ประโยชน์ของจิตใจงาม



ข่าว VOA ภาคภาษาไทย ฟังทางวิทยุจุฬา เช้าวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๓    เล่าเรื่องผลทางสุขภาวะของการมีจิตใจงาม    ฟังได้ที่ (๑) โดยเริ่มที่ ๕๐ นาที ๓๐ วินาที    บทความใน VOA เอ่ยถึงศาสตราจารย์ Michael McCullough นักจิตวิทยาแห่ง UCSD ที่บอกว่ามนุษย์มีความมีน้ำใจอยู่ในตัว เช่นเดียวกันกับที่มีอารมณ์อื่นๆ เช่น ความโกรธ ความลุ่มหลง ความเศร้าโศก ความแค้น    และผมมีความเห็นต่อว่า คนเราฝึกฝนให้ความมีน้ำใจเป็นเจ้าเรือนได้ 

  ข่าวเอ่ยถึง Bryant Hare แห่งมหาวิทยาลัย Duke   ผู้เขียนหนังสือ Survival of the Friendliest : Understanding Our Origins and Rediscovering Our Common Humanity   ที่บอกว่า  ความเมตตาปราณี ความมีน้ำใจ ความเป็นมิตรมีผลต่อความอยู่รอดของสายพันธุ์    ข้อสรุปนี้ได้จากการศึกษาในสิ่งมีชีวิตตั้งแต่แบกทีเรีย ไปจนถึงลิง พบว่ายิ่งมีเพื่อนมาก ช่วยเหลือเพื่อนมาก ก็จะยิ่งมีความสำเร็จมากขึ้นเพียงนั้น    ผมเคยอ่านพบว่า ต้นไม้ก็ช่วยเหลือกัน (๑)

ข่าวอ้างถึง Oliver Curry นักมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการ Kindlab แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ที่กล่าวว่า ความเมตตาปราณีเป็นสิ่งที่คู่กับความเป็นมนุษย์  มีมาก่อนศาสนา    ความมีน้ำใจเป็นสิ่งสากล  เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงต้องมีเมตตา  และได้ประโยชน์จากความมีเมตตาของตนเอง    คุณค่าของความเมตตาเหนือสิ่งอื่นใด         

 ศาสตราจารย์ Anat Bardi  นักจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัย ลอนดอน ได้ทำวิจัยสอบถามคนจำนวนมากว่า ค่านิยมเหล่านี้ของมนุษย์ ตัวไหนสำคัญที่สุด   ความเมตตา ความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ความยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณี ความมั่นคงปลอดภัย เรียกร้องความยุติธรรม แสวงหาอำนาจ    ผลการวิจัยบอกว่า คนเลือกความเมตตามากที่สุด               

ศาสตราจารย์ Sonja Lyubomirski นักจิตวิทยาเชิงบวกแห่ง UC Riverside ทำการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างคน ๒ กลุ่ม    กลุ่มแรกให้ทำสิ่งดีๆ มีเมตตา มีน้ำใจ เล็กๆ น้อยๆ ต่อผู้อื่น สัปดาห์ละ ๓ ครั้ง    กลุ่มหลังให้ทำสิ่งดีๆ  ต่อตนเอง สัปดาห์ละ ๓ ครั้ง     แล้ววัดความสุข    พบว่ากลุ่มทำดีต่อผู้อื่นมีความสุขมากกว่า      ยิ่งกว่านั้น ท่านยังศึกษาผลของการมีน้ำใจต่อคนเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง พบว่าการปฏิบัติความมีน้ำใจช่วยให้กล้ามเนื้อมีแรงมากขึ้น   นอกจากนั้นยังพบว่าช่วยให้กระบวนการอักเสบภายในร่างกายลดลง    เว็บไซต์สรุปงานวิจัยของท่าน (๒)น่าสนใจมาก          

สรุปว่า การมีจิตใจงามช่วยให้สุขภาวะทางกายดี

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ส.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 681911เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2020 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2020 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท