การเลือกตั้ง อบจ.ในรอบ 7 ปี


การเลือกตั้ง อบจ.ในรอบ 7 ปี

อยากเห็นคนมีประสบการณ์ตรงแชร์ไอเดียเกี่ยวกับปัญหาของ อบจ. ว่าแม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้กฎหมายใหม่ แต่อะไรที่มันน่าจะยังเป็นปัญหาที่คนเขียนกฎหมายไม่เคยนึกถึง ทำให้ท้องถิ่นมันโตไม่ได้

คือ ว่า อบจ. (รวมท้องถิ่นด้วย) ถูกดองเค็ม ดักดานจากรัฐบาล

การเลือกตั้ง อบจ. ในรอบ 7 ปี

13 พฤศจิกายน 2563  

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ข่าวลือกระแสที่กระทบต่อสถานะของ อบจ.  

(1) เป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยายเข้าปีที่ 7 ปีจริงๆ แถมบางแห่งอาจจะมากกว่านี้เป็น 7-9 ปี คือ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังจากที่ครบวาระ ที่ว่างเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่น [2] “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือที่เรียกย่อว่า “อบจ.” เป็นรูปแบบหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีฐานะเป็น “ทบวงการเมือง” เป็นนิติบุคคลตามมาตรา 7 [3] แห่ง พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 เป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีเขตพื้นที่คือเขตจังหวัด มีหน้าที่ในการประสานและสนับสนุนราชการส่วนท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำกิจการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดในการพัฒนาท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดของตน ตามมาตรา 45 [4] แห่งพรบ.เดียวกัน

(2) หากพิจารณากรอบอำนาจหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551 [5] ให้มีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน และให้คำแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประสานงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลท้องถิ่น จะเห็นได้ว่ามีความใกล้เคียงและไม่ต่างกันมากนัก

(3) หากพิจารณาเฉพาะในแง่ของอำนาจหน้าที่ของ อบจ. กับราชการส่วนภูมิภาคแล้วจะเห็นได้ว่ามีความใกล้เคียงและทับซ้อนกันในหลายประการ อาทิเช่น การถ่ายโอนภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาให้แก่ อปท.ในจังหวัด จนกระทั่งสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแทบจะไม่เหลือบทบาทใด ๆ ในจังหวัด รวมถึงภารกิจของกระทรวง กรมอื่น ๆ ก็กำลังมิได้แตกต่างกันนัก

(4) เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีกระแสรูปแบบการปกครองท้องถิ่น “จังหวัดจัดการตนเอง” [6] จนกระทั่งมีการยึดอำนาจโดย คสช. แล้วมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ในการร่างรัฐธรรมนูญในระยะแรก ๆ ปี 2558-2559 ก็เคยมีกระแสให้ยุบเลิก [7] “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อบจ.) เสีย แต่ก็เป็นเพียงกระแส ที่ปัจจุบันกระแส “จังหวัดจัดการตนเอง” ยังพอเหลืออยู่ เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นเสียงเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง ด้วยการยุบ อบจ. ตลอดจนมีข้อเสนอให้ยุบ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” หรือแยกกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นออกจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีหน้าที่เฉพาะทาง “ด้านการปกครองท้องถิ่น” เท่านั้น เช่น การเสนอให้มี “คณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ” (กทช.) [8] เป็นต้น ซึ่งบรรดาหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งได้ตั้งฉายาชื่อกรมใหม่ว่า “กรมไม่ส่งเสริมฯ”

(5) ทั้งนี้ เพื่อให้ อปท.ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน มากกว่าที่จะต้องผูกขาดกับการตัดสินใจของกรมหรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง การซ้ำซ้อนกันของภารกิจหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่นย่อมก่อให้เกิดผลเสียในการบริหารราชการมากกว่าผลดี นอกจากจะสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุแล้ว ยังทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการรายงานผล ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เช่น อบจ.ต้องรายงานจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละวันให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด เสร็จแล้ว อบจ.ก็ยังต้องรายงานให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทราบด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ขยายขอบอำนาจด้วยการตั้ง “กองการเลือกตั้งท้องถิ่น” [9] ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในแล้ว ทั้งที่ 2 หน่วยงานนี้ควรประสานขอข้อมูลกันเองได้ สำหรับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี/นายกองค์การบริหารส่วนตำบล แนวทางก็คงเหมือนกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก

(6) ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี (Good Governance) [10] นั้น การกำหนดกรอบโครงสร้างของแต่ละส่วนราชการต้องชัดเจน เกิดความคุ้มค่าสมประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะเพื่อประชาชน มีการแยกอำนาจหน้าที่แต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน หากเกิดความซ้ำซ้อนควรพิจารณา ยุบเลิกหน่วยงานตามหลักการกระจายอำนาจ พึงตระหนักว่า เงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ ก็คือ ภาษีของประชาชน หากมิได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารราชการแล้ว สมควรยุบเลิกหน่วยงานนั้นเสีย เพื่อลดภาระงบประมาณ

(7) แต่ในความเป็นจริงเมื่อมองย้อนอดีตแล้ว การบริหารราชการของไทย มิได้เป็นเช่นนั้น เมื่อหน่วยงานใดขาดประสิทธิภาพแทนที่จะมีการประเมินพัฒนาศักยภาพหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพ กลับคิดแต่การขยายขอบอำนาจหน้าที่ เพิ่มขยายองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาอ้างเพื่อแก้ปัญหาเดิมที่ไม่หยุดหย่อน ดังเช่น เมื่อเกิดปัญหาการทุจริตในภาครัฐ กระทรวง/กรมต่าง ๆ ก็ได้จัดตั้ง “หน่วยตรวจสอบภายใน” ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งเมื่อหน่วยงานตรวจสอบเหล่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงเกิดหน่วยงาน สตง. และ ปปช. ขึ้นมาใหม่ที่มีอำนาจมากตามลำดับอย่างต่อเนื่อง หรือ ดังเช่น กรมประชาสงเคราะห์ที่มีอำนาจหน้าที่ในการสงเคราะห์ประชาชน แต่แก้ปัญหาไปมากลับขยายเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) แล้วยังแตกแขนงสาขาออกมาเป็น กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แสดงว่า ยิ่งแก้ปัญหายิ่งมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อภารกิจต่างๆ ได้ถ่ายโอนมา อปท.เกือบหมดแล้ว หน่วยงานราชการส่วนกลางนั้นๆ ยังมีความจำเป็นต้องขยายองค์กรเหล่านี้อีกด้วยหรือ

ข้อสังเกตเทคนิคเล็กน้อยบางแง่มุมในการช่วงชิงการเลือกตั้ง อบจ.

      (1) แม้ อบจ.ในทางข้อเท็จจริงจะมิได้มีพื้นที่ในความดูแลเป็นของตนเอง หรือ “อบจ. มิได้มีพื้นที่เป็นของตนเอง” แต่ในความเป็นจริงย่อมไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ณ ที่แห่งนี้ คือฐานเสียงระดับจังหวัดของนักการเมืองระดับประเทศ ที่เรียกขานตั้งฉายากันว่า “บ้านใหญ่” [11] จึงพบว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคต่างช่วงชิงใช้สนามเลือกตั้งของ อบจ.เป็นสนามวัดฐานเสียงของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นๆ และปรากฏให้เห็นว่า มีหลายพรรคการเมืองได้ออกช่วยผู้สมัครเลือกตั้งในการหาเสียงอยู่เนืองๆ

(2) ที่ผ่านมาการปิดรับสมัครสมาชิกสภา อบจ. และ นายก อบจ. ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (รับสมัครเมื่อ 2-6 พฤศจิกายน 2563) ในขณะที่การดำเนินการเลือกตั้ง อบจ.กำลังเข้มข้น ก็เกิดปรากฏการณ์ร้องเรียนนักการเมืองกลับเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพิจารณาจากข้อร้องเรียนในหลายกรณีมักส่งผลกระทบถึงการตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ อย่างไม่อาจแยกจากกันได้ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่า การดำเนินการของจังหวัดค่อนข้างล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุล่าช้าต่างๆ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง การแสวงหาพยานเอกสาร หรือเหตุอื่นใดก็ตาม ความล่าช้าดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาตามมาในหลายประการ

(3) เมื่อท้องถิ่น ไม่เคยมีการเลือกตั้งมานาน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลายคนยังมองภาพไม่ค่อยออก มีประเด็นที่ลองฝากไปคิดต่อ อาทิเช่น เรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ ในคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม การหาเสียง การซื้อเสียง การบริหารหัวคะแนน เรื่องอิทธิพลของ “บ้านใหญ่” เรื่องสินบนรางวัลนำจับ [12] เพราะประเด็นเหล่านี้คือสาเหตุของ ใบส้ม ใบเหลือง ใบแดง [13] ได้ ถือเป็นการวัดประสิทธิภาพของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) [14] อีกทางหนึ่งด้วย เพราะที่ผ่านมา ผตล. ยังไม่มีผลงาน

(4) มีเรื่องเล่าติดตลก แค่การสมัครรับเลือกตั้ง ก็มีการล็อกเบอร์ “หมายเลขประจำตัว” หรือการล็อกเลขของผู้สมัครได้ หากใครช่วงชิงเบอร์ 1 ได้ก็ดีใจ หาเสียงง่าย หรือ หากใครได้เบอร์ตามที่ตนอยากได้ (ต้องการ) ก็จะพึงพอใจในเบอร์นั้น ๆ แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้สมัครคนอื่นลง ก็อาจใช้เทคนิคในการสกัดกัน หรือมีใบสั่งมา เพื่อมิให้ผู้สมัครรายนั้น ๆ ได้เบอร์ 1 หรือ เบอร์ที่หวังต้องการได้เช่นกัน เป็นเทคนิคเลือกเบอร์ผู้สมัครนายก อบจ.ให้ตรงกับเบอร์ผู้สมัคร สจ.เขตอำเภอ เพื่อให้ง่ายต่อการหาเสียงก็มีได้ การช่วงชิงจังหวะและโอกาสอยากได้เบอร์ 1 หรือเบอร์ตามที่ตัวต้องการ ผู้สมัครฯ ก็ต้องมาก่อนเวลาสมัคร โดยการ “วัดดวงหรือจะตกลงกัน” เพื่อให้มีโอกาสจับสลากเบอร์หรืออาจตกลงเบอร์กันได้

(5) นอกจากนี้ กระแสการดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามก็ยังมี อาจเป็นความผิดข้อหา “ใส่ร้าย ล่อลวง” หรือ “หลอกลวงฯ ใส่ร้ายด้วยความเท็จ” ตาม มาตรา 65 (5) [15] ซึ่งมีโทษตามมาตรา 126 วรรคสอง [16] แห่ง พรบ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) พ.ศ. 2562 “จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่การจะเข้าองค์ประกอบความผิดเพียงใดหรือไม่ต้องพิจารณาว่า มีการใส่ร้ายด้วยความเท็จ ที่ต้องมีการยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ และต้องคาดเห็นตัวบุคคลได้ ว่าเขาหมายถึงใคร หากกล่าวเหมือนพูดมาลอยๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงใคร ก็ต้องนำสืบและพิสูจน์ เพื่อนำไปสู่ศาลได้

(6) ที่สำคัญอย่าลืมว่า การนับค่าใช้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.ของผู้สมัครตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 [17] นั้น ถือวันถัดจากวันประกาศเพราะใช้คำว่า “นับเเต่” คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไปแล้ว 

การเมืองขั้วเก่ายังคงเหนียวแน่น

(1) หลายจังหวัดการเลือกตั้งนายก อบจ. จึงมิได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่ประชาชนนัก เพราะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าแล้วว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นใด หลายจังหวัด จะเป็นผู้สมัครในสังกัด “บ้านใหญ่” หน้าเดิม ที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ไม่เสื่อมคลาย หรือ คนเก่าที่ครองตำแหน่งมาแต่เดิมอย่างยาวนาน หรือ บางแห่งเรียกว่า สภา อบจ. เป็นสภาผู้รับเหมา [18] การทุจริตเชิงนโยบาย ฯลฯ เป็นต้น แม้จะมีกระแสคนรุ่นใหม่หน้าใหม่เข้ามาแทรกบ้าง อาจเป็นเพียงสีสันประกอบการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในเขตบ้านนอก ชนบท คนรุ่นใหม่หน้าใหม่ยากที่จะเจาะทะลวงปราการ “ฐานเสียงความนิยมเป็นการส่วนตัวบุคคล” ของผู้มีบารมีในท้องถิ่นไปได้อย่างง่าย เพราะจะสู้บ้านใหญ่หน้าเก่าที่มีอิทธิพลยาก มีเงินมากกว่า เก๋ากว่า ฐานเสียงมากกว่า

(2) ในขณะที่มีหลายจังหวัดคึกคัก มีผู้สมัครใหม่ไฟแรงมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะ “เมืองใหญ่” จังหวัดใหญ่ ฉะนั้น การคาดหวังให้ได้ชัยชนะการเลือกตั้งจึงเต็มไปด้วยความท้าทาย อย่างไรก็ตาม การบริหารงานท้องถิ่นที่ผ่านมาสะท้อนให้สงสัยว่า “กลุ่มนักการเมืองขั้วเก่า” ยังคงมีศักยภาพในการแก้ปัญหาอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลไม่จริงใจในการกระจายอำนาจ อบจ.เป็นฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาล ที่ฝ่ายอำนาจรัฐได้ค้ำจุนอุดหนุนบรรดานักการเมืองท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ด้วยการมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ยาว โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แถมมีการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ลงพื้นที่อย่างมากด้วยเงื่อนไขที่มุ่งหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจ แถมลดเงื่อนไขการเบิกจ่ายขั้นตอนให้ง่ายลง สั้นลง [19] นัยยะกลับกันเท่ากับเปิดช่องการทุจริต ตุกติกงบประมาณหลวงก็มิปาน งานนี้ว่ากันว่า แม้พรรคการเมืองจะหาเสียงช่วยผู้สมัครไม่ได้ แต่พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ได้เปรียบอยู่ดี รัฐบาลโกยคะแนนความนิยมเข้าประเป๋าไปแล้วกว่าครึ่งค่อน

ท้ายที่สุดอนาคตของประชาชนต้องอยู่กับประชาชนเท่านั้น จะไปอยู่กับคนอื่นไม่ได้ กระแสความแรงอยากขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงในจังหวัดยิ่งมีมากเพียงใด อาจส่งผลให้ การเลือกตั้งแบบเดิมๆ ที่ได้ผลแบบเดิมๆ เปลี่ยนแปลงได้ คงมิใช่เพียงแค่ได้นายกคนเดิมแล้วจบ แม้จะเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ก็ตาม หวังว่าการวัดดวงเลือกตั้งครั้งนี้คงดีขึ้นแน่ อย่างน้อยที่สุด “สภาวะปากท้อง” การได้รับบริการสาธารณะที่ดีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมดีกว่าเดิม หวังเช่นนั้น

           

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch & Watcharin Unarine & Ong-art Saibutra, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 13 พฤศจิกายน 2563,https://siamrath.co.th/n/196960

[2]ดู คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2557 ซึ่งเป็นคำสั่งให้ สมาชิกสภาและผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งที่หมดวาระไปแล้วดำรงตำแหน่งต่อเป็นการชั่วคราว และ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 หน้า 12-14

& พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 142 บัญญัติให้ "เมื่อ กกต. ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ให้ประกาศ คสช. (ที่ 85/2557) และคำสั่ง หัวหน้า คสช. (ที่ 1/2557) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ อบจ.เป็นอันยกเลิก"

[3]คำว่า “ทบวงการเมือง” หมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ประกอบไปด้วย เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นทบวงการเมืองตาม มาตรา 7 แห่ง พรบ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ.ฯ 2535 ประกอบ มาตรา 72 แห่ง ป.พ.พ.

ดู พรบ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

มาตรา 7 ในจังหวัดหนึ่งให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

[4]มาตรา 45  องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้

(1) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

(2) จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

(3) สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น

(4) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

(5) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

(6) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เฉพาะภายในเขตสภาตำบล

(7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(7 ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(8) จัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ  ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(9) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้  ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

*** มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (7 ทวิ) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542

[5]การแบ่งส่วนราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ตาม (1) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2551 (2) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559

[6]ดู โหมโรงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), 6 มิถุนายน 2563, https://www.gotoknow.org/posts/677829

& วิกฤติของคนอยากเลือกตั้ง, ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 7 กันยายน 2562, http://www.gotoknow.org/posts/667763

& "ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ" โดยคณะกรรมการปฏิรูป (2554) (แนวคิดเบื้องหลังของข้อเสนอการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปแบบ "จังหวัดจัดการตนเอง" พัฒนามาจากหลักการและสาระสำคัญบางส่วนของข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ), http://v-reform.org/wp-content/uploads/2012/07/คปร.-ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ.pdf

[7]ดูข่าว มึนมท.งัดมติยุค'จอมพลป.' กังขาหาช่อง'ยุบ'อปท.ทั่วไทย! จี้ทบทวน-หวั่นปัญหาทางปฏิบัติ, ข่าวมติชน, 7 พฤศจิกายน 2557

[8]ดู โหมโรงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 8 ปี, อ้างแล้ว

[9]กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีส่วนราชการภายใน (2561) ได้แก่ (1) กองสาธารณสุขท้องถิ่น (2) กองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (3) กองการเลือกตั้งท้องถิ่น (4) กลุ่มประสานการตรวจราชการกรม (5) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อยู่ภายใต้สังกัดกองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น) และ ล่าสุดมี (6) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน

[10]มีคำเรียก Good Governance”อีกหลายคำ เช่น (1) “การบริหารการปกครองที่ดี” (2) “ธรรมรัฐแห่งชาติ” (3) “สุประศาสนการ” (4) การบริหารจัดการที่ดี (5) การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (6) “การปกครองที่ดี” (คำแปลราชบัณฑิตยสถาน) (7) “ธรรมาภิบาล” (คำที่ติดตลาด (นิยม)แล้ว)

ดู หลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย คณิตา ราษฎร์นุ้ย ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี, 2557, http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2014/3/2093_5419.pdf

& หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี, สำนักงาน ก.พ., https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/attachment/article/7.1_hlakthrrmaaphibaalkhngkaarbrihaarkicchkaarbaanemuuengthiidii.pdf

ประกอบ ด้วย 10 หลัก ได้แก่ (1) หลักการตอบสนอง (Responsiveness) (2) หลักประสิทธิผล (Effectiveness) (3) หลักประสิทธิภาพ/คุ้มค่า (Efficiency/Value for money) (4) หลักความเสมอภาค (Equity) (5) หลักมุ่งเน้นฉันทามติ (Consensus Oriented) (6) หลักการตรวจสอบได้/มีภาระรับผิดชอบ (Accountability) (7) หลักเปิดเผย/โปร่งใส (Transparency) (8) หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) (9) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) และ (10) หลักนิติธรรม (Rule of Law)

ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 3/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

[11]อย่ามองโลกสวย “บ้านใหญ่” ไม่มีวันตาย โดย ประชา บูรพาวิถี, bangkokbiznews, 21 มิถุนายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647540

“ประจักษ์ ก้องกีรติ” รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ยุครุ่งเรืองของนักการเมืองแบบเจ้าพ่อสิ้นสุดลง หลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บรรดา “บ้านใหญ่” ถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่ใต้ร่มธง “พรรคทักษิณ” แต่รัฐประหาร 2549 ทำให้การเมืองแบบเจ้าพ่อกลับมา

[12]กกต.ทุ่ม แจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้งท้องถิ่น รับรางวัลสูงสุด 1 ล้าน, ข่าวฐานเศรษฐกิจ thansettakij, 10 พฤศจิกายน 2563, https://www.thansettakij.com/content/politics/456228

ดู แจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้ง, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, https://www.ect.go.th/ect_th/report_corruption.php?

[13]ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ คืออะไร

ใบเหลือง คือ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต.มีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งนั้น

ใบส้ม คือ การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริตหรือทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครนั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

ใบแดง คือ การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ใบดำ คือ การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

อ้างจาก แผ่นพับประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, https://www.ect.go.th/lampang/ewt_dl_link.php?nid=447

& ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง : ประชาไท Prachatai.co, 24 มีนาคม 2562, https://prachatai.com/journal/2019/03/81692

“ใบเหลือง” คืออำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่พบชัดเจนว่ามีผู้ใดกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง ช่วงที่สอง หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

“ใบส้ม” เป็นการให้อำนาจ กกต. ดึงผู้สมัครมีที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามออกจากการเลือกตั้งชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้ามายุ่งเหยิงกับการเลือกตั้งครั้งนั้น หรือการเลือกตั้งใหม่ที่จะจัดขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรก ก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงที่สอง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง

“ใบแดง” คือ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการเพิกถอนนี้เป็นอำนาจของศาลฎีกา

[14]กกต. มีการยกเลิกคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จังหวัด) ให้มีระบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง (ผตล.) ขึ้นใหม่

ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด มีวาระ 5 ปี มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และมีอำนาจแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งการดำเนินการของพรรคการเมือง และการทุจริตเลือกตั้งด้วย

อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง

(1) ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว

(2) ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(3) เข้าไปในที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง

(4) ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตามที่ได้รับมอบหมาย

ดู ผู้ตรวจการเลือกตั้งคือใคร ทำหน้าที่อะไร?, ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ สภาผู้แทนราษฎร, กรกฎาคม 2561, http://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-041.pdf     

& การให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด, วัชราภรณ์ จุ้ยลำเพ็ญ วิทยากรชำนาญการพิเศษกลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ, 18 เมษายน 2560, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parcy_train/download/article/article_20170505131018.pdf

& ระเบียบ กกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 29 ก วันที่ 26 เมษายน 2561 หน้า 34-48, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20180430155754.pdf  

& ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 101 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 หน้า 1-4, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20181130155647.pdf

[15]มาตรา 65ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

... (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใดห้ามมิให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ...

[16]มาตรา 126 วรรคสอง “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) (4) หรือ (5) หรือมาตรา 69 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี”

[17]ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 89 ก วันที่ 26 ตุลาคม 2563 หน้า 1, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/089/T_0001.PDF  

ประกาศเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ. ใน 60 วัน ตาม หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0818.2/ว 6441 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ส่งสำเนาประกาศ กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.และนายก อบจ. เพื่อดำเนินการแจ้งการพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวให้ อบจ. ทราบต่อไป

[18]มีผู้วิพากษ์ว่าสภาผู้รับเหมาเป็นความเลวร้ายน่ากลัวมากของวงจรอุบาทว์ในสภาอบจ.การเลือกตั้งนายก.อบจ.และส.อบจ.โคราช เพื่อเข้าไปบริหารเงินงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล ถึง 4.000 ล้านบาทต่อปี อ้างอิงข่าว : สมัคร อบจ.โคราชวันสุดท้าย 155 คน 'ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี' ยังเงียบ, 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, https://www.naewna.com/local/530124

[19]ดู เขย่าเลือกตั้งท้องถิ่น, ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 29 มิถุนายน 2562, http://www.gotoknow.org/posts/662340 & เขย่าเลือกตั้งท้องถิ่น : ตอนที่ 2, ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, 13 กรกฎาคม 2562, http://www.gotoknow.org/posts/663046

หมายเลขบันทึก: 687089เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2020 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2020 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท