การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้


องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกประเภท ทุกขนาด ที่นำเกณฑ์เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินคุณภาพระดับมาตรฐานโลก ไปเปรียบเทียบกับระบบการบริหารจัดการของตน ก็จะได้รับประโยชน์ในการปรับปรุงและให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

Measurement, Analysis, and Knowledge Management from Role Models

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

[email protected]

7 มิถุนายน 2563

บทความเรื่อง การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis, and Knowledge Management from Role Models) นำมาจากบทความเรื่องLearning from Role Models: Category 4: Measurement, Analysis, and Knowledge Management โดย Dawn Bailey เมื่อ June 4, 2020 จากเว็บไซต์ https://www.nist.gov/blogs/blogrige/learning-role-models-category-4-measurement-analysis-and-knowledge-management

ผู้ที่สนใจเอกสารนี้แบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ Download ได้ที่ https://www.slideshare.net/maruay/measurement-analysis-and-knowledge-management-from-role-models

หมวด 4 ของ Baldrige Criteria ครอบคลุมข้อมูลข่าวสารที่สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับการวัด วิเคราะห์ และปรับปรุงผลประกอบการ รวมถึงการจัดการความรู้ขององค์กร เพื่อผลักดันการพัฒนา นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

  • หมวดนี้ถามว่า องค์กรใช้ข้อมูลและข่าวสารอย่างไร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร และกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม
  • และถามว่า องค์กรเลือกและใช้ข้อมูลและข่าวสาร เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการกระบวนการอย่างไร
  • ยังถามอีกว่า องค์กรสร้างและจัดการสินทรัพย์ความรู้ขององค์กรอย่างไร และให้ความมั่นใจในคุณภาพและความพร้อมของข้อมูลและข่าวสารได้อย่างไร

หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

  • หมวด 4 ถือเป็น “สมอง” ที่เป็นศูนย์กลางในการทำให้เกิดความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันของการปฏิบัติการกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร และเป็นหมวดหลักของเกณฑ์ในด้านสารสนเทศที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวกับการวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุงผลการดำเนินการ รวมทั้งการจัดการความรู้ขององค์กรอย่างมีประสิทธิผล เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุง นวัตกรรม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร
  • หัวใจสำคัญของการใช้ข้อมูลและสารสนเทศดังกล่าวอยู่ที่คุณภาพและความพร้อมใช้งานของข้อมูล นอกจากนี้ สารสนเทศ การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ อาจเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นในการทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพ ดังนั้น หมวดนี้จึงครอบคลุมการพิจารณาเชิงกลยุทธ์ในเรื่องดังกล่าวด้วย

4.1 การวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์กร

เจตจำนง

  • หัวข้อนี้ถามถึงวิธีการที่องค์กรใช้ในการเลือกและใช้ข้อมูลและสารสนเทศสำหรับการวัดผลการดำเนินการ การวิเคราะห์ และการทบทวน เพื่อสนับสนุนการวางแผนและการปรับปรุงการดำเนินการขององค์กร หัวข้อนี้เป็นศูนย์กลางของการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสารสนเทศในการวัดผลการดำเนินการและระบบการจัดการที่มีการบูรณาการ โดยอาศัยข้อมูลและสารสนเทศด้านการเงิน และด้านอื่น ๆ
  • จุดประสงค์ของการวัดผลการดำเนินการ การวิเคราะห์ การทบทวน และการปรับปรุง เพื่อชี้นำการจัดการกระบวนการขององค์กรให้บรรลุผลลัพธ์ขององค์กรและวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ อีกทั้งเพื่อคาดการณ์และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วหรือไม่ได้คาดคิด หรือการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกองค์กร รวมทั้งเพื่อระบุวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศขององค์กรที่นำมาแบ่งปัน

ความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันและการบูรณาการระบบการจัดการผลการดำเนินการ

  • ความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันและการบูรณาการเป็นหลักการที่สำคัญในการนำระบบการวัดผลการดำเนินการไปปฏิบัติและการนำไปใช้อย่างประสบความสำเร็จ
  • เกณฑ์มองว่าความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันและการบูรณาการต้องพิจารณาทั้งขอบเขตและประสิทธิผลของการใช้งานเพื่อให้ตรงกับความจำเป็นในการประเมินและปรับปรุงผลการดำเนินการ รวมทั้งเพื่อจัดทำและนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
  • ความสอดคล้องไปในทางเดียวกันและการบูรณาการครอบคลุมถึงวิธีการทำให้ตัววัดสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร และวิธีการบูรณาการเพื่อให้ได้ข้อมูลและสารสนเทศจากทั่วทั้งองค์กร
  • ข้อมูลและสารสนเทศระดับองค์กรเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญที่ใช้ในการทบทวนผลการดำเนินการขององค์กรและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
  • นอกจากนี้ ความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันและการบูรณาการยังครอบคลุมถึงวิธีการที่ผู้นำระดับสูงถ่ายทอดสู่การปฏิบัติในเรื่องข้อกำหนดการวัดผลการดำเนินการ เพื่อติดตามผลการดำเนินการในระดับกลุ่มงานและกระบวนการในตัววัดที่สำคัญต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ว่ามีความสำคัญต่อองค์กรโดยรวมหรือกำหนดไว้สำหรับการปรับปรุง

ข้อมูลขนาดใหญ่

  • ความท้าทายและศักยภาพของปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นนั้นอยู่ที่การเลือก การสังเคราะห์ การวิเคราะห์ และการตีความข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเปลี่ยนให้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ จากนั้นนำไปสู่การปฏิบัติการและกลยุทธ์
  • ไม่เพียงแค่ใช้ข้อมูล แต่ยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความคิดในการรับความเสี่ยงที่ผ่านการประเมินผลได้ผลเสียอย่างรอบด้านและนวัตกรรม

การวิเคราะห์สารสนเทศ

  • สำหรับการปรับปรุงการปฏิบัติงาน การวิเคราะห์ข้อมูลเมื่อเปรียบเทียบมิติการวัดที่สำคัญ 2 มิติ (เช่น ผลิตภาพ ความสามารถในการทำกำไร ROI ความพึงพอใจของลูกค้า และความสำคัญเชิงสัมพันธ์) ก็มักจะเพียงพอ มิติที่ 3 เช่น เวลาหรือการแบ่งส่วน (เช่น ตามกลุ่มลูกค้า) อาจถูกเพิ่มเข้าไปในกลยุทธ์ การวิเคราะห์สารสนเทศขั้นสูงสามารถให้ภาพมิติที่ 3 และมิติที่ 4 ของสถานะปัจจุบันและสถานะที่ต้องการ หรือคาดการณ์ถึงผลการดำเนินการขององค์กรในอนาคต เทคโนโลยี ผู้คน และตลาด
  • จากภาพที่อิงตามข้อมูลเหล่านั้น ทำให้องค์กรจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์หรือจำลองสถานการณ์เชิงกลยุทธ์

การใช้สารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ

  • การใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกองค์กร เหตุผลหลักในการใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ มีดังนี้
    • องค์กรจำเป็นต้องรู้ระดับของตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งและวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ
    • สารสนเทศเชิงเปรียบเทียบและสารสนเทศที่ได้จากการจัดระดับเทียบเคียงมักผลักดันให้เกิด การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด (breakthrough) หรือ การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม (transformational change)
    • การเปรียบเทียบสารสนเทศด้านผลการดำเนินการมักนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อกระบวนการและผลการดำเนินการของกระบวนการดังกล่าว
    • การคาดการณ์ผลการดำเนินการเชิงเปรียบเทียบและผลการดำเนินการของคู่แข่งอาจเผยให้องค์กรเห็นถึงความได้เปรียบและประเด็นความท้าทายที่จำเป็นต้องมีการสร้างนวัตกรรม

    การเลือกและการใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ

    • ในการเลือกและการใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบและสารสนเทศอย่างมีประสิทธิผล องค์กรต้องกำหนดความจำเป็นและลำดับความสำคัญ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ในการเสาะหาแหล่งเปรียบเทียบที่เหมาะสมทั้งจากภายในและภายนอกธุรกิจและตลาด
    • นอกจากนี้ สารสนเทศเชิงเปรียบเทียบยังอาจสนับสนุนการวิเคราะห์และการตัดสินใจทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะหลักขององค์กร การเป็นพันธมิตร และการว่าจ้างให้องค์กรภายนอกดำเนินการแทน

    การทบทวนผลการดำเนินการ

    • การทบทวนระดับองค์กรในหัวข้อนี้มีจุดประสงค์ให้ครอบคลุมผลการดำเนินการในทุกเรื่อง ทั้งผลการดำเนินการในปัจจุบันและการคาดการณ์ผลการดำเนินการในอนาคต
    • โดยคาดว่าผลการทบทวนจะเป็นแนวทางที่เชื่อถือได้ ทั้งเพื่อชี้นำให้เกิดการปรับปรุงและโอกาสในการสร้างนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ที่สำคัญ สมรรถนะหลักขององค์กร ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และตัววัดความสำเร็จ
    • ผลจากการทบทวนอาจแจ้งเตือนองค์กรถึงความจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมในโครงสร้างและระบบงานขององค์กร
    • ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญของการทบทวนระดับองค์กรประการหนึ่ง คือการแปลงผลการทบทวนไปเป็นการปฏิบัติการที่ถูกถ่ายทอดสู่การปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร รวมถึงถ่ายทอดสู่การปฏิบัติไปยังผู้ส่งมอบ พันธมิตร คู่ความร่วมมือที่เหมาะสม และลูกค้าที่สำคัญ

    การใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบ

    • การใช้ข้อมูลและสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบอย่างมีประสิทธิผลทำให้องค์กรสามารถกำหนดเป้าประสงค์ที่ท้าทาย และส่งเสริมการปรับปรุงแบบก้าวกระโดดในเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อกลยุทธ์เชิงแข่งขันขององค์กร

    การวิเคราะห์ผลการดำเนินการ

    • การวิเคราะห์ที่องค์กรดำเนินการเพื่อให้เข้าใจผลการดำเนินการและการปฏิบัติการที่จำเป็นอาจแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด สภาพแวดล้อมด้านการแข่งขันขององค์กร และปัจจัยอื่น ๆ ตัวอย่างของการวิเคราะห์ ได้แก่
      • การหาความสัมพันธ์ระหว่างการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่กับตัวชี้วัดที่สำคัญด้านลูกค้า เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า ความภักดีของลูกค้า และส่วนแบ่งตลาด
      • ผลตอบแทนจากการลงทุนของความกล้าเสี่ยงที่ผ่านการประเมินผลได้ผลเสียอย่างรอบด้านที่องค์กรได้ดำเนินการ
      • ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับรายได้ที่เกิดจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า และการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิผล
      • การตีความการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาดในเรื่องการได้และเสียลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความผูกพันของลูกค้า
      • แนวโน้มของตัวชี้วัดผลการดำเนินการที่สำคัญ เช่น ผลิตภาพ รอบเวลา ระดับของเสีย การลดความสูญเสีย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่
      • ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้ระดับบุคคลและการเรียนรู้ระดับองค์กรกับมูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน
      • ผลประโยชน์ด้านการเงินที่ได้มาจากการปรับปรุงอัตรากำลัง ความปลอดภัย การขาดงานและการลาออกของบุคลากร
      • ผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาและฝึกอบรม
      • ผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการปรับปรุงการจัดการและการแบ่งปันความรู้ขององค์กร
      • ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการความรู้และการสร้างนวัตกรรม
      • ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการระบุและตอบสนองความต้องการด้านขีดความสามารถและอัตรากำลังบุคลากร กับการรักษาให้บุคลากรอยู่กับองค์กร การจูงใจ และผลิตภาพ
      • ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับรายได้ที่เกิดจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรและการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิผล
      • ตัววัดเดี่ยวหรือตัววัดร่วมของผลิตภาพและคุณภาพเปรียบเทียบกับผลการดำเนินการของคู่แข่ง
      • แนวโน้มของต้นทุนเปรียบเทียบกับแนวโน้มของคู่แข่ง
      • ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตัวชี้วัดผลการดำเนินการด้านการปฏิบัติการและแนวโน้มผลการดำเนินการด้านการเงินโดยรวม ที่สะท้อนให้เห็นจากตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น ต้นทุนการดำเนินงาน รายได้ ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ และมูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน
      • การจัดสรรทรัพยากรสำหรับแผนงานปรับปรุงต่าง ๆ โดยพิจารณาถึงต้นทุน/ผลประโยชน์ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง
      • รายได้สุทธิหรือจากการออม ที่เป็นผลมาจากการปรับปรุงผลการดำเนินการด้านคุณภาพ ด้านการปฏิบัติการ และด้านบุคลากร
      • การเปรียบเทียบผลการดำเนินการระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ทั้งด้านคุณภาพและด้านการปฏิบัติการที่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินการด้านการเงิน
      • ผลที่ได้รับจากกิจกรรมการปรับปรุงต่อกระแสเงินสด เงินทุนหมุนเวียน และมูลค่าหลักทรัพย์
      • ผลกระทบด้านกำไรที่เกิดจากความภักดีของลูกค้า
      • ความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนกับรายได้ของการเข้าสู่ตลาดใหม่ รวมทั้งสายการผลิตและการขยายตัวทางภูมิศาสตร์
      • ส่วนแบ่งตลาดเทียบกับกำไร
      • แนวโน้มทางเศรษฐกิจ ตลาด รวมทั้งดัชนีมูลค่าหลักทรัพย์ และผลกระทบของแนวโน้มดังกล่าวต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร

      การวิเคราะห์ การทบทวนผลการดำเนินการ และการวางแผนที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน

      • ข้อเท็จจริงและข้อมูลที่อยู่เดี่ยว ๆ มักจะไม่ใช่พื้นฐานที่มีประสิทธิผลในการจัดลำดับความสำคัญขององค์กร ดังนั้น หัวข้อนี้จึงเน้นว่าต้องมีความสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการวิเคราะห์กับการทบทวนผลการดำเนินการขององค์กร และระหว่างการทบทวนผลการดำเนินการขององค์กรกับการวางแผนขององค์กร ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าการวิเคราะห์และการทบทวนนั้นสัมพันธ์กับการตัดสินใจ และสร้างความมั่นใจได้ว่าการตัดสินใจนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
      • นอกจากนี้ ผลการดำเนินการในอดีตขององค์กรประกอบกับสมมติฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกในอนาคต ยังทำให้องค์กรสามารถคาดการณ์ผลการดำเนินการได้ ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้ อาจเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางแผน

      เข้าใจการปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผล

      • การปฏิบัติการขึ้นอยู่กับความเข้าใจในความเกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผลระหว่างกระบวนการต่าง ๆ และระหว่างกระบวนการกับผลลัพธ์ การปฏิบัติการและผลลัพธ์ของกระบวนการอาจส่งผลถึงทรัพยากรต่าง ๆ
      • ดังนั้น องค์กรจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีพื้นฐานการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิผลเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจ เพราะทรัพยากรที่ใช้ในการสร้างนวัตกรรมและการปรับปรุงมีจำกัด

      4.2 การจัดการสารสนเทศ และการจัดการความรู้

      เจตจำนง

      • หัวข้อนี้ถามถึงวิธีการที่องค์กรใช้ในการสร้างและจัดการสินทรัพย์ทางความรู้ และทำให้มั่นใจถึงคุณภาพและความพร้อมใช้งานของข้อมูลและสารสนเทศ
      • โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมขององค์กร

      การจัดการสารสนเทศ

      • ในการจัดการสารสนเทศ องค์กรจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างจริงจัง เนื่องจากแหล่งข้อมูลและสารสนเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล
      • การเติบโตอย่างต่อเนื่องของการใช้สารสนเทศในการปฏิบัติการขององค์กรที่มากขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความรู้ขององค์กร ผ่านเว็บและสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งการสื่อสารระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ องค์กรกับองค์กร และธุรกิจกับผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถขององค์กรในการทำให้ระบบดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ และพร้อมใช้งานในรูปแบบที่ใช้งานง่าย
      • ความสามารถในการผสานและหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างประเภท เช่น วีดิโอ ข้อความ และตัวเลข จะสร้างโอกาสให้องค์กรมีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน

      ความพร้อมใช้งานของข้อมูลและสารสนเทศ

      • ข้อมูลและสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเครือข่ายธุรกิจหรือองค์กร พันธมิตร และห่วงโซ่อุปทาน
      • องค์กรควรคำนึงถึงการใช้ข้อมูลและสารสนเทศในด้านนี้ และควรตระหนักถึงความจำเป็นในการสอบทานความถูกต้องของข้อมูลอย่างรวดเร็ว การประกันความเชื่อถือได้ของข้อมูล และความปลอดภัย อันเนื่องมาจากมีการเพิ่มความถี่และขนาดในการถ่ายโอนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความท้าทายเรื่องการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์

      การจัดการความรู้

      • การจัดการความรู้ขององค์กรต้องมุ่งเน้นที่ความรู้ที่บุคลากรต้องใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อการปรับปรุงกระบวนการ ผลิตภัณฑ์และบริการ และใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้าและองค์กร
      • ระบบการจัดการความรู้ขององค์กรควรมีกลไกการแบ่งปันความรู้ของบุคลากรและองค์กร เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะรักษาการทำงานที่ให้ผลการดำเนินการที่ดีอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยน
      • องค์กรควรกำหนดว่าความรู้ใดสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงาน และทำให้มีกระบวนการแบ่งปันสารสนเทศนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสนเทศที่เป็นความรู้ส่วนบุคคลที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคลากร

      การเรียนรู้ระดับองค์กร

      • ในปัจจุบัน องค์กรต้องเผชิญกับประเด็นเรื่องการจัดการ การใช้ การประเมิน และการแบ่งปันความรู้ขององค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ
      • องค์กรชั้นนำได้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทางความรู้ของบุคลากร ลูกค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือ และพันธมิตร ซึ่งร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ระดับองค์กร และการสร้างนวัตกรรม

      แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของผู้ได้รับรางวัล Baldrige

      • ¡ ต่อไปนี้เป็นแนวทางปฏิบัติของที่ผู้รับรางวัล Baldrige ได้แก่ Center for Organ Recovery & Education, Charter School of San Diego, และMemorial Hospital and Health Care Center ในเรื่องการเลือกและใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผน การปรับปรุงผลประกอบการ การวัดผลการดำเนินการ การวิเคราะห์ และการทบทวน รวมถึงการระบุแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

      องค์กรที่ 1. Center for Organ Recovery & Education (CORE)

      • CORE ตั้งอยู่ในเมืองPittsburgh มลรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นองค์กรจัดหาอวัยวะที่ไม่แสวงหากำไร (Organ Procurement Organization - OPO) มีพื้นที่ให้บริการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลาง ซึ่งครอบคลุมประชากร 5.5 ล้านคน ในมลรัฐเพนซิลเวเนียด้านตะวันตก มลรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และหนึ่งเขตของมลรัฐนิวยอร์ค
      • เป็นหนึ่งใน 58 ของ OPO ที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งกำหนดโดย Centers for Medicare and Medicaid Services
      • ภารกิจของ CORE คือการช่วยให้ปลอดภัยและรักษาชีวิตด้วยการบริจาค

      จุดเด่น

      • CORE มีผลการดำเนินงานในกลุ่มOPO ชั้นนำสูงสุด 10% ของประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 จนถึงปี ค.ศ. 2019
      •  สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักทั้งสี่ของ CORE คือครอบครัวผู้บริจาค ศูนย์การปลูกถ่าย ศัลยแพทย์ตกแต่งกระจกตา และผู้ดำเนินการด้านเนื้อเยื่อ
      • CORE มีผลลัพธ์แสดงระดับความพึงพอใจสูงกว่า 90% และอัตราความพึงพอใจสำหรับครอบครัวผู้บริจาคอยู่ระหว่าง 95 และ 100%
      • จากผลของการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานส่งผลให้ห้องปฏิบัติการและห้องปฏิบัติการวิจัยสองแห่งของCORE สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า $ 300,000 ในปี ค.ศ. 2014 มากกว่า $ 600,000 ในปี ค.ศ. 2018 และมากกว่า $ 2.6 ล้าน ในปีปัจจุบัน

      Center for Organ Recovery & Education (CORE)

      • 2019 Baldrige Award Recipient, Nonprofit
      • เนื่องจากข้อมูลเปรียบเทียบของอุตสาหกรรมการปลูกถ่ายอวัยวะมีจำกัด CORE จึงมีบทบาทเป็นผู้นำในการร่วมมือกับองค์กรจัดหาอวัยวะ(Organ Procurement Organizations: OPOs) อีกสองแห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล Baldrige Award และมีผลประกอบการที่ดี ในการสร้าง Leadership and Innovation National Collaborative (LINC)

      Leadership and Innovation National Collaborative (LINC)

      • LINC มีการประชุมเพื่อกำหนด แบ่งปัน เปรียบเทียบข้อมูล และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
      • CEOs และ COOs จากองค์กรสมาชิกแต่ละแห่งหากลยุทธ์ร่วมกัน ในความพยายามเพื่อยกระดับผลประกอบการของ OPO และการรับรู้ของสาธารณชน
      • ในปี ค.ศ. 2018 ผู้บริหาร LINC ได้ตั้งคณะกรรมการสองชุดคือ กรรมการตัวชี้วัดและกรรมการการจัดการความรู้ เพื่อแบ่งปันข้อมูล กำหนดมาตรฐาน สามารถเปรียบเทียบกันได้ และเพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด

      แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ OPO

      • เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ OPO ทีมงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของCORE ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อสร้างเครื่องมือสำหรับตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล และการบูรณาการ
      • CORE ใช้วิธีการต่าง ๆ เช่นกระบวนการcatch-ball” ที่เริ่มต้นโดยผู้นำแล้วกระจายแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสู่บุคลากร ผ่านการสื่อสารและการประชุมลงมติ และส่งเสริมให้บุคลากรเสนอแนวคิดที่เป็น “Great Ideas”
      • เพื่อระบุแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด CORE มีส่วนร่วมในสมาคมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และร่วมมือกับโรงพยาบาลและศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ ด้วย

      ข้อมูลเปรียบเทียบของอุตสาหกรรม

      • CORE ยังรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบของอุตสาหกรรม ผ่านองค์กรควบคุมกำกับดูแล องค์กรผู้ให้การรับรอง และลูกค้า
      • ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลในอุตสาหกรรม CORE จะใช้ข้อมูลมาตรฐานและข้อมูลอ้างอิงที่เหมาะสมจากนอกอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ความปลอดภัย อัตราการลาออก การตอบสนองของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสำรวจเงินเดือน

      แผงควบคุมผลงานระดับองค์กรและระดับแผนก

      •  องค์กรตรวจสอบผลประกอบการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับตัววัดผลงานที่สำคัญ ผ่านแผงควบคุมผลงานระดับองค์กรและระดับแผนก โดยมีการถ่ายทอดตัววัดผลไปจนถึงแผนปฏิบัติการ
      • ตัววัดผลจะถูกติดตามเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส และรายปี โดยใช้ "data mall" ซึ่งสร้างขึ้นเองโดยเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศของCORE

      CORE Data Mall

      • การรายงานและแผงควบคุมใน CORE Data Mall มีทั้งการตรวจสอบและการยืนยันจากระบบ
      • การกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดเป็นแบบรวมศูนย์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีความสม่ำเสมอในรายงานต่าง ๆ และข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลปัจจุบัน วิธีนี้ช่วยให้ CORE มีความคล่องตัวที่ดี
      • ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ 2017 ศูนย์บริการของ Medicare and Medicaid เปลี่ยนวิธีการวัดผลของการปลูกถ่ายปอดและการปลูกถ่ายตับบางส่วน ความคล่องตัวทำให้CORE สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดและการรายงานได้อย่างรวดเร็ว

      การคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต

      • CORE ใช้การวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ของข้อมูลในอดีต การเทียบเคียงจากภายนอก และแนวโน้มของข้อมูล ในการคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต
      • ตัวอย่างเช่น แผนกคลินิกใช้โมเดลการถดถอยเชิงเส้น เพื่อคาดการณ์จำนวนอวัยวะที่ได้รับ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ
      • แผนกทรัพยากรมนุษย์ใช้รูปแบบการพยากรณ์ เพื่อรักษาทักษะและความสามารถของบุคลากรอย่างเหมาะสม รูปแบบนี้ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความท้าทายของความผันผวนในเรื่องความต้องการของบุคลากร สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ CORE

      องค์กรที่ 2. Charter School of San Diego (CSSD)

      • CSSD มีสำนักงานใหญ่ในเมืองSan Diego, Calif. ดำเนินการเรียนการสอนและศูนย์ทรัพยากรทางการศึกษา 21 แห่งใน San Diego County และมีบุคลากร 187 คน
      • Charter School of San Diego (CSSD) ได้ระบุว่า "มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาการเรียนการสอนส่วนบุคคล แบบมีส่วนร่วมของผู้ปกครองอย่างเข้มข้น ที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ในเชิงบวกสำหรับนักเรียนแต่ละคน"
      • CSSD มีวัตถุประสงค์เฉพาะนักเรียนที่มีความเสี่ยง เพราะพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนการสอนแบบธรรมดา

      กระบวนการที่มุ่งเน้นผู้เรียนทำให้ได้รับคะแนนสูง

      • เพื่อตอบสนองเป้าหมายสูงสุดของการเปลี่ยนชีวิตของนักเรียน ที่ล้าหลังด้านวิชาการและเสี่ยงที่จะไม่ได้รับประกาศนียบัตรมัธยมปลาย ทำให้ CSSD มุ่งเน้นการให้โปรแกรมการศึกษาเป็นรายบุคคล ที่จะสร้างความเชื่อมั่นของนักเรียนและสร้างความผูกพันในการเรียนรู้ เพื่อให้พวกเขาสามารถจบการศึกษาที่ CSSD หรือการกลับไปที่โรงเรียนมัธยมแบบธรรมดาได้
      • ห้าปีที่ผ่านมา CSSD แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นโดยรวมในการประสบความสำเร็จ และเกินเป้าหมายที่ร้อยละ 95

      Charter School of San Diego (CSSD)

      • 2015 Baldrige Award Recipient, Education
      • เพื่อความผูกพันของนักเรียนและลดอัตราการออกกลางคัน CSSD ผสานความร่วมมือของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ที่ปรึกษา และหน่วยสนับสนุน เพื่อส่งมอบการเรียนรู้ผ่าน แผนการศึกษาส่วนบุคคล (Pathways Personalized Education Plans: PPEPs)

      Pathways Personalized Education Plans (PPEPs)

      • PPEPs ใช้เพื่อกำหนดแผนการศึกษาและการสนับสนุนนักเรียน โดยรวบรวมข้อมูลและข่าวสารจากโรงเรียนในเขต ผลการสำรวจ ลักษณะประชากรในชุมชน เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของนักเรียน รูปแบบการเรียนรู้ ความสนใจในปัจจุบัน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการพัฒนาทักษะ
      • มีการประชุมและทบทวนข้อมูล ซึ่งครูจะตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของนักเรียนและในการทำงาน การเรียนรู้นี้นำไปสู่การเชื่อมต่อนักเรียนและครอบครัวกับทรัพยากรในท้องถิ่น

      PPEPs แบ่งออกเป็นสามขั้นตอน เพื่อช่วยให้นักเรียนก้าวหน้าด้านวิชาการดังนี้

      • 1. รู้เส้นทางของแต่ละบุคคล (Personalized Pathways Intake) การสร้าง PPEP ของนักเรียนเริ่มต้นเมื่อมีการลงทะเบียน เจ้าหน้าที่สนับสนุนจะจัดทำแผนการศึกษาเป็นรายบุคคลของนักเรียน ผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
      •  ครูที่ได้รับมอบหมายจะพิจารณาจากปัจจัยนำเข้า เพื่อกำหนดและพัฒนาหลักสูตรส่วนบุคคล ผ่านโปรแกรมการศึกษาแบบออนไลน์ที่เป็นอิสระอย่างผสมผสาน
      •  ครูยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อกำหนดเป้าหมายส่วนบุคคลและเชิงวิชาการ รวมทั้งทรัพยากรที่ใช้ให้สอดคล้องกัน
      • 2. การดำเนินการตามแนวทางและความก้าวหน้าของนักเรียน (Student Pathways Implementation and Progress) นักเรียนและผู้ปกครองทำงานร่วมกับครูในแบบตัวต่อตัวและแบบกลุ่มย่อย 
      •  โดยที่ PPEP ของนักเรียนแต่ละคนได้รับการปรับปรุงจากการดูงาน ทำงานอาสาสมัคร กิจกรรมทางวัฒนธรรม วิทยากรรับเชิญ งานวันเลือกอาชีพ วิชาเลือก และประสบการณ์การทำงาน ที่ปรับแต่งตามความสนใจและทางเลือกของนักเรียน
      •  การเข้าถึงในรูปแบบออนไลน์ของนักเรียนและผู้ปกครอง ช่วยให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถดูหลักสูตรที่เลือกและผลการเรียนได้ทุกเวลา
      • 3. การเปลี่ยนเส้นทางสู่ความสำเร็จ (Successful Pathways Transition) ขึ้นอยู่กับความชอบของนักเรียน อาจจะเปลี่ยนเส้นทางไปยังโรงเรียนมัธยมแบบดั้งเดิม หรือจบการศึกษาตามความสำเร็จของเป้าหมายในPPEP
      •  และนักเรียนทุกคนทำแบบสำรวจเมื่อจบการศึกษา เพื่อระบุแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและโอกาสในการปรับปรุง

      PPEP Storybook

      • PPEP Storybook เป็นแหล่งข้อมูลเดียวสำหรับการทบทวนผลการเรียนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องของนักเรียน
      • ตัวอย่างของรายงาน PPEP Storybook ประกอบด้วย รายงานข้อมูลประชากรของนักเรียน รายงานข้อมูลนักเรียนใหม่ รายงานการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักเรียน ข้อมูลบัณฑิต ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ข้อมูลการออกกลางคัน รายงานการคงอยู่และการเปลี่ยนเส้นทาง ข้อมูลถูกแบ่งส่วนตามโรงเรียน ภูมิภาค ศูนย์ทรัพยากร และครูผู้สอนรายบุคคล
      • ผลลัพธ์หลายอย่างจาก PPEP Storybook นั้นยังสะท้อนให้เห็นในดัชนีชี้วัดของครูผู้สอน
      • ข้อมูลใน PPEP Storybook ได้รับการตรวจสอบและวิเคราะห์เพื่อให้แน่ใจว่า กลยุทธ์การสอนประสบความสำเร็จสำหรับนักเรียนแต่ละคน ครูสามารถปรับรูปแบบและปรับการเรียนการสอน วิธีการนำเสนอ และแหล่งทรัพยากรของนักเรียนได้ทันที
      • ครูและเจ้าหน้าที่จะทำการเยี่ยมบ้าน ดำเนินการและทำการแทรกแซงที่เหมาะสม และเสนอแหล่งทรัพยากรให้กับนักเรียนและครอบครัว จากชุมชนและผู้ให้ความร่วมมือ
      • ในการตรวจสอบผลลัพธ์ PPEP Storybook และดัชนีชี้วัดของครู องค์กรได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดและผลประกอบการที่ดี แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและผลประกอบการที่ดีเหล่านี้ถือเป็นแบบอย่างที่ดี

      องค์กรที่ 3. Memorial Hospital and Health Care Center (MHHCC)

      • MHHCC อยู่ที่เมืองJasper มลรัฐ Indiana ให้การรักษาผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกผ่านโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงคลินิกผู้ป่วยนอกและคลินิกเฉพาะทาง ที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ 32 แห่ง และมีบริการรถพยาบาล
      • MHHCC ซึ่งเปิดทำการในปี ค.ศ. 1951 มีพนักงานมากกว่า 1,700 คน ให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยใน 6,600 ราย; ผู้ป่วยนอก 254,000 ราย; และแผนกฉุกเฉิน 29,000 ครั้ง เป็นประจำทุกปี และมีทารกเกิดที่โรงพยาบาลในแต่ละปีประมาณ 950 คน

      จุดเด่น

      • MHHCC ได้รับการจัดอันดับระดับ 5 ดาว จาก Medicare and Medicaid Services (CMS) สำหรับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในโดยรวม และได้รับผลการดำเนินงานด้านการจ่ายเงินตามค่าใช้จ่ายด้านบน 10% ของประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 นอกจากนี้ MHHCC ยังได้รับผลดีเลิศด้านประสิทธิภาพการคลอดก่อนกำหนด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015, ศูนย์การดูแลผู้ป่วยที่มีทักษะ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016, การติดเชื้อ CLABSI ตั้งแต่ ค.ศ. 2016, การติดเชื้อ MRSA ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015
      •  ประสิทธิภาพการทำงานของมาตรฐาน MHHCC ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ แสดงให้เห็นได้จากได้รับ "เกรด A" Leapfrog Hospital Safety Grade ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016, การลดอันตรายทั้งหมด 2 ปีจาก 6.2 เป็น 1.1 ต่อ 1,000 วันนอนของผู้ป่วย นับจาก ค.ศ. 2016 ถึง 2018, ผลการตรวจสอบยาข้างเตียงเกินมาตรฐานจากLeapfrog ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ถึง 2018 ซึ่งได้ว่ามากกว่า 97%, และ MHHCC ยังคงรักษาผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย PSI-90 ไว้ได้ถึง 10% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017
      • MHHCC ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำที่โดดเด่นในประเทศของเขตDubois และพื้นที่ตลาดหลัก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 ส่วนแบ่งการตลาดผู้ป่วยในของ MHHCC ใน Dubois County มีมากกว่า 70% และส่วนแบ่งตลาดผู้ป่วยนอกมากกว่า 80% โดยที่คู่แข่งไม่มีใครได้มากกว่า 10%

      Memorial Hospital and Health Care Center (MHHCC)

      • 2018 Baldrige Award Recipient, Health Care
      •  ที่ MHHCC ข้อมูลและข่าวสารที่ใช้สำหรับการติดตามผลการดำเนินงานรายวันและผลงานขององค์กรโดยรวม จะถูกเลือก รวบรวม เรียบเรียง และบูรณาการผ่านกระบวนการ Performance Measurement Process (PMP) ซึ่งสอดคล้องกับวงจร plan, do, check, act และกระบวนการประเมินผล
      • ตัววัดผลใช้ประกอบการสนับสนุนการตัดสินใจด้วยข้อมูล ในการขับเคลื่อนและประสิทธิผลของระบบงานที่สำคัญ ภาวะผู้นำและการกำกับดูแลองค์กร การเข้าถึงการดูแล การส่งมอบการดูแล การเปลี่ยนการดูแล และการสนับสนุน

      ขั้นตอนของ PMP

      • ในขั้นตอนที่ 1 ผู้นำกำหนดทิศทางขององค์กรและสร้างเป้าประสงค์ของพันธสัญญา (วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์) ตัววัดผลที่ตามมาทั้งหมด จะสอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้ มีการติดตามการวัดผลในดัชนีชี้วัดขององค์กร และตรวจสอบทางธุรกิจเป็นรายไตรมาส
      • ขั้นตอนที่ 2 วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์จะนำไปสู่มาตรการแผนปฏิบัติการ 90 วัน และไปยังกระบวนการและแผนกเพื่อให้แน่ใจว่ามีการสอดคล้องกัน และมีการกำหนดมาตรการและการเปรียบเทียบที่เหมาะสมสำหรับแผนปฏิบัติการ 90 วันแต่ละแผน
      • ในขั้นตอนที่ 3 เป็นการดำเนินการแผน 90 วันและดำเนินการรายวัน และมีการวัดผล
      • ขั้นตอนที่ 4 ผลลัพธ์จะถูกวิเคราะห์ มีการวิเคราะห์ความคืบหน้าของตัวชี้วัดขององค์กรของแผนปฏิบัติการ 90 วัน และผลประกอบการของแผนกหรือกระบวนการ
      • ในขั้นตอนที่ 5 ผลจากการวัดจะถูกรวบรวมและตรวจสอบอย่างเป็นระบบผ่านOperational Rhythm

      Operational Rhythm

      • Operational Rhythm เป็นโครงสร้างที่มีกรอบหลายชั้น สำหรับการตรวจสอบผลประกอบการ และความสามารถขององค์กร
      • มีการประเมินผลประกอบการโดยใช้ชุดตัววัดผลที่สมดุล มีการวิเคราะห์ผลลัพธ์การปฏิบัติงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ และเพื่อใช้ปรับปรุงการปฏิบัติงานเมื่อไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
      • ในส่วนของ Operational Rhythm จะมีการระบุช่องว่างของผลประกอบการ และเปรียบเทียบกับเป้าหมาย คู่แข่ง หรือตัวเทียบเคียงมาตรฐาน

      Alignment Boards

      • ในปี ค.ศ. 2018 มีการใช้ บอร์ดที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน (Alignment Boards) ในแต่ละแผนก
      • ในบอร์ดแสดงพันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมหลักขององค์กร แผนกลยุทธ์  แผนกลยุทธ์ด้านการพยาบาล ดัชนีชี้วัดขององค์กร ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ของแผนก ระบบแจ้งผลแบบไฟจราจรจากการที่ผู้นำระดับสูงไปเยี่ยมแต่ละแผนกและบุคลากรแถวหน้า และแผนปฏิบัติการ

      ข่าวกรองด้านการตลาด

      • MHHCC ขยายการให้บริการโดยใช้ข่าวกรองด้านการตลาด ที่รวบรวมผ่านเทคนิคต่าง ๆ เช่นสภาที่ปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัว การวิเคราะห์ข้อมูลจากบุคคลที่สาม และเว็บไซต์และเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่หลากหลาย
      • การใช้ประโยชน์จากข่าวกรองนี้ทำให้ MHHCC (1)ได้แนะนำผลิตภัณฑ์telemedicine ของโรคหลอดเลือดสมอง (2)การได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสในการเข้าสู่ตลาดรอง ซึ่งรวมถึงความต้องการในการให้บริการแก่ชุมชน Amish และ(3)กำหนดเป้าหมายการขยายสายบริการด้านมะเร็งวิทยา

      แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด

      • หน่วยงานที่มีผลประกอบการที่ดี จะส่งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาล (Hospital Update Board: HUB) สมาชิกของทีมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด จะตรวจสอบและพิจารณาว่า แนวคิดนั้นเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือเป็นแนวทางปฏิบัติด้านความเป็นผู้นำหรือไม่
      • วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดที่ระบุ/แนวทางปฏิบัติด้านความเป็นผู้นำที่แนะนำ จะถูกนำเสนอในการประชุมผู้นำพร้อมกับแผนปฏิบัติการ
      • นอกจากนี้ แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดยังได้รับการรายงานผ่านแผนปฏิบัติการ 90 วันในแต่ละสัปดาห์ การเดินเยี่ยมหน่วยของผู้นำ สภาพยาบาลด้านคลินิก และอื่น ๆ

      สรุป

      • เจตนารมณ์ ของ “รางวัลคุณภาพแห่งชาติ” คือ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ เป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก
      • องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกประเภท ทุกขนาด ที่นำเกณฑ์เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ซึ่งเป็นกรอบการประเมินคุณภาพระดับมาตรฐานโลก ไปเปรียบเทียบกับระบบการบริหารจัดการของตน ก็จะได้รับประโยชน์ในการปรับปรุงและให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

      *************************************

      หมายเลขบันทึก: 677838เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2020 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2020 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


      ความเห็น (0)

      ไม่มีความเห็น

      พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
      ClassStart
      ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
      ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
      ClassStart Books
      โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท