จากความเป็นอันหนึ่งอันเดียว สู่ จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนครู


วานก่อน ผมเห็นภาพการชำระค่าสินค้าและบริการของนักเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง ... ผมไม่แน่ใจว่าสวัสดิการแห่งรัฐในการดูแลสวัสดิการการศึกษาภาคบังคับ (สพฐ.) ครอบคลุมอะไรบ้าง (ไม่มีบุตรที่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ) และเงื่อนไข กฎ ระเบียบเปิดช่องทางให้โรงเรียนแต่ละแห่งหารายได้มากมายขนาดไหนจากนักเรียน (ผู้ปกครอง) ... ผู้ปกครองจึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้มากโข ยิ่งหากมีบุตรหลายคนยิ่งต้องทวีคูณเข้าไป ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ “รัฐ” ไม่ได้มอบให้มาหรือให้มาแล้วไม่สมบูรณ์กระนั้นฤา

ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ... แสดงว่าครูคนไทยที่มีหน้าที่สอน สอนไม่ได้หรือสอนไม่ดี?

ค่าสอนคอมพิวเตอร์... ครูคอมพิวเตอร์ไม่มีหรือคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ?

ค่าจ้างบุคลากรปฏิบัติงานในสถานศึกษา... ครูไม่เพียงพอหรือรับนักเรียนเกินอัตราส่วนครูต่อนักเรียน?

ค่ากระเป๋าโรงเรียน... นักเรียนต้องหิ้วกระเป๋าเหมือนกันนับพันคนเพื่อความเป็นระเบียบ สวยงาม หรือเราจำเป็นที่จะต้อง “จำกัด” สิทธิบางอย่างของนักเรียนจนมองไม่เห็นว่าบางคนเขาอยากมีกระเป๋าสีสันสดใสน่ารักตามช่วงวัย มีความน่ารักมุ้งมิ้งหรือจ๊าบ เพื่อให้เกิดสุนทรียะในชีวิตบ้างก็ได้

ค่าเงินฝากธนาคารโรงเรียนและค่าธรรมเนียมแรกเข้า... เราฝึกการออม แต่เงินจำนวนนี้แม้ไม่มากและหวังผลการ “ออม” แต่มันเป็นการบังคับให้ “ออม” โดยนักเรียนบางคนอาจไม่รู้คุณค่าหรือไม่เห็นประโยชน์ของการ “ออม” ด้วยซ้ำไป

ค่าหุ้นสหกรณ์โรงเรียน... เรื่องสหกรณ์ เป็นแนวคิดที่งดงาม แต่การขอให้นักเรียนสมัครหุ้นสหกรณ์ ตั้งแต่แรกเข้า รวมถึงมีกิจกรรมเงินฝากธนาคารโรงเรียน  เราคาดหวังอะไรจากนักเรียนหรือคาดหวังเพียงจำนวนเงินก้อนที่พอจะให้มีดอกออกผลเมื่อสิ้นปีหรือตอนเรียนจบในช่วงชั้นนั้น ๆ

เครื่องแบบนักเรียน เป็นเครื่องแบ่งแยกหรือเป็นเครื่องมือแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกันแน่?

กรณีโรงเรียนมัธยมศึกษา หากมีจำนวนโรงเรียนในละแวกนั้นหลายโรง การมีเครื่องแบบเครื่องแต่งกายที่แตกต่าง ดูจะค่อนไปทางเป็นอันหนี่งอันเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนกแยกแยะ ชุดแบบนี้นักเรียนโรงเรียนฉัน ชุดแบบนั้นเขาอยู่โรงเรียนเธอ? แต่สิ่งของบางอย่างก็เกินจำเป็นที่จะพยายามทำให้เหมือนกันจนเกินงาม  ทำลายวิถีอันงดงามบางอย่าง เช่น “กระเป๋า” แต่เดิม นักเรียนใคร่ซื้อ ใคร่ใช้แบบไหนก็ตามอัธยาศัย ตามกำลังทรัพย์และรสนิยม โรงเรียนอาจต้องการให้เหมือนกันและพยายามใช้เหตุผลว่าลดความเหลื่อมล้ำคนรวยคนจน และเพื่อความสวยงามเป็นระเบียบ.... คิดแบบคนรุ่นผม ไม่เอาดีกว่า คิดแบบผมคนเดียว เดี๋ยวจะหาว่าเหมารวมความคิด ... คิดแบบผม โดยส่วนตัวมองว่า “เฮ้ย กระเป๋า จะช่วยให้การเรียนดีขึ้นไหม กระเป๋าช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด กระเป๋าสร้างสุนทรียะให้งดงามแก่จิตแก่ใจมากเพียงใด หรือกระเป๋ามีอิทธิพลโน้มน้าวให้นักเรียนใฝ่เรียนรู้มากขึ้นเพียงใด... คิดไกลไปอีกนิด “ครู” มีแรงบันดาลใจในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียน “สุขและเกิดปัญญา” ได้มากน้อยเพียงใด

เมื่อเที่ยงค่อนบ่าย ได้เห็นข้อคิดข้อเขียนของครูทิว.... จึงทำให้เจียดเวลามาเขียนบันทึกนี้ ก่อนจะลงมือทำอย่างอื่นต่อไป (แวะมาแก้เครียด) เพื่อเป็นมุมสะท้อนสังคม เรื่องทรงผมและทัศนะในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง...

อย่าให้ กระเป๋า ทรงผม เป็นกรณีศึกษาที่ไม่ต่างจากการเอาอุปกรณ์วัดอุณหภูมิมาชี้ที่หน้าผากทุกคนเพื่อเข้าไปใช้บริการ โดยลืมคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและปัจจัยแวดล้อมต่างกัน จนทำให้บางคนมีอุณภูมิร่างกายต่ำกว่าปรกติวิสัย หรือสูงไปจนแทบช็อคตาย “32 องศาค่ะ”.... “42 องศาค่ะ” ไม่อนุญาตให้เข้าใช้บริการนะคะ!!!!

จึงขออนุญาตนำเรื่อง “จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนครู” ของครูทิว มาลงในบันทึกนี้ด้วย เพื่อประกอบสร้างเพิ่มอรรถรสของภารโรงและครู

................

จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนครู

วนเวียนกลับมาอีกครั้งนะครับกับปัญหาโลกแตกเรื่องทรงผม

ผมอยากชวนคุณครูลองย้อนถามตัวเองว่า “นักเรียนได้อะไรจากการบังคับให้ตัดทรงผมเหมือนกันทุกคน?”

คุณครูทุกคนมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อจะได้เคารพกฎ”
หลายท่านบอกว่า สมัยตนเองเป็นนักเรียน ก็เคยอยากไว้ผมยาว พอครูบอกเหตุผลมาก็เข้าใจ
ก็ไม่ผิดครับที่จะเชื่อฟัง แต่ก็อาจจบง่ายได้เหตุผล ไม่คัดค้าน ไม่ถามต่อ

แน่นอนคุณครูเคยชินเพราะตอนเป็นนักเรียนถูกบังคับมาก่อน ครูว่ายังไงก็ว่าตามนั้น จนมาเป็นครูแล้ว ก็ถูกผู้บริหาร ถูกกระทรวงบังคับบ่อย ๆ เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสคิดทำอะไรที่เป็นอิสระมากนัก
แล้วเราก็ผลิตซ้ำไปเรื่อย ๆ
นักเรียนก็เรียนรู้ว่าเมื่อตัวเองโตไปมีอำนาจเหนือใครก็จะต้องคอยบังคับคนอื่นไปแบบนี้เช่นเดียวกัน

แทนที่เราจะบังคับกะเกณฑ์ให้ทุกคนเหมือนกัน เราสอนให้นักเรียนรู้จักดูแลตัวเอง จัดการตนเองได้ มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม ทำให้เขามีความมั่นใจไม่ดีกว่าหรือครับ? มีเพื่อนครูบอกว่า ทรงผมมันดูไม่เหมือนกัน ไม่เป็นระเบียบ ไม่เรียบร้อย
ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่า สาระสำคัญที่หัวทุกคนต้องเหมือนกันอยู่ตรงไหน!
บ้างบอกว่ามีกฎไว้นักเรียนจะได้เรียนรู้การทำตามกฎ
กฎที่มันไม่สมเหตุสมผล ตั้งมาเพื่อแค่ให้คนทำตามน่ะหรือครับ?
หลักของการมีกฎกติกาในสังคม คือ กฎนั้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยกระทบสิทธิ เสรีภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

คนบอกว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่สมัยนี้นิยมผมยาวหรอกนะครับ มันเป็นธรรมชาติมนุษย์อยู่แล้วที่อยากมีอิสระ กำหนดชีวิตตัวเองได้บ้าง สมัยก่อนก็เป็น แต่เพียงเวลานี้เด็กๆคิดอย่างมีวิจารณญาณได้มากขึ้น รู้จักสิทธิ เสรีภาพมากขึ้น ครูเองก็ควรเรียนรู้เรื่องนี้เช่นกัน

ผมอยากจะให้ย้อนอ่านระเบียบกระทรวงกันอีกครั้งนึงครับ
แล้วทำความเข้าใจตามหลักกฎหมาย ไม่ตีความเข้าข้างตัวเอง
เคยอธิบาย แต่มีคนบอกว่า ผมอ้างกฎหมายอีกแล้ว!
ก็งงใจ แล้วตัวก็ไปบอกเด็กว่า เธอต้องทำตามกฎ! ย้อนแย้งอีกแล้วนะครับ
อย่างน้อยๆ ผมอยากให้โรงเรียนทบทวนกฎระเบียบเดิม และทำกระบวนการให้สอดคล้องกับระเบียบกระทรวง
อย่างน้อยๆให้นักเรียนเขาได้มีทางเลือกบ้าง
อย่าไปกลัวว่าจะมีอะไรพิสดาร อย่าไปคิดแทนเด็ก
เด็กจะถามว่าแบบนี้ได้ไหม แบบนั้นได้ไหม นี่แหละ ปัญหาที่เราไม่เคยให้เขาได้ตัดสินใจเรื่องของตัวเอง
ครูบอกว่า “อ้าว แล้วแบบไหนล่ะที่จะเรียกว่าเหมาะสม”
ผมว่าเด็ก ๆ คิดได้ และคุณครูก็ควรจะคิดได้เหมือนกัน เราเองอย่ามักง่ายด้วยการบังคับให้เขาต้องทำเหมือนกัน เพื่อให้เราจัดการได้ง่าย
อย่าพูดคำว่าทำไม่ได้ก็ออกไปอยู่ที่อื่นเลย ผมคนนึงที่รับไม่ได้
เราเอาพลังงานที่วุ่นวายบังคับเขาเรื่องนี้ มาสอนให้เขาได้ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของตนเองดีกว่าครับ

ลองถามตัวเองดูนะครับ ว่าเราใช้เหตุผล กับเขามากพอหรือยัง
ถ้าเหตุผลนั้นยังถูกหักล้างได้ แล้วเรายังยืนยันคำเดิมโดยไม่มีอะไรมาสนับสนุนปกป้องความคิดเดิม
อันนั้นเรียกเอาแต่ใจครับ

มันต้องมีคนคิดสินะว่า
“ทิว มึงอ่ะเข้าข้างเด็ก”

ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นอยู่ดีครับ ว่าคนเป็นครูจะต้องอยู่ตรงข้ามกับเด็กเสมอ

รัก,
ครูทิว ธนวรรธณ์  สุวรรณปาล

15 มิถุนายน 2563

หมายเลขบันทึก: 677954เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2020 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2020 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท