พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๔๘. โกสัมพิยสูตร เรื่อง เมื่อพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีแตกแยกกัน


๔๘. โกสัมพิยสูตร  เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีแตกแยกกัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้นพวกภิกษุในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลายในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุเธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมา”

ภิกษุเหล่านั้นรับคำภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เธอทั้งหลายต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกันไม่ปรารถนาความปรองดองกัน จริงหรือ”

ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอทั้งหลายต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ สมัยนั้น เธอทั้งหลาย ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลังบ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

โมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้ เธอทั้งหลายรู้อะไร เห็นอะไร จึงต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกันไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกันอยู่

โมฆบุรุษทั้งหลาย ข้อนั้นนั่นเอง จักมีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน”

สาราณียธรรม ๖ ประการ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรมธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รักทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน

สาราณียธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๒. ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓. ตั้งมั่นเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. บริโภคโดยไม่แบ่งแยก ลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๕. เป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๖. เป็นผู้มีทิฏฐิโดยทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำบุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุมสาราณียธรรม ๖ ประการนี้ไว้

ภิกษุทั้งหลาย ยอดอันเป็นส่วนสูงสุดเป็นที่ยึดคุมเรือนยอด แม้ฉันใด ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรม นำบุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุมสาราณียธรรม๖ ประการนี้ไว้

ทิฏฐิคือญาณของอริยสาวก ๗ ประการ

ทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตามเสมอกัน เป็นอย่างไร  คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสคือกิเลสเป็นเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายในมีอยู่หรือ’

ถ้าภิกษุมีจิตถูกกามราคะครอบงำ มีจิตถูกพยาบาทครอบงำ มีจิตถูกถีนมิทธะครอบงำ มีจิตถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ มีจิตถูกวิจิกิจฉาครอบงำ มีความขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้ มีความขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำ

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เรามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสใดครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มิได้มีเลย เราตั้งจิตไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย’

นี้คือญาณที่ ๑ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งภิกษุนั้นบรรลุแล้ว

อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ก็ได้ความสงบเฉพาะตน ก็ได้ความดับกิเลสเฉพาะตนหรือ’ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เรา เสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ก็ได้ความสงบเฉพาะตน ก็ได้ความดับกิเลสเฉพาะตน’

นี้คือญาณที่ ๒ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรามีทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ผู้มีทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือ’ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เรามีทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ผู้มีทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี’

นี้คือญาณที่ ๓ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใดถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’

บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ การออกจากอาบัติเช่นใดย่อมปรากฏ อริยสาวกต้องอาบัติเช่นนั้นก็รีบแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจนอาบัตินั้นในสำนักศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้ชัดเจนแล้วก็สำรวมระวังต่อไป เด็กอ่อนที่นอนหงาย มือหรือเท้าถูกถ่านไฟแล้วก็ชักมือหรือเท้ากลับทันที แม้ฉันใด ก็ฉันนั้น

นี้คือญาณที่ ๔ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใดถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’

บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ อริยสาวกมีความขวนขวายในกิจอะไร ทั้งน้อยใหญ่ที่ควรทำของเพื่อนพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้นความปรารถนาอันแรงกล้าในอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของอริยสาวกนั้นมีอยู่ โคแม่ลูกอ่อน เล็มหญ้าพลางชำเลืองดูลูกไปพลาง แม้ฉันใดบุคคลผู้มีทิฏฐิ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

นี้คือญาณที่ ๕ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใดถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’

บุคคลผู้มีทิฏฐินั้น เป็นผู้มีพละอย่างไร  ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น สนใจ ใส่ใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวงแล้วเงี่ยโสตฟังธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’’

นี้คือญาณที่ ๖ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใดถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’

บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างไร  ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดงธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น ได้ความรู้แจ้งอรรถ ได้ความรู้แจ้งธรรม และได้ความปราโมทย์ในธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’

นี้คือญาณที่ ๗ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ตรวจสอบสภาวธรรมดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งโสดาปัตติผลอย่างนี้ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล

”พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๕. จูฬยมกวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

เรื่องที่ ๘ โกสัมพิยสูตร  ว่าด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ข้อที่ ๔๙๑ - ๕๐๐
เรียบเรียงใหม่โดย ดร.ศักดิ์ ประสานดี

หมายเลขบันทึก: 677963เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2020 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2020 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท