BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓.(จบ)


ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่

3. การกระทำเหนือหน้าที่ในลัทธิคานต์               

ลัทธิคานต์ก็เช่นเดียวกับประโยชน์นิยม จัดอยู่ในฝ่ายคัดค้านอธิกรรม ตามความเห็นของเอิร์มสันได้วิจารณ์ว่า ประโยชน์นิยมทั่วไปและลัทธิคานต์ไม่มีพื้นที่ว่างให้อธิกรรมวางไว้ได้ และเอิร์มสันได้ให้ความเห็นเบื้องต้นว่าประโยชน์นิยมแบบขยายอาจนำมาประยุกต์ใช้อธิบายอธิกรรมได้ ในส่วนของประโยชน์นิยมผู้วิจัยได้นำเสนอความเห็นของฟิลด์แมน ที่แสดงให้เห็นว่าประโยชน์เชิงกรรมมีข้อบกพร่องเรื่องอธิกรรมอย่างไร และได้นำเสนอความเห็นของโดนาแกนที่วิจารณ์ว่าแม้ประโยชน์เชิงกฎก็มีปัญหาในเรื่องอธิกรรมเช่นเดียวกัน               

ในส่วนของลัทธิคานต์ แม้มีความชัดเจนว่าไม่มีพื้นที่ว่างให้อธิกรรม แต่นักจริยศาสตร์ผู้นิยมลัทธิคานต์ก็พยายามนำเสนอว่าอธิกรรมก็สามารถเป็นไปได้ในลัทธิคานต์ จากการศึกษาบทความ ขอบเขตของหน้าที่กับการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์ของคานต์ ของวัชระ งามจิตรเจริญ และบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยพบว่ามีความเห็นเรื่องอธิกรรมในลัทธิคานต์ 5 ประการด้วยกัน คือ อธิกรรมในฐานะหน้าที่ไม่สมบูรณ์ หน้าที่ในฐานะอธิกรรมตามสามัญสำนึก อธิกรรมในฐานะคุณลักษณะทางคุณธรรม อธิกรรมมีค่าทางศีลธรรมในฐานะภาวะอิสระ และอธิกรรมในฐานะกึ่งศีลธรรม               

ผู้วิจัยจะนำเสนอแนวคิดเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นว่านักจริยศาสตร์ร่วมสมัยได้อธิบายอธิกรรมตามลัทธิคานต์ไว้อย่างไรบ้าง และความเห็นแต่ละอย่างมีข้อเด่นและข้อด้อยอย่างไร                

. อธิกรรมในฐานะหน้าที่ไม่สมบูรณ์               

แนวคิดนี้เป็นของ ฮิลล์ (Hill, Thomas E.) เขามีความเห็นว่าอธิกรรมสามารถจัดเป็นหน้าที่ไม่สมบูรณ์ได้โดยการขยายขอบเขตหน้าที่ไม่สมบูรณ์ออกไป ตามบทความ “The Limits of Kantian Duty” ที่ บารอน (Baron, Marcia) นำเสนอไว้ ฮิลล์ได้ให้ความเห็นว่าอธิกรรมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ไม่สมบูรณ์ได้ โดยการขยายขอบเขตของหน้าที่ไม่สมบูรณ์ออกไป               

ฮิลล์แยกแยะความแตกต่างระหว่างหน้าที่สมบูรณ์กับหน้าที่ไม่สมบูรณ์ว่ามีสองประเด็นด้วยกัน โดยประเด็นแรกหน้าที่ไม่สมบูรณ์เป็นหน้าที่พื้นฐานซึ่งเราจะใช้เป็นคติบทตามหลักกฎสากลเพื่อเป็นหน้าที่สมบูรณ์ได้ เช่น การไม่ละเมิดสัญญาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดซึ่งเราต้องการให้คติบทส่วนตัวของเราเป็นกฎสากล และประเด็นที่สองหน้าที่ไม่สมบูรณ์มีขอบเขตซึ่งแตกต่างจากหน้าที่สมบูรณ์ที่ไม่มีขอบเขต แต่หน้าที่ไม่สมบูรณ์ก็มีคุณค่าทางศีลธรรมอยู่เพราะขึ้นอยู่กับหลักการอื่น เช่น หลักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (principle of beneficence) ซึ่งหลักการนี้จะเปิดโอกาสให้เราเลือกกระทำตามความเหมาะสม ฮิลล์กล่าวว่า เสรีภาพในการเลือกกระทำ ก. หรือไม่ จะขึ้นอยู่กับโอกาสที่ให้ไว้” (freedom to choose to do X or not on a given occasion) นั่นคือ เราอาจเลือกได้ เช่น การละทิ้งการช่วยเหลือคนบางคนและไปช่วยเหลือคนบางคนได้ตามหลักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยขยายหลักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเราออกไป ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามจุดมุ่งหมายของเรา การขยายขอบเขตออกไปลักษณะนี้เองที่ฮิลล์มีความเห็นว่าเป็นอธิกรรมในลัทธิคานต์[1]               

บารอนได้อธิบายการใช้เหตุผลของฮิลล์เพื่อสนับสนุนแนวคิดเรื่องการขยายหน้าที่ไม่สมบูรณ์สำหรับรองรับอธิกรรมไว้ด้วย โดยฮิลล์บอกว่าคานต์ได้แบ่งแยกสิ่งที่เป็นข้อผูกพันกับสิ่งที่เป็นเพียงความดีเพื่อจะกระทำออกจากกัน และเขาให้ความเห็นว่าอธิกรรมก็คือการกระทำดีที่คานต์เรียกว่าหน้าที่ไม่สมบูรณ์นั่นเอง แต่บารอนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของฮิลล์ โดยวัชระ งามจิตรเจริญ ได้สรุปไว้ว่า บารอนก็วิจารณ์ฮิลล์ว่า ทัศนะของเขายังไม่น่าพอใจ เพราะอธิกรรมดูจะหมดคุณค่าหรือความดีที่พิเศษไป เนื่องจากยังเป็นการกระทำที่ต้องถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกของหน้าที่ และยังต้องทำตามหลักการของหน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์อีกด้วย[2]                

และวัชระ ก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดอธิกรรมไว้ในหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ดังที่เขาได้ให้ความเห็นไว้ว่า                                

การรวมอธิกรรมไว้ในประเภทของหน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์ ก็มีความขัดแย้งกัน เพราะมีลักษณะต่างกัน เนื่องจากอธิกรรมเป็นการกระทำที่เลือกได้อย่างอิสระเต็มที่ ในขณะที่หน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์ไม่ใช่การกระทำที่เลือกได้อย่างอิสระเสมอไป อีกทั้งการรวมเช่นนั้นทำให้อธิกรรมไม่ใช่อธิกรรมอีกต่อไป เพราะโดยคำนิยามอธิกรรม คือ การกระทำเหนือหน้าที่มิใช่การกระทำที่เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง และเป็นการลดคุณค่าความสำคัญของอธิกรรมลงด้วย[3]                

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า อธิกรรมจัดอยู่ในหน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์ได้ในประเด็นที่ว่าเกิดจากแรงจูงใจของหลักการอื่น เช่น หลักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งคนเราแต่ละคนได้วางขอบเขตของหลักการนี้ไว้เป็นคติบทส่วนตัวอยู่แล้วในสามัญสำนึกว่าควรจะช่วยเหลือใครอย่างไร โดยถ้าเราช่วยเหลือเกินขอบเขตที่เราวางไว้ก็จัดเป็นอธิกรรมสำหรับตัวของเราเอง ซึ่งผู้วิจัยคิดว่าฮิลล์ก็น่าจะมีความเห็นทำนองนี้ แต่แนวคิดนี้ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ เพราะในลัทธิคานต์มีเพียงหน้าที่สมบูรณ์และหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในเชิงตรรกที่ข้อผูกพันหรือหน้าที่จะเป็นอธิกรรมหรือการกระทำเหนือหน้าที่                  

. หน้าที่ในฐานะอธิกรรมตามสามัญสำนึก               

แนวคิดนี้เป็นของ ไอเซนเบิร์ก (Eisenberg, Pual) ซึ่งบารอนได้ยกมาอ้างว่าเป็นความเห็นนัยหนึ่งในลัทธิคานต์ โดยบอกว่าการกระทำบางอย่างที่คนทั่วไปมีความเห็นตามสามัญสำนึกว่าเป็นอธิกรรมนั้น แต่คานต์บ่งบอกว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นหน้าที่   บารอนก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ซึ่งวัชระ ได้สรุปแนวคิดของเขาไว้ว่า                

บารอนแย้งเหตุผลของพอล ไอเซนเบิร์ก ที่ว่าไม่มีอธิกรรมเป็นการกระทำอีกประเภทหนึ่ง ทฤษฎีของคานต์จะไม่อาจเข้ากันได้กับสามัญสำนึก (common sense ) หรือสามัญทัศน์ (common opinion) ของคนทั่วไปและขัดกับการใช้คำว่า หน้าที่ โดยทั่วไปอีกด้วย ไอน์เซนซ์เบิร์กเห็นว่า การกระทำจำนวนมากที่คานต์เห็นว่าเป็นหน้าที่ ที่จริงกลับเป็นอธิกรรม เช่น การส่งเสริมความสุขของผู้อื่น แต่บารอนแย้งว่า การใช้สามัญสำนึกของคนมักมีปัญหา คือเป็นการยากที่จะตัดสินอย่างในกรณีตัวอย่างนี้ว่า เราต้องส่งเสริมความสุขของผู้อื่น หรือการส่งเสริมความสุขของผู้อื่นเป็นเรื่องที่เลือกได้ จึงเป็นเรื่องที่จริยศาสตร์ควรทำอะไรมากกว่าเพียงแค่การนำความเห็นของคนทั่วไปมาตัดสิน[4]                  

ประเด็นว่าหน้าที่ตามลัทธิคานต์เป็นอธิกรรมนี้ ผู้วิจัยเชื่อว่านักจริยศาสตร์ร่วมสมัยอื่นๆ ก็น่าจะไม่เห็นด้วย เพราะแนวคิดเรื่องหลักศีลธรรมและหน้าที่ตามลัทธิคานต์มีเกณฑ์ตัดสินวางไว้ มิใช่ใช้สามัญสำนึกมาตัดสิน เช่น ฮีดได้ให้ความเห็นว่า จริยศาสตร์คานต์มีพื้นฐานอยู่ที่การประมวลกฎทางศีลธรรมทั้งหมดไว้เป็นหนึ่งเดียวและบ่งบอกไว้เป็นหน้าที่ ซึ่งจะเป็นเครื่องเปิดเผยคุณค่าการกระทำของมนุษย์ นั่นคือ ความสามารถเป็นสากลได้แห่งคติบทของการกระทำและการกระทำจากความสำนึกในหน้าที่ สองอย่างนี้จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญซึ่งบ่งชี้การกระทำทางศีลธรรมของมนุษย์ แต่นัยสำคัญทั้งสองอย่างนี้ขัดแย้งกับอธิกรรมซึ่งเป็นสิ่งเลือกได้และเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนใดคนหนึ่งยึดถือไว้[5]               

ตามความเห็นของฮีด ลัทธิคานต์มีเกณฑ์ตัดสินอยู่ที่กฎทางศีลธรรมและความสำนึกในหน้าที่ซึ่งมีลักษณะเป็นปรวิสัย ต่างกับอธิกรรมที่บ่งบอกว่าเป็นสิ่งเลือกได้และเป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งมีลักษณะเป็นอัตวิสัย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นว่าเราจะใช้สามัญสำนึกมาตัดสินว่าหน้าที่ตามลัทธิคานต์เป็นอธิกรรมตามสามัญสำนึกไม่ได้ กล่าวได้ว่าแนวคิดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวไอเซนเบิร์กเท่านั้น                

. อธิกรรมมีค่าทางศีลธรรมในฐานะภาวะอิสระ                 

ภาวะอิสระเป็นรูปแบบหนึ่งของคำสั่งเด็ดขาดซึ่งผู้นิยมลัทธิคานต์ได้นำมาใช้เพื่อชี้ให้เห็นว่าอธิกรรมมีค่าทางศีลธรรมตามลักษณะของภาวะอิสระ เช่น ฮีดมีความเห็นว่าอธิกรรมเป็นการกระทำที่ เลือกได้และสมัครใจอย่างเบ็ดเสร็จ (totally optional and voluntary) นั่นคือ อธิกรรมเป็นการกระทำจากเสรีภาพของปัจเจกชนนั้นเอง ซึ่งประเด็นนี้ตรงกับรูปแบบภาวะอิสระ อธิกรรมจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางศีลธรรมตามลัทธิคานต์ได้ แต่บารอนก็แย้งประเด็นนี้โดยยกฮีดขึ้นมาเป็นตัวอย่าง  ซึ่งวัชระ ได้สรุปความเห็นของบารอนไว้ว่า                

นอกจากนั้น บารอนยังแย้งฮีดอีกด้วย ฮีดอ้างว่าอธิกรรมสามารถพิสูจน์ว่ามีค่าทางศีลธรรมโดยชี้ให้เห็นอิสรภาพของปัจเจกชน ที่เกี่ยวข้องในการเลือกล้วนๆ ความสามัคคีทางสังคมที่เกิดจากพฤติกรรมแบบอธิกรรม และความมีเหตุผลของพฤติกรรมที่ตั้งใจเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนรวม ตราบที่การทำหน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์ไม่ใช่การเลือกล้วนๆ ข้ออ้างนี้ก็ดูเหมือนจะให้ข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนอธิกรรมได้เข้มแข็งกว่าข้อโต้แย้งเพื่อสนับสนุนหน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์ แต่ข้ออ้างนี้อาศัยข้อสมมติฐาน ซึ่งมีปัญหายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ คือ ข้อสมมติฐานที่ว่าอิสรภาพเข้ากับการบังคับทางศีลธรรมไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างที่คานต์ถือ คือการบังคับทางศีลธรรมมาจากภายในของแต่ละคน และเป็นการแสดงออกของอิสรภาพมากกว่าที่จะขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงที่ว่าอธิกรรมเป็นการเลือกล้วนๆ ในขณะที่หน้าที่ชนิดไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่การเลือกล้วนๆ นั้นก็จะมีความเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อย ข้อโต้แย้งนี้จึงยังไม่มีพลังพอ[6]                

ผู้วิจัยเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ เพราะอิสระภาวะตามลัทธิคานต์นั้นมีไว้เพื่อรองรับการบังคับทางศีลธรรมซึ่งเป็นข้อผูกพันหรือหน้าที่ มิใช่เป็นอิสระภาวะโดยปราศจากกฎเกณฑ์อื่นๆ ฉะนั้นการให้ค่าทางศีลธรรมแก่อธิกรรมโดยภาวะอิสระจะแย้งกับข้อผูกพันทางศีลธรรม เพราะลัทธิคานต์มีสองอย่างนี้ประกอบกัน ซึ่งชูแมกเกอร์ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังที่เขาอธิบายว่า                 

คานต์บอกว่าแหล่งของข้อผูกพันทางศีลธรรมก็คือกฎทางศีลธรรมซึ่งขึ้นอยู่กับเหตุผลเชิงปฏิบัติของผู้กระทำและยังขึ้นอยู่กับเจตจำนงเสรีของผู้กระทำอีกด้วย โดยกฎศีลธรรมเป็นคำสั่งให้กระทำ มิใช่การใช้เสรีภาพของผู้กระทำในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะคานต์ได้สร้างความสามารถในการรับผิดชอบและข้อผูกพันทางศีลธรรมให้สอดคล้องกัน กล่าวคือ หลักเสรีภาพของผู้กระทำมิใช่เป็นเพียงคุณธรรมของสิ่งที่เขารับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งของข้อผูกพันอีกด้วย[7]                

อนึ่ง ผู้วิจัยยังมีความเห็นว่าการให้ค่าทางศีลธรรมแก่อธิกรรมโดยภาวะอิสระนี้ ยังมีข้อบกพร่องเรื่องความชั่วเล็กน้อยอีกด้วย ซึ่งชิสโฮลม์เรียกว่า การกระทำชั่วที่ยินยอมได้ หรือ ข้อขัดคือง ดังที่เตรียโนสกียกตัวอย่างไว้ว่า ถ้ามีคนมาชักชวนให้เราบริจาคหรือชักชวนเราไปร่วมเดินขบวนต่อต้านการทำแท้ง ซึ่งเรารู้ว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่เลือกได้ในเชิงอธิกรรม หรือเรามีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกจะกระทำหรือไม่กระทำ แต่ถ้าเราปฏิเสธว่าไม่มีเงินสำหรับบริจาค หรือมีงานยุ่งทั้งวันไม่สามารถไปร่วมเดินขบวนต่อต้านการทำแท้งได้ เราจะรู้ตามสามัญสำนึกว่าเป็นความผิดหรือความชั่วเล็กๆ น้อยๆ ของเรา นั่นคือ การให้ค่าทางศีลธรรมแก่อธิกรรมโดยภาวะอิสระอาจมีความชั่วเล็กๆ น้อยๆ แอบแฝงอยู่ ถ้าหากว่าเราละเลยไม่กระทำ[8]               

ดังนั้น การให้ค่าศีลธรรมแก่อธิกรรมโดยภาวะอิสระตามลัทธิคานต์ก็ยังมีข้อโต้แย้งได้ ซึ่งผู้นิยมลัทธิคานต์ก็จะต้องปรับปรุงต่อไป                   

. อธิกรรมในฐานะคุณลักษณะทางคุณธรรม               

แนวคิดนี้เป็นของบารอน โดยเธอมีความเห็นว่าปัญหาเบื้องต้นของอธิกรรมเกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้ว่าการกระทำเช่นใดคืออธิกรรม กล่าวคือ การกระทำที่ต้องใช้เวลามาก กระทำได้ยาก หรือใช้ความเสียสละอย่างสูงมากเพียงใดจึงควรได้ชื่อว่าอธิกรรม นั่นคือ อธิกรรมมีความคลุมเครือไม่แน่นอน แต่เราสามารถให้คุณลักษณะพิเศษของผู้กระทำคือคุณธรรมได้ตามลัทธิคานต์ ซึ่งวัชระ ได้อธิบายไว้ว่า                

บารอนเห็นว่าสิ่งควรได้รับสถานภาพพิเศษคือคุณลักษณะหรือคุณสมบัติ (characters) ของคนนั่นก็คือคุณธรรม (virtue) ไม่ใช่การกระทำ บารอนอธิบายว่าเรามีวิธีเก่าอยู่วิธีหนึ่งในการให้สถานภาพพิเศษทางศีลธรรมความประพฤติของบุคคลพิเศษอย่างแม่ชีเทเรซ่า นั่นคือเราจะพูดถึงคุณธรรมหรือคุณลักษณะของพวกเขา คานต์เองก็ใช้วิธีนี้อยู่ด้วยเช่นกัน หนังสือ Doctrine of Virtue ของคานต์ก็เกี่ยวข้องกับคุณธรรม การที่คานต์มองคุณธรรมว่า เป็นพลังของคติ (maxim) ของบุคคลในอันที่จะทำหน้าที่ของตน อาจจะทำให้ดูเหมือนว่าการพิจารณาที่คุณธรรมของคนบางคนที่ทำหน้าที่ชนิดสมบูรณ์ โดยยอมเสียสละตัวเองอย่างมากเป็นการดีกว่าการพิจารณาความดีอย่างพิเศษของคนคนหนึ่งเปรียบเทียบกับของอีกคน[9] 

 ความเห็นของบารอนซึ่งนำเอาคุณลักษณะทางศีลธรรมที่คานต์อธิบายไว้ในหนังสือ Doctrine of Virtue มาอธิบายอธิกรรมนี้ แมคคาร์ที (MaCarty) วิจารณ์ว่า เป็นการย้ายปัญหาเรื่องอธิกรรมในลัทธิคานต์ ดังที่วัชระ สรุปไว้ว่า                

แมคคาร์ทีเห็นว่า เพราะบารอนปฏิเสธความแตกต่างระหว่างการกระทำที่เป็นหน้าที่และที่เป็นอธิกรรม เธอจึงเท่ากับปฏิเสธความแตกต่างทางศีลธรรมระหว่างคุณธรรมของบุคคลที่ทำหน้าที่ด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่กับคุณธรรมของบุคคลที่ทำยิ่งกว่าหน้าที่ด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น การปฏิเสธการกระทำที่เป็นอธิกรรมของบารอนจึงเกิดปัญหาเรื่องความแตกต่างทางด้านคุณธรรมที่เชื่อกันมาแต่เดิม การเปลี่ยนจากการกระทำมาเป็นคุณลักษณะทางคุณธรรมของบารอนจึงไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นเพียงการย้ายที่ของปัญหาเรื่องอธิกรรมในจริยศาสตร์ของคานต์[10]                

 ผู้วิจัยเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของแมคคาร์ที เพราะทฤษฎีจริยศาสตร์ได้จัดลัทธิคานต์อยู่ในประเภท รูปแบบนิยม (formalism)* ซึ่งยึดถือรูปแบบความจำเป็นทางตรรกะ มิได้ยึดถือเนื้อหาคือคุณลักษณะหรืออุปนิสัยของผู้กระทำเป็นเกณฑ์ และความเห็นนี้ก็สอดคล้องกับชูแมกเกอร์ โดยเขามีความเห็นว่าลัทธิคานต์มีข้อบกพร่องเรื่องอธิกรรมเพราะคานต์ให้ความสำคัญที่รูปแบบของการกระทำ มิได้ยึดถือเนื้อหาของการกระทำ แต่อธิกรรมเน้นที่เนื้อหาคือคุณธรรมของผู้กระทำซึ่งเป็นลักษณะของจริยศาสตร์คุณธรรม[11]               

ส่วนวัชระ มีความเห็นว่าแนวคิดของบารอนก็มีข้อบกพร่อง ดังที่เขาได้ให้ความเห็นไว้ว่า                

ทัศนะของบารอนที่ถือว่า ไม่มีขอบเขตของหน้าที่ในจริยศาสตร์ของคานต์ แต่เรื่องอธิกรรมหรือการกระทำอันยิ่งใหญ่ของนักบุญหรือวีรบุรุษก็สามารถอธิบายได้โดยถือว่าเป็นเรื่องของคุณธรรมก็มีข้อบกพร่อง เพราะคุณธรรมเป็นเรื่องที่โยงอยู่กับการทำหน้าที่ จึงไม่อาจหาที่ว่างสำหรับอธิกรรมในเรื่องคุณธรรมของคานต์ นอกจากเราจะถือว่ามีคุณธรรมที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่แต่เกี่ยวกับการกระทำเหนือหน้าที่อยู่ด้วยซึ่งนั้นไม่ใช่ทัศนะของคานต์ หรือถึงยอมรับก็จะเกิดปัญหาในเรื่องค่าทางศีลธรรม เพราะคุณธรรมที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่จะไม่มีค่าทางศีลธรรม และอธิกรรมที่เป็นคุณธรรมประเภทหนึ่งก็จะไร้ค่าทางศีลธรรมไปด้วย[12]                

แนวคิดของบารอนที่นำเอาลักษณะทางคุณธรรมของคานต์มาอธิบายอธิกรรมตามที่นำเสนอมา ตามความเห็นของผู้วิจัยมองว่าประเด็นอยู่ที่รูปแบบของการกระทำ ความหมายของค่าทางศีลธรรม และลักษณะทางคุณธรรมตามแนวคิดของคานต์ ซึ่งท้าทายให้ผู้นิยมลัทธิคานต์ศึกษาต่อไป                

. อธิกรรมในฐานะกึ่งศีลธรรม               

แนวคิดนี้เป็นของแมคคาร์ที โดยเขาใช้แนวคิดเชิงสุนทรียศาสตร์และจริยศาสตร์ของคานต์มาอธิบายอธิกรรม และกำหนดว่าอธิกรรมควรมีสภาพเป็น กึ่งศีลธรรม (quasi-moral) ตามลัทธิคานต์ แต่ผู้วิจัยมีความเห็นว่าการให้ค่าสถานภาพกึ่งศีลธรรมแก่อธิกรรมของแมคคาร์ทีเป็นประเด็นซับซ้อนและลึกซึ้งเกินกว่าจะนำเสนอให้เข้าใจแจ่มแจ้งได้ ดังนั้น จะนำเสนอแต่เพียงข้อความเบื้องต้นและข้อสรุปที่วัชระ อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า                

แมคคาร์ทีเชื่อว่า ความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างจริยศาสตร์ของคานต์กับทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์เรื่องสิ่งสูงส่งสามารถมอบสถานภาพกึ่งศีลธรรมแก่การกระทำที่ดีในความหมายที่เกี่ยวข้องกัน ถึงแม้จะไม่ใช่การกระทำที่จำเป็นทางศีลธรรม สถานภาพทางศีลธรรมนี้ของอธิกรรมไม่ใช่ค่าทางศีลธรรมแบบของคานต์ แต่ในทัศนะแบบคานต์มันเป็นสถานภาพ กึ่งศีลธรรม ของความเป็นสิ่งสูงส่ง (sublimity) ที่เป็นสิ่งสุนทรียะประเภทหนึ่ง ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับศีลธรรมผ่านทางการกระตุ้นความรู้สึกทางศีลธรรม (moral feeling) ของสิ่งทั้งสองนั้น นั่นคือ การประสบสิ่งสูงส่งสามารถกระตุ้นความรู้สึกทางศีลธรรมได้ เช่นเดียวกับข้อบังคับทางศีลธรรม (moral imperatives)เพราะแหล่งที่มาของความรู้สึกทางศีลธรรม ก็คือ ภาวะอุตรวิสัย (transcendence) ของเหตุผลหรือเหตุผลบริสุทธิ์ในโลกเหนือปรากฏการณ์ (noumenal world) ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการนำทางของการประสบกับสิ่งสูงส่งหรือการบังคับทางศีลธรรม สิ่งทั้งสองนี้จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึกทางศีลธรรมเหมือนกัน จึงมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด[13]                

โดยสรุป ตามทัศนะของแมคคาร์ที อธิกรรมสามารถมีสภาพกึ่งศีลธรรม ได้ เพราะเป็นสิ่งสูงส่งอย่างหนึ่ง ที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกถึงสิ่งสูงส่งที่เขาเห็นว่าเป็นอันเดียวกับความรู้สึกทางศีลธรรม เนื่องจากเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเข้าถึงเหตุผลบริสุทธิ์หรืออิสรภาพอันเป็นลักษณะของโลกเหนือปรากฏการณ์เหมือนกัน และภาวะเหนือโลกของเหตุผลดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางศีลธรรม เมื่ออธิกรรมมีสถานภาพกึ่งศีลธรรม ก็ทำให้เราสามารถให้คุณค่าทางศีลธรรมแก่อธิกรรมได้[14]                

วัชระ ได้นำเสนอข้อคัดค้านความเห็นของแมคคาร์ที 3 ประการ  คือ

1) สภาพกึ่งศีลธรรมของอธิกรรมมีสภาพเช่นใดยังขาดความชัดเจน เพราะเราเข้าใจแต่เพียงความมีศีลธรรม ไม่มีศีลธรรม หรือมีศีลธรรมน้อยหรือมากเท่านั้น                

2) แมคคาร์ทีเห็นว่า ความรู้สึกทางศีลธรรมเป็นอันเดียวกับการความรู้สึกที่เกิดจากการประสบกับสิ่งสูงส่ง เพราะเป็นตัวเชื่อมโยงมนุษย์กับอิสรภาพหรือโลกที่ปรากฏของเหตุผลเหมือนกัน  แต่วัชระ เห็นว่าความรู้สึกสองอย่างนี้มิได้เป็นความรู้สึกเดียวกันเสมอไป เช่น ความรู้สึกมีเมตตากับความรู้สึกมีชื่อเสียง สองอย่างนี้นำไปสู่การคิดบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ยากเหมือนกัน แต่เจตนาและการกระทำย่อมแตกต่างกันตามความรู้สึก ดังนั้น เขาจึงแย้งว่า แมคคาร์ทีต้องแก้ไขเรื่องความเหมือนกันของความรู้สึกทั้งสองนี้ และชี้ให้เห็นว่าอธิกรรมเป็นสิ่งสูงส่งได้อย่างไรด้วย               

3) แม้ยอมรับว่าอธิกรรมมีสถานภาพกึ่งศีลธรรม แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องค่าทางศีลธรรม ซึ่งแมคคาร์ทียอมรับว่า คุณค่าทางศีลธรรมที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของอธิกรรมไม่อาจแทนที่หน้าที่ และความรู้สึกทางศีลธรรมก็ไม่ได้แทนที่ค่าทางศีลธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้อธิกรรมก็ยังไม่มีค่าทางศีลธรรมเหมือนเดิม[15]                

อนึ่ง วัชระ งามจิตรเจริญ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับอธิกรรมในลัทธิคานต์ไว้ว่ามีอยู่สองทางเลือก คือ การยอมรับว่าลัทธิคานต์มีข้อบกพร่องในเรื่องอธิกรรมเพราะไม่มีที่ว่างให้อธิกรรมอยู่ได้โดยไม่ทำให้ค่าทางศีลธรรมของอธิรรมเสียหาย หรือจะต้องปรับแก้แนวคิดเรื่องหน้าที่ในลัทธิคานต์ ซึ่งเขาได้เสนอวิธีการปรับแก้ไว้สองประการ คือ ลัทธิคานต์ต้องยอมรับว่ามีอธิกรรมซึ่งมีค่าทางศีลธรรมอยู่ด้วย และแก้ลักษณะความหมายของอธิกรรมว่าเป็นการกระทำหน้าที่ชนิดพิเศษ โดยเปลี่ยนความหมายของ หน้าที่ หรือ อธิกรรม แล้วก็ขยายขอบเขตของหน้าที่ออกไป และจัดให้อธิกรรมมีค่าสูงส่งเหนือหน้าที่ธรรมดา[16] 

4. สรุป               

แนวคิดจริยศาสตร์ของคานต์มีเพียงหน้าที่สมบูรณ์และหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งคานต์บอกว่าการกระทำจะมีค่าทางศีลธรรมได้จะต้องเป็นหน้าที่สมบูรณ์เท่านั้น ส่วนหน้าที่ไม่สมบูรณ์อาจมีคุณค่าได้ตามหลักการอื่น เช่น ความเมตตาปราณี หรือความเสียสละ เป็นต้น โดยหน้าที่ตามลัทธิคานต์มีสภาพบังคับตามคำสั่งเด็ดขาดหรือคำสั่งมีเงื่อนไข แต่อธิกรรมบ่งความว่า เหนือหน้าที่และขาดสภาพบังคับเพราะเป็นสิ่งที่เลือกได้ ดังนั้น อธิกรรมจึงเข้ากันไม่ได้กับลัทธิคานต์เพราะขัดแย้งกับของมโนทัศน์พื้นฐานทั้งสองนี้ และความเห็นเกี่ยวกับอธิกรรมในลัทธิคานต์ที่นำเสนอมาบ่งบอกว่ามีข้อบกพร่องเรื่องความหมายของหน้าที่หรือค่าศี

หมายเลขบันทึก: 68682เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ปรีชาพล ชูชัยมงคล

ขอบคุณครับท่านมหาชัยวุฒิ ผมเรียนรัฐศาสตร์การปกครองปี.3มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนาครับ

ไม่มีรูปปรีชาพล ชูชัยมงคล

 

  • อนุโมทนาสำหรับการลงชื่อมาเยี่ยม...

เรื่องนี้ ยากส์ ขนาดเขียนเอง ไม่ได้อ่านหลายปีแล้ว กลับมาอ่านใหม่ผ่านๆ ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ต้องอ่านแล้วค่อยๆ คิดไปทุกวรรค จึงจะรู้เรื่อง (ไม่เหมือนตอนเขียนเสร็จใหม่ๆ กล้าท้าเลยว่า ถามจุดไหนก็รู้เรื่อง 5 5 5...)

ถ้าต้องการอ่านวิทยานิพนธ์ทั้งเล่ม ก็อาจค้นหาอ่านได้จากห้องสมุด ม.ช. (ยังสงสัยอยู่ว่า นอกจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว จะมีใครเคยอ่านจบบ้าง 5 5 5)

เจริญพร

นมัสการท่านมหาชัยวุฒิ ดิฉันเป็นนักศึกษา ปี 4 มาหาอ่านเพิ่มเติมเพื่อไปสอบปลายภาควิชาจริยศาสตร์ ท่านเรียบเรียงลัทธิคานท์ได้เข้าใจทีเดียว ขอบคุณค่ะ

นมัสการท่านมหาชัยวุฒิ ดิฉันเป็นนักศึกษา ปี 4 มาหาอ่านเพิ่มเติมเพื่อไปสอบปลายภาควิชาจริยศาสตร์ ท่านเรียบเรียงลัทธิคานท์ได้เข้าใจทีเดียว ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท