอเต็มไปหมด บางที่ในคืนวันเสาร์ก็มีการจัดรายการหนังตะลุง มโนราห์ หนังกลางแปลง รำวง ดูหนังตลอดคืนรุ่งขึ้นวันอาทิตย์ก็จ่ายตลาดกลับบ้าน นี่คือสภาพและบรรยากาศเมื่อประมาณห้าสิบปีมาแล้ว

เมื่อระบบโครงข่ายถนนทั้งสายหลักและสายรองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้ถูกพัฒนา ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วกว่า การเดินทางและการขนส่งสินค้าทางเรือเสื่อมความนิยมลง จำนวนเรือน้อยลงอย่างน่าใจหาย เมืองท่าต่างๆตามสายน้ำปากพนังก็โรยราลงตามลำดับ เช่น หัวไทร ตลาดบางตะลุมพอ ปากแพรก เชียรใหญ่ การะเกด ชะอวด และรวมถึงตัวปากพนังเอง จึงมีสภาพทรุดโทรมถอยลงมาเรื่อยอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ครับ

#เรื่องเล่าจากความทรงจำ

#Version ประมวลปรับแก้ข้อมูลแล้ว

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า
หมายเลขบันทึก: 687179เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2020 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2020 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท