พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๓ (พระสูตร เล่มที่ ๕) เรื่องที่ ๕๘. อภยราชกุมารสูตร เรื่องคำใดควรกล่าวและไม่ควรกล่าว


๕๘. อภยราชกุมารสูตร  เรื่องคำใดควรกล่าวและไม่ควรกล่าว

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแตเขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่าอภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ทรงไหว้นิครนถ์ นาฏบุตรแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า

“พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปโต้วาทะกับพระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ทรงโต้วาทะกับพระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า ‘อภัยราชกุมารทรงโต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากอย่างนี้”

อภัยราชกุมารตรัสถามว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะโต้วาทะกับพระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้อย่างไร”

นิครนถ์ นาฏบุตรทูลตอบว่า “มาเถิดพระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วตรัสถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีบ้างไหมที่พระตถาคตตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้วจะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร มีบ้างที่ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’

พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชน เพราะปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้วจะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’

พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัตจักเกิดในอบายจักเกิดในนรก ดำรงอยู่สิ้น ๑ กัป เป็นผู้ที่ใครๆ เยียวยาไม่ได้ เพราะวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธ เสียใจ’

พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วจะทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เปรียบดังกระจับเหล็กติดอยู่ในลำคอของบุรุษ บุรุษนั้นไม่อาจกลืนเข้าไป ไม่อาจคายออก แม้ฉันใด พระสมณโคดมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วก็จะทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก”

อภัยราชกุมารทรงรับคำนิครนถ์ นาฏบุตรแล้วเสด็จลุกจากที่ประทับทรงไหว้นิครนถ์ นาฏบุตร กระทำประทักษิณแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร

อภัยราชกุมารประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ทรงแหงนดูดวงอาทิตย์ทรงดำริว่า “วันนี้ไม่ใช่เวลาสมควรที่จะโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาค วันพรุ่งนี้เถิดเราจะโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคในวังของเรา” จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอนิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป พร้อมผู้มีพระภาครับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงเสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป

เมื่อล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังวังของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วต่อมา อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยพระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์แล้วอภัยราชกุมารจึงทรงเลือกประทับนั่ง ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

ถ้อยคำอันไม่เป็นที่รัก

อภัยราชกุมารประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคต จะพึงตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ฉิบหายแล้ว”

“ราชกุมาร เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า”

อภัยราชกุมารจึงได้ตรัสเรื่องราวที่ไปเข้าพับนิครนถ์ นาฏบุตรให้พระผู้มีพระภาคทราบตั้งแต่ต้นจนจบ

เกณฑ์ในการตรัสวาจาของพระพุทธเจ้า

ขณะนั้นเอง กุมารน้อยยังนอนหงายอยู่บนพระเพลาของอภัยราชกุมาร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอภัยราชกุมารว่า “ราชกุมาร ถ้ากุมารน้อยนี้อาศัยความประมาทของพระองค์หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ปาก พระองค์จะพึงปฏิบัติกับกุมารน้อยนั้นอย่างไร”

อภัยราชกุมารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกแต่ทีแรกได้ หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวา ล้วงเอาไม้หรือก้อนกรวดพร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมารน้อย”

“ราชกุมาร ตถาคตก็อย่างนั้นเหมือนกัน รู้วาจาที่ไม่จริงแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น (๑)

อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น (๒)

ตถาคตรู้วาจาที่จริงแท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น (๓)

ตถาคตรู้วาจาที่ไม่จริงแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น (๔)

ตถาคตรู้วาจาที่จริงแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น (๕)

อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริงแท้ ที่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย” (๖)

พุทธปฏิภาณ

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหานั้น การตอบปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรึกด้วยพระหทัยก่อนว่า ‘บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาหาเราแล้วทูลถามปัญหาอย่างนี้ เราเมื่อบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักตอบอย่างนี้’ หรือว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระตถาคตโดยทันที”

“ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ ตถาคตจักถามพระองค์บ้าง ข้อนี้พระองค์เห็นควรอย่างไร พระองค์พึงตอบอย่างนั้น พระองค์เป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ มิใช่หรือ”

“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ”

“ราชกุมาร ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามอย่างนี้ว่า ‘องค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถคันนี้ชื่ออะไร’ การตอบปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์ตรึกด้วยพระทัยก่อนว่า ‘ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วจักถามอย่างนี้ เราเมื่อถูกชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้’ หรือว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระองค์โดยทันที”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้จักรถเป็นอย่างดี ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ องค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้นการตอบปัญหานั้นปรากฏแก่หม่อมฉันโดยทันที”

“ราชกุมาร กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วจักเข้ามาหาตถาคต ถามปัญหานั้น การตอบปัญหานั้นปรากฏแก่ตถาคตโดยทันทีเหมือนกัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมธาตุ นั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การตอบปัญหานั้นปรากฏแก่ตถาคตโดยทันที”

อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสูตร เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑ คหปติวรรค  เรื่องที่ ๘ อภยราชกุมารสูตร  

เรียบเรียงใหม่ โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสูตร เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑ คหปติวรรค  

หมายเลขบันทึก: 678032เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2020 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท