ทำงานหนุนจิตตปัญญาศึกษา (๒)



ผมเขียนบันทึกชื่อ ทำงานหนุนจิตตปัญญาศึกษาไว้ที่ (๑)เมื่อสองปีที่แล้ว    วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยประชุมแบบ Video Conference (Webex Meeting)    ได้ประสบการณ์ App ประชุมทางไกลอีกตัวหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่า สู้ Zoomไม่ได้    แต่ก็ได้รู้ว่า มหาวิทยาลัยมหิดลใช้ MS Teams เป็นหลัก  

ได้รับรู้เรื่องเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ ๑๔ ที่จะจัดระหว่างวันที่ ๗ – ๑๑ กันยายน ๒๕๖๓    ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาร่วมกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุม   ซึ่งเดิมวางแผนใช้สถานที่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา     เป็นที่ชัดเจนว่า คงจะจัดแบบเดิมไม่ได้    คงจะต้องจัดแบบทางไกลเป็นหลัก   

มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังดำเนินการควบรวมศูนย์จิตตปัญญาศึกษากับสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้    ผมให้ความเห็นว่าทั้งสองหน่วยงานทำงานด้านการเรียนรู้เช่นเดียวกัน    โดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษาทำเรื่องการเรียนรู้ด้านใน    สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ทำเรื่องการ transform การเรียนรู้ทุกด้าน     ควรดำเนินการควบรวมให้เกิดการการสร้าง synergy   และเข้าสู่ชีวิตจริงของคนทั้งมวลตลอดชีวิต

วาระรับรองรายงานการเงิน ตอนแรกผมคิดว่าหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่เลี้ยงตัวเองได้    แต่เมื่อดูลงไปในรายละเอียด สองในสามของรายได้มาจากเงินสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหิดล    ผมจึงเสนอให้ศูนย์ดำเนินการหารายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น    เพราดูจากรายงานการทำงาน มีงานหลายด้านที่มีลู่ทางหาเงินมาทำงานได้       

ตัวอย่างเช่น ร้านสุกี้ เอ็มเค ทำโครงการจากใจสู่ใจ    ให้เงินสนับสนุนโครงการ ๒ ล้านบาท ให้ศูนย์ฯ ดำเนินการอบรมผู้ต้องขังให้สามารถออกมาทำงานในสังคมได้ เมื่อหมดโทษ    เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมยิ่ง    นอกจากนั้น ศูนย์ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อีกมากทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาจิตใจด้านใน

มีการนำเสนอหลักการความร่วมมือจัดหลักสูตรระดับปริญญาโท ศิลปะการแสดงเพื่อการพัฒนามนุษย์ (Performance Arts for Human Development) เป็น joint degree  ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ. สวนสุนันทา    และคณะกรรมการได้ให้ข้อมูลสำหรับนำกลับไปพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพสูง    ผมเสนอให้มีวิชาด้าน neuroscience ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่า การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีจังหวะและทำร่วมกันเป็นทีมมีผลพัฒนาสมองมนุษย์อย่างไร   

ศูนย์มีความร่วมมือกับแผนสุขภาวะทางปัญญา ของ สสส. มาก    และมีกรรมการแนะนำว่า ในยุควิกฤตโควิด ๑๙    สสส. ยิ่งมีความต้องการมากขึ้น    วิกฤตนี้ช่วยให้เราตระหนักว่า สขุภาวะทางปัญญาด้านในมีความสำคัญมากต่อชีวิตที่ดี    

เมื่อมีการหารือเพื่อหารายชื่อผู้สมควรเชื้อเชิญมาเป็นกรรมการอำนวยการของศูนย์ รศ. ประภาภัทร นิยม เล่าว่าที่ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) มีสำนักงานพระสอนศีลธรรม    โดยทำงานร่วมกับมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.)     มีพระทำงานทั่วประเทศถึง ๑๘,๐๐๐ รูป    มีพระแกนนำอยู่กว่า ๒๐ รูป    มีพระศรีธรรมภาณีเป็นผู้นำ      

การทำหน้าที่ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ช่วยให้ผมได้รับรู้เรื่องดีๆ    ให้ความสุขใจ    ที่จริงยังมีกิจกรรมดีๆ มีคุณภาพสูงในเว็บไซต์ของศูนย์ (๒)อีกมาก    

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 678038เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2020 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2020 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท