พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๔๑. สาเลยยกสูตร เรื่องเหตุที่จะให้ไปทุกขคติและสุขคติ


๔๑. สาเลยยกสูตร  เรื่องเหตุที่จะให้ไปทุกขคติและสุขคติ

เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ   

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลกับภิกษุหมู่ใหญ่ถึงบ้านพราหมณ์ชื่อสาลาของชาวโกศล พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้ฟังข่าวว่า

“ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลาโดยลำดับแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกและหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”

ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับบางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกได้ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือต่อพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ  สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอคือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ”

พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้ ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดารนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

อกุศลกรรมบถ ๑๐

“พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการอะไรบ้าง  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง

๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย

๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดาบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการอะไรบ้าง  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติอยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้นยุยงคนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน

๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อนหยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ

๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง พูดคำที่ไม่อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐานไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่เหมาะแก่เวลา

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการอะไรบ้าง  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’

๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าจงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’

๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผลยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณบิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’

พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการอะไรบ้าง  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธมีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่

๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย

๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดาที่อยู่ในปกครองของมารดาบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชายที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครองโดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการอะไรบ้าง  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัทอยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะน่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริงพูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการอะไรบ้าง  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้

๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’

๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’

๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผลยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณโอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง มีอยู่ในโลก’

พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ

พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวกขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้น

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล เราพึงเกิดในพวกคหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวกคหบดีมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ประพฤติธรรม

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้น

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ เทพชั้นยามา เทพชั้นดุสิต เทพชั้นนิมมานรดี เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้วบุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา เทพชั้นอัปปมาณาภา เทพชั้นอาภัสสรา  เทพชั้นปริตตสุภา เทพชั้นอัปปมาณสุภา เทพชั้นสุภกิณหา เทพชั้นเวหัปผลา เทพชั้นอวิหา เทพชั้นอตัปปา เทพชั้นสุทัสสา เทพชั้นสุทัสสี เทพชั้นอกนิฏฐภพ เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ เทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม

พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม”

ชาวบ้านสาลาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

 “ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนักข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๕. จูฬยมกวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

เรื่องที่ ๑. สาเลยยกสูตร ข้อที่  ๔๓๙ - ๔๔๓

หมายเลขบันทึก: 677828เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2020 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2020 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท