จัดการศึกษาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพตามหลักสูตรฯ อย่างแท้จริง


จัดการศึกษาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ 

และคุณภาพตามหลักสูตรฯ อย่างแท้จริง

..............

สิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้  เป็นประสบการณ์ชีวิตของคนเป็นครูคนหนึ่ง  ที่พยายามแก้ไขพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ  จนเด็กเก่งขึ้น  ทั้งความรู้และทักษะความสามารถ  ซึ่งแนวทางที่ผมจะ “เล่าสู่กันฟัง”  ผมได้ทดลองปฏิบัติพัฒนาแก้ไขปรับปรุงมาเรื่อยๆ  ตั้งแต่เป็นครูผู้สอนเมื่อปี ๒๕๑๖  และเคยเป็นฝ่ายบริหาร  เป็นวิทยากร  เป็นอาจารย์พิเศษ  เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการในสถาบันการศึกษาทุกระดับหลายแห่ง  จนตกผลึกพอจะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพได้อีกแนวทางหนึ่ง 

ซึ่งแนวทางนี้  สามารถคุยอวดได้ว่า  ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง  เช่น  ทำให้นักเรียนต่างจังหวัด หลายโรงเรียน สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยส่วนกลางนอกเหนือจากโควต้าแต่ละภาค  ได้เพิ่มอีกมากมาย  และทำให้โรงเรียนบางแห่งที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  มีผลการทดสอบ O-net  ดีขึ้นกว่าปีแรกถึง ๑๐  เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปทุกโรง  โดยเฉพาะบางโรงดีขึ้นเกือบ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ก็มี  ฯลฯ

แต่ทั้งหมดที่เขียน   ท่านผู้อ่านอย่าไปถือว่าเป็นหลักการ ทฤษฎี ที่แน่นอน  หรือเป็นตำราแบบเรียนแต่อย่างใด  ให้ถือว่าเป็น “กรณีศึกษา” จากประสบการณ์ของครูคนหนึ่ง  ที่เคยตั้งใจทุ่มเทการสอน  มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนมาอย่างเต็มที่ก็แล้วกันนะครับ

........

๑.  ประการแรก การที่จะพัฒนาโรงเรียนให้ดี  มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาเยาวชนอย่างแท้จริง  ต้องเริ่มต้นจากโรงเรียนนั้น “ผู้บริหาร หรือเจ้าของโรงเรียน  มีวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายที่ชัดเจน  โดยตั้งใจทำเพื่อเด็ก  รักเด็ก  อยากช่วยเหลือเด็กจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

และเป้าหมายที่จะทำให้โรงเรียนดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ  ต้องเป็น “เป้าหมายที่มีผลลัพธ์” และเกณฑ์อย่างชัดเจน  (KPI = Key Performance Indicators) เช่น  จะทำให้นักเรียนศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ร้อยละ ๑๐  ทุกปีหรือ มีผลคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในการทดสอบแห่งชาติดีขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี  หรือจะพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จน เป็นคุณธรรม หรือเป็นจริยธรรม” ร้อยละ ๘๐ ทุกปีก็ได้

อย่าไปกำหนดเป้าหมายที่เลื่อนลอย  เป็นนามธรรม หรือ แค่เพ้อฝัน เช่น จะทำให้นักเรียนเป็นคนเก่ง  คนดี มีความสุข, หรือ จะทำให้นักเรียนมีคุณภาพ, หรือ จะทำให้นักเรียนมีคุณธรรม  เพราะเป้าหมายแบบนี้  ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  เมื่อผู้บริหารเร่งรัดมากเข้า  ก็จะใช้วิธีการบังคับ  ลงโทษ  ข่มขู่  ด่าทอ เสียดสี กระแหนะกระแหนนักเรียนทุกวัน  จนเป็นการสร้างบาปสร้างกรรม  สร้างเวรแก่สังคมมากมาย

.

๒.  ประการที่สอง โรงเรียนต้องมี “ครู” ที่รักเด็ก สงสารเด็ก อยากช่วยเหลือแก้ไข พัฒนาเด็ก หรือที่เรียกว่า “วิญญาณครู” นั่นแหละ  และ มีความใฝ่รู้  แค่ครูโรงเรียนใดมีแค่ ๒ อย่างนี้เกินร้อยละ ๖๐  ผู้บริหารก็ฝันได้เลยว่า ไม่เกิน ๒ ปี โอกาสที่โรงเรียนจะประสบความสำเร็จมีคุณภาพและประสิทธิภาพมีแน่นอน  แถมมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคมไปอีกนานแสนนาน

ที่จริงแค่โรงเรียนใด  มีครูอย่างแรก  อย่างที่สองก็จะตามมาเอง   เพราะเมื่อครูอยากช่วยเหลือเด็กให้เก่งขึ้น ด้วยความรัก หรือความสงสาร  ครูคนนั้นก็จะ “ใฝ่รู้”  แสวงหาความรู้หรือแนวทางมาพัฒนาการเรียนการสอนจนดีขึ้นเองได้ในที่สุด   และไม่จำเป็นที่โรงเรียนมีคุณภาพและประสิทธิภาพ  ต้องไปเสาะแสวงหาครูเก่งที่สุดมาสอนเด็ก   เพราะได้มาก็เปล่าประโยชน์  เพราะครูพวกนี้ไม่ค่อยจะใฝ่รู้  มักคิดทะนงตนว่าตัวเองเก่ง  และมักจะใช้วิธีการสอนแบบดูถูกเด็ก  เสียดสีเด็ก  กระแหนะกระแหนเด็กโดยไม่รู้ตัว  อีกส่วนหนึ่ง ครูเก่งๆ(ได้เกรดสูง) ส่วนหนึ่งมักเป็นพวกจำเก่ง  หรือ ทำรายงานเก่ง  ไม่ใช่เก่งเพราะเข้าใจจริง

การที่โรงเรียนจะได้ “ครู”ที่รักเด็ก สงสารเด็ก อยากช่วยเหลือแก้ไข พัฒนาเด็ก (วิญญาณครู)  และ มีความใฝ่รู้นั้น  โรงเรียนเอกชนมักจะได้เปรียบ  เพราะสามารถคัดเลือกคนที่พร้อมจะมาเป็น “ครู” จากการทดสอบ สัมภาษณ์ได้เต็มที่  แต่ก็เสียเปรียบที่ “ครูเก่งและมีคุณภาพ” มักจะหาทางไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูของรัฐบาลก่อน  หรือพอโรงเรียนเอกชนได้สร้าง “ครูเก่งมีคุณภาพ” ขึ้นมา ครูพวกนี้ก็จะหาทางไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูเกือบหมด   ซึ่งจะไปว่าเขาก็ไม่ได้  เพราะทุกคนก็อยากมีชีวิตที่ดี  มั่นคง   และยิ่งโรงเรียนเอกชนไหน  ไม่ส่งเสริมครูจริง  เขาก็จะรีบหนีทันทีเมื่อมีโอกาส  

แต่ถ้าเจ้าของโรงเรียน หรือผู้บริหารทำตามประการที่สามอย่างจริงจัง  ก็สามารถที่จะสร้างระบบการทำงาน และแนวทางการถ่ายทอด /ฝึกฝน หรือจัดการเรียนรู้ที่มีขั้นตอนชัดเจนขึ้นมาให้ครูปฏิบัติตาม  โรงเรียนเพียงหา “ครูที่รักการสอน  รักเด็ก” ให้มีขึ้นในโรงเรียนได้เสมอทุกปี  แค่นี้ก็ไม่ต้องไปกังวลกับครูเข้า ครูออกบ่อยๆ เลย

.

๓.  ประการที่สาม  รักษา “ครู” ที่รักเด็ก ตั้งใจช่วยเหลือแก้ไข พัฒนาเด็ก และ มีความใฝ่รู้  ให้อยู่กับโรงเรียน และตัวครูได้ตลอดชีวิตของการเป็นครู  โรงเรียนแค่วางแนวทางการปฏิบัติงาน  เพื่อช่วยเหลือ “ครู” ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ มุ่งสู่เป้าหมายของโรงเรียน อย่างเป็นระบบชัดเจนแน่นอน  ดังนี้

๓.๑  ต้องให้ครู “รู้และเข้าใจ” หลักสูตรฯ ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้ได้   และให้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของโรงเรียน   จะโดย “บังคับท่องจำ” หรือ ใช้วิธีทดสอบทุกสัปดาห์ก็ได้  หรือ ใช้การสอบถามสุ่มครูให้ตอบตามกลุ่มสาระที่เขารับผิดชอบในคราวประชุมประจำสัปดาห์  หรือประชุมประจำเดือนก็ได้    เพราะถ้าครูไม่รู้หลักสูตรฯ  การทำงานจะสูญเปล่า  ไม่มีคุณค่าใดๆที่จะกล่าวถึงอีก

๓.๒  ขั้นตอนต่อไป  ต้องให้ครูทุกคนกำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนการสอน หรือ การจัดการเรียนรู้พร้อมเกณฑ์การผ่านในวิชาที่ตนเองรับผิดชอบขึ้นมาให้ชัดเจน   (KPI = Key Performance Indicators) ตามที่โรงเรียน หรือครูต้องการ  เพื่อบรรลุเป้าหมายของโรงเรียนตามประการแรกให้ได้   โดยเป็นไปตามศักยภาพของนักเรียน  ทั้งนี้ โรงเรียนต้องไม่ให้ครูนำตัวชี้วัดการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลาง ฯ มาเป็นเป้าหมายของครูโดยตรง  เช่น  หลักสูตรแกนกลางฯ ภาษาไทย ป.๔ ระบุว่า “ให้จับใจความได้”  ครูก็ต้องกำหนดเป้าหมายใหม่ว่า “สรุปความและจับใจความสำคัญจากหนังสือตามที่โรงเรียนกำหนดและนักเรียนเลือกอ่านปีละ ๓๐ เล่ม” หรือ คัดลายมือตัวบรรจงครึ่งบรรทัด  ๑ หน้าทุกวัน  ฯลฯ  ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดของครูต้องมี KAP ครบ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอน  การทำกิจกรรมการเรียนรู้  และการวัดผลประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ  

การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้แบบนี้  โรงเรียนควรแนะนำให้ครูไปศึกษาจากแนว backward design ก็จะเห็นแนวทางชัดเจน

๓.๓ เมื่อครูกำหนด “เป้าหมาย (ตัวชี้วัด, ผลการเรียนรู้, จุดประสงค์การเรียนรู้)” ได้ชัดเจนพร้อมทั้งเกณฑ์ที่ต้องการให้นักเรียนทำได้  หรือ เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ตามแนว backward design แล้ว  โรงเรียนก็ให้ครูทำแผนการสอนแบบย่อ หรือแบบกำหนดการที่จะนำไปจัดการเรียนการสอนตามเป้าหมายหรือตัวชี้วัดการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งในแผนการสอนฉบับย่อนี้ควรเน้นแค่คำอธิบายรายวิชา ตัวชี้วัดการเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  มีหน่วยการเรียนรู้เท่าไหร่  และแต่ละหน่วยใช้หลักหรือทฤษฎีอะไรมาจัดการเรียนการสอนบ้าง ใช้เวลาเท่าไหร่ มีกิจกรรมการเรียนรู้อะไรบ้าง มีวิธีการวัดผลประเมินผลแต่ละหน่วย และทั้งภาคเรียน (๗๐ : ๓๐) อย่างไร  รวมทั้งมีการมอบหมายงานพิเศษหรือไม่  แผนการสอนนี้ต้องให้ครูจัดทำและส่งก่อนเปิดภาคเรียนให้ได้อย่างน้อย ๒ สัปดาห์(เผื่อแก้ไขปรับปรุง)  อย่าให้ครูทำแผนการสอนรายคาบ หรือแบบที่มีรายละเอียดพิสดารทั้งกิจกรรมและการประเมิน  เพราะจะทำให้ครูมีภาระมากเกินไป แถมถ้าบังคับ ครูก็จะไปคัดลอกจากคู่มือตามสำนักพิมพ์มาส่งอยู่ดี

ถ้านึกแผนการสอนแบบนี้ไม่ออก  ก็ขอให้ผู้บริหารและครูนึกถึงแผนการสอนที่อาจารย์มหาวิทยาลัยนำประมวลการสอน / โครงสร้างจัดการเรียนรู้ (Course Syllabus) มาแจกนักศึกษาระดับปริญญาโทก่อนเรียนนั่นแหละ  หรือจะเข้าไปดูตัวอย่างแผนการสอนแบบนี้ที่เว็บไซด์ของโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย http://phrapathom.ac.th/datashow_37571  หรือ ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐมhttps://cloud.mwit.ac.th/index.php/s/ous9kuBHUowQcq5 ก็ได้  แค่นี้ก็ช่วยให้ผู้บริหารรู้ทิศทางและแนวการสอนของครูเพื่อกำกับ  ตรวจสอบ และช่วยเหลือครูได้เต็มที่     

ส่วนแผนการสอนแบบละเอียดพิสดาร  เอาไว้ทำหลังจบภาคเรียนหรือปีการศึกษา  โดยนำบันทึกการสอนที่ได้บันทึกหลังเรียนในแต่ละคาบหรือชั่วโมง  มาเรียบเรียงใหม่   ส่งโรงเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาในภาคเรียนหรือปีการศึกษาต่อไป  และเผยแพร่แก่ผู้สนใจ หรือจัดทำรูปเล่มเพื่อเป็นผลงานทางวิชาการก็ได้

๓.๔ ในการจัดครูให้รับผิดชอบการเรียนในแต่ละรายวิชา  อย่าให้ครูคนหนึ่งประจำชั้นเรียน  แล้วสอนทุกรายวิชา (ยกเว้นโรงเรียนนั้นมีครูคนเดียว)  เช่น ป.๑ ควรมอบหมายให้ครูคนหนึ่งสอน “การอ่าน โดยใช้หนังสือแบบเรียนทุกรายวิชา เช่น ภาษาไทย  สังคมศึกษา  วิทยาศาสตร์มาฝึกการอ่าน”  อีกคนหนึ่ง ควรให้สอนวิชาคณิตศาสตร์  การงาน  ศิลปะ  พลศึกษา  เป็นต้น   ส่วนตั้งแต่ระดับชั้น ป.๔ ขึ้นไป ควรให้รับผิดชอบสอนไม่เกินคนละ ๒ รายวิชา

ถ้าโรงเรียนใดมีครูเพียงพอ   ก็อาจจะจัดให้ตั้งแต่ชั้น ป.๔ ขึ้นไป ครูแต่ละคนสอนเพียงวิชาเดียว  แต่ให้รับผิดชอบสอนทุกระดับชั้น จนถึงชั้นสูงสุด  จะได้รับผิดชอบผลคะแนน O-net  ที่ตนเองรับผิดชอบด้วย  ทำนองจัดให้มีเจ้าภาพนั่นเอง     แต่ถ้าโรงเรียนใด  แต่ละระดับชั้นมีนักเรียนจำนวนหลายห้อง เช่น ป.๔ มี ๓ ห้อง(กขค),  ป.๕  มี ๓ ห้อง,  ป.๖ มี ๓ ห้อง  ก็ให้ครูคนหนึ่งรับผิดชอบสอน ป.๔, ป.๕, ป.๖ ห้อง ก

อีกคนรับผิดชอบห้อง ข  อีกคนรับผิดชอบห้อง ค เป็นต้น  จะได้รู้ว่าที่นักเรียนมีพัฒนาดีขึ้นหรือแย่ลง  เพราะฝีมือใคร  แต่ควรปรับปรุง/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงครูที่รับผิดชอบทันที  เมื่อเห็นว่าผลการเรียนเมื่อสิ้นสุดแต่ละภาคเรียนแย่ลงกว่าเดิม

.

๔.  ประการที่สี่  ต้องจัดให้มีทดสอบพื้นฐานความรู้นักเรียนก่อนเริ่มจัดการเรียนการสอนในแต่ละปีการศึกษา  ยิ่งกรณีที่โรงเรียนใดรับนักเรียนใหม่เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ หรือ มัธยมศึกษาปีที่ ๔ ต้องทำให้ได้  ห้ามละเลยเป็นอันขาด  ถ้าไม่ทำก็จะไม่สามารถช่วยเหลือเด็ก  แก้ไขได้อย่างแท้จริง หรือไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงเด็กให้เต็มตามธรรมชาติและศักยภาพได้เลย  

ส่วนแบบทดสอบนั้น  ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ควรให้ครูนำความรู้ตั้งแต่ชั้น ป.๑–ป.๖ มาออก  โดยกำหนดให้แต่ละข้อเป็นตัวแทนความรู้ของแต่ละเรื่องที่เรียนของชั้นนั้นๆ เช่น ชั้น ป.๑-๒ ชั้นละ ๕ ข้อ  ส่วนชั้น ป.๓-ป.๖ ชั้นละ ๑๐ ข้อ รวมเป็น ๕๐ ข้อ  หรือจะมีจำนวนข้อมากกว่านี้ก็ได้  ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของวิชาในแต่ละชั้นที่เรียนรู้มา  จะได้รู้พื้นฐานของนักเรียนที่เรารับเข้ามาศึกษาต่ออย่างแท้จริง   เพื่อจะได้รีบแก้ไขปรับปรุงพื้นฐานความรู้ให้ดีขึ้น  จนนักเรียนมีความรู้เพียงพอที่จะเรียนรู้ได้ทันตามหลักสูตรของระดับชั้นที่เรียนต่อไป   ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ก็นำความรู้ตั้งแต่ระดับชั้น ม.๑- ๓ มาออกให้ครอบคลุมในแต่ละวิชา  เพื่อช่วยเหลือนักเรียนอย่างแท้จริง

     ส่วนโรงเรียนในระดับประถมศึกษา  ก็ควรจัดให้มีการทดสอบแบบนี้  ก่อนขึ้นศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕  เพราะถ้าความรู้ในระดับชั้น ป.๑-ป.๔ ไม่เพียงพอ  จะทำให้มีผลต่อการเรียนในระดับชั้น ป.๕ และ ป.๖ เป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาในระดับนี้ มักจะซับซ้อน ความรู้เริ่มเป็นนามธรรม  ต้องใช้สติปัญญามากขึ้น  และจะส่งผลต่อการทดสอบแห่งชาติต่อไปด้วย

     หรือถ้าโรงเรียนใด  เชื่อมั่นวิธีการจัดการเรียนการสอน หรือวิธีการวัดผลประเมินผลของตัวเองว่ามีคุณภาพพอ  หรือคิดว่าตัวเองสามารถกำกับ ติดตามการทำงานของครูได้อย่างแท้จริง  ก็ให้ครูแต่ละระดับชั้น  ศึกษาผลการเรียนรู้ของชั้นที่ผ่านมา  เช่น ครู ป.๖ ศึกษาผลการเรียนรู้ หรือผลคะแนนการสอบปลายภาค ของชั้น ป.๕,  ครูป.๕ ศึกษาผลของชั้น ป.๔, ครู ป.๔ ศึกษาผลของชั้น ป.๓  ทำอย่างนี้จนถึงระดับอนุบาล ๒   ส่วนครูอนุบาล ๑ ก็ต้องทำการทดสอบหรือประเมินนักเรียนที่รับเข้ามาใหม่ตามหัวข้อรายการประเมินพัฒนาการ   ซึ่งควรจัดประเมินหรือทดสอบประมาณสัปดาห์ที่ ๔ หรือ ๕ หลังจากนักเรียนเริ่มคุ้นเคยกับครู  เพื่อน และโรงเรียนแล้ว  

     ทำได้อย่างนี้  จะทำให้เรารู้จักเด็กของเราได้อย่างแท้จริง   เพื่อครูจะได้ช่วยเหลือ พัฒนา ปรับปรุงความรู้ ทักษะ ความสามารถ  สมรรถนะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับเด็กได้อย่างเต็มตามธรรมชาติและศักยภาพของเด็ก   ได้บุญมหาศาลนะครับ

.

๕. ประการที่ห้า  “เริ่มเรียน  เริ่มสอน”

๕.๑  ในสัปดาห์แรก  ชั่วโมงที่ ๑  โรงเรียน “ต้อง” ให้ครูได้แนะนำ/ แนะแนววิชาที่ตนเองรับผิดชอบสอนแก่นักเรียน  ทั้งเป้าหมาย  ตัวชี้วัด  วิธีการเรียน  การทำกิจกรรมในรายวิชา รวมทั้งวิธีการวัดผลประเมินผล  และให้นักเรียนตอบแบบสอบถามสภาพปัญหาการเรียนในวิชานี้ด้วย   ส่วนในชั่วโมงที่ ๒ ต้องจัดให้มีการทดสอบก่อนเรียน  โดยจะนำแบบทดสอบวิชานี้ของปีที่แล้วมาสอบ  เช่น  ปีการศึกษา ๒๕๖๓  ชั้น ป.๖ จะให้นำแบบทดสอบแห่งชาติ (O-net) ของปี ๒๕๖๒ มาสอบ  เพื่อจะได้รู้จุดเริ่มต้น หรือสภาพการเรียนรู้ของนักเรียน   และเป็นเกณฑ์วัดฝีมือและประสิทธิภาพของครูด้วย

๕.๒ ในสัปดาห์ หรือชั่วโมงต่อไปจนสิ้นภาคเรียน  ครูจะเริ่ม “ถ่ายทอด / ฝึกฝน หรือ จัดการเรียนรู้” ตามกำหนดการที่ครูได้วางแผนไว้  ส่วนในการถ่ายทอด / ฝึกฝน หรือจัดการเรียนรู้ของครูแต่ละชั่วโมง  ผู้บริหารไม่ควรไปก้าวก่าย หรือชี้แนะอะไร   ควรแค่เดินไปเรื่อยๆ บ่อยๆ ทุกอาคารหรือห้องเรียน  เพื่อเป็นการให้กำลังใจ  และส่งเสริมให้ครูได้ดูความเรียบร้อยของห้องเรียน และความประพฤติของนักเรียนให้ตั้งใจเรียนทางอ้อม   (การที่ไม่ให้ผู้บริหารต้องไปกำกับ นิเทศการถ่ายทอด / ฝึกฝน หรือจัดการเรียนรู้ของครูแต่ละคนนั้น   เพราะจะสร้างความเสียหายมากกว่าได้ประโยชน์  เนื่องจากเทคนิคการถ่ายทอด / ฝึกฝน หรือจัดการเรียนรู้ของครูแต่ละคน  เป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือสไตล์ใครสไตล์มัน  จะไปบอกว่าวิธีของใครดีกว่านั้น  ย่อมเป็นไปไม่ได้  ยิ่งถ้าไปกำกับ ควบคุมมากไป  ก็ยิ่งสกัดกั้นความใฝ่รู้ของครูเท่านั้น)

แต่สิ่งที่ผู้บริหารควรกระทำ คือ ติดตามดูว่าครูได้ให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ตามหน่วย/บทเรียน/เรื่อง ของแผนการสอนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งกิจกรรมที่ให้นักเรียนทำ จะเป็นการทำแบบฝึกหัดจากหนังสือ-แบบเรียน หรือ จากสื่อที่ครูจัดทำขึ้นเอง  หรือทำชิ้นงานตามตัวชี้วัดฯ ที่ครูมอบหมายก็ได้ (เวลาผู้บริหารเดินตรวจเยี่ยม  ถ้าให้ดีควรพกแผนการสอนฉบับย่อของครูติดไปด้วย  ยิ่งดีใหญ่  และควรส่งสัญญาณให้ครูเลิกพูด  ถ้าเห็นว่าครูใช้เวลาอธิบายแนะนำการเรียนรู้แต่ละเรื่องเกิน ๑๕ นาทีไปแล้ว)

แนวปฏิบัติของผม  จะไม่มีการกำกับ นิเทศครูแต่ละชั่วโมง  โดยผู้นิเทศไปนั่งสังเกตการณ์หลังห้องเรียน   แต่จะไปกำกับ นิเทศ ประเมิน เมื่อครูสอนจบแต่ละหน่วย  แล้วครูให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังหน่วยนั้นๆ   ผู้บริหารแค่ศึกษา ตรวจตราผลการทดสอบหลังหน่วย  แล้วนำเข้าที่ประชุมครูประจำเดือน หรือประจำกลุ่มสาระฯ เพื่อชี้แนะ(นิเทศ) หรือซักถาม หรือให้เพื่อนครูช่วยกันหาแนวทางแก้ไขเมื่อผลการทดสอบไม่บรรลุเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (ร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป)

****ในระหว่างจัดการเรียนการสอนแต่ละหน่วยฯ  ครูต้องให้นักเรียนจดบันทึกความรู้  บันทึกสิ่งที่เรียนรู้  บันทึกการทำกิจกรรม  บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ  รวมทั้งข้อคิดหรือข้อสังเกตของนักเรียน  ลงในสมุด หรือแบบฟอร์มเอกสารบันทึกการเรียนทุกชั่วโมงด้วย   (จากบันทึกการเรียนนี้  ครูสามารถนำไปสรุป หรือดัดแปลง หรือ รวบรวมเป็นบันทึกการสอนของครู  และสามารถนำบันทึกการเรียนแต่ละชั่วโมงนี้  ไปเรียบเรียงเป็นการจัดการเรียนการสอนแต่ละชั่วโมง  เป็นแผนการสอนอย่างละเอียด  เพื่อนำไปจัดทำเป็นคู่มือแนวทางในปีการศึกษาต่อไป  หรือนำไปจัดทำเป็นผลงานทางวิชาการของครู  โดยไม่ต้องลอกเลียนแบบใคร  จ้างใครทำผลงานให้  เพราะเกิดจากเหตุการณ์จริงของครูและนักเรียนของครูผู้สอนเอง)

๕.๓  เมื่อครูจัดการเรียนการสอนแต่ละหน่วยจบแล้ว  ต้องให้ครูทำการทดสอบตามตัวชี้วัดที่มี KAP ครบทันที  ซึ่งแบบทดสอบแต่ละหน่วยต้องเป็นแบบทดสอบประเภทอัตนัยเท่านั้น   และในแบบทดสอบแต่ละหน่วยต้องมีอย่างน้อย ๒ ตอน  ตอนที่ ๑ต้องเป็นการวัดความรู้ ความเข้าใจ ในหลักการหรือวิธีการ (K) ตอนที่ ๒ เป็นการวัดการปฏิบัติจริง (P)  เพราะการทดสอบแต่ละหน่วยถือว่าว่าเป็นการวัดผลระหว่างเรียน  มีจุดประสงค์เป็นการวัดผลประเมินผลเพื่อนำไปพัฒนาการ  แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น (formative evaluation)

***ปีแรกที่พัฒนา  ให้ครูสอนไป ออกแบบทดสอบไปก่อนก็ได้,   แต่ปีต่อไป ต้องให้ครูส่งแบบทดสอบประจำหน่วยพร้อมแผนการสอนก่อนเปิดภาคเรียนพร้อมกัน   เวลาจะสอบประจำหน่วย  ค่อยให้ครูมาเบิกไปทดสอบ

แต่ถ้าโรงเรียนยังไม่พร้อมที่จะให้ครูแต่ละวิชาจัดการทดสอบประจำหน่วยทันที  เพราะแต่ละวิชามีหน่วยการเรียนรู้ไม่เท่ากัน  โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา  สร้างความลำบากให้ผู้บริหารที่จะกำกับ ติดตาม   ก็จัดให้มีการทดสอบย่อยประจำเดือน  หรือ ๒-๓ สัปดาห์ทดสอบก็ได้  โดยแต่ละวิชาที่มีหน่วยการเรียนมาก เช่น ภาษาไทย มารวมทดสอบพร้อมกับวิชาอื่นๆได้

๕.๔  เมื่อทดสอบประจำหน่วยเสร็จสิ้น   ให้ครูสรุปผลการทดสอบว่ามีผู้ผ่านตามเกณฑ์ (ร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป) และไม่ผ่านเกณฑ์จำนวนเท่าใด  แล้วนำผลการสอบนี้ไปวิเคราะห์/วิจัย(ทดสอบ, สอบถาม, สัมภาษณ์, สังเกต ฯลฯ) หาสาเหตุว่าการที่นักเรียนไม่ผ่านนั้นเป็นเพราะเหตุใด   และเมื่อสรุปสาเหตุได้แล้ว  ให้ครูคิดว่าควรจะใช้วิธีการใดแก้ปัญหา   ให้ลองนำวิธีการนั้นไปแก้ปัญหาตามวิธีการที่คิดไว้  แล้วทดสอบใหม่  ดูว่าสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ (ซ่อมเสริม, สอบซ่อม)   ถ้ายังไม่ได้ผลอีกก็วิเคราะห์/วิจัย(ทดสอบ, สอบถาม, สัมภาษณ์, สังเกต ฯลฯ) หาสาเหตุอีกว่าการที่นักเรียนไม่ผ่านนั้นเป็นเพราะเหตุใด   แล้วหาวิธีการใหม่  แต่เมื่อทำ ๒ ครั้ง ก็ยังไม่ผ่านถึงร้อยละ ๘๐   ก็ให้ยุติ  แล้วนำผลการสรุปเสนอผู้บริหาร  เพื่อผู้บริหารจะชี้แนะ หรือนิเทศด้วยตัวเอง  หรือ ถ้าผู้บริหารนำเข้าสู่ที่ประชุมครู  ให้ครูช่วยกันแสดงความคิดเห็น (การประชุมเชิงวิพากษ์) ยิ่งดีใหญ่  เพราะทำให้ครูอื่นๆ ได้เห็นข้อมูล ปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น

ก่อนที่ครูจะใช้วิธีการที่ครูวิเคราะห์/วิจัยหาสาเหตุแก้ปัญหา   ครูควรให้นักเรียนที่ไม่ผ่านทำการทดสอบแก้ตัวด้วยตัวนักเรียนก่อน   ถ้ายังมีผู้ไม่ผ่านอีก  ก็ให้ครูใช้วิธีการที่ครูวิเคราะห์/วิจัยได้  มาดำเนินการแก้ปัญหา   ทั้งหมดนี้จะเรียกว่า “วิจัยในชั้นเรียน”  หรือ “วิจัยเชิงปฏิบัติการ” ก็ได้ครับ

.

๖. ประการที่หก  “การวัดผลประเมินผล  ให้ถือเป็นเรื่องใหญ่”

๖.๑  เมื่อครู “ถ่ายทอด / ฝึกฝน หรือจัดการเรียนรู้” แต่ละหน่วยจนสิ้นสุดภาคเรียน   แต่ก็อาจจะมีครู  หรือนักเรียนบางคนไม่บรรลุการเรียนรู้ได้ครบทุกหน่วยการเรียนที่ตั้งไว้ตามแผนการสอนก็ได้   ก็ไม่เป็นไร  เพราะการตัดสินผลการเรียนแต่ละรายวิชาของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย  ให้คิดคะแนนจากภาพรวมทั้งหมด (ระหว่างเรียนและปลายภาค)   ถ้าเกินร้อยละ ๕๐  ก็ถือว่ารายวิชานี้  นักเรียนผ่านการประเมินตามเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว

๖.๒ ในการทดสอบปลายภาคเรียนแต่ละภาคเรียน  เป็นการทดสอบประเมินความรู้ ทักษะ ความสามารถในลักษณะองค์รวมตามเป้าหมายรายวิชา (summative evaluation)  โรงเรียนที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นโรงเรียนดี  มีคุณภาพ  โรงเรียนจะโดยผู้บริหาร หรือฝ่ายวิชาการ “ต้อง” เป็นผู้ออกข้อทดสอบ และทดสอบหรือประเมินเอง  อย่าให้ครูผู้สอนทำเองโดยเด็ดขาด  (ที่จริงทุกโรงเรียนก็ต้องทำอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นที่ต้องมีเป้าหมายเป็นโรงเรียนดี มีคุณภาพ   เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของโรงเรียนทุกโรงต้องทำอยู่แล้ว)    การที่ฝ่ายวิชาการหรือโรงเรียนเป็นผู้ออกข้อสอบ และดำเนินการทดสอบปลายภาคเอง  ก็เพื่อประโยชน์ ๓ อย่าง ดังนี้ 

๑. เป็นการประกันคุณภาพการจัดการเรียนการสอน 

๒. เป็นการตรวจสอบผลการสอนของครูว่าตรงตามตัวชี้วัดหรือไม่ (ในกรณีที่โรงเรียนไม่สามารถกำกับการทดสอบประจำหน่วยของครูแต่ละคนได้) 

๓. เป็นการเปรียบเทียบผลการจัดการเรียนการสอนก่อนเรียนและหลังเรียน

*ในสอบวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน  ครูส่วนมากอยากจะเป็นผู้ออกข้อสอบ และประเมินเอง  มักไม่ยอมให้โรงเรียนดำเนินการเอง  และส่วนมากมักชอบอ้างว่าโรงเรียนทั่วไปก็ทำอย่างนี้  โรงเรียนเราจะมาทำไม่เหมือนโรงเรียนอื่นได้อย่างไร   ในกรณีนี้ผู้บริหารควรให้ครูไปเปิดหลักสูตรการศึกษาฉบับใดก็ได้  หรือจะเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ (ปรับปรุง ๒๕๖๑)  หน้า ๒๘-๒๙  ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้  ก็จะชัดเจนทันทีว่า  การประเมินการเรียนรู้รายปี/รายภาค  เป็นการประเมินระดับสถานศึกษาของสถานศึกษา  ไม่ใช่เป็นการประเมินระดับชั้นเรียนของผู้สอน  และบางโรงเรียนผมก็อธิบายเสริมว่า  คะแนนระหว่างเรียนครูสามารถช่วยเด็กผ่าน หรือได้เกรด ๒ อยู่แล้ว  เพราะให้ครูไปถึง ๗๐ คะแนน  ส่วนเกรด ๓-๔ โรงเรียนขอไว้เพื่อพัฒนาคุณภาพบ้าง

ครูบางคนก็เถียงอีกว่า  กลัวว่าโรงเรียนจะออกข้อสอบไม่ตรงกับที่ครูสอน    ก็ต้องอธิบายว่า  โรงเรียนจะออกข้อทดสอบตามตัวชี้วัดแน่นอน  ขอเพียงให้ครูสอนหรือปฏิบัติตามตัวชี้วัดก็พอแล้ว  (ที่จริงกลัวความจริงปรากฏ เด็กทำข้อสอบไม่ผ่าน  เพราะไม่เคยสอนตามตัวชี้วัดมากกว่า)

อันที่จริงการข้อทดสอบปลายภาค  ไม่ยากเลย   ยิ่งสมัยนี้มีคลังข้อสอบทั้งของ สพฐ., และบุคคลที่สนใจมากมาย  แค่ไปค้นคว้าหาในอินเตอร์เน็ตก็ได้แล้ว   หรือจะให้ครูค่อยๆออกสักวิชาละ ๒๐๐ ข้อ  แล้วทยอยส่งโรงเรียน  แล้วโรงเรียนค่อยมาเลือกออกสัก ๖๐ ข้อก็ได้   แต่ที่ยากคือ ส่วนมากชอบไปจัดทำก่อนการสอบไม่กี่วัน  บางโรงเรียนเป็นหนักมาก  เพิ่งโรเนียวตอนเช้าวันสอบก็มี  โดยไม่ต้องผ่านตรวจสอบคุณภาพจากฝ่ายวิชาการหรือผู้บริหารเลย

การที่ครูส่วนมากต้องเป็นผู้ออกข้อสอบปลายภาคเอง  ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้  เห็นเขาทำตามๆกันมาอย่างนี้  อีกส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหาร หรือฝ่ายวิชาการก็ไม่รู้จริง หรือบางทีพอรู้แต่ขี้เกียจทำงาน  จึงโยนทุกอย่างให้ครูทำเองจนหมด  ผลการจัดการศึกษาไทยจึงไม่มีคุณภาพอย่างแท้จริง  เนื่องจากคะแนนหรือเกรดที่นักเรียนได้  ไม่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพหรือประสิทธิภาพการเรียนรู้แต่อย่างใด   ทั้งนี้เพราะกระบวนการวัดผลประเมินผลไม่น่าเชื่อถือ  ไร้การตรวจสอบคุณภาพทุกขั้นตอน   ดังจะเห็นจากผลการทดสอบแห่งชาติที่ผลการทดสอบต่ำกว่าผลการทดสอบที่โรงเรียนดำเนินการมากมาย

ในการทดสอบปลายภาคเรียนนั้น  โรงเรียนต้องจัดทำข้อทดสอบเป็นแบบปรนัยทั้งหมด  ในระดับชั้น ป.๑-ป.๔ จำนวน ๓๐ ข้อ ส่วนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕-มัธยมศึกษาปีที่ ๖ จำนวน ๖๐ ข้อ (๓๐ คะแนน) เพราะการวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน เป็นการวัดผลประเมินองค์รวม (summative evaluation) จึงสามารถออกเป็นแบบปรนัยได้    

แต่ถ้าโรงเรียนใด  ตั้งใจอยากให้โรงเรียนมีคุณภาพและประสิทธิภาพเร็วๆ   ก็ควรให้ครูนำผลการทดสอบแห่งชาติที่ตรงกับวิชาของโรงเรียนเป็นคะแนนสอบปลายภาคของวิชานั้นเลย  ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  มัธยมศึกษาปีที่ ๓ และมัธยมศึกษาปีที่ ๖   

๖.๔ เมื่อกำหนดการวันสอบวัดผลประเมินผลชัดเจนแล้ว   ก่อนการสอบ ๑ สัปดาห์ ให้ครูทุกคนส่ง ปพ.๕ ที่มีรายละเอียดการประเมินทุกหน่วยการเรียนต่อฝ่ายบริหาร  ต่อมาโรงเรียนแต่งตั้งครูคุมสอบห้องเรียนละ ๑ คนก็พอ  โดยควรสลับชั้นที่คุมสอบกับชั้นที่ตนเองสอน   และให้ครูที่เหลือไปนั่งประจำอยู่ที่กองกลาง  เพื่อตรวจกระดาษคำตอบของนักเรียนเมื่อสอบเสร็จในแต่ละรายวิชา   แล้วบันทึกคะแนนที่ได้ลงในช่องผลการสอบปลายภาคด้วยปากกาสีน้ำเงินทันที   เพราะคะแนนที่ได้จากผลการสอบปลายภาคไม่ควรมีการแก้ไขอีก   

การทำแบบนี้จะช่วยให้งานการวัดผลเสร็จทันทีหลังจากสอบเสร็จ  ไม่ต้องรอครูเจ้าของวิชาไปตรวจ  ซึ่งบางทีเปิดภาคเรียนใหม่  ครูบางคนยังตรวจไม่เสร็จสักทีก็มี   และช่วยให้โรงเรียนได้รู้ความจริงหลายอย่างที่ครูบางคนปกปิดไว้  รวมทั้งได้ประกันคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง   เช่นบางโรงเรียน  เด็กบางคนได้คะแนนระหว่างเรียน ๖๐ กว่าคะแนน  แต่พอสอบปลายภาคทำได้ไม่ถึง ๑๐ ข้อก็มี

๖.๕  หลังจากรวบรวมคะแนนเสร็จสิ้น  ก่อนจะประกาศผลเป็นทางการ   ถ้าโรงเรียนใดถืออุดมการณ์ว่า “การศึกษาที่ดี คือ การให้โอกาส”  ก็ควรประกาศให้นักเรียนที่ยังไม่พอใจคะแนนรวม  สามารถขอ “สอบแก้ตัว” ใหม่ได้ หลังจากสอบเสร็จ ๒ วัน เพราะเด็กบางคนอีก ๒-๓ คะแนน ก็สามารถเปลี่ยนเกรดให้สูงขึ้นได้  เช่น บางคนได้ ๗๘ คะแนน  อีก ๒ คะแนนก็จะเป็นเกรด ๔  (เราจะได้จากเด็กเก่งๆ ใฝ่รู้บางคนที่ออกจากห้องสอบ มักจะบ่นว่า  แหมทำข้อนี้ผิดไปนิดเดียว  ซึ่งเด็กแบบนี้  โรงเรียนควรส่งเสริมให้โอกาสเต็มที่)  การ “สอบแก้ตัว”ให้ทำได้ครั้งเดียว  และเป็นการทำแบบทดสอบเก่าอีกครั้ง   เมื่อเสร็จสิ้นก็นำคะแนนที่ได้ใหม่  เขียนด้วยปากกาแดงข้างคะแนนเดิม  แล้วรวมคะแนน  ประกาศผลเป็นทางการได้เลย 

ประเด็นนี้  ตอนแรกครูทั้งหมดไม่ค่อยยอมกัน  จึงต้องอธิบายว่า  “ถ้าการศึกษา คือการให้โอกาสคนได้พัฒนาตนเอง” แล้วทำไมเราจะยอมไม่ได้  และบางทีก็ย้อนกลับไปว่า  ทำไมตอนสอบประมวลความรู้  และตอนทำ-สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโท-เอก  จึงสามารถแก้ไข  สอบใหม่ได้ล่ะ  ด้วยเหตุผลนี้ครูส่วนมากจึงเงียบไป          

อีกอย่างหนึ่ง  ที่ครูส่วนมากเข้าใจผิด  คิดว่า “การสอบแก้ตัว” เป็นการสอบแก้ไขเกรดที่เด็กได้ระดับ ๐ ซึ่งถ้าโรงเรียนใดมีผู้บริหารและครูใจกว้างพอ  ก็สามารถอนุญาต “สอบแก้ตัว” ใหม่ได้เหมือนกัน   แต่จริงๆแล้ว  ถ้านักเรียนคนใดมีคะแนนรวมต่ำกว่าคะแนนที่อยากปรับเกรดเกิน ๔ คะแนนขึ้นไป  ก็ไม่ควรอนุญาต “สอบแก้ตัว” ใหม่

ส่วนการแก้ไขเกรด ๐ ตามหลักการจัดการศึกษา และระเบียบการวัดผลตามหลักสูตรฯทุกฉบับแล้ว  ครูต้องให้นักเรียนไปแก้ไข  สอบซ่อมตามหน่วยการเรียนรู้ หรือตัวชี้วัดฯ ที่ไม่ผ่าน  ไม่ใช่มาสอบแก้ตัวจากข้อทดสอบปลายภาคแบบที่ทำกันทั้งประเทศ ยิ่งทำเท่าไหร่  เด็กก็ทำข้อทดสอบปลายภาคไม่ถึงเกณฑ์สักที   ก็ในเมื่อไม่ผ่านตามหน่วยการเรียนรู้  แล้วจะมีความรู้มาสอบแก้ตัวจากข้อทดสอบปลายภาคได้อย่างไร   (แต่ที่ผ่านได้เกรด ๑  ก็เพราะมีครูบางคนแอบช่วยแก้ไขให้  หรือให้ไปทำงานอย่างอื่นมาส่งมากกว่ามั๊ง)  นี่คือหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า  การที่การศึกษาไทยขาดคุณภาพและประสิทธิภาพ  เป็นเพราะครูและโรงเรียนส่วนมากไม่ได้จัดการศึกษาตามหลักสูตร หรือระเบียบ หรือหลักวิชาการศึกษาแต่อย่างใด

.

๗. ประการที่เจ็ด  “อย่างสร้างตราบาปให้กับเด็ก”

เรื่องที่ครูส่วนมากทำบาปกับเด็กโดยจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ คือ การให้รอการตัดสินคะแนน  ตามที่เรียกกันง่ายๆว่า ติด “ร” นั่นแหละ   สมัยที่ผมเป็นประเมินภายนอก และที่ปรึกษาโรงเรียน  ได้สอบถามครูและผู้บริหารโรงเรียนนั้นว่า  ทำไมโรงเรียนต่างๆ เด็กจึงติด “ร” เยอะ  (โรงเรียนที่ผมเคยไปช่วยแก้ปัญหา  ก็มีเด็กติด “ร” และ “๐” สะสมมาหลายปี เกือบพันวิชาก็มี)  ส่วนมากครูและผู้บริหารตอบว่า  “เพราะเด็กไม่ส่งงานตามที่สั่ง”  ผมก็ถามต่อไปว่า  “แล้วงานที่ครูสั่งนั้น  พิเศษอย่างใด  มีระบุไว้เฉพาะในแผนการสอนต่างหากจากหน่วยการเรียนรู้ไหม  และได้กำหนดคะแนนไว้เท่าใดนอกเหนือจากคะแนนแต่ละหน่วยฯ   จึงมีผลต่อการไม่สามารถตัดเกรดได้”    ส่วนมากก็ตอบกันไม่ได้  มักอึกๆอักๆ  เนื่องจากงานที่สั่งให้เด็กทำ   มักเป็นงานที่ครูคิดได้ตอนสอน หรือไปเห็นโรงเรียนอื่นทำ  ก็เลยทำตาม  หรือไม่ก็ตอนที่ครูไม่อยู่ติดธุระ ไปอบรม หรือลาป่วย ลาคลอด   

ถ้าเด็กคนไหนไม่ส่งงานตามที่สั่ง   ครูส่วนมากจะมี “อคติ” คิดว่า  เด็กไม่เคารพเชื่อฟัง  ขี้เกียจ  ไม่รักการเรียน  จึงทำเรื่องถึงโรงเรียนให้ “ร” ไว้   ซึ่งเด็กทุกคนจะกลัว “ร” มาก  เพราะถ้าได้ “๐” ยังไงๆ ก็จบได้  ถ้าเป็นวิชาเลือก หรือ เพิ่มเติม  ส่วน “ร” แล้วแต่ “รอ” อารมณ์ครู  ที่จะให้ทำงานชิ้นนั้นส่งอีกหรือไม่  โดยส่วนมาก  ครูจะชอบให้ “ร”  เพระดูมีอำนาจเหนือเด็กๆ ที่เด็กทุกคนต้องยอมสยบ   เด็กบางคนแก้-ทำเท่าไหร่ก็ไม่ถูกใจครูสักที   จึงถอดใจยอมแพ้  บางคนถึงกับเลิกเรียน  ยอมไม่จบการศึกษา  ไม่มาเอาใบประกาศนียบัตร หรือ ปพ.๑ ก็มี

สำหรับเกรด “๐” ไม่ค่อยมีปัญหาต่อตัวเด็กเท่าไหร่  เพราะเด็กที่ได้ “๐” มักคิดว่าตนเองไม่เก่ง  ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น  แก้ได้เกรด “๑” ก็เป็นบุญมหาศาลแล้ว   แต่สำหรับครู เกรด”๐” ครูก็ต้องพยายามแก้ไขให้เด็กแก้เกรด  ยิ่งถ้าได้ “๐” เป็นจำนวนมาก  ก็ยิ่งส่งผลให้ครูถูกมองว่าไร้คุณภาพ และประสิทธิภาพในการสอนมากขึ้น 

วิธีการแก้ปัญหา “๐” และ “ร” ที่ผมทำมาคือ  เริ่มแก้ที่ ”ร” ก่อน  โดยขอให้ครูเจ้าของวิชาที่ให้เด็กติด “ร” ชี้แจงมาว่า  ให้เด็กติด “ร” เพราะเหตุใด   เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว  ถ้ามาจากการไม่ได้ “ส่งงาน” ก็จะขอดูแผนการสอนของครูผู้นั้น  ถ้าไม่มีระบุไว้ในแผนการสอนก่อน  ส่วนมากมักจะยกเลิก “ร” ในวิชานั้นทันที  เพราะอำนาจการให้ “ร” เป็นของผู้บริหารสถานศึกษา   อีกส่วนหนึ่งก็จะเรียกเด็กๆมาพบ  ถามว่าพอใจกับคะแนนที่ได้จากวิชานั้นไหม  ถ้าพอใจก็ให้ครูตัดเกรดได้เลย  ถ้ายังไม่พอใจก็ให้ไปสอบซ่อมตามหน่วยการเรียนรู้ที่ไม่ผ่าน     แต่อีกส่วนหนึ่ง  ครูบางคนก็ยังยืนยันว่างานที่สั่งให้ทำนั้น  ถึงแม้ไม่ได้ระบุไว้ในแผนการสอนมาก่อน  แต่เป็นสิ่งดีมาก  ให้ประโยชน์ในการเรียนกับเด็กอย่างมาก   ก็พยายามขอให้ครูนำงาน  และคะแนนนั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง

ภาคเรียนต่อมา  ครูทั้งหมดจึงแก้ไขแผนการสอน  โดยระบุงานหรือชิ้นงานที่เป็นองค์รวมของวิชาที่สอน ออกมาเป็นพิเศษจากหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ  และโรงเรียนกำหนดอัตราส่วนคะแนนส่วนนี้ให้ไว้ไม่เกิน ๑๐ คะแนน  ถ้าเด็กไม่ทำตามนี้  ก็สามารถให้ “ร” ได้  ต่อแต่นั้นมา “ร” แทบไม่เคยปรากฏอีกเลย  ยกเว้นพวก “มส”

ส่วนพวกที่ได้ “ร” เพราะหมดสิทธิ์สอบ  ถ้าสืบหาสาเหตุได้ว่าป่วยจริง หรือ ต้องไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีวิต  เพราะผู้ปกครองหรือพ่อแม่มีปัญหา  ก็เรียกมาพบ  และให้โอกาสศึกษาด้วยตนเองแล้วจึงมาสอบซ่อมตามหน่วยการเรียนรู้ที่ยังไม่ผ่าน  หรือ สอบปลายภาคใหม่ถ้ายังไม่ได้สอบ

ปีการศึกษาต่อมา  ฟ้าสีทองผ่องอำไพ  “ร”  ไม่สามารถสร้างความทุกข์ และความรู้สึกบาปกับเด็กอีกเลย

ส่วน “๐” แก้ง่ายนิดเดียว  ถ้าเป็นภาคเรียนที่เสร็จสิ้นลง  ก็ให้ครูเจ้าของวิชาเรียกเด็กมาแก้ไข  สอบซ่อมตามหน่วยที่ไม่ผ่าน   ส่วนถ้าเป็นปีการศึกษาที่ผ่านมา  หรือที่สะสมมาหลายปี  ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการ รวมทั้งครูเจ้าของวิชา  จะเรียกเด็กที่ติด “๐” ทั้งหมดมาทำความเข้าใจก่อนว่า  ที่นักเรียนได้ “๐” เพราะความรู้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้   ถ้าจะแก้ไขเกรด  ก็ให้โอกาสเลือกว่า  ระหว่างสอบซ่อมตามหน่วยฯ ที่ยังไม่ผ่าน  หรือจะทำข้อทดสอบที่โรงเรียนจะออกใหม่(ที่จริงก็เก่า) ครอบคลุมเนื้อหาและตัวชี้วัดทุกหน่วยในวิชาที่ไม่ผ่าน จำนวน ๑๐๐ ข้อ  ทำได้ถูกครบ ๕๐ ข้อเมื่อใดก็ผ่านเมื่อนั้น  แต่ให้โอกาสสอบแก้ไขข้อที่ผิดได้ ๓ ครั้ง

เมื่อเลือกทางใดทางหนึ่งแล้ว  จะเปลี่ยนกลับมาเป็นวิธีหนึ่งไม่ได้  (ฝึกให้เด็กรู้จักหาข้อมูล มาพิจารณาเปรียบเทียบ ก่อนตัดสินใจ  เมื่อตัดสินใจ  ก็ต้องหัดยอมรับผลนั้นด้วย)    

ถ้าครบ ๓ ครั้งยังไม่ผ่านอีก  ก็ต้องไปลงทะเบียนเรียนวิชานั้นใหม่  โดยไปเรียนพิเศษนอกเวลาเรียนปกติ จะเป็นตอนเช้าก่อนเข้าเรียน  หรือพักเที่ยง  หรือตอนเย็นหลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์-อาทิตย์กับครูเจ้าของวิชา  หรือ ครูคนใดจะเป็นในโรงเรียนหรือโรงเรียนอื่นก็ได้ ที่ครูเจ้าของวิชา,หัวหน้ากลุ่มสาระฯ และผู้บริหารให้ความเห็นชอบ   แต่ต้องเช็คเวลาเรียน  บันทึกการทำกิจกรรม และผลการสอบแต่ละหน่วย ลงในสมุด ปพ.๕  และนักเรียนต้องบันทึกการเรียนรู้แต่ละชั่วโมงลงในสมุดบันทึกการเรียนของนักเรียนเอง  เมื่อครบตามชั่วโมงของวิชานั้น  ก็จัดให้มีการสอบปลายภาคเหมือนปกติ  (จะให้สอบเป็นพิเศษ หรือไปสอบร่วมกับวิชานนั้น  ในการสอบปลายภาคของโรงเรียนก็ได้)   สำหรับการเรียนพิเศษ หรือสอบซ่อมแต่ละหน่วยฯ นักเรียนต้องจ่ายค่าเรียนกับครูผู้นั้นต่างหาก (เปิดโอกาสให้ครูที่สอนพิเศษ  มีรายได้เพิ่มด้วย)

ตอนแรก  นักเรียนส่วนมากเลือกสอบใหม่ ๑๐๐ ข้อ  แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ผ่าน  ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม  ในภาคเรียนต่อมาจึงขอไปสอบซ่อมแต่ละหน่วยฯที่ยังไม่ผ่าน  กับครูเจ้าของวิชาในเวลาพิเศษ   (ตอนนี้ครูเจ้าของวิชามักไม่งอแงเหมือนเดิมที่เวลาเด็กมาขอสอบแก้เกรด “๐” อีก  เพราะได้ค่าสอนพิเศษทุกครั้งที่เด็กมาเรียนและสอบใหม่    วิธีนี้ดีมาก เพราะช่วยให้เด็กรู้ว่าตัวเองสอบไม่ผ่าน  เพราะพื้นฐานไม่แน่น  ยิ่งได้แก้ไข สอบซ่อมแต่ละหน่วยตามลำดับ  ก็ยิ่งรู้ว่า หน่วยแรกส่งผลต่อการเรียนรู้ในหน่วยต่อไปอย่างไร 

ทำอย่างนี้  ทั้งสองวิธีการ  ปีการศึกษาต่อมา  แทบไม่มีนักเรียนคนใดได้เกรด “๐” อีก  เพราะเข้าใจการเรียนมากขึ้นทั้งเนื้อหาวิชา  และทักษะการเรียนรู้   แถมส่วนที่สำคัญ คือ ไม่อยากจ่ายค่าเรียนพิเศษให้ครู  และไม่มีเวลาพักผ่อนในแต่ละวัน  จึงทำให้เวลาเรียนตามปกติ จะขยัน เอาใจใส่มากขึ้นทุกวิชา

*****แต่ส่วนผลักดันอันยิ่งใหญ่ คือคำว่า “ให้โอกาสแก้ไข” ที่โรงเรียนให้กับเด็กทุกคน  เป็นตัวกระตุ้นศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กอย่างคิดไม่ถึง ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเรียนรู้  กระตุ้นตัวเองให้พยายามแก้ไขข้อผิดพลาดที่ตนเองได้รับ จนผลการเรียนดีขึ้นทุกรายวิชา  และทำให้ผลการทดสอบแห่งชาติดีขึ้นกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ทุกปี  

และอีกปัจจัยหนึ่ง  ผมได้ให้นักเรียนรวมกลุ่มกัน  ตั้งแต่ระดับชั้น ม.๑-ม.๖  กลุ่มละ ๖ คน  ตามเลขท้ายประจำตัว ๒ หลัก โดยให้พี่ ม.๖ เป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม นัดพบกับตอนเที่ยง หรือเวลาเลิกเรียนก็ได้ เพื่อสอบถามปัญหาการเรียน  และแนะแนวการเรียนให้กับน้องๆ   ผลที่ได้พี่เก่งขึ้น เข้าใจสิ่งที่เรียนมากขึ้น น้องก็เก่งขึ้น เข้าใจขึ้น   ทำให้นักเรียน ม.๖ แต่ละปีสามารถสอบเรียนต่อในคณะยอดนิยมในมหาวิทยาลัยของรัฐสูงขึ้นทุกปี

แถมปัจจัยตัวสุดท้าย  โรงเรียนที่พอมีรายได้พิเศษมา ก็ควรอัดฉีดยาชูกำลังครูให้เป็นพิเศษ  โดยตั้งเงื่อนไขให้กับคณะครูว่า  ถ้ากลุ่มสาระใดทำให้ผลการสอบปลายภาค  หรือผลการทดสอบแห่งชาติ หรือทำให้นักเรียนได้รับรางวัลที่ไปแข่งขันกลับมาดีขึ้น สูงขึ้น จะให้เงินเป็นรางวัลตอบแทนครูทั้งกลุ่มฯ เปอร์เซ็นต์ละ ๑,๐๐๐ บาท (ช่วงปีแรกให้ ๕๐๐ บาท)  บางกลุ่มสาระฯ ทำได้สูงมาก เป็นแสนก็มี จนครูบางกลุ่มฯมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน(เที่ยว)ต่างประเทศเป็นประจำทุกปี 

.

๘. ประการที่แปด  ส่วนเสริมที่โรงเรียนควรทำบ่อยๆ

๘.๑ นอกเหนือจากการเรียนวิชาต่างๆ ตามปกติ  โรงเรียนควรจัดการแข่งขันกิจกรรมต่างๆ ช่วงพักกลางวัน  เช่น  ตอบปัญหา  คัดลายมือ  แข่งกีฬา ฯลฯ  ให้เป็นระบบ  มีรางวัลแก่ผู้ชนะ  และของชำร่วยแก่ผู้เข้าร่วมแข่งขัน

๘.๒ ชั่วโมงแรกของแต่ละวัน  ควรเป็นชั่วโมงปรับพื้นฐาน  แก้ปัญหาการเรียนของเด็ก  และติวการสอบ O-net ให้กับเด็ก ป.๖, ม.๓, ม.๖  (ชั่วโมงเรียนมีเวลา ๖๐ นาที  ให้หักแต่ละวิชาเหลือ ๕๐ นาที  นำเวลาที่เหลือมาเป็นชั่วโมงแรก)  ในการติวการสอบ O-net  อย่างน้อยควรติวสัปดาห์ละวิชา  โดยวันจันทร์ทำแบบทดสอบ O-net ทั้งฉบับ  วันอังคาร-พฤหัส เฉลย  วันศุกร์ทำแบบทดสอบ O-net ฉบับใหม่  เพื่อเป็นการเปรียบเทียบการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  และถ้ายิ่งติววิชาภาษาไทย  ในเดือนแรกทั้งเดือนยิ่งดีใหญ่  จะเห็นผลลัพธ์ที่คิดไม่ถึงทีเดียว

ส่วนการปรับพื้นฐานของชั้นอื่นๆ  ในชั่วโมงแรก  ให้เด็กทำแบบทดสอบวัดความรู้ในวิชาต่างๆ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ชั้น ป.๑-ป.๖ หรือ ม.๑-ม.๖ วิชาละ ๕๐-๑๐๐ ข้อ  เพื่อตรวจสอบว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาการเรียนวิชาใด ตรงไหนบ้าง  ในชั่วโมงต่อมา  ให้ครูแบ่งเด็กเป็นกลุ่มตามสภาพปัญหาที่พบ  แล้วให้เด็กทำกิจกรรมหรือแบบฝึกหัดในเรื่องนั้นๆ  จนครบทุกปัญหา 

แต่ถ้าโรงเรียนใดเชื่อมั่นในแนวทางการเรียนรู้ตามศักยภาพ  และมีครูพอ หรือนำนักเรียนที่เก่งที่สุดในโรงเรียนมาช่วย ก็ให้นักเรียนทั้งหมดทุกระดับชั้นทำแบบทดสอบเหมือนกัน  แล้วจำแนกเด็กไปตามสภาพปัญหาที่พบเป็นกลุ่ม  ในกลุ่มหนึ่งอาจมีนักเรียนหลายระดับชั้นร่วมกัน  เช่น  วิชาภาษาไทย   มีนักเรียนชั้น ป.๕-ป.๖ หรือ ม.๑-ม.๖ จำนวนหนึ่งทำแบบทดสอบจับใจความไม่ได้  ครูก็ให้กลุ่มนี้อยู่ร่วมกัน  เพื่อเรียนรู้การจับใจความให้ได้  ถ้าทำได้ก็ค่อยให้ไปเรียนกลุ่มอื่นต่อไป     ทำอย่างนี้เด็กทั้งหมดจะเรียนรู้ไปตามสภาพปัญหาของตนเองและปรับพื้นฐานความรู้ได้อย่างดียิ่ง   เมื่อสิ้นสุดภาคเรียนหรือปีการศึกษา ผลที่ได้จะเต็มไปด้วยความเหลือเชื่อ  สร้างความมหัศจรรย์ต่อนักเรียน ครู และสังคมแน่นอน

๘.๓  ในการเรียนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี  ซึ่งอาจจะเป็นวันพุธหรือพฤหัสบดีแล้วแต่ท้องที่   โรงเรียนที่ผมมีส่วนร่วม  ผมมักให้นำชั่วโมงวิชานี้มาเรียนในชั่วโมงแรกของวันนั้น  ทำให้การเรียนวิชาลูกเสือ-เนตรนารีของผม มีเวลาถึง ๙๐ นาที (๐๘.๐๐-๐๙.๓๐น.)  โดยจะเข้าแถวแบบกลุ่ม-กองลูกเสือเนตรนารีล้อมเสาธงโรงเรียน ทำพิธีเปิดกองเชิญธงชาติพร้อมกันเวลา ๐๘.๐๐ น. โดยผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ-เนตรนารี  ต่อจากนั้นก็ให้ครูที่รับผิดชอบในสัปดาห์นั้นสอนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี เช่น ระเบียบแถว  เงื่อน  ซึ่งในการสอนครั้งแรกครูทุกคนต้องร่วมกิจกรรมทั้งหมด  แต่ชั่วโมงต่อมา  ผมจะให้ครูลงกิจกรรมสอนไม่เกิน ๒ คน ถ้าเป็นโรงเรียนเล็กลงคนเดียว  ครูที่เหลือเข้าประชุมครูประจำสัปดาห์   การประชุมครูจึงไม่เสียเวลาเรียน  และในยามเย็นหลังเลิกเรียนอีก   การลงสอนลูกเสือ-เนตรนารีนั้น  ครูเพียงเรียกหัวหน้ากอง หรือหัวหน้ากลุ่มมาถ่ายทอดและแจกเอกสารความรู้ให้   ลูกเสือ-เนตรนารีที่เหลือต้องอยู่ในระเบียบแถวท่าพัก  จนครูถ่ายทอดเสร็จ   ก็ให้หัวหน้ากลุ่ม-หัวหน้ากองลูกเสือ-เนตรนารี  ประชุมกองลูกเสือ-เนตรนารีของตนเอง เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมา และฝึกฝนตามนั้น  หลังจากทุกกองทุกหมู่ฝึกฝนตามที่เรียนรู้มา  หัวหน้ากลุ่มลูกเสือ-เนตรนารีจะสั่งพัก ๑๐ นาที  แล้วครูผู้สอนจะเรียกประชุมกองลูกเสือ-เนตรนารี  เพื่อสุ่มหมู่ลูกเสือ-เนตรนารี  ให้ออกมาปฏิบัติตามสิ่งที่เรียนรู้มา  ถ้าทำไม่ได้  ครูผู้สอนจะสั่งลงโทษทั้งกองหรือหมู่นั้นตามกฎก็ได้   แล้วเมื่อสุ่มจนหมดเวลาเรียน  ก็ให้ประชุมกลุ่มเพื่อปิดกองลูกเสือ

การให้มาเรียนลูกเสือ-เนตรนารีตอนเช้า  และทำกิจกรรมตามแนวทางลูกเสือ-เนตรนารีอย่างจริงจัง  ทำให้ทั้งเด็กและครูชอบมาก  เนื่องจากไม่ร้อนมาก  เหมือนที่เคยเรียนตอนบ่าย   และโรงเรียนก็มีโอกาสประชุมครูไปด้วย เพราะครูลงกำกับการเรียนลูกเสือ-เนตรนารีเพียงแค่ ๒ คนแต่ละสัปดาห์ และยังหมุนเวียนกันลงไปกำกับการเรียนวิชานี้ทุกคน   ซึ่งครูที่ต้องลงไปกำกับการเรียนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี จะต้องเรียนรู้พื้นฐานวิชาลูกเสือ-เนตรนารี เช่น การเป่านกหวีด สัญญาณมือ ฯลฯ เป็นก่อนทุกคน   

ส่วนการแบ่งลูกเสือ-เนตรนารี ออกเป็นหมู่หรือกองนั้น  แนวทางที่ผมทำคือ  ในแต่ละหมู่จะมีนักเรียนครบทุกระดับชั้น เช่น ในระดับประถมศึกษา  จะให้แต่ละหมู่มีนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.๑-ป.๖  โดยให้พี่ ป.๖ เป็นหัวหน้าหมู่โดยปริยาย โดยแต่ละหมู่จะมีนักเรียน ๖ คน  ถ้าเข้าแถว  แนวนอนจะเป็นระดับชั้น  แนวตั้งจะเรียงลำดับตั้งแต่ ป.๖-ป.๑  ส่วนระดับมัธยมศึกษา  จะอนุโลมตามจำนวนนักเรียน  ถ้ามีมากก็จะให้แต่ละหมู่มีนักเรียน ม.๑ จำนวน ๒ คน  ม.๒ จำนวน ๒ คน ม.๓ จำนวน ๓ คน  หรือถ้าเป็นโรงเรียนขยายโอกาสและมีนักเรียนน้อย ก็จะคละตั้งแต่ ป.๑-ป.๖ แต่ไม่เกิน ๖ คน    เมื่อแยกหมู่หมู่แล้ว  ก็ให้รวม ๔ หมู่เป็น ๑ กอง  รวม ๔ กองเป็น ๑ กลุ่ม  แต่ละกองกลุ่มก็จะเลือกหัวหน้าจากหมู่หรือกอง  ถ้าหมู่ใดมีหัวหน้าหมู่เป็นหัวหน้ากอง หัวหน้ากลุ่ม  ก็จะให้หมู่นั้น เลือกหัวหน้าหมู่ใหม่ทันที

ส่วนการเรียนรู้และปฏิบัติจริงในกิจกรรมนี้  ก็จะเริ่มจากกิจกรรมระเบียบแถว ประมาณ ๓ สัปดาห์ ต่อไปก็เป็น กฎ กติกาประมาณ ๑ ครั้ง  ต่อจากนั้นก็เป็นสาระต่างๆ เช่น การผูกเงื่อน  การตั้งเต็นท์  การก่อไป  การทำอาหาร ฯลฯ และเรื่องสุดท้าย คือ กิจกรรมเดินทางไกล และเข้าค่ายพักแรม ซึ่งถือเป็นการประเมินผลองค์รวมจากการเรียนรู้กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี โดยปริยายไปด้วย

๘.๔  อีกเรื่องที่โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำเอง คือ การทำกิจกรรมชุมนุม  แนวทางที่ผมคิดว่าดีที่สุด คือ การให้นักเรียนระดับชั้นสูงสุด เช่น ป.๖, ม.๓ หรือ ม.๕-ม.๖ รวมตัวกันไม่กิน ๕ คน เป็นผู้จัดตั้งชุมนุม  ครูเป็นแต่เพียงที่ปรึกษาด้านการวางแผนหรือการจัดกิจกรรมเท่านั้นจริงๆ  โดยให้นักเรียนที่จะจัดตั้งชุมนุมคิดโครงการที่จะทำกิจกรรมให้น้องๆ เรียนรู้  (ซึ่งกิจกรรมที่ควรทำชุมนุม  ควรเป็นกิจกรรมการฝึกปฏิบัติจริง หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น ชุมตระกร้อ ชุมนุมมวย ชุมนุมว่าว  ชุมนุมน้ำปั่น ชุมนุมทดลอง  ชุมนุมหมากรุก  หมากฮอร์ส  ชุมนุมจิตวิทยา  ชุมนุมหมอดู ฯลฯ  เพียงห้ามเป็นชุมนุมทางวิชาการล้วนๆ) เสนอต่อครูฝ่ายที่รับผิดชอบกิจกรรมนี้  โดยวางแผนทำกิจกรรมให้ครบทั้ง ๒๐ สัปดาห์  เมื่อได้รับการอนุมัติจากโรงเรียนแล้ว  ในช่วงสัปดาห์ที่ ๑-๒ ของการเปิดเรียน หรือปีการศึกษา  ให้แต่ละชุมนุมประกาศ(โฆษณา) เชิญชวนนักเรียนทั้งโรงเรียน  เข้าร่วมชุมนุม  พอสัปดาห์ที่ ๒ หรือ ๓  ในชั่วโมงชุมนุมให้นักเรียนตัวแทนชุมนุม  ตั้งโต๊ะรับสมัครนักเรียนเข้าชุมนุม  หลังจากนั้นสัปดาห์ต่อไป  ก็เริ่มทำกิจกรรมของแต่ละชุมนุมที่วางแผนไว้   ถ้าโรงเรียนใดทำตาม  ผมขอรับรองว่า บรรยากาศการเรียนรู้  ความกระตือรือร้นคึกคัก  ความแจ่มใสมีชีวิตชีวา  ที่ครูและสังคมอยากเห็น  ได้เห็นแน่นอน

แต่ในช่วงแรก  โรงเรียนควรทำใจให้กว้าง และให้โอกาสนักเรียนที่คิดจะเปลี่ยนชุมนุม  ยุบชุมนุม  และรวมชุมนุมบ้าง   เพราะหลายๆชุมนุม ยังไม่มีประสบการณ์ดำเนินการ  หรือนักเรียนบางคนพอเข้าร่วมสักครั้ง ๒ ครั้ง อาจเห็นว่าตัวเองไม่ชอบ  หรือ สมาชิกชุมนุมตัวเองมีน้อยไป  ก็สามารถปรับปรุงแก้ไข  อนุโลมตามธรรมชาติและศักยภาพ

พอใกล้สิ้นสุดภาคเรียน  ก็เปิดโอกาสให้แต่ละชุมนุม  มานำเสนอผลงาน  ในรูปแบบนิทรรศการ  หรือ งานแสดงผลงานนักเรียน  ก็จะสร้างครึกครื้น  การแข่งขันโชว์ฝีมือของนักเรียนจริงๆ

๘.๕  กิจกรรมที่น่าส่งเสริมอีกกิจกรรม  คือ กิจกรรมสร้างความรับผิดชอบให้กับนักเรียน  โดยแนวปฏิบัติที่ผมทำมา   ผมมักแบ่งจำนวนนักเรียนและครูออกเป็น ๕ กลุ่ม(คณะ)  ให้รับผิดชอบดูแลเขตพื้นที่โรงเรียนยกเว้นห้องเรียน  โดยให้กลุ่มหรือคณะรับผิดชอบกลุ่มละวัน  เช่น วันจันทร์ มอบให้นักเรียนและครูกลุ่มสีเหลืองดูแล  วันต่อไปก็ให้กลุ่มหรือสีที่ตรงกับวันดูแล   วิธีนี้ทั้งครูและนักเรียนก็ไม่ต้องทำงานทุกวัน  ทำเฉพาะวันที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น  เมื่อแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มแล้ว  ก็ให้แต่ละกลุ่มแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย  กลุ่มละ ๖ คน  โดยในกลุ่มมีนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.๑-ป.๖  หรือ ม.๑-ม.๖  เมื่อได้กลุ่มย่อยแล้ว  ก็พิจารณาดูว่ามีจำนวนกลุ่มย่อยเท่าใด  เช่น  ได้ ๑๐ กลุ่มย่อย  ก็ให้โรงเรียนหรือฝ่ายที่รับผิดชอบ กำหนดพื้นที่ออกเป็น ๑๐ เขต  ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มย่อยของวันที่ตนเองรับผิดชอบ  ดูแลความสะอาด  ความเรียบร้อยในเขตนั้นๆ   โดยหมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน

ในการทำกิจกรรมแต่ละวัน  ควรให้ประธานนักเรียน  และหัวหน้ากลุ่ม(คณะ)ทุกกลุ่ม  ร่วมตรวจตราและประเมินให้คะแนน  แล้วสิ้นสุดสัปดาห์ก็รวบรวมคะแนน  เพื่อประกาศตอนเช้าวันจันทร์  และแจ้งข้อบกพร่องที่พบเห็นในแต่ละวัน  ให้แก่หัวหน้ากลุ่ม  เพื่อไปประชุมแก้ไขในวันประชุมกลุ่มต่อไป

ถ้าโรงเรียนใดมีนักเรียนน้อย   ก็ควรแบ่งสัก ๔ กลุ่มก็พอ   ส่วนวันศุกร์ก็มอบหมายให้นักเรียนทั้งหมดรับผิดชอบ  โดยมีคณะกรรมการนักเรียน  หรือสภานักเรียนเป็นหัวหน้าก็ได้  การทำแบบนี้ดีกว่ามอบหมายแต่ละเขตให้ชั้นเรียนรับผิดชอบ  เพราะมักจะเกี่ยงกันทำงานเสมอ

ในการทำกิจกรรมพัฒนานี้  ผมมักให้กลุ่มสีที่แยกไว้ผูกกับการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนไปด้วย   ถ้าในชั่วโมงประชุมกลุ่มสี  ไม่มีการประชุม  ก็ให้นักเรียนฝึกฝนการเล่นกีฬา  การเชียร์  กิจกรรมบริการที่กลุ่มกำหนด หรือตัวเองสมัครไว้

ส่วนภายในห้องเรียน  เป็นเรื่องของเวรแต่ละวันที่แบ่งกันไว้  ปกติเมื่อเลือกหัวหน้าห้องเรียนเสร็จ  ก็มักให้แบ่งนักเรียนไปตามประจำวัน   และให้เลือกหัวหน้าเวรขึ้นมา  เพื่อกำหนดงานหรือภารกิจ ที่สมาชิกแต่ละคนต้องทำ เช่น กวาดพื้น-ยกโต๊ะ, ทำความสะอาดพื้น, ทำความสะอาดกระดานดำ, เทขยะ, จัดโต๊ะ ฯลฯ ไม่ควรให้นักเรียนทุกคนช่วยกันทำ    เมื่อเลือกหัวหน้าเวรแต่ละวัน  ก็ให้ถือว่าหัวหน้าเวรเป็นรองหัวหน้าห้องโดยปริยาย   ส่วนหัวหน้าห้องเรียนไม่ต้องร่วมทำเวร   แต่มีหน้าที่รับผิดชอบ  กำกับ  ควบคุม ประเมินการทำงานแต่ละวันให้เรียบร้อย  ถ้าวันใดไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นหัวหน้าห้องต้องรับผิดชอบทันที

๘.๖ กิจกรรมสุดท้ายที่ขอแนะนำ  คือ กิจกรรมประชุมประจำสัปดาห์  ผมมักกำหนดให้ครูแนะแนวเป็นผู้รับผิดชอบ  ถ้าโรงเรียนใดไม่มีครูแนะแนว ก็ควรมอบให้ฝ่ายกิจกรรมนักเรียน หรือผู้บริหารรับผิดชอบ และให้ถือว่าชั่วโมงนี้เป็นชั่วโมงแนะแนวไปด้วย  โดยแต่ละชั่วโมงครูแนะแนวต้องวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง  จนสิ้นสุดภาคเรียน (แนะแนวชีวิต, แนะแนวการเรียน, แนะแนวการศึกษาต่อ, แนะแนวอาชีพ)     ทุกครั้งที่ประชุมให้ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิก่อน  ต่อจากนั้นให้ครูแนะแนวดำเนินการ  อาจจะเชิญผู้บริหาร  ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก  หรือครูคนใดคนหนึ่งมาให้ความรู้ หรือแนะแนวตามหัวข้อที่วางแผนไว้  หรือในช่วงใด  จะมีหน่วยงานทางราชการจะมาให้ความรู้  เช่น ตำรวจ สาธารณสุข ฯ ก็ยกชั่วโมงนี้ให้ดำเนินการเลย 

แต่ในการประชุมชั่วโมงนี้ทุกครั้ง   ต้องให้นักเรียนนั่งตามลำดับชั้น  ตั้งแต่ชั้นสูงสุดนั่งหน้า  เรียงลำดับจนถึงชั้นต่ำสุด เช่น อนุบาล, ป.๑, หรือ ม.๑ นั่งหลังสุด  ***ห้ามให้เด็กเล็ก หรือชั้นต่ำสุดนั่งหน้าโดยเด็ดขาด*** เพราะการให้เด็กใหม่ หรือเด็กเล็กสุดนั่งหน้า  ทำให้ทำลายบรรยากาศการประชุมลงอย่างสิ้นเชิง  และทำลายการเรียนรู้ที่จะได้จากพี่สอนน้อง  หรือเป็นตัวอย่างน้องลงไปด้วย  เนื่องจากเด็กเล็ก  นั่งนิ่งๆนานไม่ได้  ขาดความอดทน  ทำอะไรไม่ถูก  เพราะไม่มีใครทำเป็นตัวอย่าง   และสุดท้ายจะทำให้ครูบางคนถือโอกาสสร้างอำนาจ  แสดงอำนาจในการบังคับเด็ก  ลงโทษเด็ก จากที่ประชุมไม่เรียบร้อย

การนั่งประชุมแบบนี้  ควรถือเป็นแนวปฏิบัติในการเข้าประชุมนักเรียนทุกครั้ง หรือทุกกรณีของโรงเรียนไปด้วย  เช่น การประชุมในวันไหว้ครู   ถ้าท่านผู้อ่านทำตามนี้  รับรองจะเห็นความแตกต่างที่ดีกว่ากับการประชุมแบบเก่าแน่นอน

    ที่จริงยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย  แต่เห็นว่า  เป็นประเด็นปลีกย่อย  จึงปล่อยให้เป็นงานของ “ครู” ที่คิดจะช่วยเหลือเด็ก  พัฒนาเด็ก ได้ลองทำเองบ้าง     แต่ขอให้คนที่อยากเป็น “ครู”  ได้เชื่อมั่นในการทำงานของตนเองว่าจะเกิดคุณภาพ และประสิทธิภาพแน่นอน   ถ้า “ครู - รักเด็ก  อยากช่วยเหลือพัฒนาเด็กจริง”   รับรองว่าสิ่งที่ทำนั้น  ไม่ผิดทาง  เกิดประโยชน์เต็มที่แน่นอน

                       

หมายเลขบันทึก: 677882เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2020 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาต Copy เพื่อศึกษาในรายละเอียดครับ… เบื้องต้น อ่านได้ 2 ข้อ น่าสนใจมากครับ…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท