ชีวิตที่พอเพียง 3699. ความฉลาดรวมหมู่ : ๔. วงจรเรียนรู้ยกระดับต่อเนื่อง



บันทึกชุด ความฉลาดรวมหมู่ตีความจากหนังสือ Big Mind : How Collective Intelligence Can Change Our World  (2018) เขียนโดย Geoff Mulgan ศาสตราจารย์ด้าน collective intelligence, public policy & social innovation แห่ง UCL  และเป็น CEO ของ NESTA    โดยในตอนที่ ๔ นี้ ตีความจากบทที่ 6  Learning Loops 

สาระสำคัญคือ ความฉลาดรวมหมู่อยู่ในสถานการณ์หรือบริบทที่มีความไม่แน่นอนและมีโอกาสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา บุคคล องค์กร และสังคม จึงต้องมีความสามารถเรียนรู้เพื่อปรับตัวอยู่ตลอดเวลา     โดยการเรียนรู้นี้มี ๓ มิติที่เชื่อมโยงกัน

ผู้เขียนหนังสือ คือ ศ. เจฟฟ์ มัลแกน มองวงจรเรียนรู้อย่างฉลาด (intelligent learning) เป็น ๓ ระดับ  คือระดับเปลี่ยนความคิดในกรอบเดิม  ระดับเปลี่ยนกรอบความคิด  และระดับเปลี่ยนวิธีคิด    โดยมีสาระของหนังสือบทนี้อยู่ในพื้นที่ไซเบอร์ที่ (๑)    และมีรูปแสดงวงจรเรียนรู้อยู่ที่ Figure 4 (โปรดดูรูปในลิ้งค์ที่ให้ไว้)    ซึ่งผมเห็นด้วยเพียงบางส่วน    ผมคิดว่ามองวงจรเรียนรู้ ๓ แบบว่าเป็น ๓ ระดับ ก็ได้     เพราะมันทวีความยากขึ้นไป    มุมมองแบบนี้เป็นมุมมองเชิงทฤษฎี    แต่ในทางปฏิบัติต้องมองว่า วงจรเรียนรู้ ๓ แบบนี้มันเสมือนมีชีวิต และสื่อสารแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา     เป็นวงจร ๓ องค์ประกอบที่ยกระดับกันขึ้นไป    ในทางปฏิบัติวงจรเรียนรู้จึงซับซ้อนกว่าใน Figure 4 มาก    เป็นวงจรที่ทั้งวนกลับที่เดิม และวนยกระดับขึ้นไป     โดยต้องตระหนักว่ายังมีพลังต้านที่ดึงให้วงจรหมุนลดระดับลงด้วย

ยิ่งท้าทายยิ่งขึ้น เมื่อวงจรเรียนรู้นี้เป็นของกลุ่มที่มารวมตัวกัน    หากสมาชิกไม่มีทักษะเรียนรู้ร่วมกัน    โดยเฉพาะการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    วงจรเรียนรู้อาจกลายเป็นวงจรก่อความแตกสามัคคี    ความฉลาดรวมหมู่จะเกิดขึ้นได้ สมาชิกกลุ่มและพฤติกรรมกลุ่มต้องมีทักษะเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกัน     มีพื้นที่และเวลาเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ    และมีผู้อำนวยกระบวนการดังกล่าวที่เรียกว่า learning facilitator    กระบวนการนี้ที่จริงก็คือ กระบวนการจัดการความรู้ (knowledge management – KM) นั่นเอง         

เมื่อพูดเรื่อง “การเรียนรู้” เราก็หลงพูดกันตามแนวทางเรียนรู้ที่ผิดได้ง่าย    เพราะเรามักเน้นเรียนจากทฤษฎีที่มีคนเสนอไว้แล้ว     เน้นทำความเข้าใจและเชื่อทฤษฎี     นี่คือ “การเรียนรู้” ที่ผิด   

“การเรียนรู้” ที่ถูกต้องตามในบันทึกชุดนี้ คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    และการเรียนรู้ในระดับสูงสุดที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า third-loop learning นั้นก็คือการเรียนรู้และพัฒนาวิธีคิดของตน และของกลุ่ม    ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า meta-cognition นั่นเอง    

สรุปได้ว่า ความฉลาดรวมหมู่จะเกิดขึ้น พัฒนาต่อเนื่อง และยั่งยืน ได้    กลุ่มคนที่มารวมตัวกันต้องมีวงจรเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    ที่เป็นทั้งเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนความคิดหรือวิธีการในกรอบเดิม (first-loop learning),    เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนกรอบความคิด (second-loop learning),     และเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนวิธีคิด (third-loop learning)      

วิจารณ์ พานิช  

๙ เม.ย. ๖๓   ปรับปรุง ๒ พ.ค. ๖๓


   

หมายเลขบันทึก: 677562เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2020 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2020 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท