ทัศนและวิสัยพื้นบ้าน ๒


บ้านดอนม่วงเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาคุยกันเพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงการที่ใช้เวลาอยู่หลายปีจึงสำเร็จ

แม่พรเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ มบ้านดอนม่วง อำเภอเมือง เป็นน้องใหม่เพราะเพิ่งเข้าร่วมกับเพื่อน ๆ ในโครงการปลายปี ๔๗

 

เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาคุยกันเพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมโครงที่ใช้เวลาหลายปีจึงสำเร็จ ด้วยความที่ดิฉันมีนาอยู่ที่บ้านนี้ตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว เพราะตนเองก็สนใจเรื่องการทำนาธรรมชาติซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก หนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว  ที่อ่านแล้วก็รู้สึก แหม....แนวทางสูงส่ง สร้างเสริมจิตใจเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ทำนองนั้น แต่เมื่อไปทำเข้าจริง   ๆ ก็รู้ว่าตัวเองทำไม่ไหว ปลูกต้นไม้อยู่หลายปี ก็เป็นพวกแม่พร และชาวบ้านแถบนั้นแหละมาช่วยปลูกให้ ( ดิฉันช่วยค่าแรง )   แล้วมันก็ตาย ทำนาก็ให้อ้ายแตที่อยู่ติดกันช่วยทำแล้วแบ่งข้าวกันคนละครึ่ง ในนาก็ปลูกหลายอย่าง ให้ชาวบ้านกิน เพราะนาน ๆ  ทีถึงจะได้ออกไปนา จะทำจริง ๆ ก็ไม่ได้ทำ เกินกำลังของตนเอง ก็เลยปลงใจตัวเองว่า คงทำได้แค่นั้น ก็เลยทำที่บ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน ปลูกต้นไม้ให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ในที่สองงาน ก็ทำให้ได้เรียนรู้ และเกิดความคิดอ่านที่แตกยอดไปเรื่อย ๆ   มาถึงตอนนี้จึงได้เข้าใจ เมื่อก่อนรู้สึกสงสัยว่า เวลาไปบ้านครูบาสุทธินันท์ทีไร บริเวณรอบ ๆ สวน รอบบ้านครูเปลี่ยนแปลงหน้าตาตลอดเวลาทุกครั้งที่ไป ไม่เคยอยู่กับที่เลย  พอมาถึงตัวเองถึงได้รู้ว่า เมื่อได้ลงมือทำแล้วความคิดอ่านมันก็จะเกิดจากการลองทำนั้นและเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปได้เรื่อย ๆ

 

ชาวบ้านก็มิได้ชื่นชมในการพยายามอย่างกระปริบกระปรอยของดิฉันที่จะทดลองทางด้านการเกษตร แต่เขาสงสัยและสงสาร สงสัยที่ดิฉันทำให้เหนื่อยทำไม ไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด ต้นไม้ที่ปลูกไว้ที่รอด ตัวเองก็ไม่ได้มากิน คนอื่นกินแทน ไม่ได้เกิดงอกเงยเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด  ส่วนที่สงสารคือเงินที่เอามาจ่ายนั่นนี้เหมือนกับสูญเปล่า ไม่เกิดผลอันใด แต่ที่ได้คือคำร่ำลือเกี่ยวกับตัวดิฉัน  " น้าตุ๊แกชอบปลูกต้นไม้ แกรักต้นไม้ ใครจะกินก็ได้แต่ฟัน อย่างทำลาย " และก็อาจจะชอบที่จะได้มารับจ้างปลูกต้นไม้ให้ดิฉัน

สัมพันธภาพที่ดิฉันมีอยู่เดิมกับแม่พร อ้ายแต อ้ายจันทร์( เจ้าของที่เดิม ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตแล้ว) และชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่เคยมาร่วมปลูกต้นไม้ให้เป็นฐานนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงเมื่อคราวที่จะค้นหาคนมาร่วมโครงการ  จำที่ท่านอาจารย์เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่ทำงานโครงการที่บุรีรัมย์ร่วมกับครูบาทั้งสามท่าน ครูบาสุทธินันท์ พ่อคำเดื่อง พ่อผาย  " ถ้าได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ มีไร่นาในพื้นที่นั้นเลย ก็ถือว่าเป็นอุดมคติ งานกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน "   ก็ทำให้ดิฉันคิดว่า ต้องพยายามหา "คน" ที่อยากจะพัฒนาตนเอง พึ่งตนเอง ซึ่งยากมากสำหรับบ้านดอนม่วง ไปคุยกันหลายรอบ ก็ไม่มีใครสนใจ และประโยชน์ส่วนตัวที่ดิฉันจะได้รับพ่วงมาด้วยคือจะได้มีโอกาสไปไร่นาของตนเองบ่อยขึ้น จนกระทั่งปี ๔๗  ก็พยายามคุยกับอ้ายแตอีก และนัดกันมาคุยที่บ้านแม่พร ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยเคมีที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

คนที่สนใจเดิมคืออ้ายแต ซึ่งแกไม่ได้ปุ๋ยเคมีอยู่แล้วเพราะแกเลี้ยงวัวเยอะมีปุ๋ยคอกไว้ใช้เอง พวกเราเห็นว่ามีแค่หนึ่งคนน้อยเกินไป ควรจะเป็น ๖-๗  คนขึ้นไป เวลาเดินทางไปประชุมต่างพื้นที่จะได้มีเพื่อนร่วมทาง และคุ้มกับการร่วมประชุมแต่ละครั้ง ซึ่งก็ต้องโอ้โลมปฏิโลมกันอยู่นาน จึงได้ทดลองเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ

 

คนไม่อยากเข้าร่วมโครงการเพราะ ไม่อยากไปประชุม คิดว่าการประชุมเสียเวลา ( ไม่รู้เวลาเอาไปทำอะไร ) แต่อยากได้ปุ๋ยหมัก อยากซื้อปุ๋ยหมัก คิดว่าทำแล้วก็ไม่ได้เงิน 

 

ตกลงก็ได้คนเข้ามาร่วมโครงการ ๖ คน ซึ่งก็ไม่เสียแรงเลย เมื่อได้ทดลองทำปุ๋ยหมักใช้ในปีแรกแล้ว ทุกคนต่างก็มีคอกปุ๋ยหมักประจำบ้านทำปุ๋ยหมักใช้แต่ละปีได้มากกว่าปีละ  ๒  ตัน   นับเป็นน้องใหม่ไฟแลบทำท่าจะแซงหน้ารุ่นพี่เสียดวยซ้ำ โดยไม่ต้องผลักดันให้มากเลย

หมายเลขบันทึก: 68159เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2006 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เล่าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะแตกตาแตกหน่อไปเองแหละครับ

ประเด็น KM จะมาจากการฝึกคิด ฝึกดู จนเกิดทักษะในการคิด ในการดู และกล้าเล่าให้คนอื่นฟังในมุมของ KM

ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดอะไรในสิ่งที่คุณตุ๊ทำมาอยู่แล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท